คิดถึง ‘ทักษิโณมิกส์’

(Photo by JIMIN LAI / AFP)

เช้ามืด วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567 คุณทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ของไทย เดินทางออกจากโรงพยาบาลตำรวจ ด้วยรถตู้ทะเบียน ภษ 1414 กรุงเทพมหานคร เวลา 06.08 น. ถึงบ้านจันทร์ส่องหล้า เวลา 06.33 น. เป็นการกลับคืนสู่บ้านจันทร์หล้า ซอยจรัญสนิทวงศ์ 69 เป็นครั้งแรกในรอบ 17 ปี

เมื่อกล่าวถึงคุณทักษิณ แล้วย้อนกลับมามองดูในแง่มุมด้านเศรษฐกิจ คงหนีไม่พ้น “ระบบเศรษฐกิจแบบทักษิโณมิกส์”

ระบบเศรษฐกิจแบบทักษิโณมิกส์ เป็นการผสมผสาน นโยบายเศรษฐกิจของพรรคไทยรักไทย ทั้งในแง่มุมนโยบายการคลัง และนโยบายการเงินเข้าด้วยกันอย่างลงตัว

มีการวางมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างชัดเจนกว่ารัฐบาลก่อนหน้าที่ผ่านมา โดยใช้ชื่อว่า “นโยบายรางคู่” หรือ Dual-track Economic Development Strategy ภายหลังมีการเรียกชื่อให้ไพเราะงดงามว่า ยุทธศาสตร์การพัฒนาทวิวิถี

ทั้งนี้ ไม่ว่านโยบายจะมีการเรียกขานอย่างไร มิใช่สาระสำคัญ ขอให้กระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงก็พอ

 

นโยบายรางคู่เป็นแผนยุทธศาสตร์กระตุ้นเศรษฐกิจ โดยมุ่งเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศในระดับประชาชนรากหญ้า โดยการกระจายทรัพยากรทั้งนโยบายการคลังและนโยบายการเงิน สู่ประชาชนอันเป็นหน่วยเล็กที่สุดของระบบเศรษฐกิจ ผ่านโครงการต่างๆ ของรัฐบาล

อาทิ โครงการกองทุนหมู่บ้าน โครงการให้ทุนการศึกษา โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค โครงการ 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ โครงการพักชำระหนี้เกษตรกร เป็นต้น

ซึ่งโครงการเหล่านี้ เป็นโครงการที่มุ่งการเพิ่มรายได้ และลดรายจ่าย แก่ภาคครัวเรือน ผลลัพธ์ที่ได้คือ เมื่อครัวเรือนมีรายได้มากกว่ารายจ่าย หนี้ครัวเรือนลดลง ประชาชนมีเงินเหลือให้จับจ่ายใช้สอยและลงทุนเพิ่มมากขึ้น เศรษฐกิจจึงขยายตัว GDP เติบโตเฉลี่ยเกินกว่าร้อยละ 5 ต่อปี

การกระตุ้นเศรษฐกิจระดับรากหญ้านี้เองที่ถูกฝ่ายการเมืองฝั่งตรงข้ามโจมตีว่าเป็นนโยบายประชานิยม (Populist Policy) นับเป็นนโยบายรางที่หนึ่งของนโยบายรางคู่

 

นโยบายรางที่สอง คือ แผนยุทธศาสตร์การกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยการเพิ่มการขยายตัวของการค้าระหว่างประเทศและการท่องเที่ยว

ในสมัยรัฐบาลไทยรักไทยจึงมีการขับเคลื่อนการส่งออกในทุกมิติ ทั้งการเร่งเจรจาสนธิสัญญาเขตการค้าเสรี หรือ Free Trade Agreement (FTA) มากมาย

การส่งเสริมการท่องเที่ยว ลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้สอดรับกับการท่องเที่ยว เปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ปฏิรูประบบราชการในการตรวจลงตราและการขอ VISA เพื่อเดินทางเข้าประเทศไทย นักท่องเที่ยวจึงหลั่งไหลเข้าประเทศจนสนามบินดอนเมืองแออัด ไม่สามารถรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว

จนต้องจัดสร้างสนามบินหนองงูเห่า ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานชื่อว่า สนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินระหว่างประเทศตามเมืองภูมิภาคต่างๆ

การกระตุ้นการส่งออกและการท่องเที่ยวนั้น หัวใจสำคัญหนีไม่พ้น คือ การปรับนโยบายดอกเบี้ย และนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การกระตุ้นเศรษฐกิจ

ประกอบกับ ณ ขณะนั้น ประเทศไทยเปลี่ยนมาใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัว และประเทศไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมาต่อเนื่อง ปัญหาทุนสำรองระหว่างประเทศจึงไม่มี

รัฐบาลไทยรักไทยจึงสามารถหาเงินตราต่างประเทศชำระหนี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศได้ก่อนกำหนดถึง 2 ปี

นโยบายรางที่สองนี้ ฟังดูแล้วเหมือนง่าย แต่ในทางปฏิบัติมีอุปสรรคต่างๆ มากมายที่รัฐบาลต้องฝ่าฟัน ซึ่งรวมถึงการปลด ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ออกจากตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และแต่งตั้ง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยแทน

รัฐบาลไทยรักไทยและธนาคารแห่งประเทศไทยจึงสามารถดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่สอดคล้องกันได้

ดั่งคำสอนของท่านอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ท่านเปรียบเทียบไว้ว่า กระทรวงการคลังเปรียบเสมือนสามี ธนาคารแห่งประเทศไทยเปรียบเสมือนภรรยา ส่วนธนาคารพาณิชย์เปรียบเสมือนลูกๆ

ประเทศไทยจะเจริญก้าวหน้า หรือฉิบหาย ก็ขึ้นอยู่กับสามี-ภรรยาคู่นี้เป็นสำคัญ

 

ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมาข้างต้นนั้นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตที่พรรคไทยรักไทยทำสำเร็จ สามารถนำพาเศรษฐกิจไทยเติบโตขยายตัวครั้งสำคัญ จนคำว่า “ทักษิโณมิกส์” กลายเป็นเครื่องหมายการค้าทางการเมือง คงอยู่ถึงทุกวันนี้

ความท้าทายครั้งใหม่ของเครื่องหมายการค้า “ทักษิโณมิกส์” ภายใต้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยนั้น ไม่ง่ายเหมือนสมัยไทยรักไทย

หนึ่งในความท้าทายที่สำคัญ คือ บริบททางเศรษฐกิจภายในประเทศและเศรษฐกิจโลก ณ ขณะนั้น กับ ปัจจุบันมีความแตกต่างกันอย่างมาก

บริบทเศรษฐกิจในสมัยไทยรักไทยนั้น เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกากำลังฟื้นตัวจากวิกฤตฟองสบู่อินเตอร์เน็ต อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐอยู่ในช่วงขาลง เศรษฐกิจจีนกำลังขยายตัวจากการเปิดประเทศ เปิดการค้าให้เสรีมากขึ้น มีประชาชนจากจีนเริ่มเดินทางไปทั่วทุกมุมโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย

ด้านบริบทในประเทศไทย เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวจากวิกฤตต้มยำกุ้ง มีการปรับเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนจากระบบตะกร้าเงินเป็นระบบลอยตัว ค่าเงินจึงอ่อนค่าลงเป็นการเอื้อให้การส่งออกและการท่องเที่ยวขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในช่วงขาลง เอื้อให้เกิดการบริโภคและการลงทุนเพิ่มขึ้น ปัญหาหนี้ครัวเรือนคลี่คลายในทิศทางที่ดี เมื่อเศรษฐกิจขยายตัว หนี้สาธารณะต่อ GDP ก็ลดลง รัฐบาลจึงสามารถกู้ยืมเงินเพื่อใช้จ่ายโครงการขนาดใหญ่ได้มากมาย

เรียกได้ว่า จะทำอะไรก็ประสบความสำเร็จทุกประการ

 

เมื่อเปรียบเทียบกับบริบทเศรษฐกิจในปัจจุบัน ภายใต้รัฐบาลเพื่อไทยนั้น อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในช่วงขาขึ้น เป็นอุปสรรคต่อการกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนเป็นอย่างมาก เศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงถดถอย มีการนำมาตรการกีดกันทางการค้ารูปแบบใหม่ๆ มาปรับใช้ การค้าระหว่างประเทศจึงไม่ง่ายเหมือนในอดีต สภาวะเศรษฐกิจในประเทศถดถอย หนี้ครัวเรือนสูงแตะ 91% ของ GDP ซ้ำยังมีวิกฤตราคาพลังงานและวิกฤตการอนุมัติสินเชื่อรายย่อย คอยบีบไม่ให้รัฐบาลเดินหน้าได้อย่างคล่องตัว

อีกทั้งรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย ยังเป็นคู่สามี-ภรรยาที่เล่นบทงอนกัน ไม่คุยกันอยู่ ผู้หลักผู้ใหญ่ที่ทั้งสองฝ่ายเคารพนับถือและเกรงใจพอที่จะช่วยประสานรอยร้าวก็ไม่มี

ครั้นจะนำนโยบายเศรษฐกิจรางคู่ สมัย 20 ปีที่ผ่านมา มาปรับใช้กับสถานการณ์ปัจจุบันคงจะไม่เพียงพอ เพราะทุกประเทศก็ดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อแข่งขันกันอยู่ คงเห็นจะมีทางใหม่เพียงทางเดียว คือ เพิ่มรางที่สาม เป็น “นโยบายสามราง” คือ เพิ่มการกระตุ้นเศรษฐกิจดิจิทัล

การคิดแบบเดิมบนโลกใบเดิมอาจมิใช่คำตอบ ต้องคิดแบบใหม่บนโลกใบใหม่

ขอเขียนถึง “ทักษิโณมิกส์” เพื่อให้คลายความคิดถึงเพียงเท่านี้ครับ