เส้นเขตแดนทะเลไทย-กัมพูชา | สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ทุกครั้งที่ต้องกล่าวถึง “เส้นเขตแดนทางทะเล” ผมจะเริ่มต้นด้วยการตั้งข้อสังเกตประการหนึ่งเป็นพื้นฐานว่า เส้นเขตแดนทางบกยุ่งยากมากเท่าใด เส้นเขตแดนทางทะเลยุ่งยากมากกว่าหลายเท่า … เส้นเขตแดนทางบกซับซ้อนมากเท่าใด เส้นเขตแดนทางทะเลซับซ้อนมากกว่าหลายเท่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนที่มีความรู้เรื่องเส้นเขตแดนทางทะเลนั้น อยู่ในแวดวงจำกัดอย่างมาก

ดังนั้น เมื่อเริ่มเห็นสัญญาณจากกลุ่มปีกขวาจัดไทยออกมาเรียกร้องในทำนองให้ยกเลิก “บันทึกช่วยจำ 2544” ซึ่งเป็นความตกลงต่อการอ้างสิทธิในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลที่เป็นไหล่ทวีป … สังเกตไหมครับว่า เพียงแค่ตัวภาษาที่ใช้ในการกล่าวถึงพื้นที่เช่นนี้ ก็เป็นความซับซ้อนในตัวเองอย่างมาก และไม่ง่ายเลยในการสร้างความเข้าใจต่อสาธารณชน

ความยุ่งยากและความซับซ้อนของปัญหาเช่นนี้ จึงอาจกลายเป็น “โอกาสทอง” อย่างดี ที่ปีกขวาจัดไทยจะใช้ในการปลุกระดมก่อกระแสชาตินิยมอีกครั้ง ซึ่งพวกเขาเคยทำสำเร็จมาแล้วในปัญหาของเส้นเขตแดนทางบกที่บริเวณประสาทพระวิหารในปี 2551 จนกลายเป็น “วิกฤตการณ์ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา” ในช่วงเวลาดังกล่าว แน่นอนว่า “วาทกรรมเสียดินแดน” ในกระแสชาตินิยมไทยนั้น ขายได้ง่ายในสังคมที่ความรู้สึก “ไม่ชอบ” ประเทศเพื่อนบ้านถูกสร้างขึ้นให้เป็นทัศนคติแบบพื้นฐาน โดยเฉพาะในหมู่ชนชั้นนำ ผู้นำทหาร และบรรดาผู้นำปีกขวาจัด

นอกจากนี้ การปลุกระดมยังทำได้ง่ายมากขึ้น เมื่อสังคมปฎิเสธและไม่ตระหนักถึงสิ่งที่เป็นข้อเท็จจริง เช่น ไม่รับรู้ถึงผลที่เกิดขึ้นจากคำตัดสินของ “ศาลโลก” ในปี 2505 ซึ่งการยอมรับคำตัดสินในครั้งนั้น ทำให้รัฐบาลไทยภายใต้การนำของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ต้องกำหนดเส้นเขตแดนขึ้นในบริเวณพื้นที่รอบตัว “ปราสาทพระวิหาร” หรือที่เรียกกันว่า “เส้นเขตแดนตามมติ ครม. ปี 2505”

การกำหนดเช่นนี้ มีนัยที่ชัดเจนทั้งในทางการเมืองและทางกฎหมายระหว่างประเทศว่า “คดีปราสาทพระวิหาร” ได้สิ้นสุดลงแล้ว แม้รัฐบาลไทยจะขอสงวนสิทธิในการอุทธรณ์ แต่ไทยไม่เคยมีการใช้สิทธิเช่นนี้ และสิทธินี้มิได้อยู่ไปตลอดกาลอย่างไม่มีข้อกำหนดเรื่องเวลา

อย่างไรก็ตาม การก่อ “กระแสชาตินิยมขวาจัด” ในปี 2551 และขยายตัวเป็นสถานการณ์การสู้รบในปี 2554 ได้กลายเป็นเงื่อนไขอย่างดีให้กัมพูชานำเรื่องนี้กลับเข้าสู่ศาลโลก ด้วยการขอให้ศาลทำคำตัดสินในปี 2505 ให้เกิดความชัดเจน จนสิ่งที่เกิดขึ้นกลายเป็นความเสียเปรียบของฝ่ายไทยเอง

ผลที่เกิดขึ้นเช่นนี้ ทำให้เกิดคำถามอย่างมากว่า บรรดาฝ่ายขวาจัดที่ออกมาปลุกระดม จนประเทศไทยต้องกลับเข้าไปในศาลโลกอีกครั้งนั้น ตระหนักหรือไม่ว่า การปลุกกระแสชาตินิยมขวาจัดเพื่อต้องการให้รัฐบาลดำเนินนโยบายแบบสุดโต่งในการแก้ปัญหาข้อพิพาทเรื่อเส้นเขตแดน ไม่เป็นทางเลือกที่ดีในการแก้ปัญหาแต่อย่างใด และอาจกลายเป็นความเสียเปรียบในทางกฎหมาย เมื่อไทยต้องกลับเข้าสู่ศาลโลกจากการร้องขอของกัมพูชา

ดังนั้น เมื่อเริ่มมีการก่อกระแสอีกครั้งเพื่อให้ยกเลิกบันทึกช่วยจำ 2544 ซึ่งว่าที่จริงแล้วเป็นเพียง “กรอบการเจรจา” ไม่ต่างจาก “บันทึกช่วยจำ 2540” ที่เป็นเรื่องของเส้นเขตแดนทางบก ก็เป็นการกำหนดกรอบการแก้ปัญหาข้อพิพาท ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติในทางการทูตที่จะต้องกำหนดกรอบในการเจรจา การก่อกระแสเช่นนี้จึงเสมือนการเมืองไทยกำลังย้อนรอยกลับสู่การก่อกระแสขวาจัดในการชุมนุมที่สะพานมัฆวานเมื่อปี 2551 จนทำให้ประเทศเกิดความเสียหายจากการกระทำดังกล่าวของพวกเขามาแล้ว

วันนี้ เส้นเขตแดนทางทะเลกำลังถูกหยิบขึ้นมาเป็น “เหยื่อ” สำหรับการเคลื่อนไหวสำหรับพวกเขาอีกครั้ง แต่ดูเหมือนพวกเขาจะไม่ตระหนักว่า ถึงจะยกเลิกบันทึกช่วยจำ 2544 ได้ แต่เมื่อเกิดการเจรจาระหว่างประเทศทั้งสอง ก็จะต้องกำหนดกรอบการเจรจาขึ้นไม่ต่างจากเดิม … เป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีการเจรจาโดยปราศจากกรอบ เพราะการเจรจาระหว่างประเทศไม่ใช่การนั่งคุยกันเล่นๆ ในร้านกาแฟ ที่คู่สนทนาอยากจะคุยอะไรก็คุยได้ตามใจปรารถนาโดยปราศจากกรอบที่ชัดเจน ดังจะเห็นได้ว่า แม้ฝ่ายขวาจัดจะเคลื่อนไหวหนักเท่าใดก็ตาม แต่กลับไม่สามารถยกเลิกบันทึกช่วยจำ 2540 ได้แต่อย่างใด เพราะรัฐบาลยังต้องคงกรอบของการเจรจาไว้

ว่าที่จริงแล้ว ความสำเร็จในการแก้ปัญหาการอ้างสิทธิทับซ้อนของปัญหาเส้นเขตแดนทะเลนั้น รัฐบาลไทยได้ดำเนินการแล้วใน 3 กรณี ได้แก่

– การจัดทำพื้นที่พัฒนาร่วมทางทะเลระหว่างไทย-มาเลเซียในปี 2522 หรือที่เรียกว่า “JDA ไทย-มาเลเซีย” โดยใช้เวลาการเจรจาทั้งหมดนาน 22 ปี

– ความตกลงในการกำหนดเขตแดนทางทะเลในอ่าวไทยระหว่างไทย-เวียดนาม ซึ่งเริ่มดำเนินการเจรจาครั้งแรกในปี 2521 และเริ่มเจรจาอย่างจริงจังในปี 2535 จนสำเร็จได้ในปี 2540

– บันทึกช่วยจำว่าด้วยการอ้างสิทธิในพื้นที่ไหล่ทวีปทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา โดยเริ่มการเจรจาครั้งแรกในปี 2513 และเริ่มเจรจาอย่างจริงจังอีกครั้งในปี 2538 สำเร็จในปี 2544 โดยมีความตกลงที่จะมีพื้นที่พัฒนาร่วมกันในเรื่องของทรัพยากรพลังงานในทะเล

ฉะนั้น หากพิจารณาในทางปฏิบัติแล้ว คงต้องยอมรับว่าบันทึกช่วยจำนี้ถือเป็นความสำเร็จที่สำคัญของรัฐบาลไทยในขณะนั้น ที่ทำให้รัฐบาลกัมพูชายอมรับถึงการอ้างสิทธิในไหล่ทวีปของไทยอย่างเป็นทางการ ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ย่อมเป็นประโยชน์แก่ไทยโดยตรง ทั้งยังเป็นการยอมรับของฝ่ายกัมพูชาอย่างเป็นทางการอีกด้วยถึง ข้อเรียกร้องและสิทธิของไทยในเรื่องของเส้นเขตแดนทางทะเล ดังนั้น ไม่ว่าทั้ง 2 ฝ่ายจะตกลงกันอย่างไรในอนาคต การตกลงนั้นย่อมไม่กระทบถึงสิทธิและข้อเรียกร้องของไทยที่มีมาแต่เดิม

นอกจากนี้ บันทึกช่วยจำ 2544 ยังกำหนดชัดเจนอีกด้วยว่า การจัดทำเส้นเขตแดนทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชานั้น จะต้องเป็นไปตามหลักของกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งเท่ากับเป็นการผูกมัดประเทศทั้งสองให้ต้องดำเนินการอยู่บนหลักกฎหมาย อันจะเป็นประโยชน์กับประเทศไทยในอนาคตอย่างแน่นอน

หากเป็นเช่นนี้แล้ว ข้อเรียกร้องของฝ่ายขวาจัดให้ยกเลิกบันทึกช่วยจำ 2544 จึงทำให้คิดได้ประการเดียวว่า พวกเขากำลังทำลาย “ผลประโยชน์แห่งชาติ” ของไทย โดยอาศัยความไม่เข้าใจของสังคมเป็นเครื่องมือ … บางทีอยากจะขอยืมคำของฝ่ายขวาในครั้งนั้น มาถามพวกเขากลับไปบ้างว่า “เป็นคนไทยหรือเปล่า”(555) !