ยุทธการ 22 สิงหา : ยุทธการ รุก ยุทธการ รับ ฟื้นพลัง ตุลาการภิวัฒน์

(Photo by AFP / AFP FILES / AFP)

2 ปรากฏการณ์อันเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2551 เท่ากับเป็น “สัญญาณ” ในทางการเมือง

1 วันที่ 14 พฤษภาคม

ศาลฎีกาแผนคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำสั่งรับคดีที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ยื่นฟ้องคดีทุจริตหวยบนดิน (ออกสลากพิเศษเลขท้าย 2 ตัว 3 ตัว)

จำเลยบางส่วนได้แย้งประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 เรื่องการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ

ศาลฎีกาฯ จึงมีคำสั่งให้ส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยก่อนใน 2 ประ เด็น คือ 1 ประกาศ คปค.ฉบับดังกล่าวขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ 1 พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 เรื่องการตรวจสอบการกระทำท่ำก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ลงวันที่ 30 กันยายน 2549 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

1 วันที่ 18 พฤษภาคม

นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวในรายการ “สนทนาประสาสมัคร” กรณีที่มีประชาชนสอบถามการหยุดออกอากาศรายการ “ยกโขยงหกโมงเช้า” และรายการ “ชิมไปบ่นไป” ว่า

เนื่องจากมีผู้ร้องเรียนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าผิดกฎหมาย

“ทั้งๆ ที่ผมได้ตรวจสอบทางกฎหมายแล้วเห็นว่าไม่ผิดเพราะผมไม่ได้เป็นลูกจ้าง แต่เป็นเพียงแค่รับจ้างดำเนินรายการ”

ไม่ว่าเรื่อง “คตส.” ไม่ว่ากรณี “ชิมไปบ่นไป” ล้วนดำรงอยู่เหมือน “ระเบิดเวลา”

 

ยังไม่ทันที่จะได้คำตอบในเรื่องสถานะของ คตส. ยังไม่ทันที่จะได้คำตอบในเรื่องของรายการ “ชิมไปบ่นไป”

จังหวะก้าวของ นายนพดล ปัทมะ ก็โดดเด่นขึ้นมา

ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายนพดล ปัทมะ แถลงผลการเจรจาไทย-กัมพูชาว่าด้วยการขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ว่า

กัมพูชายอมรับการเปลี่ยนแปลงการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารโดยขอขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวปราสาทเป็นมรดกโลก และให้คำมั่นว่าจะส่งแผนที่ใหม่แสดงขอบเขตตัวปราสาทพระวิหารที่จะขึ้นทะเบียนมาให้ฝ่ายไทยและทางยูเนสโกพิจารณา ภายในวันที่ 1 มิถุนายน

พร้อมกับยืนยันด้วยว่า แนวทางดังกล่าวเป็นการขอขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวปราสาทซึ่งช่วยให้ไม่มีปัญหาเรื่องการขอขึ้นทะเบียนพื้นที่ที่เป็นพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนเป็นมรดกโลก

ทำให้ไม่มีการเสียผลประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย และไทยสามารถรักษาสิทธิทางเขตแดนไว้ได้อย่างสมบูรณ์

ก็เป็นเรื่อง

ที่เป็นเรื่องมิใช่กรณีปราสาทพระวิหาร ที่เป็นเรื่องมิใช่กรณีสถานะของ คตส. ที่เป็นเรื่องมิใช่สถานะของ นายสมัคร สุนทรเวช

หากแต่เป็นชนวนจากการแก้ไขเพิ่มเติม “รัฐธรรมนูญ”

หากแต่เป็นจังหวะก้าวที่ 2 ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในการสำแดงพลานุภาพทางการเมือง

เป็นการตีเลาะโดยรอบต่อรัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช

 

ช่วงบ่ายวันที่ 25 พฤษภาคม พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนัดชุมนุมแสดงพลังคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญและล่ารายชื่อถอดถอน ส.ส. ส.ว.ที่ยื่นญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

ยึดพื้นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นฐานที่มั่น

ห้วงเวลาเดียวกันนี้ทางด้านท้องสนามหลวง กลุ่มต่อต้านก็ได้เปิดเวทีปราศรัยโจมตีพันธมิตรประชาธิปไตยเพื่อประชาชน

เวลา 16.00 น. ก็เคลื่อนขบวนจากสนามหลวงไปบนถนนราชดำเนิน

แม้ขบวนของประชาชนต้านพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจากท้องสนามหลวงจะมีเพียง 200 คน แต่ตำรวจก็ไม่สามารถสกัดขัดขวางได้ ปล่อยให้มาจัดตั้งเวทีใกล้กับจุดชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

เวลา 21.00 น. พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเคลื่อนขบวนออกจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เป้าหมายคือทำเนียบรัฐบาล

เมื่อถึงสะพานมัฆวานรังสรรค์ก็ถูกตำรวจสกัดและมีการปะทะกันเล็กน้อย

ไม่ว่าการรุกของกลุ่มต่อต้านพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจากท้องสนามหลวงไปบนถนนราชดำเนิน ไม่ว่าการเคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปยังทำเนียบรัฐบาลของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย มีลักษณะรุก มีลักษณะถอยอยู่ในที

แต่ที่ไม่ควรมองข้ามก็คือ บทบาทของรัฐบาล บทบาทของพรรคพลังประชาชน

แสงแห่งสปอตไลต์ฉายจับไปยังบทบาทของ นายสมัคร สุนทรเวช ไปยังบทบาทของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง อย่างเป็นพิเศษ

สะท้อนการรุก สะท้อนการรับ สะท้อนการตั้งรับในลักษณะรุก

 

อย่าคิดว่ารัฐบาลและพรรคพลังประชาชนจะดำรงอยู่ในลักษณะอันเป็นเป้านิ่งในทางการเมือง

เห็นได้จากบทบาทของพรรคพลังประชาชน

เห็นได้จาก ส.ส.พรรคพลังประชาชนจำนวนหนึ่งแจ้งความต่อกองบังคับการปราบปรามให้ดำเนินคดีแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยข้อหาขัดขวางการใช้อำนาจนิติบัญญัติของ ส.ส.

ขณะเดียวกัน พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยยื่นถอดถอนประธานรัฐสภา ส.ส.และ ส.ว.จำนวน 136 คนที่เสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ต่อ นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา

และประกาศยกระดับเป้าหมายการชุมนุมเป็นการขับไล่รัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช แห่งพรรคพลังประชาชน

ผลก็คือ นายสมัคร สุนทรเวช ออกรายการพิเศษ

ระบุรัฐบาลได้เตรียมกำลังทหารและตำรวจไว้พร้อมแล้วเพื่อสลายการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

ในตอนค่ำวันเดียวกันก็เป็นคิวของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง

เพื่อลดทอนอุณหภูมิแห่งความไม่พอใจต่อ นายสมัคร สุนทรเวช และต่อรัฐบาล ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ยืนยันว่าจะไม่มีการสลายการชุมนุม

ที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ต้องออกมาเบรกเนื่องจากคำประกาศของ นายสมัคร สุนทรเวช ได้สร้างความไม่พอใจเป็นอย่างสูงให้กับมวลชนพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หากแม้กระทั่งพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆก็มีคำถามและเห็นว่าเป็นกระบวน ท่าที่ไม่เหมาะสม

รัฐบาลจำเป็นต้องลดทอนความไม่พอใจที่ดำรงอยู่”ภายใน”จึงต้องมีการร่วมรับประทานอาหารค่ำพรรคร่วมรัฐบาล

และเพื่อเสริมความมั่นใจว่าสถานการณ์ไม่บานปลาย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จึงต้องออกมาแถลงยืนยันว่าจะไม่มีการใช้กำลังทหารตำรวจเพื่อสลายการชุมนุม

อาจกล่าวได้ว่าการชุมนุมที่ยืดเยื้อมาจากเดือนพฤษภาคมต่อเนื่องไปยังเดือนมิถุนายน รัฐบาลอยู่ในลักษณะตั้งรับ

เนื่องจากเอกภาพระหว่างนายกรัฐมนตรีกับพรรคร่วมรัฐบาลอื่น

 

เด่นชัดยิ่งว่าสถานการณ์ของรัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช เริ่มอยู่ในสภาพตั้งรับอย่างต่อเนื่อง

เริ่มจาก นายจักรภพ เพ็ญแข ตกเป็นเป้าหมายแรกในการจัดการ

และน่าเชื่อว่ายังมีเป้าหมายอื่นที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยรอจะจัดการโดยประสานเข้ากับขบวนการ “ตุลาการภิวัฒน์” อันเป็นผลสะเทือนก่อนและหลังรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549

การกลับบ้านของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จึงปรากฏมรสุม “ดำ” ตั้งเค้าเด่นชัดขึ้นเป็นลำดับ