ศัพทานุกรมอำนาจนิยม : ลัทธิไม่เสรีนิยม (illiberalism) (ตอนจบ)

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม | เกษียร เตชะพีระ

 

ศัพทานุกรมอำนาจนิยม

: ลัทธิไม่เสรีนิยม (illiberalism)

(ตอนจบ)

 

ข้อสังเกตสำคัญอย่างหนึ่งของวงวิชาการรัฐศาสตร์-นิติศาสตร์ตะวันตกเกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยไม่เสรี (illiberal democracy) ก็คือมันมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นระบบนิติธรรมนิยมอัตตาธิปไตย (autocratic legalism) โดยอาศัยการปรับเปลี่ยนแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญโดยผู้นำจากการเลือกตั้งประชาธิปไตยของมหาชนที่ค่อยๆ กลายเป็นจอมอัตตาธิปัตย์นิติธรรมนิยม (legalistic autocrat) ไปในที่สุด

ดังที่ Kim Lane Scheppele ศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยาและกิจการระหว่างประเทศแห่งมหาวิทยาลัย Princeton สหรัฐอเมริกา ผู้เชี่ยวชาญการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญในยุโรปตะวันออกและรัสเซียสรุปไว้ในบทความ “Autocratic Legalism”, The University of Chicago Law Review, 85 : 2 (2018), https://chicagounbound.uchicago.edu/uclrev/vol85/iss2/2/ (ดูภาพประกอบ)

และปรากฏตัวอย่างของระบบนิติธรรมนิยมอัตตาธิปไตยในฮังการีภายใต้นายกรัฐมนตรีวิกตอร์ ออร์บาน (Kim Lane Scheppele, et al., “Hungary’s Illiberal Turn : Disabling the Constitution”, Journal of Democracy, 2012, https://www.journalofdemocracy.org/articles/hungarys-illiberal-turn-disabling-the-constitution/) และเวเนซุเอลาภายใต้อดีตประธานาธิบดีฮูโก ชาร์เวซ สืบต่อมาถึงประธานาธิบดีนิโคลาส มาดูโร ปัจจุบัน

(Javier Corrales, “The Authoritarian Resurgence : Autocratic Legalism in Venezuela”, Journal of Democracy, 2015, https://www.journalofdemocracy.org/articles/the-authoritarian-resurgence-autocratic-legalism-in-venezuela/)

ทว่า ในกรณีการเมืองไทยระยะเกือบสองทศวรรษที่ผ่านมา เนื่องจากพื้นภูมิทางประวัติศาสตร์ การเมืองวัฒนธรรม และดุลอำนาจของกลุ่มพลังการเมืองและสถาบันการปกครองแตกต่างจากตะวันตก ทำให้ระบบนิติธรรมนิยมอัตตาธิปไตยของไทยแสดงออกแตกต่างกลับกัน

ดังที่ เชอรี เบอร์แมน ศาสตราจารย์รัฐศาสตร์ด้านการเมืองเปรียบเทียบแห่งวิทยาลัย Bernard มหาวิทยาลัย Columbia สหรัฐอเมริกา ตั้งข้อสังเกตถึงทางสองแพร่งที่ระบอบเสรีประชาธิปไตยอาจลื่นไถลกลับกลายไปได้ในการเมืองโลกปัจจุบันว่า :

“บ่อยครั้งที่สุดที่ระบอบประชาธิปไตยไม่เสรีมักเป็นขั้นตอนหนึ่งในเส้นทางไปสู่ระบอบเสรีประชาธิปไตยมากกว่าจะเป็นจุดสิ้นสุดยุติของวิถีโคจรของประเทศหนึ่งๆ

“ยิ่งกว่านั้น แม้ว่าระบอบประชาธิปไตยที่ไม่ถูกตรวจสอบโดยเสรีนิยมอาจไถลไปสู่ระบอบทรรราชเสียงข้างมากได้

“ทว่า ระบอบเสรีนิยมที่ไม่ถูกตรวจสอบโดยประชาธิปไตยก็อาจเสื่อมทรามลงเป็นระบอบคณาธิปไตยของชนชั้นนำได้โดยง่ายเช่นกัน”

(Sheri Berman, “The Pipe Dream of Undemocratic Liberalism”, Journal of Democracy, 2017, https://www.journalofdemocracy.org/articles/the-pipe-dream-of-undemocratic-liberalism/)

อาจกล่าวได้ว่าการเมืองการปกครองไทยภายหลังรัฐประหาร คปค. ปี 2549 และรัฐประหาร คสช. ปี 2557 ได้คลี่คลายขยายตัวไปในแบบย่อหน้าหลังสุดของเบอร์แมน กล่าวคือ ค่อยๆ ลดลัดตัดทอนเซาะกร่อนบ่อนทำลายเหล่ากระบวนการและสถาบันประชาธิปไตยจากการเลือกตั้งของประชาชนลงจนกลายเป็น…

[ระบอบเสรีนิยมไม่ประชาธิปไตย/Undemocratic Liberalism -> ระบอบคณาธิปไตยของชนชั้นนำ /elitist oligarcy -> ระบบนิติธรรมนิยมอัตตาธิปไตย/autocratic legalism] ในปัจจุบัน

งานวิชาการที่บ่งชี้ว่าการเมืองไทยระยะใกล้กลายเป็นระบอบเสรีนิยมไม่ประชาธิปไตย มีอาทิ Elliot Norton, “Illiberal Democrats versus Undemocratic Liberals : The Struggle Over the Future of Thailand’s Fragile Democracy”, Asian Journal of Political Science, 2012, https://www.tandfonline.com/doi/pdf/10.1080/02185377.2012.673860)

และดุษฎีนิพนธ์ของอาจารย์ ดร.ปฤณ เทพนรินทร์ ที่ได้ศึกษาประเด็นนี้กว้างขวางลึกซึ้งขึ้นครอบคลุม ช่วงสองทศวรรษเรื่อง “เสรีนิยมธรรมราชา : พลวัตแห่งอำนาจระหว่างสถาบันกษัตริย์กับสถาบันแนวประชาธิปไตย ในโครงการจำกัดเสียงข้างมาก (พ.ศ.2540-2560)” (คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปีการศึกษา 2565)

 

ส่วนงานวิชาการที่บ่งชี้ว่าไทยกลายเป็นระบอบคณาธิปไตยของชนชั้นนำนั้น นอกจากคำบรรยายของครูเบน แอนเดอร์สัน ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เมื่อปี 2011 (https://prachatai.com/journal/2011/04/33843) ซึ่งผมเอ่ยอ้างถึงมาแล้ว ก็มีข้อเขียนเฉียบคมทวนกระแสของ Khor Swee Kheng นักวิชาการด้านระบบและนโยบายสาธารณสุข มหาวิทยาลัยมลายา เรื่อง “The ASEAN pincer : caught between elite capture and populists”, New Mandala, published 10 January 2020, https://www.newmandala.org/elite-capture-and-populists/ หรือพากย์ไทยได้ว่า “ก้ามปูหนีบการเมืองอาเซียน : นักประชานิยม vs. การยึดกุมอำนาจโดยชนชั้นนำ”

ขณะที่การชี้นิ้วกล่าวหาประณาม “นักประชานิยม” ผู้มากับระบอบประชาธิปไตยไม่เสรีกลายเป็นแฟชั่นการเมืองไปทั่วโลกรวมทั้งในเอเชียอาคเนย์และประเทศไทย คอร์สุ่ยเคง เสนอให้มองด้านกลับบ้างและระมัดระวัง “การยึดกุมอำนาจโดยชนชั้นนำ” (elite capture) ด้วย ซึ่งในบางด้านน่ากลัวกว่าด้วยซ้ำ

คำว่าชนชั้นนำของคอร์สุ่ยเคงมุ่งหมายถึงชนชั้นนำทางสังคม (social elites) ซึ่งไม่ต้องพร้อมรับผิด (unaccountable elites) เพราะไม่ได้เข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งทางการเมืองอย่างเปิดเผย หากเล่นเป็นอีแอบอยู่เบื้องหลังคอยแทรกแซง ชี้นำหรือส่งอิทธิพลต่อนโยบายรัฐบาลโดยที่สื่อมวลชนและสาธารณชนมองไม่เห็นหรือมองเห็นยาก

อาทิ พ่อค้าเจ้าสัว อภิมหาเศรษฐี นักวิชาการ อำมาตย์ในโครงสร้างราชการศักดินา นักวิชาชีพ เช่น นักกฎหมาย ที่ปรึกษาการจัดการ รวมไปถึงนายทหารชั้นผู้ใหญ่ในเมียนมาและไทย และผู้นำทางศาสนาในมาเลเซีย บรูไน และอินโดนีเซีย

 

การยึดกุมอำนาจโดยชนชั้นนำ (elite capture) เกิดขึ้นเมื่อชนชั้นนำทางสังคมเข้าสู่กระบวนการทางนโยบายของรัฐบาลอย่างไม่เหมาะสม ขยายบทบาทของตนได้เกินสัดส่วนพลเมืองสามัญทั่วไป อาศัยที่เข้าถึงรัฐบาลได้ใกล้ชิดสนิทแนบ มีโอกาสนำเสนอหรือส่งอิทธิพลต่อนโยบาย ให้เงินอุดหนุนการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง หรือดำเนินการในลักษณะผลประโยชน์ทับซ้อน (conflict of interest)

สำหรับคอร์สุ่ยเคง การยึดกุมอำนาจโดยชนชั้นนำเป็นภยันตรายต่อประชาธิปไตยยิ่งกว่านักประชานิยมเสียอีกค่าที่ :

1. การยึดกุมอำนาจโดยชนชั้นนำแทบมองไม่เห็นอยู่เสมอ ขณะที่ประชานิยมนั้นปรากฏเปิดเผยโล่งแจ้ง

2. ชนชั้นนำทางสังคมไม่ตกอยู่ใต้เกณฑ์ต้องผ่านการเลือกตั้งอย่างสม่ำเสมอทุก 4-5 ปี ดังที่พวกนักประชานิยมต้องเจอ

3. พวกนักประชานิยมถูกตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างกุมอำนาจอยู่ ทว่า ชนชั้นนำทางสังคมกลับไม่โดน

4. ชนชั้นนำทางสังคมเสริมสร้างความไม่เสมอภาคข้ามรุ่นคน ขณะที่พวกนักประชานิยมทำไม่ได้

5. เราไม่มีช่องทางเคลื่อนไหวประท้วงลงสู่ท้องถนนเพื่อขจัดชนชั้นนำทางสังคมด้วยกำลังอย่างที่ทำกับพวกนักประชานิยมได้

เขาฟันธงสรุปชนิดที่ฟังแล้วเราชาวไทยต้องกลืนน้ำลายเอื๊อกว่า :

 

สําหรับปรากฏการณ์ ระบบนิติธรรมนิยมอัตตาธิปไตยแบบไทยๆ (autocratic legalism Thai style) ก็มีบทความวิชาการของคุณ Thareeat Laohabut นักวิจัยและนักศึกษาปริญญาเอกสังกัดสถาบันรัฐศาสตร์ Geschwister Scholl มหาวิทยาลัย Ludwig Maximilian University แห่งเมืองมิวนิก ประเทศเยอรมนี เรื่อง “Let’s not overlook classic authoritarians! Understanding Thailand’s political regime”, The Loop, accessed 4 February 2024, https://theloop.ecpr.eu/lets-not-overlook-classic-authoritarians-understanding-thailands-political-regime/

และงานของ Eug?nie M?rieau (ผู้บุกเบิกประยุกต์แนวคิดรัฐพันลึกมาศึกษาวิจัยปรากฏการณ์ตุลาการภิวัตน์ไทย ปัจจุบันเธอเป็นรองศาสตราจารย์ด้านกฎหมายมหาชนแห่ง University of Paris 1 Panth?on-Sorbonne) เรื่อง “The Thai Constitutional Court, a Major Threat to Thai Democracy”, IACL-AIDC BLOG, published 3 May 2019, https://blog-iacl-aidc.org/2019-posts/2019/5/3/the-thai-constitutional-court-a-major-threat-to-thai-democracynbsp ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจสถานการณ์ปัจจุบันได้ดี