‘ดร.พวงทอง’ อ่านเกม ‘นิรโทษฯ’ รบ.เพื่อไทย ห่วงเรื่อง ‘ทักษิณกลับบ้าน’ และ ‘กล้า’ น้อยกว่าผู้นำช่วง 2521-23

หมายเหตุ “รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์” คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ “เอ็กซ์-อ๊อก talk ทุกเรื่อง” ช่องยูทูบมติชนทีวี โดยเปรียบเทียบเงื่อนไขทางการเมืองที่ต่างกัน ที่นำไปสู่ความสำเร็จในการผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมช่วงต้นทศวรรษ 2520 กับอุปสรรคในการออกกฎหมายนิรโทษกรรมปี 2567 ดังนี้

 

ถามว่าในอดีต ทำไมถึงได้ยอมมีการประนีประนอม คืนอิสรภาพ คืนสิทธิเสรีภาพ ให้กับเยาวชน หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 พอปี 2521 รัฐบาลของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ก็นิรโทษกรรมผู้นำนักศึกษา 18 คน หลังจากนั้นไม่นาน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ก็ประกาศนโยบาย 66/2523 ก็คือแนวทาง “การเมืองนำการทหาร”

66/2523 ไม่ใช่กฎหมายนิรโทษกรรม แต่เป็นแนวทางที่ว่ารัฐควรจะต้องประนีประนอม ใช้แนวทางการเมืองในการแก้ไขปัญหา

ก็คือยินยอมให้บรรดาประชาชน นิสิต นักศึกษา ที่เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) สามารถกลับเข้ามาใช้ชีวิตปกติได้ โดยไม่มีคดีอาญา ไม่มีข้อหาคอมมิวนิสต์พ่วงท้ายอยู่ พวกนี้ไม่มีประวัติอาชญากรรมหรือคดีความมั่นคงติดตัวอยู่ นี่คือการประนีประนอม

ทำไมมันเกิดขึ้น? ดิฉันมองอย่างนี้ว่า ในช่วงเวลานั้น พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยการรัฐประหาร-ยึดอำนาจจากรัฐบาลของคุณธานินทร์ กรัยวิเชียร ซึ่งมาจากการรัฐประหารวันที่ 6 ตุลาคม 2519

ช่วงเวลานี้ (รัฐบาลธานินทร์) เรารู้กันอยู่ว่าเป็นช่วงเวลาที่รัฐบาลใช้อำนาจเผด็จการอย่างเต็มรูปแบบ มีการกวาดจับผู้คน ส่งผลให้นิสิต นักศึกษา ประชาชน 3 หมื่นกว่าคนต้องหนีเข้าป่า ร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์เข้มแข็งขึ้นอย่างมาก หน่วยงานรัฐ เจ้าหน้าที่รัฐตามต่างจังหวัด ถูกโจมตีบ่อยมาก

ดิฉันไปอ่านรายงานของฝ่ายความมั่นคง-ทหาร ในช่วง 2520-2521 ก็พบว่าเจ้าหน้าที่รัฐ-รัฐบาลเป็นฝ่ายตั้งรับ พื้นที่ในชนบทมีการประกาศ “พื้นที่แดง” ที่ห้ามคนเข้าไปมากขึ้นๆ ก็แสดงว่าคอมมิวนิสต์เป็นฝ่ายรุกอย่างมาก

ขณะเดียวกัน ปี 2518 สามประเทศเพื่อนบ้านในอินโดจีนกลายเป็นคอมมิวนิสต์หมด แล้วเรายังไม่สามารถสถาปนาความสัมพันธ์ (ทางการทูต) ที่ดีได้ แม้ว่าจะพยายาม แต่มีการปะทะกันบริเวณชายแดนบ่อยมาก

อีกอันหนึ่งคือเราไม่มีสหรัฐอเมริกาแล้ว ที่จะมาเป็น “พี่เบิ้ม” ปกป้องเรา เพราะว่าฐานทัพปิดหมด อเมริกาถอนตัวเองออกจากสงครามเวียดนาม เราอยู่ในภาวะ “panic” (เสียขวัญ)

ดิฉันไปอ่านเอกสารที่ชนชั้นนำพูดถึงสถานการณ์ในประเทศไทย คิดว่าเขาก็คงวิตกกังวลอย่างมาก แม้กระทั่งเอกสารของฝ่ายทหาร “ปีกพิราบ” ที่เราเรียกว่า “ทหารประชาธิปไตย” ซึ่งมีส่วนในการผลักดันนโยบาย 66/2523 ก็ย้ำแล้วย้ำอีกว่า วิธีการที่ใช้การทหารในการปราบปรามเป็นหลัก มันมีแต่ผลักให้ประชาชนเข้าหาคอมมิวนิสต์มากยิ่งขึ้น

นโยบายการเมืองนำการทหาร ซึ่งพูดกันมาก่อนปี 2523 มันล้มเหลว มันทำไม่ได้จริง เพราะทหารสาย “พญาอินทรี” คุมกองทัพ และมีแต่ทำให้ฝ่ายคอมมิวนิสต์เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น

ฉะนั้น มันก็เริ่มเห็นการปรับตัว การยึดอำนาจจากรัฐบาลคุณธานินทร์ กรัยวิเชียร ปี 2520 ก็คือการเห็นแล้วว่าการใช้วิธีการแบบ “กำปั้นเหล็ก” เที่ยวทุบใครต่อใครเต็มไปหมด มันไม่ได้ผล มันมีแต่พัง มันยิ่งจะทำให้เราอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงมากยิ่งขึ้น ฉะนั้น จะต้องประนีประนอม ต้องใช้แนวทางทางการเมือง

แนวทางประนีประนอมก็คือแนวทางทางการเมือง

เริ่มจากการนิรโทษกรรมผู้นำนักศึกษา ยุติการดำเนินคดี เพราะจริงๆ ยิ่งดำเนินคดีมาก มันยิ่งเฉลยให้เห็นว่าคนที่ทำความรุนแรงคือเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ใช่นักศึกษา

ขณะเดียวกัน ก็มองเยาวชนคนรุ่นใหม่นักศึกษา (ด้วยมุมมอง) ใหม่ แทนที่จะมองเขาเป็นศัตรูของรัฐ มองเขาใหม่ในฐานะที่เป็นคนรุ่นใหม่ คนรุ่นนั้นอาจจะบอกเป็น “พวกคิดหลงผิด” แต่ไม่ใช่ มองย้อนกลับไป ดิฉันคิดว่า “คนเดือนตุลา” ซึ่งตอนนี้เป็นผู้มีอำนาจ ก็คงไม่ยอมรับหรอกว่าตัวเองเป็นคนหลงผิด ก็เอาคนเหล่านี้กลับเข้ามา ในนาม “ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย”

หมายความว่า ถ้าผู้มีอำนาจรัฐไม่รู้สึกว่าตัวเองกำลังอยู่ในฝ่ายเพลี่ยงพล้ำ อำนาจต่อรองของตัวเองน้อยลง แล้วถ้าขืนยังใช้กำปั้นเหล็กในการปกครอง มันจะยิ่งทำให้ประเทศไทยง่อนแง่น สุ่มเสี่ยง รวมถึงตัวเขาเองก็อาจจะอยู่ไม่ได้ เขาก็จะไม่ประนีประนอม

แต่ขณะนี้ (ปี 2567) เขาเชื่อว่าสามารถคุมอำนาจได้ทุกอย่าง

(อันนี้คือจุดต่าง ตอน 2521 กับ 66/2523 รัฐอยู่ในภาวะที่เขารู้สึกว่าเขาต่อรองไม่ได้ อำนาจไม่ได้อยู่ที่เขาทั้งหมด? – ผู้ดำเนินรายการ) ใช่ เขายอมรับว่า เขาอยู่ในฐานะที่กำลังเพลี่ยงพล้ำ อ่อนแอ แล้วก็เสี่ยงมาก จะเป็นโดมิโนตัวต่อไปที่จะล้ม

ถามว่า ตอนนี้เขามั่นคงจริงไหม? อาจจะไม่จริงก็ได้ ดิฉันคิดว่าความชอบธรรมของฝ่ายชนชั้นนำทั้งหมดมันย่ำแย่ลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 8 ปี ภายใต้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ (จันทร์โอชา) แต่เขาไม่ยอมรับ เพราะยังเชื่อว่าเขากุมอยู่ โดยใช้อำนาจดิบ ฮาร์ดเพาเวอร์ อำนาจทางกฎหมาย ตำรวจ ทหาร ในการที่จะเล่นงาน-สยบฝ่ายตรงข้าม

แล้วเขาก็เชื่อว่าเขาสามารถที่จะอยู่ได้อย่างเข้มแข็ง ไม่ต้องประนีประนอม

 

(ปี2567 ในรัฐบาลเองก็มีคนที่เคยได้รับผลจากการออกนโยบาย 66/2523 บางส่วนก็ตั้งแต่นิรโทษกรรม 2521 กลุ่มคนเหล่านี้น่าจะเข้าใจสภาวะที่เกิดขึ้นตอนนั้นเป็นอย่างดี อาจารย์คิดว่ารัฐบาลควรมีท่าทีอย่างไรกับเรื่องนิรโทษกรรม? – ผู้ดำเนินรายการ)

คือเขาก็รำลึก 6 ตุลา ทุกปี ยังน้ำตาซึมอยู่ทุกปี คิดถึงเพื่อนที่ถูกฆ่าถูกสังหารด้วยข้อหาว่าเป็นพวกล้มเจ้า ล้มล้างสถาบัน ล้มล้างระบอบ

แต่พอมาถึงปัญหาเฉพาะหน้าที่อยู่ตรงหน้าเขา เรากลับเห็นเขาเงียบ หรือบางที พูดในลักษณะที่ไปบอกว่าเด็กมีคนอยู่เบื้องหลัง ไม่เห็นด้วยเด็ดขาด ที่จะให้มีการรวมเรื่องมาตรา 112 (อยู่ในร่างกฎหมายนิรโทษกรรม) พรรคการเมืองในฝ่ายเขาก็บอกว่าต้องจัดการเด็ดขาดกับคนที่ไปบีบแตรใส่ขบวนเสด็จ

พูดถึงพรรคเพื่อไทย ดิฉันคิดว่าเขาอยู่ในภาวะที่ต้องประนีประนอมกับฝ่ายที่มีอำนาจ เขาไม่ได้ประนีประนอมกับประชาชน เขาประนีประนอมกับกลุ่มการเมืองอื่นที่มีอำนาจ ทั้งพรรคการเมือง ทั้งกองทัพ อำนาจทั้งหลายแหล่ ที่จะทำให้เขาสามารถเป็นรัฐบาลได้ สามารถที่จะพา “คุณทักษิณกลับบ้าน” ได้ นี่คือเป้าหมายหลักของพรรคเพื่อไทย ฉะนั้น ยอมทุกอย่าง

ยอมที่จะมองข้ามสิทธิเสรีภาพของประชาชน-เยาวชนที่ติดคุกอยู่ ซึ่งคนเหล่านี้จำนวนมากเลย เจอคดีทางการเมือง ก็คือในช่วงที่ต่อต้านรัฐบาลทหารของ พล.อ.ประยุทธ์ นั่นแหละ แล้วถามว่าใครได้ประโยชน์? ก็พรรคการเมืองนั่นแหละ พรรคเพื่อไทยก็ได้ประโยชน์ใช่ไหมคะ? จากขบวนการเยาวชนที่ลุกขึ้นมาตั้งแต่ปี 2563

คุณจะไม่ขอบคุณเขาหน่อยเหรอ? จะไม่รู้สึกว่าคุณติดหนี้บุญคุณเยาวชนเหล่านี้บ้างเหรอ? ไม่ทำอะไรบ้างเหรอ? คุณจะเอาแต่ช่วยเหลือคุณทักษิณกับการที่ได้เป็นรัฐบาล เท่านั้นเหรอ? ทำได้อย่างไร?

 

(ในปี 2521 แม้ผู้มีอำนาจจะเริ่มมองว่าต้องประนีประนอมกับประชาชน แต่รัฐบาลก็ต้องมีความกล้าหาญมากพอที่จะสวนกระแสสังคมในเวลานั้น เพื่อนิรโทษกรรมกลุ่มผู้นำนักศึกษา หรือ 66/2523 ก็ต้องใช้ความกล้าหาญระดับหนึ่งในการต่อรองกับผู้มีอำนาจ เพื่อจะให้เกิดความสมานฉันท์ หมายว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันยังไม่มีความกล้าหาญมากพอหรือเปล่า? – ผู้ดำเนินรายการ)

ก็อาจจะเป็นแนวทางการต่อสู้ของพรรคเพื่อไทยของคุณทักษิณมาตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2557 เราไม่เห็นท่าทีของเขาในการที่จะสู้เลย

คือฝ่ายผู้มีอำนาจไม่เคยที่จะไว้วางใจพรรคการเมืองของฝ่ายคุณทักษิณ ดิฉันคิดว่าเขาเห็น เป้าหมายของตระกูลชินวัตร คือเอาคุณทักษิณกลับมา ฉะนั้น ถ้ายินยอมให้คุณทักษิณกลับมา มันต้องแลกด้วยการที่เพื่อไทยต้องยอมทุกอย่าง

คราวนี้ เพื่อไทยมองไม่เห็นอำนาจต่อรองของตัวเอง มองไม่เห็นว่าจริงๆ แล้ว เสียงประชาชนที่โหวตเลือกคุณมา คืออำนาจต่อรองที่คุณใช้ต่อรองได้ ดิฉันคิดว่าถ้าเขายอมจับมือกับพรรคก้าวไกล ต่อรองในหลายๆ เรื่อง อาจจะไม่ต้องเอาทั้งหมดที่ก้าวไกลเสนอก็ได้ ดิฉันเชื่อว่าพรรคเพื่อไทยจะมีอำนาจต่อรองมากยิ่งขึ้น

คุณทักษิณก็อาจจะได้กลับบ้านหรืออาจไม่ได้กลับก็ได้ แต่ดิฉันเชื่อว่าเรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม การรวมมาตรา 112 ไปด้วย เป็นไปได้

ดิฉันเคยพูดกับเพื่อนฝูงมาตลอดว่า พรรคเพื่อไทยไม่มีวันจับมือกับพรรคก้าวไกล ตั้งแต่ก่อนจะรู้ผลเลือกตั้งอีก หรือแม้กระทั่งรู้ผลเลือกตั้งว่าพรรคก้าวไกลได้ 151 เสียง ดิฉันก็บอกกับเพื่อนฝูงว่าเขาจะไม่จับ

เพราะถ้าจับ คุณทักษิณจะไม่ได้กลับบ้าน แล้วถ้าไม่จับมือก้าวไกล มันจะทำให้เขาไม่ต้องปฏิรูปกองทัพ และไม่ต้องแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 อันนี้คือเงื่อนไขที่จะทำให้เขาได้เป็นรัฐบาล