พรมแดน ‘ศิลปะ’ ตะกอน สุจิตต์ วงษ์เทศ ศิลปะ เพื่อชีวิต

บทความพิเศษ

 

พรมแดน ‘ศิลปะ’

ตะกอน สุจิตต์ วงษ์เทศ

ศิลปะ เพื่อชีวิต

 

การปรากฏตัวของ “อรชุน” ทรงความหมายและมีผลสะเทือนเป็นอย่างสูงไม่ว่าต่อ สุจิตต์ วงษ์เทศ ไม่ว่าต่อ ทองเบิ้ม บ้านด่าน

นี่เป็นอีก “มิติ” ซึ่งแปลกออกไปในทาง “ความคิด”

ถามว่า “อรชุน” เป็นใคร มีรากฐานในการสะสมประสบการณ์และความจัดเจนในทางศิลปะมาอย่างไร

เขาสามารถเป็นตัวแทนของ “อาร์ติสต์” ได้อย่างดี

ในฐานะที่เป็นศิษย์ของ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เรียนรู้ศิลปะในแนวทางคลาสสิคในแนวทาง “อะคาเดมี่” มาอย่างเจนจบ

เพียงแต่ความชมชอบของเขาโน้มเอนไปในทางศิลปะ “สมัยใหม่”

เขาจึงรับเอาความคิดในแนวทาง “สมัยใหม่” เข้ามาอย่างเปิดกว้าง ทั้งยังมิใช่สมัยใหม่ในพรมแดนแห่ง อิมเพรสชั่นนิสม์ เอ็กซเพรสชั่นนิสม์

หากแต่เป็นไปในทาง “แอ็บสแตรกต์”

แรงสะเทือนจากการเดินทางเยือนจีนของประธานาธิบดี ริชาร์ด เอ็ม. นิกสัน การพำนักอยู่ในมหานครนิวยอร์ก อันเป็นแหล่งรวมศูนย์ของความคิดใหม่ ความรับรู้ใหม่จึงเป็นโอกาส

และเท่ากับเป็นโอกาสให้ สุจิตต์ วงษ์เทศ ด้วย

การล้างหูน้อมรับฟัง ข้อสังเกต และบทสรุปในเชิงศิลปะจาก “อรชุน” จึงทรงความหมายเป็นอย่างสูง

จำเป็นต้องอ่าน

บัลเล่ต์ รัสเซีย

บัลเล่ต์ จีน

ผมเป็นอาร์ติสต์ ไม่เกี่ยวกับการเมือง ผมซื้อหนังสือ “รูปปั้นดินเหนียว” ของจีนไว้ดูลักษณะการปั้นเพื่อการศึกษาของผม

เมื่อคืนดูที่วี มีหนังบัลเล่ต์จากจีนแดงฉาย

ดูเหมือนจะเรื่องการต่อสู้ของผู้หญิงคนหนึ่งที่เป็นทหารของพรรคคอมมิวนิสต์และนำชาวบ้านรบทหารของเจียงไคเช็ค ผมไม่รู้ทางด้านการเมือง เพราะฉะนั้น ตอบไม่ได้ว่าเนื้อหาการต่อสู้ดีหรือไม่

แต่ทางด้านศิลปะแล้วต้องยกให้ว่าทำเก่ง

ผมเข้าใจว่าคงจะได้ครูบัลเล่ต์จากรัสเซีย เพราะรัสเซียสำนักบัลเล่ต์เขาดีที่สุดในโลกกระมัง

คุณจำไอ้เจ้า รูดอล์ฟ นูเรเยฟ ที่แสดงเป็นโรมิโอได้ไหมล่ะ

หนังบัลเล่ต์ของสำนักอังกฤษ ที่ไอ้หมี นายกสโมสรศิลปากรเอามาฉายที่โรงละครแห่งชาติเมื่อ 2-3 ปีก่อนนั้นน่ะ

ไอ้เจ้านูเรเยฟนี่ก็คนหนึ่งที่หนีออกมาจากรัสเซียล่ะ

 

ขนบ บัลเล่ต์จีน

แต่งองค์ ทรงจีน

ที่นี่บัลเล่ต์จีนแดงคืนนั้นเขาไม่ได้แต่งตัวอย่างตะวันตกที่นุ่งกางเกงยืดใส่กระจับอะไรพรรค์นั้น

เขาแต่งตัวเหมือนจริง เป็นชุดทหาร ชาวบ้านก็เป็นชาวบ้านอย่างจีน

ทุกสิ่งทุกอย่างเรียลลิสติกหมด

สำหรับลีลาเป็นการผสมกันระหว่างลีลาบัลเล่ต์แบบตะวันตกกับลีลากำลังภายในของจีน

ผู้แสดงทุกตัวรู้สึกจะฝึกยิมนาสติกมา

และเท่าที่รู้มาจีนแดงนิยมเล่นยิมนาสติกที่สุดเพราะคงใกล้เคียงกับการฝึกกำลังภายในแบบเดิม หรือไม่อีกทีมันก็อย่างเดียวกันนั่นเอง เพราะฉะนั้น คนจีนจึงเก่งเรื่องนี้

เขาสามารถม้วนตัว หัวหกก้นขวิดได้ดีกว่าฝรั่ง ทำให้ท่าทางของเขาเหมือนจริงมาก แต่ก็มีลีลาของศิลปะในแบบของเขา

เพลงที่บรรเลงประกอบเป็นเพลงคลาสสิคของยุโรปเกือบทั้งหมด

และเอาเพลงที่จีนแต่งเองเป็นสำเนียงจีนบ้าง วงดนตรีเป็นวงคอนเสิร์ต แสดงให้เห็นว่าคอมมิวนิสต์อย่างจีนแดงนี่ไม่ได้แอนตี้พวกตะวันตก เขาเลือกเอาสิ่งที่เหมาะสมเพื่อการสร้างสรรค์ศิลป์ไปใช้ได้มาก

และที่ผมคาดไม่ถึงก็คือ เขากล้าดัดแปลงบัลเล่ต์ออกไปเป็นรูปแบบอย่างของเขา ซึ่งถ้าหากเขาไม่ดัดแปลงเล่นด้วยลักษณะอย่างตะวันตก บัลเล่ต์ของเขาก็คงไม่มีความหมายเลย

ผมว่าถ้าหากในแง่ศิลปะแล้วใครดูใครก็คงชอบ แม้จะเป็นฝรั่งซึ่งเป็นชาติเจ้าของบัลเล่ต์เองก็ตาม

 

แรงสะเทือน จีน

ต่อ ทองปน บางระจัน

ต้องยอมรับว่าการเดินทางไปสหรัฐของ สุจิตต์ วงษ์เทศ เป็นช่วงแห่งหัวเลี้ยวหัวต่ออย่างสำคัญในทางความคิด

เพียงได้ดูละครเพลงเรื่อง เดอะ แฮร์ ก็ตื่นตะลึงอย่างยิ่งอยู่แล้ว

เมื่อรับฟังการบรรยายต่อบัลเล่ต์ของจีนจากสายตาอันคมเฉียบของ “อรชุน” ยิ่งทำให้โลกแห่งโขน ละครนอก ละครใน ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ บังเกิดอาการเตลิดเพริด

น่าสนใจก็ตรงที่สิ่งเหล่านี้มิได้ดำรงอยู่โลดลอย ว่างเปล่า ไร้รากฐาน

ตรงกันข้าม เมื่อประสานเข้ากับความรับรู้เดิมไม่ว่าจะในด้านของ ทองเบิ้ม บ้านด่าน ไม่ว่าจะในด้านของ ทองปน บางระจัน

ทุกอย่างดำเนินไปในแบบ “โอปนยิโก” ครบถ้วน

 

ศิลปะ เลื่อนไหล

ไปสู่ “ชีวิต”

การพูดคุยกันหลายครั้งหลายคราทำให้กูได้รับความรู้ทางด้านศิลปะพอสมควรและพอจะมองเห็นเลาๆ ว่าแต่ละสังคมให้คำจำกัดความเรื่องศิลปะแตกต่างกันออกไป ถ้าหากจะว่ากันไปแล้วแม้แต่สังคมเดียวกันก็ตาม

ผู้คนแต่ละกลุ่มก็สามารถจะตีความคำว่าศิลปะไปคนละทางได้

เพราะว่าศิลปะไม่ใช่วิทยาศาสตร์กระมัง คำจำกัดความของศิลปะจึงไหลไปมาเหมือนมีชีวิต

แต่ก็ไม่สามารถลงความเห็นในตัวเองได้ว่า “ศิลปะเพื่อชีวิต” หรือ “ศิลปะเพื่อศิลปะ” เพราะถ้าหากจะคิดกันถึงความหมายอย่างนั้นก็คงจะต้องหาความหมายกันอีกว่า “ชีวิต” คืออะไร แค่ไหน “ศิลปะ” แค่ไหน และคืออะไร

แม้ว่าการพูดคุยจะเลิกรากลับบ้านไปนอนกันแล้วก็ตาม ความคิดของกูยังหาได้หยุดอยู่กับที่ไม่ กูพยายามคิดถึงสังคมไทยที่ควรจะมี

แน่นอน จำเป็นต้องหาศิลปะให้สังคม แต่สังคมขนาดไหน อย่างไร

อิทธิพลของตะวันตกทำให้เราคิดถึงศิลปะในแง่ตะวันตกไปหรือเปล่า เหมือนกับการพัฒนาบ้านเมือง พัฒนาสังคมที่มนุษย์กำลังตั้งข้อสงสัยกันว่าประเทศด้อยพัฒนามุ่งเป็นตะวันตก (เวสเทิร์นไนซ์) กันมากจนเกินไปหรือเปล่า การพัฒนาของประเทศด้อยพัฒนาจึงไม่สำเร็จ

ทั้งนี้และทั้งนั้นเพราะโครงสร้างของสังคมไม่เหมือนกัน วัฒนธรรมของสังคมไม่เหมือนกัน ฯลฯ

และถ้าหากคิดกันทางศิลปะเล่า

 

เรียลลิสต์ ตะวันตก

ตะวันออก ไอเดียลิสต์

ถ้าหากการพัฒนาที่ถูก คือ การพัฒนาที่ต้องคำนึงถึงความเหมาะสมของสังคมแต่ละกลุ่ม แต่ละประเทศ จะทำให้เป็นตะวันตก ตะบี้ตะบันไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น ก็อาจจะเป็นไปได้ว่าศิลปะของประเทศอย่างเราอาจจะไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นไปอย่างตะวันตก

ความงามของศิลปะนั้นมีเป็นของสากล แต่มนุษย์มองหาความงามผิดกัน

ในขณะที่คนตะวันตกมองมนุษย์อย่างเรียลลิสติก ประติมากรรมและจิตรกรรมของตะวันตกจึงติดมาอย่างเต็มไปด้วยกล้ามเนื้อ แต่คนตะวันออกมองมนุษย์อย่างไอเดียลิสติก มนุษย์ในประติมากรรมและภาพจิตรกรรมจึงไม่มีกระดูกไม่มีกล้ามเนื้อและเหนือความเป็นจริง

ที่กล่าวมานั้นไม่ได้เป็นข้อที่น่าจะถกเถียงกันให้เสียเวลา ถ้าหากเมาเซตุงจำกัดงานศิลปะทางด้านนาฎศิลป์ให้เป็นไปเพื่อรักษาอุดมคติของสังคม-จริง

แม้กูจะยังอยู่ในอาณาจักรแห่งความกลัวจีนอยู่บ้างก็ยังอดที่จะยกย่องความคิดของเขาเสียมิได้ ถ้าหากจีนเป็นประเทศฝ่ายที่อยู่ในโลกที่สามและโลกที่สามนั้นหมายถึงประเทศด้อยพัฒนา

เพราะฉะนั้น ไทยก็ควรจะเรียกได้ว่าเป็นกลุ่มโลกที่สามเหมือนกันเพราะยังด้อยพัฒนา

 

ตะกอน นอนนิ่ง

ศิลปะ เพื่อชีวิต

เหตุปัจจัยอะไรทำให้จินตภาพว่าด้วย “ศิลปะเพื่อชีวิต” และ “ศิลปะเพื่อศิลปะ” สะท้อนขึ้นมาในความคิด สุจิตต์ วงษ์เทศ

หรือว่าเป็นเพียง “ตะกอน” อันนอนนิ่งมาอย่างยาวนาน

ไม่ว่าจะเป็น “เมด อิน U.S.A.” ไม่ว่าจะเป็นความต่อเนื่องมายัง “โง่ เง่า เต่า ตุ่น” เป็นการเดินทางไกล

เดินทางในทาง “กายภาพ” เดินทางในทาง “ความคิด”