ทวิรัฐและทวินิติรัฐ : 1) เอินสต์ เฟรงเกิล เจ้าของทฤษฎี

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม | เกษียร เตชะพีระ

 

ทวิรัฐและทวินิติรัฐ

: 1) เอินสต์ เฟรงเกิล เจ้าของทฤษฎี

 

ข่าวคราวต้นปีมานี้ไม่ว่าคำวินิจฉัยกรณีความพยายามแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ของพรรคฝ่ายค้าน (https://www.bbc.com/thai/articles/cw0rq4x2ke7o), การจับกุมนักข่าวและช่างภาพอิสระจากการนัดหมาย ทำข่าวกิจกรรม (https://www.bbc.com/thai/articles/cydl5nm3e1lo), การได้รับพักโทษเป็นกรณีพิเศษของอดีตนายกรัฐมนตรี (https://www.thaipbs.or.th/news/content/337013) เป็นต้น ล้วนทำให้กระบวนการยุติธรรมและอำนาจตุลาการบ้านเราตกเป็นเป้าเพ่งเล็งวิเคราะห์วิจารณ์อย่างเข้มข้นกว้างขวางของสาธารณชนอีกครั้ง

ก็แล้วสังคมการเมือง แวดวงวิชาการและปัญญาสาธารณะไทยมีเครื่องมือการคิดสำคัญอันใดบ้างที่จะช่วยทำความเข้าใจปรากฏการณ์พิสดารพันลึกทำนองนี้?

ก่อนหน้านี้เมื่อต้นเดือนมีนาคม พ.ศ.2562 (ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปไม่นาน) รองศาสตราจารย์ ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ได้เคยเขียนเรื่อง “รัฐคู่” (The Dual State) โพสต์เผยแพร่ในเฟซบุ๊กมาแล้ว (https://www.facebook.com/PiyabutrOfficial/posts/the-dual-state-a-contribut/2347427208874482/?locale=th_TH)

และในช่วงไล่ๆ กัน ศาสตราจารย์ ดร.ธงชัย วินิจจะกูล ก็ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 17 เรื่อง “นิติรัฐอภิสิทธิ์และราชนิติธรรม” ด้วย (https://www.econ.tu.ac.th/archive/detail/43)

น่าสังเกตว่ามีประเด็นสอดคล้องคล้อยเคียงกันบางประการที่น่าจะนำมาอธิบายขยายความต่อเกี่ยวกับแนวคิด The Dual State ที่ผมใคร่แปลว่า “ทวิรัฐ” ของ เอินสต์ เฟรงเกิล เพื่อช่วยเสริมเติมเครื่องมือการคิดในเรื่องนี้

แต่ก่อนอื่นคงต้องแนะนำว่า เอินสต์ เฟรงเกิล เจ้าของทฤษฎีทวิรัฐเป็นใคร? โดยอิงอาศัยงานของ Douglas G. Morris นักนิติประวัติศาสตร์และทนายความคดีอาญาชาวอเมริกันเรื่อง Legal Sabotage : Ernst Frankel in Hiter’s Germany (2020, นิติวินาศกรรม : เอินสต์ เฟรงเกิล ในเยอรมนีสมัยฮิตเลอร์)

Ernst Fraenkel (1898-1975) เป็นนักกฎหมายและนักรัฐศาสตร์ชาวเยอรมันเชื้อสายยิวผู้เกิดที่เมืองโคโลญ ในวัยหนุ่ม เขาอาสาร่วมรบในกองทัพเยอรมันและได้รับบาดเจ็บสาหัสระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ในสมัยสาธารณรัฐไวมาร์หลังสงคราม (1918-1933) เขาทำงานเป็นนักกฎหมายแรงงานชั้นนำคนหนึ่งของสหภาพคนงานการโลหะ เขานิยมแนวคิดมาร์กซิสต์และเคลื่อนไหวการเมืองในสังกัดพรรคสังคมประชาธิปไตย (social democracy คือแนวทางการเมืองที่มุ่งบรรลุสังคมนิยมด้วยวิถีทางประชาธิปไตย)

เมื่อพรรคนาซีใต้การนำของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ สร้างสถานการณ์วุ่นวายแล้วฉวยโอกาสรวบอำนาจรัฐบาลสำเร็จ เมื่อต้นปี 1933 ก็ได้ออกคำสั่งกฤษฎีกาลงวันที่ 7 เมษายน 1933 โดยมุ่งหมายที่จะถอนใบอนุญาตทนายความของทนายเชื้อสายยิวในเยอรมนีทั้งหมดจำนวนราว 18,000 คนซึ่งมีบทบาทโดดเด่นในวงการกฎหมาย

 

อย่างไรก็ตาม กฤษฎีกานี้มีข้อยกเว้นอยู่บ้าง ที่สำคัญ 2 ประการได้แก่ยกเว้นทนายความเชื้อสายยิวผู้ได้รับเข้าเป็นสมาชิกเนติบัณฑิตยสภาให้ว่าความได้ก่อนจะเกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และยกเว้นทนายความเชื้อสายยิวผู้เป็นทหารผ่านศึก ทำให้ทนายความเชื้อสายยิวราว 2 ใน 3 เท่าที่มีอยู่ตอนนั้นในเยอรมนียังว่าความต่อไปได้แม้จะในขอบเขตจำกัดลงกว่าเดิม รวมทั้งเอินสต์ เฟรงเกิล ที่เป็นทหารผ่านศึกด้วย

ถึงจะยังว่าความให้บรรดาลูกความโดยเฉพาะที่เป็นอดีตนักเคลื่อนไหวแรงงานฝ่ายซ้ายผู้ต้องหาคดีอาญาข้อหาต่างๆ รวมทั้งทรยศชาติในศาลได้ แต่เฟรงเกิลก็เฉกเช่นทนายยิวคนอื่นๆ ที่ต้องเผชิญแรงกดดัน ความระแวงสงสัย และการดูหมิ่นเหยียดหยามจากทางการนาซีและกระแสต่อต้านยิวที่โหมกระพือแรงขึ้นเรื่อยๆ ในสังคมเยอรมันอย่างต่อเนื่อง

เช่น เมื่อปี 1934 มีความพยายามจะถอนใบอนุญาตทนายความของเขาเป็นครั้งที่สองโดยหาว่าเขาเป็นพวกคอมมิวนิสต์ซึ่งถือเป็นข้อห้ามตามกฤษฎีกาข้างต้น เฟรงเกิลปกป้องตัวเองโดยยืนกรานว่าเขามีแนวคิดความเชื่อแบบสังคมประชาธิปไตย ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ และการที่เขารับว่าความให้ลูกความบางคนที่เคยเป็นคอมมิวนิสต์นั้น โดยแก่นแท้แล้วเขากำลังแก้ต่างให้แก่จำเลยในฐานที่คนเหล่านั้นเป็นปัจเจกบุคคลต่างหาก

 

ด้วยฐานะบทบาทที่เป็นทนายจำเลยฝ่ายซ้ายเชื้อสายยิวในศาลภายใต้ระบอบนาซี ที่ซึ่งผู้ต้องหาคดีการเมืองทั้งหลายหาทนายรับแก้ต่างให้ได้ยากยิ่งเพราะต่างพากันหวาดหวั่นอำนาจนาซีขวัญหนีดีฝ่อ นับว่าเอินสต์ เฟรงเกิล ว่าความได้ดีมีประสิทธิผล รู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาวอย่างแนบเนียนนุ่มนวลด้วยความกล้าหาญ ระมัดระวัง จำแนกแยกแยะประเด็นที่ไม่พึงหยิบยกขึ้นมาถกเถียงในศาลเพราะอาจเป็นอันตรายเกินไปต่อตัวลูกความเอง เช่น การกล่าวหาพวกนาซีว่าอยู่เบื้องหลังการสร้างสถานการณ์การเมืองต่างๆ เป็นต้น เขามุ่งยึดติดอยู่กับข้อเท็จจริงที่เป็นประโยชน์ต่อการสู้คดี เช่น การที่ลูกความถูกพวกตำรวจลับเกสตาโปทรมานให้รับสารภาพอันเป็นเหตุที่ศาลไม่ควรให้น้ำหนักแก่คำสารภาพนั้น เป็นต้น

เหล่านี้ทำให้ลูกความของเขาได้รับการพิพากษาปล่อยตัวพ้นผิดไปหลายคดี แม้จะไม่ทุกครั้งก็ตาม และเอินสต์ เฟรงเกิล กลายเป็นทนายความที่ผู้ต้องหาคดีการเมืองพากันเรียกหาต้องการตัวให้มาช่วยว่าความอย่างแพร่หลายทั้งในกรุงเบอร์ลินเองและกว้างออกไป

และมันยังส่งผลด้านกลับให้เฟรงเกิลกับทนายคู่หูร่วมคณะซึ่งไม่ใช่ชาวยิวสองคน ได้ติดต่อสัมพันธ์กับบรรดานักเคลื่อนไหวแรงงานและนักการเมืองฝ่ายค้านผู้ตกเป็นเหยื่อการรังแกเล่นงานของพวกนาซีอย่างกว้างขวาง สามารถเปรียบเทียบเชื่อมโยงข้อมูลคดีความต่างๆ เข้าด้วยกันเพื่อใช้ต่อสู้คดี

และเก็บรวบรวมข่าวสารข้อมูลของฝ่ายต่อต้านนาซีจากการสนทนาอภิปรายกับลูกความและเพื่อนทนายได้ค่อนข้างสะดวกรัดกุมตามหลักเอกสิทธิ์คุ้มกันความลับในการติดต่อสื่อสารระหว่างลูกความกับทนายความ (attorney-client privilege)

 

แม้หะแรกระบอบนาซีจะค่อนข้างปล่อยปละหละหลวมกับพวกทนายความเพราะดูเบาวิชาชีพทนายความโดยอุดมการณ์ แต่นานเข้าระบอบนาซีก็ค่อยหนีบกระชับพื้นที่การต่อสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรมให้คับแคบลีบเล็กลงตามลำดับ จนถึงจุดที่เอินสต์ เฟรงเกิล เองมีลูกความและคดีให้ต่อสู้ในศาลน้อยลงเรื่อยๆ จนเมื่อถึงปี 1938 ก็เป็นอันว่าทนายความเชื้อสายยิวทั้งหลายในเยอรมนีถูกถอนใบอนุญาตว่าความกันหมดในท้ายที่สุด

ถึงจุดนั้น เอินสต์ เฟรงเกิล ก็หันไปเน้นหนักเคลื่อนไหวใต้ดินเพื่อต่อต้านระบอบนาซีซึ่งเขาได้ทำควบคู่กันมาแต่ต้นแทน เขาเสี่ยงทำสารพัดตั้งแต่ช่วยแจกจ่ายจุลสารผิดกฎหมาย คงสายสัมพันธ์ติดต่อกับฝ่ายต่อต้านนาซีคนอื่นๆ เสาะหาและส่งต่อข้อมูลข่าวสารในหมู่ฝ่ายต่อต้านและต่างประเทศ รวมทั้งเขียนความเรียงต่อต้านนาซีตีพิมพ์เผยแพร่ 5 ชิ้นด้วยกันซึ่งมีเนื้อหาปลุกเร้าเรียกร้องประชาชนอย่างแหลมคมรุนแรงให้ลุกขึ้นไม่เชื่อฟัง ท้าทายและล่วงละเมิดกฎหมายเพื่อแสดงการต่อต้านระบอบทรราชนาซีให้ปรากฏเป็นที่ประจักษ์ภายใต้ชื่อเรื่องอย่าง “ประเด็นสำคัญของงานผิดกฎหมาย” (The Point of Illegal Work) เป็นต้น

สถานการณ์ภายใต้ระบอบนาซีนับวันคุกคามงวดตัวบีบคั้นเข้ามาจนสุ่มเสี่ยงภยันตรายที่เอินสต์ เฟรงเกิล จะอยู่ในเยอรมนีต่อไป ในที่สุดเขาก็เดินทางออกจากเยอรมนีในวันที่ 20 กันยายน 1938 หลังได้รับคำเตือนว่าเขาจะถูกจับกุมในวันดังกล่าว โดยมีจุดหมายปลายทางไปยังสหรัฐอเมริกาที่ซึ่งเขาจะลี้ภัยอยู่จนหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

โดยเขาไม่ลืมที่จะฝากฝังต้นฉบับงานวิเคราะห์วิจารณ์ระบอบกฎหมาย-การเมืองเผด็จการนาซีของเขาเรื่อง “The Dual State” (ทวิรัฐ) ให้พรรคพวกลักลอบนำออกจากเยอรมนีด้วยการซุกซ่อนไว้ในถุงเอกสารการทูตฝรั่งเศส แล้วส่งต่อมาถึงมือเขาที่อเมริกาในท้ายที่สุด

(ต่อสัปดาห์หน้า)