กลยุทธ์รุก-รับ ‘เศรษฐา’ ดีลทหาร กองทัพวัดใจ เกมทุบหม้อข้าว สะพัดโผทำเนียบ 3 บิ๊กลงตัว ‘บิ๊กปู-หนุ่ย-หยอย’ แถมเลขาฯ สมช.

บัญชีรายชื่อแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารชั้นนายพลกลางปี ส่งถึงกลาโหมเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมาแล้ว

จากนั้นช่วงบ่าย นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม ก็เดินทางไปเยือนสิงคโปร์ และดูงาน Singapore AirShow 2024 และเดินทางกลับ 21 กุมภาพันธ์ 2567

การไปสิงคโปร์ครั้งนี้ มีบิ๊กหนุ่ม พล.อ.สนิธชนก สังขจันทร์ ปลัดกลาโหม และบิ๊กอ๊อบ พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผบ.ทหารสูงสุด ร่วมคณะไปด้วย รวมทั้งบิ๊กไก่ พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผบ.ทอ. ก็ไปเช่นกัน

จนเป็นที่จับตามองกันว่า ไปสิงคโปร์ครั้งนี้ ไปร่วมจัดโผทหารด้วยหรือไม่ เพราะโผทหารโผนี้ ถือเป็นครั้งแรกของนายสุทิน รมว.กลาโหมพลเรือน ในฐานะประธานคณะกรรมการแต่งตั้งโยกย้ายชั้นนายพลของกระทรวงกลาโหม หรือบอร์ด 7 เสือกลาโหม แต่รัฐบาลนี้มีแค่ 6 คน เพราะไม่มี รมช.กลาโหม

 

ก่อนหน้านี้ เมื่อค่ำวันที่ 16 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผบ.เหล่าทัพ พร้อมหน้า และนายสุทินได้พบปะกินข้าวกับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ครั้งแรกไปแล้ว หลังจากเลื่อนมาจาก 31 มกราคม เป็น 8 กุมภาพันธ์

ถือว่าเป็นจังหวะที่เหมาะเจาะพอดี เพราะ ผบ.เหล่าทัพอยู่กันครบคน จากครั้งก่อนที่ พล.อ.สนิธชนกไปญี่ปุ่นพอดี และเป็นช่วงวันเกิดของนายเศรษฐา ที่เพิ่งผ่านไปเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ นายสุทินจึงเป็นตัวแทน นำ ผบ.เหล่าทัพ อวยพรวันเกิดนายกฯ ย้อนหลังไปด้วย เพราะในวันเกิด นายเศรษฐาไม่ได้เปิดให้มีการอวยพร

เป็นที่น่าสังเกตว่า ดินเนอร์นายกฯ กับ ผบ.เหล่าทัพครั้งนี้ มีบิ๊กเล็ก พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขานุการ รมว.กลาโหม ร่วมโต๊ะด้วย เพราะเปรียบเสมือน รมช.กลาโหม ที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนงานของกลาโหม ในยุคที่นายสุทินเป็น รมว.กลาโหมพลเรือน เพื่ออุดช่องโหว่ และเคยมีชื่อชิง รมว.กลาโหมมาแล้ว

เพราะ พล.อ.ณัฐพล ยังคงเป็นแคนดิเดต รมว.กลาโหม ที่ฝ่ายอนุรักษนิยมส่งมา แต่เมื่อยังไม่อาจได้ตาม “ดีล” เพราะต้องการสร้างภาพรัฐบาลพลเรือน และไม่ต้องการให้มีทหารอยู่ในคณะรัฐมนตรี พล.อ.ณัฐพล จึงเป็นเสมือน รมช.กลาโหมไปในตัว

จึงกล่าวได้ว่าดินเนอร์ในวันนั้น เป็นมื้อพิเศษระหว่างนายเศรษฐา กับ 7 เสือกลาโหม ในยุครัฐบาลพรรคเพื่อไทย ในยุคของนายสุทิน

ทั้งนี้ นายเศรษฐาเป็นคนโพสต์ภาพดินเนอร์ในโซเชียลมีเดียส่วนตัวเอง โดยขอบคุณนายสุทิน ที่นำผู้บัญชาการเหล่าทัพอวยพรและร่วมรับประทานอาหารกัน

ภาพนี้ หากทีมงานนายกฯ ไม่ถ่าย หรือโพสต์ ผู้บัญชาการเหล่าทัพก็คงไม่มีใครกล้าถ่ายภาพไว้ หรือเผยแพร่

ซึ่งด้านหนึ่ง นายเศรษฐาคงอาจต้องการแสดงให้เห็นว่า กองทัพกับรัฐบาลเข้ากันได้ด้วยดี โดยเฉพาะนายกฯ กับฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายกองทัพ นอกเหนือจากที่นายเศรษฐามักจะให้สัมภาษณ์สื่อเสมอว่า ได้โทรศัพท์พูดคุยกับผู้บัญชาการเหล่าทัพ หรือเชิญผู้บัญชาการเหล่าทัพมาพบหารือรวมทั้งโพสต์ภาพในโซเชียลมีเดียอยู่เนืองๆ ก็เป็นการทำให้ภาพลักษณ์ การเป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญสตรองขึ้น ท่ามกลางวาทกรรมที่ว่า เขาไม่ใช่นายกฯ ตัวจริง หรือมีนายกฯ 2 คน 3 คนบ้าง

โดยนายเศรษฐายืนยันว่า แม้จะใกล้ชิด ผบ.เหล่าทัพ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าตนเองต้องการจะมาควบ รมว.กลาโหม ตามที่มีกระแสข่าวลือก่อนหน้านี้ หากมีการปรับคณะรัฐมนตรี

พร้อมออกตัวว่า ตนเองก็พูดคุยหารือกับทุกกระทรวงทบวงกรม และยังไม่เคยมีการพูดคุยกัน หรือแนวคิดที่จะควบ รมว.กลาโหมเอง จากที่เคยยืนยันมาแล้วว่า ยังไม่มีความจำเป็นถึงขั้นนั้น

แต่ช่วง 6 เดือนของการเป็นนายกรัฐมนตรีที่คุมความมั่นคงเอง และโดยสไตล์การทำงานที่ใช้สายตรงหรือการพูดคุยตัวต่อตัวหรือหารือวงเล็กทำให้นายเศรษฐารู้จักสนิทสนมกับผู้บัญชาการเหล่าทัพมากขึ้น

จากที่เคยสนิทสนมกับบิ๊กอ๊อบ พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เพียงคนเดียว

ในระยะหลังก็ใกล้ชิดพูดคุยกับบิ๊กต่อ พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ผบ.ทบ. มากขึ้น เพราะโดยเนื้องานและขอบเขตของงานมักจะเกี่ยวข้องในส่วนของกองทัพบกและกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.)

ถึงขั้นที่เมื่อ ทบ. สนองนโยบายรัฐบาลและกลาโหม ในการคืนที่ดินที่ทหารไม่จำเป็นต้องใช้ประโยชน์ให้กับกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง เพื่อให้พี่น้องประชาชนเช่าใช้ประโยชน์ จากโครงการนำร่อง “หนองวัวซอโมเดล” อุดรธานี ถึงเกือบ 10,000 ไร่ นายเศรษฐาก็ตอบแทนด้วยการไปเยี่ยมค่ายทหาร เยี่ยมบ้านพักทหาร ในค่ายประจักษ์ศิลปาคม พร้อมรับปากที่จะอนุมัติงบฯ ในการสร้างบ้านพักทหารทดแทนของเก่าที่สร้างมายาวนานกว่า 60 ปี

เช่นเดียวกับที่กองทัพอากาศจะยอมให้ตัดถนนวงแหวน เมืองเชียงใหม่ ผ่านกองบิน 41 เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรนั้น นายเศรษฐาก็พร้อมที่จะสนับสนุนงบประมาณในการติดตั้งระบบการรักษาความปลอดภัยการสร้างรั้วและอาคารใหม่ แทนที่ต้องทุบทิ้งแทน

แถมอาจจะต้องโดนยึดคืนสนามกอล์ฟ กานตรัตน์ หรือสนามงูกลางสนามบินดอนเมือง และสนามกีฬาธูปะเตมีย์ รวมทั้งยอมเปิดพื้นที่กองบินทั่วประเทศให้เครื่องบินพาณิชย์ไปจอด ลดความแออัด ท่ามกลางการถูกจับตามองว่า กองทัพอากาศจะต้องยอม เพราะมีแผนจัดซื้อเครื่องบินรบฝูงใหม่ในงบประมาณปี 2568 หรือไม่ และต้องการการสนับสนุนจากนายเศรษฐา ในการเลือกแบบเครื่องบินระหว่างกริพเพ่น จากสวีเดน หรือเอฟ 16 จากสหรัฐ

ดังนั้น ในการจัดทำบัญชีรายชื่อแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารชั้นนายพลโผนี้ ทั้งนายเศรษฐา และนายสุทิน ก็ไฟเขียว การเปิดอัตราเฉพาะตัว ให้นายทหารชั้นนายพลที่จะเกษียณราชการของทุกเหล่าทัพ

อันเป็นการสะท้อนการอยู่ร่วมกันแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย ระหว่างกองทัพกับรัฐบาล และยังเป็นการเพิ่มความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างนายเศรษฐากับผู้นำกองทัพอีกด้วย

แต่ที่กองทัพกำลังวัดใจนายกฯ และรัฐบาลพรรคเพื่อไทย คือ การยึดคืนธุรกิจสวัสดิการเชิงพาณิชย์ สนามกอล์ฟ สนามมวย รีสอร์ต โรงแรม ร้านค้า ร้านกาแฟของหน่วยทหาร ให้เข้าสู่ระบบสวัสดิการเชิงธุรกิจโดยกระทรวงการคลังทั้งหมด

จากที่กองทัพเสนอให้แบ่งแยกให้ชัดเจนว่ากิจการใดที่ทำเป็นธุรกิจพาณิชย์ส่งรายได้ให้กระทรวงการคลังได้ หรือกิจการใดที่เป็นธุรกิจของหน่วยทหาร ที่นำรายได้ไว้ใช้พัฒนาหน่วย และดูแลกำลังพลในหน่วยเอง

โดยเฉพาะการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการถ่ายโอนธุรกิจของกองทัพ ของสภาผู้แทนราษฎร ที่รุกคืบ ยึดคืน ธุรกิจกองทัพ หรือขุมทรัพย์อันยาวนานของทหาร หรือเรียกว่า ทุบหม้อข้าวทหาร ที่มาของเงินนอกงบประมาณ ทั้งสถานีโทรทัศน์ สถานีวิทยุ ที่ในอดีตไม่เคยมีใครแตะต้องได้ เพราะมักจะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการรัฐประหาร แม้ว่า กสทช.เคยจะเรียกคืน แต่กองทัพก็ให้เหตุผลเรื่องความมั่นคง จึงยังคงยึดสถานีไว้ต่อไป

แม้แต่ที่ดินทหาร ที่รัฐบาลจะขอคืนเพื่อให้ประชาชนเข้ามาใช้ประโยชน์หากเป็นพื้นที่ป่า สนามฝึก กองทัพก็ให้ได้ แต่หากเป็นพื้นที่ในเมือง หรือหน่วยที่ตั้ง ย่อมเกิดความไม่พอใจ แต่ด้วยกระแสสังคม ที่กดดันกองทัพในทุกๆ เรื่อง จึงทำให้กองทัพไม่มีทางเลือก นอกจากจำใจยอม

ขณะที่กองทัพเรือก็กำลังโดนยึดคืน การไฟฟ้าสัตหีบ ชลบุรี จากที่ประชาชนต้องซื้อไฟจากทหารเรือ ก็ให้ทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเข้ามาดูแลแทนตามระบบ แต่ ทร.ยังจะขอคงการไฟฟ้าสัตหีบบางส่วนไว้ด้านความมั่นคงของชาติทางทะเล และเรือรบหลวง

พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี,พลเอกไพบูลย์ วรวรรณปรีชา

เหล่านี้เป็นนโยบายที่พรรคก้าวไกลเกาะติดมาตลอด และเป็นคนเปิดประเด็นต่อสังคม

ขณะที่พรรคเพื่อไทยซึ่งมาเป็นรัฐบาลฝ่ายทหารก็รอดูใจว่า จะช่วยปกป้อง หรือชะลอการถูกยึดคืนธุรกิจกองทัพหรือไม่

เพราะดูเหมือน ส.ส.ก้าวไกล และเพื่อไทยที่อยู่ในคณะกรรมาธิการจะมีแนวทางตรงกัน ในการยึดคืนธุรกิจกองทัพเหล่านี้ ให้เป็นของรัฐนำรายได้เข้าคลังให้ได้มากที่สุด

ด้วยฝ่ายการเมืองรู้ว่าในสถานการณ์การตั้งรัฐบาลผสมข้ามขั้ว การจับมือกันระหว่างพรรคเพื่อไทย อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร กับขั้วอนุรักษนิยม เช่นนี้ทหารจะไม่สามารถปฏิวัติรัฐประหารได้

จึงเป็นจังหวะสำคัญในการรุกไล่กองทัพ เพราะเรื่องนี้อาจไม่อยู่ในดีล ที่มีแค่การไม่ล้วงลูก แทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายทหาร การสนับสนุนงบประมาณและการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์เท่านั้น

จึงขึ้นอยู่กับการเจรจาต่อรองของผู้บัญชาการเหล่าทัพแต่ละคนเองในการรักษาธุรกิจเชิงพาณิชย์เพื่อเป็นรายได้ของหน่วยต่อไป และก็ต้องยอมเสียบางส่วน ด้วยการเข้าสู่ระบบของกระทรวงการคลัง

แต่ที่น่าจับตามองคือเริ่มมีกระแสข่าวว่าฝ่ายรัฐบาล ทั้งนายเศรษฐาและนายสุทิน เริ่มหยั่งเชิงหาข่าวในการแต่งตั้งโยกย้าย ว่าใครจะเป็น ผบ.ทบ. และ ผบ.ทร.คนใหม่ในกันยายนนี้

และส่องข้ามช็อตไปถึงปลัดกลาโหม ผบ.ทหารสูงสุด และ ผบ.ทอ.คนใหม่ ที่เกษียณกันยายน 2568 ด้วย

เพราะในการแต่งตั้งโยกย้ายชั้นนายพลทั้งกลางปีและปลายปีนี้ ก็จะต้องเห็นเค้าลางว่า มีการเตรียมวางตัวเอาไว้แล้ว

โดยมีข่าวสะพัดในแวดวงทำเนียบรัฐบาล ถึงชื่อ ผบ.ทบ.คนใหม่ แล้วว่า คือ บิ๊กปู พล.อ.พนา แคล้วปลอดทุกข์ เสนาธิการทหารบก แกนนำเตรียมทหาร 26 ที่จะขึ้นยาวต่อเนื่อง 3 ปี เกษียณ 2570 ที่อาจจะเป็นปีที่มีการเลือกตั้งทั่วไปอีกครั้ง และมองข้ามไปถึง ผบ.ทบ.ต่อจากนั้นอีก ว่าจะเป็นใคร

เพราะต้องไม่ลืมมิชชั่นของนายทักษิณ ที่ได้กลับประเทศในครั้งนี้ รวมทั้งมิชชั่นสำคัญของพรรคเพื่อไทย ในการที่จะชนะเลือกตั้ง สกัดกั้นไม่ให้พรรคก้าวไกลเข้ามามีอำนาจรัฐ และการปกป้องสถาบัน ที่ต้องจับมือกับผู้นำกองทัพและกองทัพอย่างเข้มแข็ง

แม้จะมีแคนดิเดต ผบ.ทบ.อีก 2 คน ทั้งบิ๊กหยอย พล.อ.อุกฤษฏ์ บุญตานนท์ ผู้ช่วย ผบ.ทบ.คอเขียว และบิ๊กหนุ่ย พล.อ.ธราพงษ์ มะละคำ ผู้ช่วย ผบ.ทบ.คอแดง จาก ตท.24 เหมือนกัน แม้จะมีกระแสข่าวว่าจะให้รุ่นพี่ ตท.24 ขึ้นเป็น ผบ.ทบ.ก่อนก็ตาม แต่ทว่า พล.อ.ธราพงษ์ เกษียณกันยายน 2569 หาก พล.อ.พนา ขึ้นเป็น ผบ.ทบ.ต่อ ก็จะได้เป็นแค่ปีเดียวเพราะเกษียณ 2570

ขณะที่ พล.อ.อุกฤษฏ์ เกษียณ 2570 พร้อมกับ พล.อ.พนา จึงไม่แปลกที่จะมีข่าวว่าเตรียมทหารรุ่น 26 สู้เต็มที่ ในการดัน พล.อ.พนาขึ้นเป็น ผบ.ทบ. และนั่ง 3 ปีรวดเลย

เพราะถึงอย่างไร ก็มีตำแหน่งรองรับแคนดิเดตทั้ง 2 คน คือ พล.อ.ธราพงษ์ ที่อาจจะได้ไปเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด เพราะเป็นทหารคอแดงอยู่แล้ว กลายเป็น ผบ.ทหารสูงสุดคอแดงคนที่ 3 ต่อจากบิ๊กแก้ว พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ และมา พล.อ.ทรงวิทย์

 

แม้ว่าตอนนี้ทหารคอเขียวในกองบัญชาการกองทัพไทยจะมีความหวังกับ เสธ.จุ๊ฟ พล.ท.ชิดชนก นุชฉายา รอง ผบ.สปท. ที่มีข่าวว่าจะขึ้นเป็นพลเอก ในโยกย้ายมีนาคมนี้ เพื่อเตรียมจ่อขึ้นเป็นเสนาธิการทหาร ในโยกย้ายตุลาคม และลุ้นชิงเก้าอี้ ผบ.ทหารสูงสุด ในปี 2568 พร้อมๆ กับเจ้ากรมเอี่ยว พล.ท.ณัฐพษ์ เพราแก้ว เจ้ากรมกิจการชายแดน ที่อยู่ในไลน์ ที่เตรียมขึ้นเป็นพลเอก และชิงเก้าอี้ ผบ.ทหารสูงสุดเช่นกันเพราะเกษียณ 2571 เช่นเดียวกับ พล.ท.ชิดชนก เพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหาร 26 ด้วยกัน

เป็นตัวเต็ง ชิงกันไปชิงกันมา ในที่สุด พล.อ.ธราพงษ์ รุ่นพี่ ตท.24 อาจข้ามมาเป็น ผบ.ทหารสูงสุด ก็เป็นได้ แต่จะนั่งแค่ปีเดียว เพราะเกษียณ 2569 จากนั้น พล.ท.ชิดชนก หรือ พล.ท.ณัฐพงษ์ ก็สามารถเป็นต่อได้ เพราะเกษียณ 2571

ขณะที่ พล.อ.อุกฤษฏ์ ก็ถูกมองว่าหากไม่ได้เป็น ผบ.ทบ. ก็จะถูกส่งข้ามจาก ทบ. มาเป็นรองปลัดกลาโหม และเตรียมขึ้นเป็นปลัดกลาโหม แทน พล.อ.สนิธชนก ที่จะเกษียณในปี 2568 นั่นเอง

พลเอกไพบูลย์ วรวรรณปรีชา

ขณะที่แคนดิเดตปลัดกลาโหมคนใน อย่างบิ๊กปั้น พล.อ.ไพบูลย์ วรวรรณปรีชา รองปลัดกลาโหม เพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหาร 24 ของ พล.อ.สนิธชนก ที่เคยมีข่าวว่าจะหนุนเพื่อนคนนี้ขึ้นเป็นปลัดกลาโหมต่อ แต่ต่อมาเกิดการเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์ ก็อาจจะต้องถูกส่งข้ามไปเป็นเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ต่อจากบิ๊กรอย พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ ที่ตอนนี้ยังรอประกาศคำสั่ง ให้มาทำหน้าที่เลขาฯ สมช. แม้ว่าคณะรัฐมนตรีจะอนุมัติแล้วก็ตาม โดยเหลือเวลาแค่ 8 เดือนเศษเท่านั้น ก็จะเกษียณราชการ

โดยที่ตำแหน่งนี้จะต้องได้รับไฟเขียวจากทั้งนายสุทินและนายเศรษฐา นายกรัฐมนตรี ที่จะยอมให้ทหารไปเป็นเลขาฯ สมช.อีกหรือไม่

เพราะนายฉัตรชัย บางชวด รองเลขาฯ สมช. มีอายุราชการถึง 2570 และยังต้องทำหน้าที่หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้อีกด้วย

 

นี่จึงเป็นแผนการวางตัวขุนพลฝ่ายความมั่นคงที่สะพัดอยู่ในแวดวงทำเนียบรัฐบาล

ในขณะที่ในกองทัพยังคงมีการฟันธงว่า พล.อ.พนา จะได้เป็น ผบ.ทบ.หรือไม่ เพราะมีหลายปัจจัย เนื่องจาก ผบ.ทบ. จะต้องเป็นผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ 904 (ผบ.ฉก.ทม.รอ.904) ด้วย

ไม่แค่นั้น ยังเป็นที่สังเกตว่า พล.อ.เจริญชัย พยายามให้ความสำคัญกับแคนดิเดตทั้ง 3 คนเท่าๆ กัน ไม่ว่าไปงานอะไร ก็จะชวนไปทั้ง 3 คน เพื่อไม่ให้เป็นที่สังเกตหรือเดาใจได้ว่าตนเองจะสนับสนุนใครขึ้นเป็น ผบ.ทบ.คนใหม่ ถึงแม้ว่า พล.อ.เจริญชัย จะไม่อาจตัดสินใจเพียงลำพังได้ก็ตาม

ทั้งหมดนี้ทั้ง นายสุทิน รมว.กลาโหมพลเรือน และนายเศรษฐา นายกฯ พลเรือนที่คุมความมั่นคง คงต้องศึกษาหาข้อมูลวงในไว้ เพื่อที่จะรู้แนวทางของกองทัพและปัจจัยต่างๆ ที่มีผล

ในเมื่อพรรคเพื่อไทยกลายเป็นพรรคอนุรักษนิยมใหม่

ในเมื่อทั้งนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ และ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร บุตรสาว หัวหน้าพรรคเพื่อไทยที่ถูกวางตัวให้เป็นนายกรัฐมนตรีในอนาคต ประกาศตัวที่จะทำเพื่อประชาชน และเพื่อสถาบันอันเป็นที่รักของเราแล้วเช่นนี้