เหรียญพระพุทธ-พระสีวลี หลวงพ่อชุบ วัดวังกระแจะ สืบสายอาคมจากหลวงปู่ศุข

“พระครูอดุลพิริยานุวัตร” หรือ “หลวงพ่อชุบ ปัญญาวุโธ” อดีตเจ้าอาวาสวัดวังกระแจะ ต.วังกระแจะ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี พระเกจิอาจารย์สืบสายวิชาอาคมจากหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า

ร่ำเรียนจากอาจารย์รื่น นิลแนบแก้ว ทำให้ได้สืบทอดการสักยันต์ เด่นรอบด้าน รวมทั้งวิทยาคม การทำตะกรุดและเครื่องราง

อีกทั้งยังสืบทอดวิชาสายหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม จากพระมหาสิทธิการ (ทอง) วัดเพชรสมุทร จ.สมุทรสงคราม ผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อครั้งจำพรรษาอยู่ที่วัดเพชรสมุทร (วัดบ้านแหลม)

สร้างพระเครื่องวัตถุมงคลและเครื่องรางไว้หลายชนิด แต่ที่มีชื่อเสียงมาก คือ “เหรียญพระพุทธ วัดวังกระแจะ รุ่นแรก”

สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2533 ที่ระลึกในงานผูกพัทธสีมาของวัดวังกระแจะ ปลุกเสกเดี่ยว มีเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น

เหรียญพระพุทธ หลวงพ่อชุบ

ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปเสมาจอบ แบบมีหูในตัว ด้านหน้า เป็นรูปจำลองพระพุทธรูปปางสมาธิ บนอาสนะสวยงาม ข้างรูปพระมีอักขระยันต์ อ่านได้ว่า “อะ ระ หัง พุท โธ ภิ ภี ภะ” ขอบเขียนว่า “พระอาจารย์ชุบ วัดวังกระแจะ อ.ไทนโยค จ.กาญจนบุรี”

ด้านหลัง มีอักขระยันต์ ใต้อักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า “ที่ระลึกในงานผูกพัทธสีมา วัดวังกระแจะ ๒๕๓๓”

นอกจากนี้ ยังมี “เหรียญพระสิวลี วัดวังกระแจะ” ด้วย จัดสร้างในปี พ.ศ.2539 ที่ระลึกสำหรับผู้ที่บริจาคทรัพย์บำรุงวัด ปลุกเสกเดี่ยวสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเช่นกัน

ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว ด้านหน้า เป็นรูปจำลองพระสีวลี ข้างรูปพระมีอักขระยันต์อ่านได้ว่า “นะ ชา ลี ติ” ขอบเขียนว่า “พระอาจารย์ชุบ วัดวังกระแจะ อ.ไทนโยค จ.กาญจนบุรี” ด้านหลัง เป็นอักขระยันต์

เป็นเหรียญที่ได้รับความนิยมสูง

เหรียญพระสิวลี หลวงพ่อชุบ

อัตโนประวัติ เกิดวันศุกร์ที่ 25 มีนาคม 2469 ตรงกับแรม 8 ค่ำ เดือน 4 ปีขาล บิดา-มารดา ชื่อ นายปลื้ม และนางช่วง ถินนาก มีพี่น้องร่วมบิดามารดาทั้งหมด 5 คน

ในช่วงวัยเยาว์ มีความสามารถด้านศิลปะวาดเขียนมากกว่าเด็กอื่นๆ ในวัยเดียวกัน พอวัยรุ่นฝากตัวเป็นศิษย์และได้รับการถ่ายทอดวิชาการสักยันต์และวิทยาคมต่างๆ จากอาจารย์รื่น นิลแนบแก้ว เมื่อครั้งเปิดสำนักสักยันต์ที่ อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม

สำหรับอาจารย์รื่น เป็นศิษย์ของหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า พระเกจิอาจารย์ชื่อดัง และยังเป็นพระสหายกับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์

เข้าพิธีอุปสมบทเมื่อปี พ.ศ.2491 ที่วัดคู้สนามจันทร์ ต.บ้านปรก อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม มีหลวงพ่อกลึง ธัมมโชติ วัดสวนแก้ว เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอธิการเจียม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอธิการปิ่น เป็นพระอนุสาวนาจารย์

จำพรรษาอยู่วัดคู้สนามจันทร์รวม 4 พรรษา จากนั้นย้ายไปจำพรรษาและศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดเพชรสมุทร และยังศึกษาสรรพวิชาเพิ่มเติมจากพระมหาสิทธิการ (ทอง) วัดเพชรสมุทร ซึ่งเป็นศิษย์หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม

หลวงพ่อชุบ ปัญญาวุโธ

เริ่มออกท่องธุดงค์ไปยังจังหวัดต่างๆ เช่น นครศรีธรรมราช ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี และกาญจนบุรี

พ.ศ.2505 เดินธุดงค์มาที่ จ.กาญจนบุรี และได้เดินทางจนมาถึงถ้ำละว้า มีญาติโยมนิมนต์ให้มาพักที่บ้านวังกระแจะ และสร้างกุฏิให้อยู่เป็นไม้ไผ่มุงแฝก 1 หลัง จากนั้นได้สร้างกุฏิไม้แบบถาวรให้ 1 หลัง

เพื่อหาปัจจัยมาสร้างวัดตามที่ชาวบ้านศรัทธา และขอให้เป็นวัดประจำหมู่บ้าน

ด้วยถือสัจจะเป็นใหญ่ เมื่อรับปากชาวบ้านว่าจะสร้างวัดให้ ก็ต้องดำเนินการให้สำเร็จ

พ.ศ.2511 ตั้งเป็นวัดอย่างเป็นทางการ

พ.ศ.2514 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา

พ.ศ.2533 ทำพิธีผูกพัทธสีมาอุโบสถ

ได้รับตำแหน่งหน้าที่ปกครอง พ.ศ.2513 เป็นเจ้าอาวาสวัดวังกระแจะ ต.วังกระแจะ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี

พ.ศ.2517 เป็นเจ้าคณะตำบลท่าทุ่งนา และต่อมาย้ายมาเป็นเจ้าคณะตำบลวังกระแจะ

พ.ศ.2522 เป็นพระอุปัชฌาย์

พ.ศ.2526 เป็นรองเจ้าคณะอำเภอไทรโยค

พ.ศ.2549 เป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะอำเภอไทรโยค

งานด้านการศึกษา พ.ศ.2498 ได้รับการแต่งตั้งเป็นครูสอนพระปริยัติธรรม

พ.ศ.2499 เป็นกรรมการตรวจข้อสอบธรรมสนามหลวง

พ.ศ.2501 ได้รับการแต่งตั้งเป็นครูสอนพระปริยัติธรรม

พ.ศ.2513 เป็นเจ้าสำนักเรียนประจำสำนักเรียนวัดวังกระแจะ

งานสาธารณูปโภค พ.ศ.2516 สร้างอุโบสถ

พ.ศ.2519 สร้างกุฏิสงฆ์ ศาลาการเปรียญ หอฉัน หอสวดมนต์ ห้องนํ้า

พ.ศ.2534 สร้างเมรุ ศาลาฌาปนสถาน และห้องน้ำใหม่

พ.ศ.2547 สร้างศาลาการเปรียญหลังใหม่

 

งานเผยแผ่พุทธศาสนา พ.ศ.2524 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระธรรมทูตเผยแผ่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ (อินเดีย)

ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2519 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอก ในราชทินนามที่ พระครูอดุลพิริยานุวัตร

กล่าวได้ว่า เป็นพระเกจิผู้มีบารมี มุ่งมั่นสืบทอด และจรรโลงบวรพระพุทธศาสนา

ด้วยความไม่เที่ยงของสังขาร มีอาการอาพาธ เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลในจังหวัด ต่อมาได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้เป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์ ในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา โดยเข้ารักษาตัวนานกว่า 2 เดือน

กระทั่งเวลา 20.40 น. วันที่ 20 เมษายน 2565 ละสังขารด้วยอาการสงบ ณ โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา

สิริอายุ 96 ปี พรรษา 74 •

 

บรรยายภาพ

1.หลวงพ่อชุบ ปัญญาวุโธ

2.เหรียญพระพุทธ หลวงพ่อชุบ

3.เหรียญพระสิวลี หลวงพ่อชุบ

 

โฟกัสพระเครื่อง | โคมคำ

[email protected]