ทำไม คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ผู้ค้นพบทวีปอเมริกา ถึงเชื่อว่าโลกกลม?

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
Christopher Columbus, Painting by Peter Johann Nepomuk Geiger.

โดยทั่วไปแล้ว โลกมักจะยกความดีความชอบให้กับ คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส (Christopher Columbus, พ.ศ.1994-2049) นักสำรวจเดินเรือ ควบตำแหน่งนักผจญภัย ชาวอิตาลี เป็นบุคคลแรกที่พิสูจน์ทราบได้ว่า แท้จริงแล้ว โลกนั้น “กลม” ไม่ได้ “แบน” อย่างที่ชนชาวยุโรปนั้นเคยเชื่อต่อๆ กันมาตามที่พระคัมภีร์ในพระศาสนาได้อ้างเอาไว้

เรื่องของเรื่องนั้นเริ่มมาจากการที่โคลัมบัสอยากจะเดินทางไปอินเดีย ซึ่งเป็นแหล่งสินค้าทรัพยากรของโลกตะวันออกที่สำคัญของชาวยุโรป

แต่การเดินทางด้วย “เรือ” ไปทวีปเอเชีย จากดินแดนของพวกยุโรปในยุคโน้น ยังเป็นไปได้อย่างยากลำบาก

หากพวกชนชาวยุโรปคิดจะห้าวเป้ง เดินเรือจากทะเลเมดิเตอร์เรเนียน อันเป็นน่านน้ำสำคัญของทวีปโดยตรง ทะเลแห่งนี้ก็ถูกโอบล้อมด้วยผืนแผ่นดินของทวีปยุโรปอยู่ทางด้านเหนือ มีแผ่นดินทวีปแอฟริกาเป็นขอบเขตทางด้านทิศใต้ และมีผืนดินของภูมิตะวันออกกลางปิดเส้นทางเชื่อมต่อกับทางน้ำทางด้านทิศตะวันออก

จึงทำให้พวกเขาต้องเดินทางออกจากช่องแคบยิบรอลตาร์ (Strait of Gibraltar) ทางด้านทิศตะวันตก แล้วล่องเรืออ้อมแหลมกู๊ดโฮป (Cape of Good Hope) ทางตอนใต้สุดของทวีปแอฟริกา ก่อนที่จะวกเข้าทวีปเอเชีย

(และเอาเข้าจริงแล้ว กว่าที่ชาวตะวันตกจะเดินเรืออ้อมแหลมกู๊ดโฮป ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ในเขตแดนของประเทศแอฟริกาใต้สำเร็จ ก็ต้องรอจนถึง พ.ศ.2040 เมื่อนักเดินเรือสำรวจชาวโปรตุเกส ที่ชื่อ วาสโก ดา กามา [Vasco da Gama, พ.ศ.2003-2068] กลายเป็นชนชาวยุโรปคนแรกที่นำเรือภายใต้การบังคับบัญชาของเขา อ้อมแหลมที่อยู่ทางใต้สุดของกาฬทวีปได้ ซึ่งแม้จะเป็นช่วงเวลาคาบเกี่ยวกับการเดินเรือครั้งสำคัญของโคลัมบัส แต่นั่นก็เป็นเวลาถึง 5 ปีหลังจากที่โคลัมบัสเดินเรือไปพบผืนแผ่นดินที่อีกฟากของมาสมุทรแอตแลนติก แล้วเข้าใจว่าคือ อินเดีย แล้วเลยทีเดียว)

และเมื่อมันจะเป็นเรื่องลำบากยากเข็ญถึงเพียงนี้ ยุโรปชนในยุคก่อนหน้านั้น หากต้องการเดินทางเข้าสู่ทวีปเอเชียโดยทางเรือ พวกเขาก็จะโดยสารเรือผ่านทางผืนน้ำที่มีขนาดไม่กว้างขวางนัก ที่คั่นอยู่ระหว่างทวีปแอฟริกา กับดินแดนตะวันออกใกล้ หรือที่มักจะเรียกกันว่าภูมิภาคตะวันออกกลางของทวีปเอเชีย ที่เรียกกันว่า “ทะเลแดง” เพื่อเชื่อมต่ออกมายังมหาสมุทรอินเดียแล้วมุ่งสู่โลกตะวันออกแทน

ความยุ่งยากลำบากอย่างนี้นี่แหละครับ ที่ทำให้โคลัมบัสซึ่งเชื่อว่า โลกกลม จึงเห็นว่า หากการเดินทางไปยังอินเดีย ด้วยการมุ่งหน้าไปยังทิศตะวันออก จะยุ่งยากอย่างนี้แล้ว เขาก็จะบ่ายหัวเรือไปอีกทางคือ ทางด้านทิศตะวันตกแทน เพราะถ้าหากว่าโลกไม่ได้แบนจริงอย่างที่เชื่อต่อๆ กันมาแล้ว ความกลมของโลกก็จะนำพาให้เรือของเขามุ่งหน้าไปสู่อินเดียได้อยู่นั่นเอง

 

ด้วยเหตุผลต่างๆ ข้างต้นได้ทำให้ประตูสู่อินเดียของโคลัมบัส จึงกลายเป็นอะไรที่เรียกว่า ช่องแคบยิบรอลตาร์ ซึ่งตั้งอยู่บนคาบสมุทรไอบีเรีย อันเป็นที่ตั้งของ 2 ชาติมหาอำนาจทางทะเลในสมัยนั้นอย่างสเปน และโปรตุเกส

โดยเฉพาะโปรตุเกสในช่วงก่อนช่วงชีวิตของโคลัมบัสเล็กน้อยนั้น เจ้าชายเอนริเก้ (Infante Dom Henrique) หรือที่รู้จักการในโลกภาษาอังกฤษว่า “เจ้าชายเฮนรีราชนาวิก” (Prince Henry the Navigator, พ.ศ.1937-2003) โอรสองค์ที่ 4 ของพระเจ้าชูเอาที่ 1 (Joao I de Portugal) หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า พระเจ้าจอห์นที่ 1 (John I of Portugal) แห่งราชวงศ์อวิซ (House of Aviz) ซึ่งมีพระชนม์ชีพอยู่ ณ ขณะจิตนั้น เป็นผู้มีความสนใจเรื่องการสำรวจโลกทางทะเลเป็นอย่างมาก จนถึงขั้นมีการตั้งสถาบันสำรวจทางทะเล ที่วิลล่าของพระองค์ในแหลม/คาบสมุทรซาเกรส (Sagres point/peninsular) ซึ่งได้รวบรวมเอาปัญญาชนทั่วยุโรป โดยเฉพาะผู้รู้ในดาราศาสตร์ และการทำแผนที่มาทำงานที่สถาบันแห่งนี้

การที่เจ้าชายเอนริเก้ได้รวบรวมเอาผู้รู้ต่างๆ โดยไม่ได้จำกัดว่าเป็นชนชาติใดมาทำงานสำรวจโลกอย่างนี้ ทำให้มีผู้คนจากหลายชาติทั่วยุโรปที่เข้ามาทำงาน และขอทุนการสำรวจจากสถาบันแห่งนี้ ซึ่งก็รวมไปถึงชนชาวอิตาลี แบบโคลัมบัสด้วย

 

แต่ลักษณะอย่างนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับโปรตุเกสเท่านั้นหรอกนะครับ

เพราะราชสำนักของชาติคู่แข่งอย่างสเปนเองก็สนับสนุนในเรื่องของการสำรวจโลกทางทะเลด้วยเหมือนกัน ดังนั้น เมื่อโคลัมบัสพลาดหวังจากการขอทุนจากราชสำนักโปรตุเกส เพื่อเดินเรือมุ่งหน้าทิศตะวันตก ตามมหาสมุทรแอตแลนติกไปยังอินเดีย ด้วยเชื่อ (และกึ่งๆ การพิสูจน์ว่า โลกกลม) นั้น เขาจึงเบนเข็มไปขอทุนพึ่งกระเป๋าสตางค์จากราชสำนักสเปนแทน ซึ่งก็ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดี จนกระทั่งเขาได้เดินเรือไปค้นพบทวีปอเมริกา ที่อีกฟากของมหาสมุทรแอตแลนติก (แต่เขาเข้าใจผิดว่าเป็นอินเดีย) เมื่อ พ.ศ.2035

(และนี่ก็คงจะเป็นเหตุผลที่ทำให้ผู้คนมักจะคิดว่าเขาเป็นชาวโปรตุเกส หรือไม่ก็สเปน โทษฐานที่การเดินเรือครั้งที่โด่งดังที่สุดในชีวิตของเขา ไปขอทุนสนับสนุนจากของโปรตุเกส และสเปนนั่นเอง)

การค้นพบทวีปอเมริกาของโคลัมบัส จึงเป็นหลักฐานชิ้นแรกๆ ที่ใช้ในการพิสูจน์ว่า “โลกกลม” ไม่ได้แบนอย่างที่ใครในยุคก่อนโน้นเขาว่าเอาไว้ และก็กลายเป็นคล้ายกับ “ตำนาน” ที่บอกเล่าต่อกันมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้เลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม กลับไม่ค่อยมีใครที่จะสงสัยใจกันสักเท่าไหรนักว่า ทำไมโคลัมบัสถึงได้เชื่อในเรื่องที่ฟังดูออกจะแหวกไปจากขนบความเชื่อของคริสต์ศาสนา (ซึ่งเขาเองก็เป็นคริสต์ชนคนหนึ่ง) ในยุคที่คริสต์จักรมีอำนาจมากมายมหาศาลในแผ่นดินยุโรป จนแทบจะล้นมือของตนเอง เช่นนั้น?

Sebastiano del Piombo (Sebastiano Luciani) | Portrait of a Man, Said to be Christopher Columbus (born about 1446, died 1506) | The Metropolitan Museum of Art

อันที่จริงแล้ว การค้นพบทวีปอเมริกาของโคลัมบัส เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่คาบเกี่ยวกันกับสิ่งที่ค้นพบครั้งสำคัญ อันเป็นผลมาจากการสำรวจโลกในช่วงเวลาดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการล่องเรืออ้อมแหลมกู๊ดโฮป ของวาโก ดา กามา

การประกาศว่า อเมริกาเป็นทวีปค้นพบใหม่โดยนักเดินเรือสำรวจ ชาวอิตาลีอีกคนหนึ่งอย่าง อเมริโก เวสปุชชี (Americo Vespucci, พ.ศ.1997-2055) เมื่อ พ.ศ.2045

หรือการเดินเรือรอบโลกเป็นครั้งแรก โดยนักสำรวจชาวโปรตุเกสที่ชื่อ เฟอร์ดินานด์ แม็กเจลลัน (Ferdinand Magellan, พ.ศ.2023-2064) เป็นต้น

ช่วงเวลาดังกล่าว ถูกเรียกรวมๆ กัน โดยชาวตะวันตก “ยุคสมัยแห่งการสำรวจ” (Age of Discovery) ซึ่งกินเวลาตั้งแต่ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 15-17 (ราว พ.ศ.1950-2150)

แน่นอนว่าช่วงชีวิตของโคลัมบัส รวมไปถึงนักสำรวจเดินเรืออีกหลายคนที่ผมเอ่ยชื่อมาในข้อเขียนชิ้นนี้ มีชีวิตอยู่ในช่วงต้นของยุคสมัยของการสำรวจดังกล่าว

อันเป็นช่วงเวลาที่คาบเกี่ยวอยู่กับยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ (Renaissance) ในยุโรป ซึ่งก็คือช่วงราวคริสต์ศตวรรษที่ 15-16 (ราว พ.ศ.1950-2050)

 

เป็นที่ยอมรับกันดีว่ายุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการนั้น เริ่มต้นขึ้นเมื่อกรุงคอนสแตนติโนเปิล (ปัจจุบันคือ เมืองอิสตันบูล ประเทศตุรกี) ศูนย์กลางแห่งจักรวรรดิไบแซนไทน์ล่มสลายลงด้วยน้ำมือของสุลต่านเมห์เหม็ดที่ 2 แห่งออตโตมัน หรือที่รู้จักกันในพระนามเมห์เหม็ดผู้พิชิต (Mehmed the Conqueror, พ.ศ.1975-2024) เมื่อ พ.ศ.1996 จนทำให้ตำราเก่าแก่ของกรีก-โรมันที่เคยถูกเก็บไว้ในโรมแห่งบูรพาทิศอย่าง จักรวรรดิไบแซนไทน์ ถูกส่งทอดกลับมายังยุโรปอีกครั้ง โดยในจำนวนตำราเหล่านั้นก็มีอยู่มากมายหลายเล่มเลยทีเดียวที่สาปสูญจากทวีปยุโรปไปนานแล้ว

ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเราในที่นี้ก็คือ นักปราชญ์กรีกโบราณหลายคน ไม่ว่าจะเป็น พิธากอรัส (Pythagoras, 570-495 ปีก่อนคริสตกาล), อริสโตเติล (Aristotle, 384-322 ปีก่อนคริสตกาล) และบิดาแห่งวิชาภูมิศาสตร์โลกอย่าง เอราทอสเธเนส (Eratosthenes, 276-194 ปีก่อนคริสตกาล) ต่างก็จากการศึกษาเส้นทางโคจรของดวงดาว แล้วสันนิษฐานเอาไว้ต้องตรงกันว่า “โลกกลม”

แต่ก็ไม่เพราะตำรับตำราของกรีกโบราณที่ถูกขนย้ายออกมาจากกรุงคอนสแตนติโนเปิลเหล่านี้หรอกนะครับ ที่ทำให้ผู้คนในยุคที่โคลัมบัสมีชีวิตอยู่ หันมาเชื่อว่าโลกกลม เพราะการศึกษาเอกสารโบราณโดยนักประวัติศาสตร์ชาวตะวันตกในรอบ 30-40 ปีมานี้ ต่างชี้ให้เห็นตรงกันว่าความรู้เรื่องโลกกลมของกรีกถูกถ่ายทอดต่อวัฒนธรรมต่างๆ ทั้งในยุโรป แอฟริกา และเอเชีย

แต่เฉพาะในยุโรปนั้น ถูกต่อต้านหนักมากจากศาสนจักร ที่มีความเชื่อว่าโลกแบน

ปัญญาชนของยุโรปในยุคนั้นส่วนใหญ่จึงรู้ว่าโลกกลม แต่ไม่กล้าแสดงออก เพราะจะถูกกล่าวโทษว่า เป็นพวกต่อต้านศาสนาคริสต์ ซึ่งจะมีผลร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตเอาง่ายๆ

เอาเข้าจริงแล้ว การหลั่งไหลเข้ามาของความรู้จากตำรากรีกโบราณเหล่านั้น จึงเป็นสิ่งเร้าให้เกิด “แรงกระเพื่อม” ต่อความเชื่อของศาสนจักร โดยได้เสริมให้ผู้คนมั่นใจต่อชุดความรู้ที่ถูกอุดปากเอาไว้ไม่ให้พูดออกมา โดยเฉพาะในช่วงยุคกลางของยุโรป

โคลัมบัสเองก็คงเป็นคนหนึ่งที่อยู่ในกระแสแรงกระเพื่อมที่ว่านี้ และได้พิสูจน์ว่า “โลกกลม” ผ่านการเดินเรือข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก เพื่อไปยังดินแดนที่เขาเชื่อว่าคืออินเดียนั่นแหละครับ •

 

On History | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ