180 วัน ของนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน

สมชัย ศรีสุทธิยากร

ขณะที่คนไทยทั้งประเทศจับจ้องกับข่าวอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร พักรักษาตัวขณะรับโทษที่โรงพยาบาลตำรวจจนครบ 180 วัน แล้วได้รับสิทธิการพักโทษและสามารถกลับมาใช้วิธีการควบคุมตัวที่บ้านของตนเอง

หลายคนอาจจะลืมไปว่า วันที่นายทักษิณบินกลับประเทศไทย คือวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ.2566 และถูกนำตัวเข้าเรือนจำและถูกส่งออกไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลในคืนดังกล่าว ในขณะที่วันรุ่งขึ้น คือวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ.2566 คือวันที่รัฐสภาลงมติเลือกนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย ด้วยคะแนนเสียง 482 เสียง จากคะแนนทั้งหมด 728 เสียง

180 วันของการเป็นนายกรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน จึงถัดจากวันครบ 180 วันที่นายทักษิณพักรักษาตัวในโรงพยาบาลอย่างยาวนานจนครบเกณฑ์การพักโทษเพียงวันเดียว

อะไรคือผลงานที่จับต้องได้ มีสิ่งใดที่ยังอ่อนด้อย สิ่งใดที่ประเมินแล้วสอบผ่านหรือสอบตก แม้อาจจะไม่ครบถ้วนทั้งหมดแต่พอเป็นกระจกเงาให้เห็นได้บ้าง

 

คณะรัฐมนตรีที่ใช้เวลาเลือกสรร 10 วัน

นับแต่วันที่ได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีในวันที่ 22 กันยายน พ.ศ.2566 พอถึงวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2566 หรือเพียง 10 วันไล่หลังก็มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งรัฐมนตรีจำนวน 34 คน ไม่เต็มจำนวน 36 คนตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากมี 2 รายที่คาดว่าอาจจะมีปัญหาด้านคุณสมบัติ

คณะรัฐมนตรีชุดดังกล่าวได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่ลงตัวในภูมิหลังและประสบการณ์ แต่มุ่งตอบแทนสัดส่วนของกลุ่มการเมืองในพรรคการเมืองต่างๆ ที่ร่วมจัดตั้งรัฐบาล

การแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีมีขึ้นในวันที่ 11 กันยายน พ.ศ.2566 กล่าวถึงกรอบการทำงานระยะสั้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและกระตุ้นรายจ่าย และกรอบการทำงานระยะกลางและระยะยาว เพื่อเสริมขีดความสามารถของประชาชนในการสร้างรายได้ ลดรายจ่าย สร้างโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน

การประเมินในช่วง 180 วัน จึงสมควรดูจากนโยบายในกรอบการทำงานระยะสั้น ซึ่งควรเห็นผลการดำเนินในช่วง 180 วันได้

 

ดิจิทัลวอลเล็ต
ที่ยังไม่เห็นอนาคต

จากคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี กล่าวถึงนโยบายที่เป็นกรอบระยะสั้นที่ต้องเร่งรีบดำเนินการ โดยสิ่งที่ต้องทำเป็นสิ่งแรกคือ นโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัลให้แก่ประเทศ และตามด้วยนโยบายเร่งด่วนอีก 4 ประการคือ ประการแรก การแก้ไขปัญหาหนี้สินทั้งในภาคเกษตร ภาคธุรกิจและภาคประชาชน ประการที่สอง การลดภาระค่าใช้จ่ายพลังงานให้แก่ประชาชน การปรับเปลี่ยนโครงสร้างการใช้พลังงานของประเทศ ประการที่สาม การสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว และประการที่สี่ การแก้ไขความเห็นที่แตกต่างในรัฐธรรมนูญเพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

ในนโยบายที่ตั้งใจดำเนินการแรกสุด คือการแจกเงิน 10,000 บาท ผ่าน digital wallet ต้องประเมินว่า 180 วันที่ผ่านไปเปรียบเสมือนการพยายามหาลู่ทางในการดำเนินการที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาแต่ถึงวันนี้ยังไม่มีท่าทีว่าจะสามารถดำเนินการได้

เริ่มจากการให้ความหวังประชาชนว่า จะเป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน ขยับเป็นเดือนกุมภาพันธ์ เป็นเดือนพฤษภาคม และขยับออกแบบไม่มีกำหนดการชัดเจน

เริ่มจากความพยายามใช้งบประมาณแผ่นดินปี พ.ศ.2567 เปลี่ยนเป็นการใช้เงินยืมจากรัฐวิสาหกิจ เช่น ธนาคารออมสิน โดยใช้วิธีการนโยบายกึ่งการคลัง (Quasi-fiscal Policy) ที่ให้รัฐวิสาหกิจออกเงินไปก่อนแล้วรัฐตั้งงบประมาณใช้คืนพร้อมดอกเบี้ยภายหลัง และสุดท้ายเป็นแนวทางการออกพระราชบัญญัติกู้เงิน 500,000 ล้านบาท แต่ก็ยังไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้อย่างเป็นรูปธรรม นอกจากการขอความเห็นจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและการรับฟังข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. และขอเวลาอีก 30 วันเพื่อศึกษาความเห็นดังกล่าว

นโยบายเร่งด่วนอันดับต้นของนายเศรษฐา ทวีสิน เมื่อผ่านไป 180 วัน จึงเท่ากับยังไม่มีจุดเริ่มต้นของการดำเนินการใดๆ และมีแนวโน้มสูงว่าจะไม่สามารถดำเนินการได้ทันในปีงบประมาณ 2567

 

การแก้ไขปัญหาหนี้สินด้วยวิธีการเดิม

การดำเนินนโยบายในเรื่องนี้แทบไม่มีความแตกต่างจากรัฐบาลชุดก่อนๆ ทำ คือ การมีมติ ครม. เกี่ยวกับการพักชำระหนี้เกษตรกรเป็นเวลา 3 ปี โดยต่อให้ปีต่อปี การพักชำระหนี้ธุรกิจ SMEs 1 ปี การมีนโยบายในการแก้ปัญหาหนี้ในและนอกระบบโดยใช้กลไกการไกล่เกลี่ยโดยกระทรวงมหาดไทยและตำรวจ พร้อมให้กระทรวงการคลังเป็นธุระในการจัดหาแหล่งเงินกู้ใหม่ โดยแถลงเป็นวาระแห่งชาติเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ.2566

ต่อมาเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2567 หรือผ่านไปประมาณ 2 เดือนครึ่ง ตัวนายกรัฐมนตรีได้จัดแถลงผลสำเร็จว่ามีการไกล่เกลี่ยสำเร็จ 12,000 รายจากรายการที่เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย 21,000 ราย คิดเป็นร้อยละ 57 มีมูลค่าหนี้ลดลง 670 ล้านบาท ซึ่งเป็นการใช้สถิติเพื่อสร้างความเข้าใจว่ารัฐบาลประสบความสำเร็จในเรื่องดังกล่าว

แต่หากนำตัวเลข ของผู้ลงทะเบียนเป็นลูกหนี้ทั้งหมด 140,000 ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 12,000 ราย มาคำนวณจะคิดเป็นเพียงร้อยละ 8.57 เท่านั้น และหากนำมูลค่าหนี้ทั้งหมด 9,800 ล้านบาท มาคำนวณว่าลดลงได้ 670 ล้านบาท ก็จะคิดเป็นร้อยละได้เพียง 6.83

เท่ากับความสามารถในการจัดการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบที่ถือเป็นวาระแห่งชาติ ไม่ได้มีผลงานที่น่าพึงพอใจแต่อย่างใด

 

ลดรายจ่ายด้านพลังงาน
คือผลงานที่จับต้องได้แต่ไม่ยั่งยืน

การที่ ครม.มีมติเห็นชอบการปรับลดค่าไฟฟ้างวดเดือนกันยายน ถึงธันวาคม พ.ศ.2566 เหลือหน่วยละ 3.99 บาท และตรึงราคาน้ำมันดีเซลที่ลิตรละ 30 บาท ลดราคารถไฟฟ้าสายสีม่วง สายสีแดงเหลือ 20 บาทตลอดสาย ถือเป็นผลงานที่จับต้องได้ เพราะสามารถลดรายจ่ายด้านพลังงานและการเดินทางให้กับประชาชน

แต่การดำเนินการดังกล่าว เป็นการลดรายจ่ายที่รัฐบาลเคยได้จากภาษีสรรพสามิต และเป็นการเพิ่มการขาดทุนให้แก่รัฐวิสาหกิจได้แก่ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)

ในขณะที่การแก้ไขในเรื่องโครงสร้างการใช้พลังงานของประเทศ และการทบทวนด้านโครงสร้างราคาที่เป็นธรรม ยังคงอยู่ในระหว่างการดำเนินการโดยมีเสียงยืนยันอย่างจริงจังจากรัฐมนตรีที่กำกับดูแลเท่านั้น

 

ความสำเร็จในการส่งเสริมการท่องเที่ยว

การให้ฟรีวีซ่าแก่นักท่องเที่ยวหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีน ทำให้มีนักท่องเที่ยวเข้าประเทศมากขึ้นโดยเฉพาะจากประเทศหลัก 5 ประเทศ คือ จีน มาเลเซีย เกาหลีใต้ รัสเซีย และอินเดีย ทำให้ประเทศมีรายได้จากการท่องเที่ยวมากขึ้น อาจถือเป็นความสำเร็จของรัฐบาลได้เพียงนโยบายเดียว

รัฐบาลเองก็มีการอำนวยความสะดวกและการบริการที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น เช่น การขยายการบริการของสถานบริการต่างๆ การขยายเวลาบริการของสนามบิน และการริเริ่มส่งเสริมการท่องเที่ยวในเส้นทางใหม่ ในเมืองรอง และการจัดเทศกาลต่างๆ มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ประเด็นการเพิ่มขึ้นของการท่องเที่ยว ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยนอกประเทศเป็นหลัก เช่น การแข่งขันของประเทศต่างๆ ในการจูงใจให้คนไปเที่ยว ความพร้อมของนักท่องเที่ยว และสถานการณ์ในเรื่องต่างๆ ที่อาจเป็นทั้งปัจจัยเสริมและปัจจัยที่เป็นอุปสรรค

 

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ยังไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน

นโยบายเร่งด่วนประการสุดท้ายที่เรียกได้ว่าล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งผ่านไป 6 เดือนแล้ว ยังไม่มีการหาข้อสรุปถึงการทำประชามติว่าจะมีกี่ครั้ง จะเริ่มเมื่อใด และจะมีกระบวนการเริ่มต้นในการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมอย่างไร

ทั้งๆ ที่เห็นชัดเจนว่า รัฐธรรมนูญปัจจุบันมีปัญหามากมายทั้งในเรื่อง การได้มาของ ส.ส. และ ส.ว. ตลอดจนองค์กรอิสระ การออกแบบความสัมพันธ์ที่ไม่ลงตัวระหว่างอำนาจฝ่ายต่างๆ และทั้งรู้ว่ากระบวนการแก้ไขนั้นต้องใช้เวลามากและเสี่ยงที่จะไม่ทันในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

เมื่อประเมิน 180 วันที่ผ่านไปของรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน จากนโยบายเร่งด่วน 5 เรื่องที่แถลงต่อรัฐสภา เท่ากับมีความสำเร็จที่จับต้องได้เพียงเรื่องเดียว คือ เรื่องการส่งเสริมการท่องเที่ยว คิดเป็นร้อยละ 20 ของนโยบายเร่งด่วน

ช่างต่างกับ 180 วันของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ที่ใช้ 180 วันในการพักรักษาตัวในโรงพยาบาลโดยไม่ต้องติดคุกจริงแม้แต่วันเดียว คิดเป็นความสำเร็จร้อยละ 100