Mor Doom and Ya Be E Long ผลงานศิลปะสืบสานรากเหง้าภูมิปัญญา และจิตวิญญาณของชาวอาข่า

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ในตอนนี้ขอต่อด้วยเรื่องราวของศิลปินที่มาร่วมแสดงงานใน มหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale Chiang Rai 2023 ที่จังหวัดเชียงรายกันอีกคน

ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า บู้ซือ อาจอ (Busui Ajaw) ศิลปินชาวอาข่า กลุ่มชาติพันธุ์จากที่ราบสูงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เธอเกิดที่เมืองท่าขี้เหล็ก ในรัฐฉาน ทางตะวันออกของประเทศพม่า

เธอถูกบังคับให้ต้องอพยพลี้ภัยสงครามพร้อมกับครอบครัวของเธอตั้งแต่ยังเด็ก โดยเข้ามาตั้งรกรากอยู่ในจังหวัดเชียงราย

เป็นศิลปินที่ไม่ผ่านการศึกษาเล่าเรียนในสถาบันแห่งไหน หากแต่หัดวาดภาพด้วยตัวเองตั้งแต่อายุ 15 ปี ด้วยการใช้ชีวิตในสภาพแวดล้อมของครอบครัวช่างฝีมือและวัฒนธรรมมุขปาฐะ (วัฒนธรรมที่ถ่ายทอดสืบต่อเรื่องราวด้วยการบอกเล่าปากเปล่าเป็นหลัก)

เธอพัฒนาแนวทางการทำงานที่สื่อสารถึงสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจอย่างตรงไปตรงมา รวมถึงมีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กับวิถีชีวิต จิตวิญญาณ และวัฒนธรรมของชาวอาข่าอย่างลึกซึ้งและทรงพลัง ผ่านผลงานจิตรกรรม ประติมากรรม และผลงานศิลปะจัดวางของเธอ

ศิลปิน บู้ซือ อาจอ

ในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale Chiang Rai 2023 ครั้งนี้ บู้ซือ อาจอ นำเสนอผลงาน Mor Doom and Ya Be E Long (2023) (ม้อดุ่ม (โลงศพ) และ อะเพมิแย ตำนานด้านมืด พระเจ้าผู้สร้างโลกของชาวอาข่า)

ผลงานศิลปะที่มีแนวคิดในการสืบสานรากเหง้าและภูมิปัญญาดั้งเดิม และความรุ่มรวยหลากหลายทางวัฒนธรรมประเพณีของชาวอาข่า ชนเผ่าที่อยู่ร่วมกันในภูมิภาคทางตอนบนสุดของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดเชียงรายมาอย่างยาวนาน

ผ่านผลงานภาพวาดจำนวน 8 ภาพ และผลงานประติมากรรมจัดวาง ที่นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับจิตวิญญาณ ความเชื่อ รวมถึงวัฒนธรรมประเพณีเกี่ยวกับชีวิตและความตายของชาวอาข่า

ผลงาน Mor Doom and Ya Be E Long
ผลงาน Mor Doom and Ya Be E Long

ผลงานภาพวาด 8 ภาพของบู้ซือ ถูกแขวนแสดงอยู่ระหว่างเสาของศาลาแบบล้านนา ทั้งหมดถูกวาดขึ้นบนหนังสัตว์ขนาดใหญ่ คล้ายภาพวาดบนหนังสัตว์ของชนเผ่า ถ่ายทอดเรื่องราวตั้งแต่จุดกำเนิดของโลกและชีวิต การเกิด ไปจนถึงการตายของชาวอาข่า ด้วยสีสันจัดจ้าน ฝีแปรงหยาบกระด้าง เปี่ยมพลัง จนกระแทกสายตาของเราอย่างรุนแรง

ตรงกลางศาลามีผลงานประติมากรรมจัดวางไม้แกะสลัก ดูคล้ายภาชนะบรรจุอะไรบางอย่าง (ดูจากชื่องานก็น่าจะเป็นภาชนะบรรจุร่างไร้ชีวิตของคน ที่เรียกกันว่า “โลงศพ” นั่นแหละนะ)

ภายนอกถูกสลักเสลาให้ดูคล้ายกับสัตว์ประหลาดในตำนานปรัมปรา ศีรษะมีเขาโค้งคล้ายควาย และนอคล้ายแรด ลำตัวยาวมีครีบหลังคล้ายปลา แต่มีปีกเรียวยาว

ใต้ประติมากรรมรองรับด้วยหนังสัตว์ที่วางอยู่บนข้าวเปลือกกองใหญ่ ดูคล้ายกำลังทำการบวงสรวงพิธีกรรมอะไรบางอย่างอยู่

ผลงาน Mor Doom and Ya Be E Long
ผลงาน Mor Doom and Ya Be E Long
ผลงาน Mor Doom and Ya Be E Long

บู้ซือ อาจอ ศิลปินชาวอาข่ากล่าวถึงผลงานของเธอว่า

“โลงศพที่เห็นในงานนี้ ไม่เหมือนกับโลงศพจริงของอาข่าเท่าไรนัก เพราะถ้ายังไม่มีคนตาย ชาวอาข่าก็จะไม่ทำโลงขึ้นมา เพราะจะเหมือนเป็นการสาปแช่ง งานชิ้นนี้จึงถูกทำให้ไม่เหมือนกับโลงศพจริงๆ บู้ซือไม่รู้ว่าโลงศพของชาวอาข่าถูกทำขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อไหร่ แต่ตามตำนานของชาวอาข่า โลงศพแบบนี้เกิดขึ้นจากการที่ภรรยาของพญานาค หรือ จาเบออีลอง (Ya Be E Long) ได้ตายลง จาเบออีลอง จึงสั่งให้ตัดไม้มาทำโลง นับแต่นั้นมา โลงศพของชาวอาข่าจึงแกะสลักขึ้นจากไม้ทั้งต้น งานชิ้นนี้จึงทำเป็นรูปของพญานาค หรือ จาเบออีลอง เทพเจ้าของชาวอาข่า”

“ส่วนหนังควายนั้นเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมงานศพชาวอาข่า เมื่อชาวอาข่าตาย พวกเขาจะใช้ข้าวเปลือกปิดตาควายและใช้มีดแทงหัวใจควายให้ตายในทันที ด้วยความที่ชาวอาข่าเชื่อว่าชีวิตหลังความตายไม่ใช่การไปสู่นรกหรือสวรรรค์ แต่เป็นการเดินทางไปยังอีกโลกหนึ่ง พวกเขาจึงส่งเสบียงอาหารและสัตว์ใช้งานอย่างข้าวเปลือกและควายไปให้ผู้ตายเอาไว้กินและใช้งานในโลกหน้า”

“ภาพวาดของบู้ซือเองก็ถูกวาดลงบนหนังควายเช่นเดียวกัน ภาพเหล่านี้เกี่ยวข้องกับความตาย ที่โดดเด่นที่สุดคือภาพสิ่งมีชีวิตรูปร่างคล้ายมนุษย์ร่างกายเปลือยเปล่า มีเขาบนศีรษะและปีกข้างหลัง ดูคล้ายกับซาตาน หรือจอมปีศาจในศาสนาคริสต์ แต่บู้ซือมองว่า ในความเป็นจริง ไม่มีใครพิสูจน์ได้ว่า ผี ซาตาน หรือเทพเจ้ามีรูปร่างเป็นอย่างไร บางทีสิ่งที่คนเราเชื่อ ที่คนเราคิดอาจไม่ได้เป็นแบบนั้นเสมอไป เพราะเรื่องราวเหล่านี้เป็นเรื่องราวของโลกในจิตวิญญาณ”

“บู้ซือจินตนาการให้สิ่งมีชีวิตตนนี้เป็นภาพแทนของ จาเบออีลอง หรือ อะเพมิแย พญานาคผู้สร้างโลก ตามตำนานความเชื่อของชาวอาข่า ที่ล่องลอยอยู่ในความมืด และสร้างโลกขึ้นมา”

“ตำนานที่ว่านี้บังเอิญไปพ้องกับตำนานทางศาสนาที่เชื่อว่ามีทูตสวรรค์ตกลงมาจากสวรรค์สู่ความมืด เช่นเดียวกับที่พญานาคล่องลอยอยู่ในความมืด ชาวอาข่ายังเชื่อว่าความมืดคือสิ่งที่ดีงาม เพราะทุกสรรพสิ่งเกิดจากความมืด ในขณะที่แสงสว่างเกิดขึ้นหลังความมืดด้วยซ้ำ ความมืดจึงเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด ดังเช่นเทพเจ้าของชาวอาข่าที่อาศัยอยู่ในความมืด ก่อนที่จะมีแสงสว่าง”

ผลงาน Mor Doom and Ya Be E Long
ผลงาน Mor Doom and Ya Be E Long

ศิลปินจึงสร้างภาพลักษณ์นี้ขึ้นจากการผนวกจินตนาการของตัวเองเข้ากับเรื่องเล่าปรัมปราของผู้เฒ่าผู้แก่ชาวอาข่า ที่นับวันจะค่อยๆ เลือนหายไปตามกาลเวลา ศิลปินจึงอยากจะรักษาเรื่องราวเหล่านี้ให้คงอยู่ต่อไปผ่านงานศิลปะของเธอ

ที่น่าสนใจก็คือ ด้วยความที่ผลงานเหล่านี้ของ บู้ซือ อาจอ ถูกจัดแสดงภายในพื้นที่ของพิพิธภัณฑ์บ้านดำ ที่รังสรรค์ขึ้นโดยศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ชาวเชียงรายผู้ล่วงลับอย่าง ถวัลย์ ดัชนี ผู้ขึ้นชื่อว่าเป็นตัวแทนของพลังอันท่วมท้นล้นหลั่งของบุรุษเพศ และบุคลิกภาพแห่งความเป็นชายชาตรีอย่างแท้จริง

ผลงานที่เต็มไปด้วยพลังแห่งสตรีเพศของบู้ซือจึงเปล่งพลังปะทะประสานกับรัศมีแห่งความเป็นชายอันช่วงโชติที่ถวัลย์ทิ้งไว้ในผลงานของเขาในพื้นที่อย่างสนุกสนานน่าสนใจ นับเป็นความเปรื่องปราดของผู้ที่คัดเลือกผลงานชุดนี้มาจัดแสดงในพื้นที่แห่งนี้อย่างยิ่ง

แถมบู้ซือเองยังมีความเชื่ออย่างยิ่งว่า ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์บ้านดำ เป็นผู้ดลบันดาลให้เธอมาแสดงงานในพื้นที่แห่งนี้ เพราะตัวเขาเองก็สร้างผลงานศิลปะที่ได้แรงบันดาลใจจากศิลปะชนเผ่าเช่นเดียวกันกับเธอนั่นเอง

มิตรรักแฟนศิลปะท่านใดสนใจสัมผัสกับผลงาน “Mor Doom and Ya Be E Long” ของ บู้ซือ อาจอ ก็สามารถมาเยี่ยมชมกันได้ในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale Chiang Rai 2023 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9 ธันวาคม 2566-30 เมษายน 2567 ในพื้นที่แสดงงาน พิพิธภัณฑ์บ้านดำ ต.นางแล อ.เมือง จ.เชียงราย

ผลงาน Mor Doom and Ya Be E Long
ผลงาน Mor Doom and Ya Be E Long
ผลงาน Mor Doom and Ya Be E Long

แถมท้าย ด้วยความที่พื้นที่ยังพอมีเหลือ เราเลยขอแหวกธรรมเนียมด้วยการแนะนำร้านอาหารเด็ดๆ สำหรับมิตรรักแฟนศิลปะที่จะเดินทางไปเยี่ยมชมมหกรรมศิลปะไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงรายกันสักหน่อย เพราะกองทัพย่อมเดินด้วยท้อง (ต่อให้เป็นกองทัพดูงานศิลปะก็เถอะนะ)

แถมร้านที่ว่านี้เป็นร้านโปรดของ ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ชาวเชียงราย เจ้าของพื้นที่แสดงงานในตอนนี้อีกด้วย

ร้านอาหารที่ว่านี้มีชื่อว่า สวนอาหารบ้านหน่อย ร้านอาหารบ้านๆ รสชาติเหมือนคุณแม่มาทำให้กิน แถมเจ้าของร้านอัธยาศัยดี น่ารักและเป็นกันเองทั้งคุณแม่และคุณลูกสาว

ผลงาน Mor Doom and Ya Be E Long
ผลงาน Mor Doom and Ya Be E Long
ผลงาน Mor Doom and Ya Be E Long ภายในศาลาของพิพิธภัณฑ์บ้านดำ

จานเด็ดของเขาก็มีอย่าง ปลาเนื้ออ่อนทอดกระเทียม ที่กินได้ทั้งตัว กรอบตั้งแต่หัวถึงหาง, ปลานิลทอดน้ำปลา ที่กรอบนอกนุ่มใน รสเค็มนัวละมุนละไมลิ้น

ผัดผักเชียงดา เมนูผักพื้นบ้าน หากินได้เฉพาะในจังหวัดภาคเหนือ ที่อร่อยลิ้นและดีต่อสุขภาพ

ต้มยำปลาคัง รสแซบแต่กลมกล่อม และทอดมันปลากราย รสเด็ดถึงเครื่อง สูตรของทางร้านทำเอง

หรือถ้ามิตรรักแฟนศิลปะท่านใดอยากจะตามรอยจานโปรดของอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ก็ต้องลองชิมน้ำพริกกะปิ ปลาทูทอด ที่เจ้าของร้านเล่าให้ฟังว่า อาจารย์ถวัลย์ไม่พลาดสั่งทุกครั้งที่มาร้าน

สวนอาหารบ้านหน่อย
สวนอาหารบ้านหน่อย

ร้านนี้ยังเป็นร้านที่ศิลปิน ภัณฑารักษ์ของงานไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงราย แวะเวียนมาเช็กอินอย่างอิ่มหนำสำราญกันถ้วนหน้า เรียกว่าถ้ามางานไทยแลนด์เบียนนาเล่ ก็ไม่ควรพลาดมาชิมร้านนี้อย่างยิ่ง จริงๆ อะไรจริง!

สวนอาหารบ้านหน่อย ตั้งอยู่ที่ บ้านป่างิ้ว อ.เมือง จ.เชียงราย ถ้าใครสนใจก็เข้าไปดูรายละเอียด และเมนูอาหารได้ที่เพจเฟซบุ๊ก สวนอาหารบ้านหน่อย – Baannoi Restaurant กันได้ตามสะดวก •

สวนอาหารบ้านหน่อย
สวนอาหารบ้านหน่อย
สวนอาหารบ้านหน่อย
สวนอาหารบ้านหน่อย

ขอบคุณภาพจาก Thailand Biennale Chiang Rai 2023, ณัฐกมล ใจสาร

 

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์