ความไม่เป็นธรรม ต่อแรงงานในภาคการท่องเที่ยว เงื่อนไขสำคัญ ที่ทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยมีปัญหา

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี
(Photo by SAEED KHAN / AFP)

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสบรรยายและแลกเปลี่ยนกับนักศึกษาระดับปริญญาเอกที่ศึกษาประเด็นอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ผ่านแนวคิดการขยายตัวของแรงงานเสี่ยง

กลุ่มแรงงานที่มีค่าตอบแทนต่ำ ชั่วโมงทำงานสูง แม้จะมีทักษะมากขึ้น มีประสบการณ์ แต่ไม่ได้ทำให้คุณภาพชีวิตของแรงงานดีขึ้นแต่อย่างใด

แรงงานเสี่ยงกระจายอยู่ทั่วไปในทุกอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิม หรือแรงงานภาคเกษตร แรงงานอิสระ ผู้ประกอบการเหนือแรงงานตัวเอง แรงงานรุ่นใหม่ตามแพลตฟอร์มต่างๆ

ปริมาณแรงงานเสี่ยง-Precariat ขยายจำนวนเพิ่มมากขึ้นหากนับแรงงานอิสระกว่า 20 ล้านคน เมื่อพิจารณาชั่วโมงการทำงาน และรายได้ ก็นับว่ามีกลุ่มที่เข้าข่ายแรงงานเสี่ยงเกินร้อยละ 50

การมีแรงงานเสี่ยงจำนวนมากเกี่ยวพันกับเรื่องผลิตภาพของแรงงาน สุขภาพแรงงาน และการเติบโตเศรษฐกิจในภาพรวม

จากการสนทนาในชั้นเรียน นักศึกษาได้นำเสนอประเด็นที่น่าสนใจว่า ในกลุ่มธุรกิจสมัยใหม่ที่มีแรงงานเสี่ยงเยอะที่สุดคือภาคการท่องเที่ยวไทย

แม้จะเป็นภาคธุรกิจที่มีมูลค่าสูง และเป็นแหล่งพึ่งพิงสำคัญแม้ว่าภาคการผลิตอื่นจะซบเซา แต่หากสภาพการจ้างงานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เต็มไปด้วยแรงงานเสี่ยงก็จะนำพาให้อุตสาหกรรมนี้เต็มไปด้วยความเสี่ยงไปด้วย

เมื่อพิจารณาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จำเป็นต้องมองทั้งระบบ ทั้งองคาพยพของระบบนิเวศของเมืองท่องเที่ยวหนึ่ง ซึ่งมีทั้งโรงแรม ระบบขนส่ง ร้านอาหาร ร้านกาแฟ สถานที่ท่องเที่ยว งานบริการต่างๆ สถานพยาบาล การดูแลผู้ป่วย ผู้สูงอายุ หรือการจัดงาน Event ต่างๆ

แต่เมื่อเราส่องลงไปจะพบว่าการจ้างงานในระบบนิเวศทั้งหมดนี้ เป็นการจ้างงานที่ไม่มีความมั่นคง ซึ่งเกิดทั้งความตั้งใจและความไม่ตั้งใจของผู้ประกอบการ

 

ประการแรก ค่าแรงต่ำและสภาพการทำงานที่แย่

แรงงานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เช่น พนักงานโรงแรมและร้านอาหาร บ่อยครั้งมักได้รับค่าแรงที่ต่ำและสภาพการทำงานที่ไม่ดี ขาดความมั่นคงในงาน และสวัสดิการที่ไม่เพียงพอ

บางครั้งผู้ประกอบการพิจารณาว่า ความไม่แน่นอนของลักษณะงาน เช่น บางชั่วโมงอาจไม่มีลูกค้าหรือภาระงาน และอาจมีชั่วโมงพีกไม่กี่ชั่วโมงในแต่ละวัน ผู้ประกอบการจึงพิจารณาว่า การทำงาน 10-12 ชั่วโมงต่อวันเป็นเรื่องปกติ และไม่เป็นสภาพการกดขี่เกินไป แม้จะขัดกับหลักกฎหมายแรงงาน

ประการถัดมา การจ้างงานฤดูกาลและงานชั่วคราว ภาคการท่องเที่ยวมักมีรายได้ผันแปรไปตามฤดูกาล ด้วยลักษณะการผลิตที่มีความเฉพาะ

เช่น เมืองท่องเที่ยวชายทะเลก็จะมีฤดูมรสุมที่ไม่มีลูกค้าหรือยอดผู้เยี่ยมชมเมือง ขณะเดียวกันก็มีความต้องการกำลังแรงงานเพิ่ม 3-4 เท่าในช่วงเวลาเพียง 3-4 เดือนต่อปี

ลักษณะเช่นนี้นำไปสู่การมีงานชั่วคราวอย่างแพร่หลาย โดยที่แรงงานชั่วคราวอาจขาดความมั่นคงในงาน ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ และขาดการคุ้มครองทางกฎหมาย ทำให้เป็นเป้าหมายของการล่วงละเมิดเนื่องจากสถานการณ์จ้างงานที่ไม่มั่นคง

ทั้งนี้ หลายประเทศได้อาศัยการวางแผนการจ้างงานที่มีระบบ รวมถึงเทคโนโลยีการทำงานที่ดีขึ้น และรับนักท่องเที่ยวตามศักยภาพของเมือง และการประกอบการที่ยั่งยืน ก็สามารถเลี่ยงการจ้างงานที่มีความยืดหยุ่นสูงแบบที่ปรากฏในไทยได้

ประการสุดท้าย การใช้แรงงานที่ไม่เป็นทางการและแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมาย ในบางกรณีธุรกิจในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอาจมีการใช้แรงงานที่ไม่เป็นทางการและไม่ได้รับการควบคุม

การจ้างแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมาย นอกจากทำให้เกิดปัญหาด้านการละเมิดสิทธิแรงงานได้โดยง่ายแล้ว

การเลือกปฏิบัติ หรือการละเมิดสิทธิระหว่างผู้ใช้บริการและแรงงานผู้ให้บริการสามารถเกิดขึ้นได้โดยง่าย

 

ทั้งหมดนี้ทำให้แรงงานในภาคท่องเที่ยว นอกจากมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดีนัก ทั้งรายได้ สุขภาพ หนี้สิน

งานส่วนมากก็จะถูกวางเงื่อนไขระยะสั้นที่ไม่มีเส้นทางอาชีพของตนเอง

จากการสำรวจจึงพบว่า แรงงานในภาคบริการจึงไม่สามารถพัฒนาทักษะระยะยาวได้ ไม่สามารถร่วมวางแผนการเติบโตของธุรกิจได้อย่างเป็นระบบ

เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจึงเห็นช่องว่างระหว่างผู้รับบริการ แรงงาน ผู้ประกอบการ และนักลงทุน

ในกรณีนี้ แรงงานถูกทำให้หายไปจากสมการของความเป็นมนุษย์และการพัฒนาเมืองท่องเที่ยวในภาพรวม

เมื่อแรงงานภาคการท่องเที่ยวได้กลายไปเป็นแรงงานเสี่ยงมากขึ้น น้ำหนักของอุตสาหกรรมจึงถูกให้น้ำหนักไปที่ “นักลงทุน” และ “ผู้ใช้บริการ”

ลักษณะเช่นนี้ทำให้การลงทุนถูกมุ่งสู่กำไรระยะสั้น กลายเป็นผลเสียโดยรวม ไม่ใช่แค่กับภาคแรงงานดังที่ได้กล่าวไป แต่ยังคงผลเสียต่อการพัฒนาเมือง การใช้ทรัพยากรต่างๆ ด้วยเช่นกัน

ทางแก้ในเงื่อนไขเหล่านี้ในเบื้องต้น จำเป็นที่ต้องพิจารณาถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ที่นำ “แรงงาน” ในภาคการบริการเป็นศูนย์กลาง

มากกว่ามุ่งผลประโยชน์ของการลงทุนและการประกอบการ

คำนึงถึงความมั่นคงในการจ้างระยะยาว

การมีส่วนร่วมในการวางแผนธุรกิจ ที่ทำให้ภาคการท่องเที่ยวและแรงงานเติบโตได้ไปพร้อมกัน

การสนับสนุนของภาครัฐก็จำเป็น โดยต้องไปมากกว่าการส่งเสริมการลงทุน หรือการพัฒนาทักษะอาชีพระยะสั้น

แต่คือการสร้างอำนาจต่อรองของคนทำงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ผ่านระบบสวัสดิการที่เป็นระบบและตรงต่อความต้องการของคนในพื้นที่ต่างๆ

จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญต่อการสร้างความเปลี่ยนแปลงและเพิ่มมูลค่าในอนาคต