กระทบ ข้ามทวีป รัฐประหาร พฤศจิกายน 2514 กับ สุจิตต์ วงษ์เทศ

บทความพิเศษ

 

กระทบ ข้ามทวีป

รัฐประหาร พฤศจิกายน 2514

กับ สุจิตต์ วงษ์เทศ

 

ในบรรยากาศแห่งการถกแถลงในเรื่องฮิปปี้ ในเรื่อง เดอะ แฮร์ ในเรื่องสงครามเวียดนาม ในเรื่องสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีน

ในเรื่อง “โลกเสรี” กับ “คอมมิวนิสต์”

สุจิตต์ วงษ์เทศ ตกอยู่ในสภาพการณ์ที่มากด้วย “คำถาม” ขณะที่ยังไม่สามารถได้ “คำตอบ” อย่างเป็นที่พอใจ

การดำรงอยู่ในสหรัฐของ สุจิตต์ วงษ์เทศ ดำเนินไปอย่างไร

“กูจะต้องฝึกงานอยู่กับหนังสือพิมพ์ แต่ตอนนี้บรรณาธิการเปิดโอกาสให้กูเข้าฟังเล็กเชอร์ เกี่ยวกับการหนังสือพิมพ์ที่คณะวิชาการหนังสือพิมพ์ของมหาวิทยาลัยซีราคิวส์ก่อน เพื่อฝึกภาษาพูดและเรียนรู้หลักการของระบบหนังสือพิมพ์อเมริกา”

เมื่อเข้าสำนักงานหนังสือพิมพ์ของมหาวิทยาลัยซีราคิวส์ สุจิตต์ วงษ์เทศ ก็ปะทะเข้ากับข่าวใหญ่

นี่ย่อมเป็นบรรยากาศแห่งสำนักงานหนังสือพิมพ์อันเป็นความคุ้นชินเดิม

 

ข่าว รัฐประหาร

ข่าว จากประเทศ

กูเฝ้ายืนอ่านตัวหนังสือที่พรั่งพรูออกมาจากเครื่องรับข่าวอัตโนมัติ เครื่องที่ตั้งอยู่เป็นประจำสำหรับนักศึกษาวิชาการหนังสือพิมพ์เรียนรู้ข่าว

เนื้อความของข่าวเกี่ยวกับการปฏิวัติที่กรุงเทพฯ

ออกมาตั้งแต่เมื่อคืน กระแสข่าวคืบหน้าเล็กๆ น้อยๆ ทยอยออกมาเป็นระยะๆ แต่จับใจความไม่ได้มากนัก นอกจากว่า จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติ

แม้กระนั้นก็ดี สำนักข่าวเอ.พี.ย้ำว่า พล.อ.ประภาส จารุเสถียร ยังเป็นบุรุษหมายเลข 1 ของประเทศไทย

เหตุการณ์เป็นไปอย่างที่ สุจิตต์ วงษ์เทศ สรุปตอนต้นบท

ซีราคิวส์ นิวยอร์ก / 17 พฤศจิกายน 2519 ตอนเช้าตรู่ สถานีวิทยุกระจายเสียงทุกสถานีประกาศการปฏิวัติในประเทศไทย จอมพลถนอม กิตติขจร ปฏิวัติรัฐบาลของ จอมพลถนอม กิตติขจร สำเร็จ และ จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติ

ประชาชนทั่วไปอยู่ในความสงบ ไม่มีการต่อต้านจากฝ่ายใดทั้งสิ้น

เพียงรู้ว่าไม่มีอะไรผิดแปลกไปจากการปฏิวัติรัฐประหารที่แล้วๆ มากูออกจะรู้สึกเซ็งๆ

 

จอมพล ป. พิบูลสงคราม

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

ตั้งแต่เกิดมาจำความได้กูผ่านการแย่งอำนาจกันมา 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจจาก จอมพล ป.พิบูลสงคราม และท้ายที่สุด จอมพลสฤษดิ์มอบอำนาจให้จอมพลถนอมปกครองบ้านเมือง

จอมพลสฤษดิ์เองมาอเมริกาเพื่อรักษาตัว

ครั้นแล้วก็กลับไปจัดการปฏิวัติเงียบเพื่อเปลี่ยนแปลงอะไรต่อมิอะไรหลายสิ่งหลายอย่าง

ซึ่งกูไม่สามารถที่จะทำความเข้าใจได้ในตอนนั้นเพราะเด็กเกินไป

อย่างไรก็ตาม จากการอ่านหนังสือทำให้พอจะจำความได้ว่า นับแต่ พ.ศ.2475 ซึ่งเป็นการปฏิวัติครั้งแรกเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองมานั้นบ้านเมืองของกูมีการปฏิวัติรัฐประหารกันหลายครั้งหลายหน

จำกันไม่หวัดไม่ไหวว่าใครปฏิวัติใคร และใครแย่งอำนาจมาจากใครกันบ้าง

การปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นประชาธิปไตยมีมาก่อนกูเกิดถึง 13 ปี และจนกระทั่งบัดนี้ก็ไม่มีทีท่าว่าการเปลี่ยนแปลงอำนาจกันแบบนี้จะหยุดลงเมื่อไร

กูคิดถึงคำพูดของ “พันธุ์อนันต์” ที่คุยกับกูและบอกกูว่า

 

บทเรียน จากอดีต

มิถุนายน 2475

การปฏิวัติเมื่อ พ.ศ.2475 นั้นน่าจะถือได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงแนวความคิดในสังคมไทยจากระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบแบบประชาธิปไตย

หรือจะเรียกกันง่ายๆ ว่า เปลี่ยนแปลงจากระบบเจ้าขุนมูลนายมาเป็นระบบข้าราชการ

ความแตกต่างของสองระบบนี้ก็คือ ระบบเจ้าขุนมูลนายเป็นระบบที่ผู้ปกครองเป็นนายประชาชน แต่ระบบข้าราชการ คือ ระบบที่ผู้ปกครองเป็นผู้รับใช้ประชาชน

แม้ว่าจุดมุ่งหมายของการปฏิวัติ 2475 เป็นไปเพื่อเปลี่ยนให้ประชาชนเป็นเจ้าของประเทศอย่างแท้จริง โดยให้ผู้บริหารปกครองประเทศไปตามความต้องการของประชาชน

แต่ข้อเท็จจริงหรือผลของการเปลี่ยนแปลงนั้นหาเป็นไปได้ตลอดตามจุดมุ่งหมายไม่ เพราะข้าราชการก็ยังคงเป็นนายประชาชนอยู่ตามเดิม

เพราะฉะนั้น ผลของการปฏิวัติ 2475 ซึ่งถือว่าเป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงตัวผู้ปกครอง ยังมิได้ก้าวไปถึงขั้นที่ว่าเปลี่ยนแนวความคิดที่เกี่ยวกับระบบเจ้าขุนมูลนายแต่อย่างใด

 

วีรบุรุษ หาญกล้า

สฤษดิ์ ธนะรัชต์

“พันธุ์อนันต์” จะพูดอย่างนี้ด้วยความเฉลียวฉลาดในการมองปัญหา หรือด้วยความไม่ฉลาดเฉลียวในการมองปัญหากูหารู้ได้ไม่ นอกจากความรู้สึกของกูที่จะต้องยอมรับตามเขาไป

วัยเด็กที่กูกำลังอยู่เพียงขั้นมัธยมต้นนั้นความรู้สึกจริงๆ บอกแต่เพียงว่าจอมพลสฤษดิ์เป็นวีรบุรุษที่เด็กอย่างกูมีแต่ความเกรงขามและเคารพยกย่อง

การที่จอมพลสฤษดิ์แสดงความรักเด็ก รักความสะอาดและเป็นชายชาติทหารที่มีความกล้าหาญและเทิดทูนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทำให้เขาเป็นคนที่เด็กอย่างกูมองด้วยความชื่นชม

และก็ “พันธุ์อนันต์” นี้เองที่ชี้แจงกับกูว่า

 

เบื้องหลัง วีรบุรุษ

ปราศจาก วีรบุรุษ

เพราะจอมพลสฤษดิ์มีลักษณะเป็นผู้นำหรือที่ฝรั่งเรียกว่า “แคริสม่า” และการทำงานของจอมพลสฤษดิ์เบี่ยงเบนไปจากความคิดเดิมๆ ซึ่งผู้นำสมัยก่อน ๆใช้คำว่าประชาธิปไตยเป็นเครื่องล่อประชาชน

แต่ประชาชนไม่มีความรู้สึกร่วมในแง่ที่ว่าประชาธิปไตยคืออะไร และมันจำเป็นอย่างไรสำหรับชีวิตของเขา

ส่วนจอมพลสฤษดิ์เลิกพูดถึงประชาธิปไตย หันมาพูดถึงการพัฒนา

และให้เหตุผลของการพัฒนาไว้อย่างชัดเจนในคำขวัญต่างๆ เช่น น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี มีงานทำ หรือ ศึกษาดี มีเงินใช้ ไร้โรคา พาให้สุขสมบูรณ์

ประชาชนก็เข้าใจได้ มีความต้องการร่วมได้ เพราะมันเป็นข้อเท็จจริง

ประชาธิปไตยเป็นเรื่องฝัน และตามแนวความคิดของ โธมัส คุน นักเขียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของวิทยาศาสตร์ ถือว่าการเปลี่ยนแปลงแนวความคิดต่างๆ นั้นสามารถจูงใจเยาวชนได้มากกว่าผู้ใหญ่

ทั้งนี้ เนื่องจากเยาวชนพร้อมที่จะคล้อยตามความคิดใหม่ๆ ได้ง่ายกว่า

จากเหตุผลเดียวกันนี้เองเยาวชนจึงได้รับความสนใจจากจอมพลสฤษดิ์เป็นพิเศษในการวางรากฐานการพัฒนาประเทศ โดยจอมพลสฤษดิ์ใช้เยาวชนเป็นทั้งเป้าหมายและเครื่องมือของการดำเนินกลยุทธ์ทางการเมืองแบบ “ศาสนาการเมือง”

เช่น การให้ความสนใจแก่วันเด็กและการปลูกฝังความคิดให้แก่เด็กในลักษณะคำขวัญ เช่น เด็กดีในวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า

และทุกปีจอมพลสฤษดิ์จะต้องให้คำขวัญแก่เด็ก เป็นต้นว่า ขอให้เด็กในสมัยแห่งการปฏิวัติของข้าพเจ้าเป็นเด็กที่รักความก้าวหน้า ขอให้เด็กในสมัยแห่งการปฏิวัติของข้าพเจ้าเป็นเด็กที่รักความสะอาด ขอให้เด็กในสมัยแห่งการปฏิวัติของข้าพเจ้าเป็นเด็กที่รักการประหยัด

และครั้งสุดท้ายจอมพลสฤษดิ์ให้คำขวัญว่า “ขอให้เด็กในสมัยแห่งการปฏิวัติของข้าพเจ้าเป็นเด็กที่ขยันหมั่นเพียร”

แต่จอมพลสฤษดิ์ทำอะไรไม่สำเร็จ และถึงแก่อสัญกรรมเสียก่อน

พร้อมกันนั้น ในเบื้องหลังของ “วีรบุรุษ” ก็มีความ “ปราศจาก” วีรบุรุษแฝงอยู่ด้วย

 

จาก เมด อิน U.S.A.

หวนสู่ ประเทศไทย

ผลสะเทือนจากรัฐประหารของ จอมพลถนอม กิตติขจร เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2514 นำไปสู่การฟื้นอดีตมาศึกษา

จากยุค จอมพล ป.พิบูลสงคราม ถึงยุค จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

เป็นการศึกษาอดีตอย่างเสรีเนื่องจากอยู่ในพื้นที่แห่ง “เสรีภาพ” ของระบอบประชาธิปไตยแบบอเมริกัน

คำถามก็คือ สถานการณ์เดียวกันนี้ในประเทศไทยดำรงอยู่อย่างไร

ยิ่งศึกษาผ่าน “เอกสาร” ประสานกับสภาพความเป็นจริงกับประสบการณ์ตรงของ สุจิตต์ วงษ์เทศ

น่าตื่นตา น่าตื่นใจ