ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 1 - 7 มีนาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | เครื่องเคียงข้างจอ |
เผยแพร่ |
ผมได้มีโอกาสอ่านหนังสือเรื่อง “สามมุกงามสกุลซ่ง” เรียบเรียงโดย สุภาณี ปิยพสุนทรา ทำให้คำว่าชีวิตจริงยิ่งกว่านิยายนั้นมีน้ำหนักมากขึ้น
หากจะพูดถึงประวัติศาสตร์ประเทศจีน ถ้าถามว่าผู้หญิงคนไหนที่มีบทบาทโดดเด่นในเรื่องการเมืองการปกครองมากที่สุด เชื่อว่าส่วนใหญ่จะต้องตอบว่า “พระนางซูสีไทเฮา”
เรื่องราวของพระนางได้รับการบอกต่อ เล่าขาน และเขียนเป็นเรื่องเป็นราวให้คนทั้งโลกได้รู้จักในวงกว้าง ซูสีไทเฮาปกครองแผ่นดินจีนในช่วงท้ายของราชวงศ์ชิง ซึ่งเป็นราชวงส์สุดท้ายของระบอบกษัตริย์ของประเทศที่ยิ่งใหญ่นี้
เมื่อราชวงศ์ชิงล่มสลาย ด้วยฝีมือของกลุ่มที่ต้องการการปกครองแบบใหม่ที่ไม่ใช่อยู่ในน้ำมือของฮ่องเต้และราชวงศ์เช่นเดิม ผู้ที่ปรากฏนามในบทบาทผู้นำที่ล้มล้างอำนาจของกษัตริย์ และสืบต่อระบบการปกครองที่เป็นเสรีและเพื่อประชาชนมากขึ้น มีปรากฏชื่อของ “ดร.ซุนยัตเซน”, “เจียงไคเช็ก”, “เหมาเจ๋อตุง”, “โจวเอินไหล”
บุรุษเหล่านี้ย่อมมีสตรีเคียงข้าง มีสองผู้ยิ่งใหญ่ที่มีภรรยาเป็นหญิงงามจาก “สกุลซ่ง” นั่นคือ ดร.ซุนยัตเซน และ เจียงไคเช็ก
สกุลซ่งนั้นมีลูกทั้งหมด 6 คน เป็นชาย 3 หญิง 3
ที่เป็นภรรยาของ ดร.ซุนยัตเซน ชื่อ “ซ่งชิงหลิง” เป็นบุตรสาวคนที่สอง ส่วนภรรยาของเจียงไคเช็ก ชื่อ “ซ่งเหม่ยหลิง” เป็นบุตรสาวคนที่สาม
สำหรับพี่สาวคนโตนั้นชื่อ “ซ่งอ้ายหลิง” แม้เธอจะไม่ได้เป็นภรรยาของผู้นำในการปกครองเช่นน้องสาว แต่เธอก็เป็นถึงภรรยาของเศรษฐีที่ร่ำรวยและมีอิทธิพลทางการเงินอย่างมากของจีนในตอนนั้นชื่อว่า “ข่งเสียงซี”
นี่คือชะตาชีวิตของสามสาวสกุลซ่งที่มีชีวิตที่น่าสนใจทั้งก่อนจะได้แต่งงาน และยิ่งทวีบทบาทมากขึ้นหลังการแต่งงาน ชาวจีนมีคำพูดคำหนึ่งที่สรุปความเป็นสามศรีพี่น้องสกุลซ่งไว้ว่า
“คนหนึ่งรักเงิน คนหนึ่งรักชาติ คนหนึ่งรักอำนาจ”
น่าสนใจชีวิตของพวกเธอมากใช่ไหมครับ
การที่คนคนหนึ่งเติบโตขึ้นมาเป็นอย่างไร ครอบครัวมีส่วนอย่างมาก โดยเฉพาะกับครอบครัวจีนที่นับถือเรื่องอาวุโสและมีความผูกพันในความเป็นสายเลือดสูง พี่น้องสามสาวมีวิถีชีวิต ความคิด และนิสัยใจคอแตกต่างจากสตรีทั่วไปก็มาจากการบ่มเพาะของผู้เป็นบิดา ชื่อว่า “ชาลี ซ่ง”
ชาลี ซ่ง เป็นเศรษฐีนักธุรกิจและเป็นนักบวชผู้เผยแผ่ศาสนาคริสต์ด้วย ชาลีเป็นชาวไหหลำ สมัยเด็กๆ ครอบครัวยากจนมาก ชาลีต้องดิ้นรนหาเลี้ยงตัวเอง ตอนอายุเพียง 9 ขวบ เขาตัดสินใจเดินทางไปทำงานกับญาติห่างๆ ที่เกาะชวา
เป็นความบังเอิญที่น้าชายที่เปิดร้านขายของจีนในบอสตัน สหรัฐอเมริกา แวะมาที่เกาะชวาและได้เจอกับชาลี จึงได้พาเขาไปทำงานด้วยกัน นั่นเป็นประตูบานแรกที่เปิดให้ชาลีได้รู้จักกับโลกภายนอกที่กว้างใหญ่และแตกต่างจากที่เขาเคยเจอ โดยเฉพาะอเมริกาเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพ ความเท่าเทียม และโอกาส ซึ่งในแผ่นดินเกิดของเขาไม่มี
ที่นั่นชาลีต้องตกระกำลำบากสู้ชีวิตจากการทำงานหนักอย่างมาก แต่เขาได้มีโอกาสเล่าเรียน เมื่อบุคคลที่เป็นผู้นำระดับต้นๆ ของโบสถ์เมโธดิสต์ เห็นว่าชาลีเป็นคนชอบเรียนรู้ ทำงานขันแข็ง และฝันอยากเรียนต่อ เขาจึงยื่นโอกาสการเรียนให้โดยต้องแลกกับการเปลี่ยนศาสนาจากพุทธมาเป็นคริสต์ ซึ่งชาลีก็ยอมเพื่ออนาคตที่ดี
ชาลีศรัทธาในพระเจ้าอย่างมาก และวันหนึ่งเขาก็ได้มีโอกาสเดินทางกลับแผ่นดินเกิดเป็นครั้งแรกหลังจากจากมา 6 ปี โดยมีหน้าที่ไปเผยแผ่ศาสนาเพื่อช่วยให้พี่น้องชาวจีนได้พ้นทุกข์
ที่เซี่ยงไฮ้ เขาได้สร้างชีวิตใหม่ที่นั่น เขาได้แต่งงานกับ “หนีกุ้ยเจิน” ในสายตาของคนอื่น ทั้งสองต่างเป็นลูกเป็ดขี้เหร่ หนีกุ้ยเจินนั้นตีนโต ซึ่งไม่ใช่ลักษณะของหญิงงาม ส่วนชาลีนั้นตัวเตี้ย
ชาลีน่าจะดวงสมพงศ์กับภรรยา หลังแต่งงานเขามีแต่ความรุ่งเรือง ได้เป็นบาทหลวงในเมืองเซี่ยงไฮ้ และเปิดโรงพิมพ์เพื่อพิมพ์พระคัมภีร์ให้แก่สมาคมคริสต์
เขาได้มีโอกาสพบกับ ดร.ซุนยัตเซน เมื่อเข้าร่วมสมาคมถงหมึ่งฮุ่ย ที่ ดร.ซุนก่อตั้งขึ้น เพื่อเป็นองค์กรต่อต้านราชวงศ์ชิง
จากการได้เห็นโลกกว้างทำให้ชาลีเป็นคนหัวสมัยใหม่ เขาสนิทกับ ดร.ซุนอย่างมาก ด้วยมีอุดมการณ์เพื่อบ้านเมืองอันแรงกล้าเช่นกัน เขาใช้โรงพิมพ์บังหน้าในการพิมพ์เอกสารต่อต้านราชวงศ์ชิงอย่างลับๆ
ชาลีได้ถ่ายทอดความคิดด้านบ้านเมือง และการเป็นคนรุ่นใหม่ มีเสรีภาพให้กับลูกๆ ทำให้ลูกๆ ซึมซับมันเข้าไปทีละน้อย ในยุคปลายศตวรรษที่ 19 ประเทศจีนยังคร่ำครึด้วยประเพณียกย่องผู้ชาย กดขี่ผู้หญิง แต่ชาลีกลับให้สิทธิเสรีภาพแก่ลูกสาวทั้งสามเช่นเดียวกับลูกชาย เขาส่งเสริมให้ลูกสาวมีความรู้ โดยการส่งทั้งหมดไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา
ขณะเดียวกันเขาก็ปลูกฝังความคิดดีๆ ให้กับลูกเสมอ เขาได้สอนให้ลูกมีความทะเยอทะยาน มีเป้าหมายชีวิตอันยิ่งใหญ่ ลูกจะต้องศึกษาหาความรู้ ฝึกฝนตนเองให้เก่ง ให้ก้าวหน้าอยู่เสมอ
นั่นทำให้สามสาวพี่น้องมีความทะเยอทะยานและ “คิดใหญ่” จนกระทั่งได้นำพาตนเองก้าวขึ้นมาเป็นภรรยาของผู้นำสูงสุดทางสังคมของจีนในเวลาต่อมา
ซ่งอ้ายหลิง พี่สาวคนโต เมื่อกลับมาจากอเมริกา ชาลีได้ส่งให้เธอไปทำงานเป็นเลขาฯ ให้กับ ดร.ซุน ด้วยความรู้และความชำนาญด้านภาษา ประกอบกับบุคลิกการเป็นสาวมั่น กล้าคิดกล้าทำ ทำให้พอใจ ดร.ซุนอย่างมาก
และเธอก็พอใจในตัว “อาซุน” อย่างมากเช่นกัน เธอชื่นชมในความคิดและการเป็นผู้นำของเขา จนกระทั่งตกหลุมรักชายผู้นี้อย่างมาก โดยไม่สนใจว่าเขามีวัยเป็นเพื่อนพ่อทีเดียว
ชาลีทราบเรื่องความในใจของลูก เขาไม่เห็นด้วย และไม่ยอมให้ลูกสาวเป็นเมียของเพื่อนแน่นอน แต่สุดท้ายปัญหาเรื่องนี้ก็มีทางออก เพราะนอกจากฝ่ายชายจะคิดกับเธอเป็นเพียงหลานที่รักไม่พอ มีการตัดสินใจหนึ่งที่เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของ ดร.ซุน
แต่การตัดสินใจของเขา อ้ายหลิงไม่เห็นด้วยอย่างมาก จึงหมดศรัทธาลง และขอไม่ทำงานกับเขาต่อไป
เมื่อความใฝ่ฝันที่จะได้เป็นสตรีที่เคียงข้างบุรุษผู้ยิ่งใหญ่นี้จบไป เธอก็หันไปอีกทางหนึ่ง โดยมีใจและสุดท้ายก็ได้แต่งงานกับเศรษฐีนักเรียนนอกผู้มีอนาคตไกลชื่อ “ข่งเสียงซี” นั่นทำให้เธอมีเงินทองมากมาย และกำความเป็นไปของธุรกิจและเศรษฐกิจของเซี่ยงไฮ้ไว้ในมือ
เธอมีความสุขกับ “เงินตรา” ที่มีอย่างมาก
เมื่ออ้ายหลิงไม่ได้ทำงานกับ ดร.ซุนแล้ว ชาลีได้ส่งลูกสาวคนรอง “ซ่งชิงหลิง” มาทำ งานด้วยแทน ชิงหลิง มีบุคลิกตรงข้ามกับพี่สาวคือ เป็นคนสุภาพอ่อนโยน สุขุม เยือกเย็น เฉลียวฉลาดแต่ขี้อาย
ลักษณะเช่นนี้สร้างความพึงพอใจให้กับ ดร.ซุนอย่างมาก นอกจากเขาจะให้ชิงหลิงช่วยเหลืองานต่างๆ ได้อย่างดีแล้ว ไม่ช้าเขาก็ค่อยๆ เปิดรับสาวน้อยคนนี้เข้ามาในหัวใจ
และฝ่ายหญิงเองก็มีใจให้เขา เธอศรัทธาในอุดมการณ์ที่แรงกล้าของเขา ซึ่งความคิดทำนองนี้ก็เต็มเปี่ยมอยู่ในตัวเธอตั้งแต่สมัยเรียนที่ต่างประเทศแล้ว
แน่นอนที่เรื่องนี้วนกลับไปหาชาลีอีกครั้ง เขาไม่เข้าใจเลยว่าทำไมลูกสาวของตนจึงพากันตกหลุมรัก ดร.ซุน
เขาออกปากห้ามลูกสาวด้วยเหตุผลว่า ดร.ซุนมีภรรยาอยู่แล้ว และเธอกับเขาก็อายุห่างกันเหลือเกิน
แต่ชิงหลิงก็ยืนยันที่จะรัก ดร.ซุน
ชาลีขมขื่นใจอย่างมาก เมื่อคิดจะจับชิงหลิงแต่งงานกับคนอื่น ครอบครัวนักปฏิวัติประชาธิปไตยอย่างเขา ต้องจับลูกคลุมถุงชน นี่เขาได้กลายเป็นเผด็จการ เต่าล้านปีไปเสียแล้วหรือ
จากการต่อสู้กับอำนาจเก่าที่หนักหน่วง ทำให้ ดร.ซุน ต้องลี้ภัยไปตั้งหลักที่ประเทศญี่ปุ่น และที่นั่น หลังจากหย่าขาดกับภรรยาคนเดิม เขาก็ได้แต่งงานกับอ้ายชิงหลิงจนได้ ชาลีเจ็บปวดใจมาก
ถึงกระนั้น ชิงหลิงก็ได้พิสูจน์รักแท้และการเป็นคู่ชีวิตของ ดร.ซุน ให้พ่อได้ประจักษ์ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับ ดร.ซุน เธอยังยืนเคียงข้างเขา คิดถึงเขามากกว่าตัวเอง
ครั้งหนึ่งที่มีคนลอบเข้าสังหาร ดร.ซุน แต่เขารู้ตัวก่อน ตอนจะหนี ชิงหลิงบอกว่าให้เขาหนีไปคนเดียวก่อน ถ้าเธอไปด้วยจะพะว้าพะวัง
“ประเทศจีนขาดฉันได้ แต่ขาดท่านไม่ได้”
ในที่สุดทหารพิทักษ์ก็ได้ช่วยพาเธอหนีตามไปทีหลัง แต่การหนีนั้นลำบากมาก ซ้ำร้ายเธอตั้งครรภ์อ่อนๆ ด้วย เพื่อหนีพวกกบฏ เธอยอมแม้แต่ซุกตัวอยู่ในกองศพเพื่อพรางตาพวกเขา สุดท้ายเธอก็หนีจนไปพบกับ ดร.ซุนได้
แต่ก็ต้องแลกกับการแท้งลูกคนแรกไป
ในเวลาต่อมา ศัตรูคนใหม่ของ ดร.ซุน ก็ปรากฏตัวขึ้น นั่นคือ “เจียงไคเช็ก” ที่เริ่มต้นก็มาจากการเป็นพวกเดียวกันในพรรคก๊กมินตั๋ง แต่ทั้งสองมีแนวทางต่างกัน
ดร.ซุน นั้นเป็นฝ่ายซ้ายที่เอารัสเซียเป็นพวกและยึดแนวทางการปฏิวัติของรัสเซียมาเป็นแบบ
ในขณะที่เจียงไคเช็กเป็นฝ่ายขวาที่สนับสนุนพวกนายทุน และเกลียดรัสเซีย
เจียงไคเช็กติดใจในตัว “ซ่งเหม่ยหลิง” เขาเข้าทางอ้ายหลิงพี่สาว ซึ่งอ้ายหลิงเห็นว่าเจียงไคเช็กเป็นคนมีอำนาจในมือ จึงเชียร์ให้เหม่ยหลิงแต่งกับเขา แม้ตอนนั้นเหม่ยหลิงก็มีคู่หมั้นเป็นหนุ่มหน้าตาดี จบจากเมืองนอก และมีอนาคตไกล ที่กำลังจะแต่งงานกันอยู่แล้ว แต่อ้ายหลิงได้บอกว่า
“ชิงหลิงเป็นสตรีหมายเลขหนึ่งในปัจจุบัน ส่วนเหม่ยหลิงก็จะได้เป็นสตรีหมายเลขหนึ่งในอนาคต”
นั่นโดนใจน้องสาวมาก เพราะเธอเป็นคนที่หลงใหลในอำนาจมาก
ในที่สุดเธอก็เข้าพิธีวิวาห์กับเจียงไคเช็ก
นั่นทำให้เธอกับชิงหลิงผิดใจกัน เพราะต่างยืนข้างสามีที่มีอุดมการณ์ตรงข้ามและเป็นศัตรูกัน
พี่น้องที่เคยรักกันอย่างมากต้องมาเป็นศัตรูกัน ทุกคำพูดและการกระทำของอีกฝ่ายล้วนแต่สร้างความเจ็บปวดและรอยแผลลึกลงไปในใจให้กับทั้งคู่
วิถีการเมืองของเจียงไคเช็กสมบุกสมบันมาก มีขึ้นมีลง แต่เขาก็มีเหม่ยหลิงเคียงข้างเสมอ รวมทั้งเมื่อเขาหนีไปอยู่ที่ไต้หวันในปัจจุบัน
ที่บอกว่าเรื่องจริงยิ่งกว่านิยาย เพราะชีวิตบนเส้นทางการเมืองของสามีที่พวกเธอต้องเผชิญในช่วงเปลี่ยนถ่ายครั้งสำคัญของประเทศจีนนั้น มันท้าทายและเรียกร้องความแข็งแกร่งจากพวกเธอทั้งสามที่เป็นคู่ชีวิตอย่างสูงสุด
ผู้สนใจต้องลองอ่านดูครับ และจะพบว่าผู้หญิงสามคนนี้ต้องเผชิญกับอะไรบ้าง
ในบั้นปลายชีวิต ผู้ที่อยู่นานที่สุดคือซ่งเหม่ยหลิง เธอมีอายุถึง 106 ปี และจบชีวิตที่นิวยอร์ก สถานที่ที่เลือกไปอยู่หลังจากเจียงไคเช็กสิ้นชีวิตลงที่ไต้หวัน
ส่วนชิงหลิงนั้น เมื่อ ดร.ซุนยัตเซน ป่วยหนักจนต้องจากไปเมื่อเธออายุเพียง 30 ปีกว่าๆ เธอก็มุ่งมั่นทำงานอันยิ่งใหญ่เรื่อยมา แม้จะต้องทะเลาะกับพี่น้อง แม้จะต้องหวานอมขมกลืนกับผู้คนรอบข้างเพียงไร แต่เธอก็ไม่เคยทอดทิ้งคำพูดที่เธอได้บอกกับ ดร.ซุน ไว้ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตว่า
“ไม่ต้องห่วงนะคะ ฉันจะสานต่ออุดมการณ์ของคุณเอง”
จากผลของการยืนหยัดเพื่อบ้านเมืองมาโดยตลอด ในบั้นปลายของชีวิต เธอได้ถูกเสนอชื่อขึ้นเป็นประธานกิตติมศักดิ์ของประเทศจีน พร้อมได้รับเลือกเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนด้วย
ขอปิดบทความด้วยคำพูดของชาลี ซ่ง ที่เคยบอกกับลูกๆ ว่า
“ชั่วชีวิตของพ่อไม่เคยคิดถึงอำนาจ คิดถึงแต่ประชาชน อยากเห็นประชาชนอยู่ดีกินดี บ้านเมืองสงบสุข ชีวิตบั้นปลายของพ่อแม้ว่าจะมองไม่เห็นวันนั้น แต่พ่อมีลูกเก่งๆ ถึงหกคน อีกหน่อยลูกๆ ก็จะต้องรับใช้สังคม เป็นเสาหลักของบ้านเมือง เท่านี้พ่อก็ภูมิใจจนบอกไม่ถูก แม้ตายก็นอนตายตาหลับ”
นี่คือคำพูดของชาลี ซ่ง ผู้ให้กำเนิด สามมุกงามสกุลซ่ง ที่งามกันไปคนละแบบ •
เครื่องเคียงข้างจอ | วัชระ แวววุฒินันท์
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022