แม้ว คัมแบ๊ก พักโทษ พักการเมือง?

(Photo by Manan VATSYAYANA / AFP)

รู้กันมาก่อนหน้านี้นานแล้วว่า “บ้านจันทร์ส่องหล้า” ได้ทำการรีโนเวต ตกแต่งใหม่ เตรียมบ้าน รอรับการปล่อยตัว นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

เป็นการคัมแบ๊กสู่แผ่นดินไทยอย่างแท้จริง หลังต้องหนีออกจากประเทศจากการถูกรัฐประหารเมื่อปี 2549

กลายเป็นบุคคลสำคัญที่สุดคนหนึ่งในวิกฤตการเมืองรอบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา

ฝั่งพลังเก่าเคยมองทักษิณด้วยความหวาดกลัว ระวัง ทักษิณเข้ามาสั่นคลอนหลักนิยมความมั่นคงของประเทศที่เคยมีมา จึงต้องระดม กำจัดหนูตัวนี้ให้พ้นบ้าน แม้ว่าจะต้องเผาบ้านทั้งหลัง

อีกฝั่งมองทักษิณเป็นนักการเมืองที่สร้างความเปลี่ยนแปลงมากที่สุด นำทรัพยากรของประเทศ กระจายสู่ชนชั้นล่างมากที่สุดนับตั้งแต่ประเทศมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย สร้างประชาธิปไตยให้กินได้ ไม่ได้ดีแต่พูด

ความขัดแย้งของสองฝั่งนี้ ดำเนินเรื่อยมานับตั้งแต่ปี 2549 ผ่านการเลือกตั้งใหญ่ ยุบสภา การเดินขบวนประท้วง การยึดอำนาจซ้ำเมื่อปี 2557 การร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560

นั่นคือฉากทัศน์ความขัดแย้งเดิมที่เคยเป็นมา และมันจบลงหลังการเลือกตั้งปี 2566 ที่ผ่านมา

 

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 นายทักษิณเดินทางกลับประเทศไทยด้วยเครื่องบินส่วนตัว เมื่อมาถึงก็เข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย ถูกนำตัวเข้าเรือนจำ มีกำหนดโทษจำคุก 8 ปี

ยังไม่ทันข้ามวันก็ปรากฏข่าว กรมราชทัณฑ์ ส่งตัวนายทักษิณ ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจกลางดึกภายหลังมีอาการแน่นหน้าอก

ตามเอกสารข่าวของ กรมราชทัณฑ์ ชี้ว่า พบมีโรคประจำตัวหลายโรค โรงพยาบาลราชทัณฑ์ยังขาดเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีศักยภาพ แพทย์จึงมีความเห็นว่าเพื่อป้องกันความเสี่ยงอันตรายที่อาจจะส่งผลต่อชีวิต เห็นควรส่งตัวไปโรงพยาบาลตำรวจที่มีความพร้อม

9 วันหลังเดินทางกลับไทย ในที่สุดนายทักษิณ ก็ได้ยื่นฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ ขณะอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม

ต่อมาวันที่ 1 กันยายน เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชหัตถเลขา ในหลวงรัชกาลที่ 10 พระราชทานอภัยลดโทษให้นักโทษเด็ดขาดชาย ทักษิณ ชินวัตร เหลือโทษจำคุกต่อไปอีก 1 ปี เพื่อจะได้ใช้ความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ช่วยเหลือและทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ สังคมและประชาชนสืบไป โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีขณะนั้น เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

แต่ระหว่างการพักอยู่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ นายทักษิณก็ถูกตั้งคำถามอย่างหนักเรื่องความเป็นอภิสิทธิ์ชนในการเข้าพักห้องวีไอพีโรงพยาบาลตำรวจ ว่ามีความสองมาตรฐานเมื่อเทียบกับประชาชนคนธรรมดาหรือไม่

มีการตั้งกระทู้สอบถามกลางสภา กล่าวหาว่า “เข้าคุกทิพย์” จากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กระทั่งนำไปสู่การกดดันประท้วง แต่การอยู่ในโรงพยาบาลตำรวจของนายทักษิณก็ดำรงอยู่อย่างปกติ ภายใต้การอนุมัติให้พักรักษาตัวต่ออย่างถูกต้องตามระเบียบกฎเกณฑ์ทุกอย่าง แม้แต่คำชี้แจงจากนายแพทย์ใหญ่ รพ.ตำรวจ

อย่างไรก็ตาม เป็นอันว่านายทักษิณถูกจองจำครบ 6 เดือนตามหลักเกณฑ์เข้ายื่นขอพักโทษ

(Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP)

เรื่องนี้หลังเป็นข่าวลือมาอย่างนาน ได้รับการปฏิเสธอย่างต่อเนื่อง แต่ที่สุดก็ชัดเจนว่า เป็นความจริง ยืนยันจากปากของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในช่วงโค้งสุดท้าย ไม่กี่วันก่อนการพักโทษ ว่า คณะอนุกรรมการพักโทษได้อนุมัติทั้งสิ้น 930 คนในปีนี้ มีชื่อของนายทักษิณด้วย เนื่องจากเกณฑ์ของนายทักษิณ อยู่ในกลุ่มเจ็บป่วยร้ายแรงหรือพิการ หรืออายุ 70 ปีขึ้นไป

และการพักโทษของนายทักษิณก็ไม่จำเป็นต้องใส่กำไลอีเอ็มด้วย กรณีนายทักษิณถือว่าเป็นผู้ได้รับการพักโทษกรณีมีเหตุพิเศษฯ เนื่องจากสูงอายุ มีอายุ 74 ปี เมื่อนายทักษิณได้รับการพักโทษครบ 6 เดือนเรียบร้อยแล้ว ก็จะพ้นโทษในช่วงเดือนสิงหาคม 2567

อันที่จริง กระบวนการกลับประเทศไทยของนายทักษิณ ได้รับการวิเคราะห์พูดถึงไทม์ไลน์ต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง คาดเดาไม่ยาก เป็นไปตามข่าวลือที่เกิดขึ้นก่อนหน้าตลอด

ยิ่งเข้าใจหลักคิดของนายทักษิณ อ่านความเห็น เข้าใจทิศทางและปฏิบัติการการเมือง ตั้งแต่ยุคไทยรักไทย ต่อเนื่องมายังพรรคพลังประชาชน กระทั่งพรรคเพื่อไทย ก็ปะติดปะต่อเรื่องราวได้ไม่ยากว่าเรื่องราวจะลงเอยแบบนี้

ความน่าสนใจวันนี้อยู่ที่นายทักษิณใช้เส้นทางเดียวกับที่ตนเองถูกเล่นงาน จะเรียกว่า “ย้อนศร” สิ่งที่ตัวเองถูกกระทำมาก็ว่าได้

เพราะนายทักษิณและเครือข่ายคือผู้ที่ถูกระบอบและมรดกของคณะรัฐประหารถึง 2 ยุคสมัยเล่นงานอย่างหนักทั้งบนดินและใต้ดินตลอดเกือบ 2 ทศวรรษที่่ผ่านมา

และนายทักษิณก็กลับมาสู่โลกปกติได้ด้วยวิธีการทางกฎหมาย ตั้งแต่การเข้าสู่ประเทศ การเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลตำรวจ กระทั่งการพักโทษ

สุดท้ายก็นำนายทักษิณจาก “ชั้น 14” สู่ “บ้านจันทร์ส่องหล้า” ได้สำเร็จ

บ้านจันทร์ส่องหล้า

และแน่นอนเรื่องใหญ่อย่างการกลับประเทศ นายทักษิณยังผ่านมาได้ เรื่องคดีความ หมายเรียกต่างๆ ที่ถูกปล่อยออกมาช่วงนี้ หากจะมี ก็คงผ่านไปได้ไม่ยากนัก

เป็นการ “คัมแบ๊ก” กลับประเทศไทย ในระดับเกือบ “สมบูรณ์” ในลักษณะที่ศัตรูทางการเมืองของนายทักษิณ โดยเฉพาะขบวนการเสื้อเหลือง-กปปส. วันนี้พากันเปลี่ยนท่าทีไปหมด เนื่องจากมีศัตรูคนใหม่ที่ชื่อก้าวไกล-ก้าวหน้า นั่นเอง

คำถามต่อมาคือการกลับมาของนายทักษิณ สู่โลกปกติ จะก่อให้เกิดผลทางการเมืองอย่างไร

โดยเฉพาะตัวนายทักษิณเองที่ถือเป็นผู้เล่น (และถูกเล่น) ทางการเมืองคนสำคัญรอบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา จะ “หยุดพัก” ในทางการเมือง หรือจะเป็นนายทักษิณคนเดิม ที่มีบทบาทสำคัญทางการเมืองในฉบับไม่เป็นทางการ

กรณีถ้านายทักษิณตัดสินใจ “หยุดพัก” จากสนามการเมือง

สถานการณ์ของรัฐบาลก็ยังจะเดินทางไปในลักษณะเดิม การเมืองไทยช่วงนี้ก็ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง รัฐบาลเพื่อไทยจะอยู่ภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ทำงานคู่กับ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร บุตรสาวนายทักษิณ ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย

(Photo by MANAN VATSYAYANA / AFP)

ต้องยอมรับว่าวันนี้แม้นายเศรษฐาจะพยายามบริหารบ้านเมืองอย่างเต็มที่ แต่ก็ยังเป็นการแก้ปัญหาในลักษณะปลายเหตุ ปัญหาเชิงโครงสร้างหลายเรื่องยังไม่ถูกริเริ่ม โดยเฉพาะเรื่องการเมือง แม้แต่เรื่องเศรษฐกิจ

ที่ทำได้เป็นเพียงการเดินหน้าปัญหาที่ห่างไกลจากข้อขัดแย้ง ที่เป็นรากของปัญหาสังคมการเมืองจริงๆ ยังได้รับการแตะต้องน้อยมาก

เพื่อไทยวันนี้จึงยังพยายามเดินหน้าอย่างเต็มที่ในการกู้ศรัทธากลับคืนหลังจากการพลิกขั้วตั้งรัฐบาล แต่ก็เต็มไปด้วยความยากลำบาก ด้วยปัจจัยเชิงโครงสร้างต่างๆ ที่ไม่เอื้อ ทรัพยากรร่อยหรอ งบประมาณก็มีน้อย แถมยังต้องแบบรับภาระทางการเมือง เศรษฐกิจที่ผู้นำในอดีตทิ้งไว้

โครงการประชานิยมแบบชนิดที่ไทยรักไทย-เพื่อไทยในอดีต เคยทำได้ วันนี้ยังไม่มีวี่แววว่าจะเข็นสำเร็จ เรียกได้ว่ายังไม่ปัง!

ขนาดเรื่องซอฟต์เพาเวอร์ที่ น.ส.แพทองธาร ลงมานั่งคุมเองยังเหนื่อย เจอปัญหาการจัดการไม่น้อย ไม่นับว่ายังไม่ได้รับการตอบสนองเท่าที่ควรจากสังคม

เรื่องกางเกงช้าง เรื่องอนุกรรมการแฟชั่นลาออกยกทีม คือตัวอย่างยอดปัญหาภูเขาน้ำแข็งที่เด่นชัดช่วงสัปดาห์ก่อน

แม้ว่าทักษิณจะพักผ่อน ไม่เข้ามายุ่งการเมือง รัฐบาลเพื่อไทยก็อยู่ในสถานการณ์ “หนักหน่วง” เช่นเดิม

(Photo by Manan VATSYAYANA / AFP)

แต่ถ้าทักษิณเข้ามา “เล่น” การเมือง ด้วยรูปแบบไม่เป็นทางการ ไทยจะเหมือนประเทศที่มีนายกฯ 3 คน มีศูนย์กลางอำนาจถึง 3 คน ที่บรรดา ส.ส.ต้องเข้าหา

ทั้งนายกฯ อย่างเป็นทางการคือนายเศรษฐา และผู้นำการเมืองอย่างไม่เป็นทางการคือ น.ส.แพทองธาร ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และผู้นำในอนาคต

และนายทักษิณ ซึ่งจะมีศูนย์กลางอยู่ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า

และถ้าการเมืองออกมาในรูปแบบนี้ สถานการณ์รัฐบาลเพื่อไทย มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแน่นอนในอนาคต ยิ่งในปัจจุบัน อย่าลืมว่าสถานการณ์พรรคร่วมรัฐบาลก็ไม่ได้อยู่ในสถานะเข้มแข็งแบบช่วงแรก การต่อรองต่างๆ ความเห็นไม่ลงรอยกันเริ่มเกิดขึ้น

การเมืองหลังนายทักษิณ “คัมแบ๊ก” ยังมีประเด็นท้าทายเกิดขึ้นอีกมาก แม้แต่จะมีคำถามตามมาว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาว จะ “คัมแบ๊ก” กลับมาประเทศไทยหรือไม่

หรือการเดินเกมทางการเมืองของนายทักษิณเอง บทบาทจะเป็นเช่นไร อย่าลืมว่าวันนี้สถานการณ์การเมืองไม่เป็นแบบเดิม มีผู้เล่นการเมืองที่เป็นพลังใหม่อย่างพรรคก้าวไกล เพิ่มเข้ามา ขณะปัญญาชนและมวลชนฝ่ายอนุรักษนิยมจารีต ก็ยังไม่ไว้ใจนายทักษิณเหมือนเดิม

แน่นอนว่า ในภาพกว้าง นายทักษิณวันนี้ คงจะไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลง กระทั่งสร้างความปั่นป่วนทางการเมืองได้เช่นช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา เนื่องจากปัญหาการเมืองวันนี้ “ข้ามพ้น” ตัวนายทักษิณไปนานแล้ว

แต่จะบอกว่า นายทักษิณ หมดอิทธิพลทางการเมืองไปแล้วก็คงไม่ใช่

การเมืองใน 2-3 ปีนี้ จะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด จะเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น หรือจะอยู่ในสถานะแช่งแข็งการเมืองเช่นนี้ต่อไป

วันนี้ นายทักษิณ หรือโทนี่ วู้ดซัม ก็ยังมีบทบาท ในระดับ “สำคัญ”