คำคม ‘จินตนาการสำคัญกว่าความรู้’ มาจากไหน? | บัญชา ธนบุญสมบัติ

ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติhttps://www.facebook.com/buncha2509

คําคมของคนดังระดับโลกที่พบเห็นกันบ่อยที่สุดประโยคหนึ่ง คือ ‘จินตนาการสำคัญกว่าความรู้’ ซึ่งเป็นคำกล่าวของไอน์สไตน์

อยากชวนมาดูเบื้องลึกและเบื้องหลังกันหน่อยครับ เผื่อว่าคราวหน้าใครอ้างถึงประโยคดังนี้คุณผู้อ่านจะได้ต่อยอดการสนทนาได้อย่างมีหลักฐานรองรับ

ประโยค ‘Imagination is more important than knowledge.’ มาจากบทความชื่อ What Life Means to Einstein ซึ่งเป็นบทสัมภาษณ์ไอน์สไตน์โดย จอร์จ ซิลเวสเตอร์ เฟียร์เอค (George Sylvester Viereck) บทความนี้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ The Saturday Evening Post ฉบับวันที่ 26 ตุลาคม ค.ศ.1929

มีไฟล์ pdf ดาวน์โหลดฟรีในอินเตอร์เน็ตด้วย ใครสนใจสามารถค้นเน็ตด้วยชื่อบทความ What Life Means to Einstein หรือดาวน์โหลดได้ที่นี่ครับ https://www.saturdayeveningpost.com/wp-content/uploads/satevepost/what_life_means_to_einstein.pdf

หน้าแรกของบทความ What Life Means to Einstein ซึ่งเป็นที่มาของประโยค
‘Imagination is more important than knowledge.’ สตรีที่ปรากฏในภาพเป็นเลขานุการของไอน์สไตน์
ที่มา : https://www.saturdayeveningpost.com/wp-content/uploads/satevepost/what_life_means_to_einstein.pdf

จอร์จ ซิลเวสเตอร์ เฟียร์เอค ผู้สัมภาษณ์ไอน์สไตน์คนนี้เป็นคนอเมริกันเชื้อสายเยอรมัน (เกิด 31 ธันวาคม ค.ศ.1884 และเสียชีวิต 18 มีนาคม ค.ศ.1962) เขาเป็นกวีและนักเขียน ช่วงทศวรรษที่ 1920 นอกจากไอน์สไตน์แล้ว เขายังได้สัมภาษณ์คนดังจำนวนหนึ่ง เช่น จอร์จ เบอร์นาร์ด ชอว์, เบนิโต มุสโสลินี, เฮนรี ฟอร์ด, พระราชินีเอลิซาเบธแห่งเบลเยียม และซิกมุนด์ ฟรอยด์ เป็นต้น

ในช่วงหนึ่งของการสัมภาษณ์ไอน์สไตน์บอกเฟียร์เอคว่า เขาเชื่อมั่นในการหยั่งรู้และแรงบันดาลใจ และกล่าวว่าเขาจะรู้สึกแปลกใจหากทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของเขาผิดในการทำนายการเบี่ยงเบนของแสงระหว่างการเกิดสุริยุปราคาเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม ค.ศ.1919

เฟียร์เอคจึงถามว่า “ถ้าอย่างนั้นคุณก็เชื่อมั่นในจินตนาการมากกว่าความรู้กระนั้นหรือ?”

ไอน์สไตน์ตอบว่า “ผมเป็นศิลปินพอที่จะวาดภาพตามจินตนาการได้อย่างอิสระ จินตนาการสำคัญกว่าความรู้ ความรู้นั้นจำกัด แต่จินตนาการครอบคลุมทั่วพิภพ”

เพื่อให้การอ้างอิงแม่นยำ ผมได้จับภาพข้อความมาฝากเอาไว้ด้วย ข้อความภาษาอังกฤษในบทความ คือ “I am enough of the artist to draw freely upon my imagination. Imagination is more important than knowledge. Knowledge is limited. Imagination encircles the world.” (อยู่ในหน้า 117 ของบทความ ภายใต้หัวข้อ The Measles of Mankind)

จอร์จ ซิลเวสเตอร์ เฟียร์เอค
ผู้สัมภาษณ์ไอน์สไตน์และเขียนบทความ What Life Means to Einstein
ที่มา : https://en.wikipedia.org/wiki/George_Sylvester_Viereck

จริงๆ แล้วบทความอันทรงอิทธิพลนี้มีข้อมูลน่าสนใจมากกว่า ‘จินตนาการสำคัญกว่าความรู้’ เพราะมีเนื้อหาสะท้อนความรู้ ความคิด และทัศนคติของไอน์สไตน์ต่อประเด็นต่างๆ สมกับชื่อบทความคือ What Life Means to Einstein หรือ ชีวิตมีความหมายต่อไอน์สไตน์อย่างไร

เอาเรื่องประเด็นผลงานสำคัญที่สุดของเขาคือ ทฤษฎีสัมพัทธภาพ (theory of relativity) กันก่อน

ไอน์สไตน์พูดว่า “ความหมายของสัมพัทธภาพถูกเข้าใจผิดอย่างกว้างขวาง นักปรัชญาเล่นกับคำนี้เหมือนกับเด็กเล่นกับตุ๊กตา ในมุมมองของผมสัมพัทธภาพเพียงแค่ระบุว่าข้อเท็จจริงทางกายภาพและทางกลบางอย่างซึ่งถือกันมาว่าแน่นอนและถาวรนั้นมีลักษณะสัมพัทธ์เมื่ออ้างอิงกับข้อเท็จจริงอื่นๆ บางอย่างในขอบเขตวิชาฟิสิกส์และกลศาสตร์ มันไม่ได้หมายถึงว่าทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตมีลักษณะสัมพัทธ์ และ [ไม่ได้หมายถึงว่า] เรามีสิทธิ์ที่จะเล่นซนพลิกโลกให้กลับตาลปัตร”

เฟียร์เอคเขียนว่า แอร์วิน ชเรอดิงเงอร์ ผู้ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมงานที่ไอน์สไตน์ชื่นชอบที่สุด เคยบอกว่าไอน์สไตน์อธิบายกฎพื้นฐานของวิชากลศาสตร์ว่าเป็นความสัมพันธ์เชิงเรขาคณิตของอวกาศและเวลา แต่เฟียร์เอคยังเขียนต่อด้วยว่า “ผมจะไม่พยายามขยายความข้อความที่ว่านี้ กล่าวกันว่ามีคนเพียงแค่สิบคนเท่านั้นที่เข้าใจทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์”

ผู้สัมภาษณ์ยังบันทึกไว้ด้วยว่าหลายปีก่อนวันที่สัมภาษณ์ครั้งนั้นเขาพบไอน์สไตน์ที่นิวยอร์ก และไอน์สไตน์ได้เน้นย้ำปฏิเสธคำพูดที่ว่าเขาเป็นนักปรัชญา ไอนสไตน์บอกว่า “ผมเป็นแค่นักฟิสิกส์”

 

ภาพแสดงข้อความอันเป็นที่มาของคำคม ‘Imagination is more important than knowledge.’
ที่มา : https://www.saturdayeveningpost.com/wp-content/uploads/satevepost/what_life_means_to_einstein.pdf

เฟียร์เอคเขียนว่าศาสตราจารย์ไอน์สไตน์ปฏิเสธทุกคำเชิญที่ต้องไปยังภัตตาคารที่คนส่วนใหญ่รู้จักด้วยความที่เขาเป็นคนดัง ใครๆ ก็รู้จัก แต่แม้ว่าความดังระดับโลกจะทำให้ไอน์สไตน์ต้องพยายามปลีกตัว เขาก็ยังคงเป็นคนที่ชอบเข้าสังคม และชอบพูดคุยแบบเบาๆ บนโต๊ะอาหารเย็นกับเพื่อนบางคน

เกี่ยวกับการอ่าน เฟียร์เอคเขียนว่า “นิยายสมัยใหม่ไม่ได้ดึงดูดเขา แม้แต่ในวิทยาศาสตร์เขาก็จำกัดตัวเองอยู่กับสาขาเฉพาะของเขาเองเป็นส่วนใหญ่” และระบุว่าไอน์สไตน์พูดว่า

“การอ่านหลังจากมีอายุค่าหนึ่งนั้นจะเบี่ยงเบนความคิดออกจากการแสวงหาเชิงสร้างสรรค์มากเกินไป ใครก็ตามที่อ่านมากเกินไปและใช้สมองน้อยเกินไปจะมีนิสัยขี้เกียจคิด เหมือนกับคนที่ใช้เวลามากเกินไปในโรงละครย่อมมีแนวโน้มที่จะพึงพอใจกับการใช้ชีวิตในการสังเกตผู้อื่นแทนที่จะใช้ชีวิตของตนเอง”

มีแง่มุมหนึ่งที่คนชอบปรัชญาน่าจะสนใจคือเรื่องของเจตจำนงเสรี (free will) ในประเด็นนี้ ทัศนะของไอน์สไตน์ในช่วงเวลาที่ให้สัมภาษณ์เป็นดังนี้

“…ผมเป็นคนที่ยึดถือนิยัตินิยม (determinist) และเมื่อเป็นเช่นนั้น ผมจึงไม่เชื่อเรื่องเจตจำนงเสรี ชาวยิวเชื่อในเจตจำนงเสรี พวกเขาเชื่อว่าคนเราสามารถเลือกจัดการชีวิตของตนเองได้ ในเชิงปรัชญาผมปฏิเสธหลักความเชื่อนั้น ในแง่นั้นผมไม่ใช่คนยิว” และ “ผมเชื่อตามโชเพินเฮาเออร์ (Schopenhauer) เราอาจทำสิ่งที่เราปรารถนา แต่เราสามารถปราถนาได้เพียงแค่สิ่งที่เราต้องปรารถนา อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัติแล้วผมจำต้องทำตัวราวกับอิสรภาพของเจตจำนงมีอยู่จริง ถ้าหากผมปรารถนาจะใช้ชีวิตในชุมชมที่มีอารยะ ผมจะต้องทำตัวราวกับคนที่มีความรับผิดชอบ”

 

บางคำถามเป็นทัศนะทางการเมือง เช่น “ทัศนะของคุณต่อลัทธิบอลเชวิกเป็นอย่างไร?”

ไอน์สไตน์ตอบว่า “ลัทธิบอลเชวิก (Bolshevism) เป็นการทดลองที่น่าทึ่ง ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ที่การเคลื่อนตัวของพัฒนาการทางสังคมจากนี้ไปอาจจะไปในทิศทางของลัทธิคอมมิวนิสต์ การทดลองบอลเชวิกอาจควรค่าแก่การลองดู แต่ผมคิดว่ารัสเซียทำผิดอย่างมหันต์ในการดำเนินการตามอุดมคติของชาติ พวกรัสเซียทำผิดโดยทำให้ความศรัทธาต่อพรรคอยู่เหนือประสิทธิภาพ พวกเขาแทนที่คนที่มีประสิทธิภาพด้วยนักการเมือง ข้อพิสูจน์เกี่ยวกับการรับใช้สังคมของพวกเขาไม่ได้อยู่ที่ผลสำเร็จ แต่อยู่ที่การทุ่มเทให้กับความเชื่ออันเข้มงวด”

เฟียร์เอคยังตั้งคำถามเด็ดๆ อีกหลายคำถาม เช่น ไอน์สไตน์คิดว่าตนเองเป็นเยอรมันหรือยิว? เขาได้รับอิทธิพลจากศาสนาคริสต์แค่ไหน? เขาเชื่อในพระเจ้าหรือไม่? และเขายอมรับการมีตัวตนของพระเยซูในทางประวัติศาสตร์หรือไม่?

เมื่อถูกถามว่าเขาเชื่อในความเป็นอมตะหรือไม่? ไอน์สไตน์ตอบว่า “ไม่ ชีวิตเดียวก็เพียงพอแล้วสำหรับผม”

การสนทนาดำเนินไปเกือบ 3 ชั่วโมง จนกระทั่งภรรยาของไอน์สไตน์เข้ามาขัดจังหวะโดยบอกว่า “สามีของดิฉันจะต้องทำงานสำคัญ แต่ไม่มีเหตุผลอะไรที่คุณจะต้องไป คุณจะอยู่ต่อและคุยกับฉันไหมคะ?”

การสัมภาษณ์ไอน์สไตน์จึงจบลง คุณผู้อ่านที่สนใจรายละเอียดอื่นๆ สามารถตามไปอ่านจากบทความที่ให้ Link เอาไว้ตอนต้นได้

อย่างไรก็ดี ยังมีอีกประเด็นสืบเนื่องจากข้อความ ‘จินตนาการสำคัญกว่าความรู้’ นั่นคือ ในการทำงานคิดค้นด้านฟิสิกส์ทฤษฎี ไอน์สไตน์ชอบใช้การทดลองในความคิด (thought experiment) หรือที่เรียกในภาษาเยอรมันว่า Gendankenexperiment สำหรับประเด็นสำคัญนี้ผมจะหาโอกาสเล่าให้อ่านต่อไป โปรดติดตามครับ!