ปรับโครงสร้าง ดีกว่าถอยประเทศลงคลอง

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

บทความพิเศษ | ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

https://www.facebook.com/sirote.klampaiboon/

 

ปรับโครงสร้าง

ดีกว่าถอยประเทศลงคลอง

 

สองเดือนแรกของปี 2567 กำลังจะผ่านไปโดยไม่มีความเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจและการเมืองเกิดขึ้นในประเทศเลย อะไรที่เป็นข่าวใหญ่ในปลายเดือนกุมภาพันธ์ก็ล้วนเคยเป็นข่าวใหญ่มาก่อนในเดือนอื่น ไม่ว่าจะเป็นนโยบายกู้เงินแจก, ไม่ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ หรือความเติบโตแบบเชื่องช้าของเศรษฐกิจไทย

ถ้าจะมีอะไรที่เปลี่ยนไปจากเดิม สิ่งนั้นก็ได้แก่บรรยากาศทางการเมืองที่ตึงเครียดมากขึ้น การเดินหน้ายุบพรรคก้าวไกล การใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 ที่เข้มข้นขึ้น การไม่ให้ประกันผู้ต้องหาคดีการเมืองที่เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งการจัดปาร์ตี้เพื่อแสดงความเป็นปึกแผ่นมากขึ้นของพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล

หนึ่งในเหตุผลที่คนไทยไปลงคะแนนเลือกตั้งกลางปี 2566 อย่างถล่มทลายคือความหวังว่าการเลือกตั้งจะทำให้ประเทศไทยเปลี่ยนแปลง

แต่ความจริงที่เกิดขึ้นตอนนื้คือเศรษฐกิจในประเทศแทบไม่คืบหน้า

ส่วนบรรยากาศการเมืองมีแต่การถอยหลังสู่การปลุกปั่นและการเผชิญหน้าในเรื่องซึ่งจะดึงประเทศลงคลอง

ขณะที่ข้อถกเถียงด้านเศรษฐกิจช่วงเลือกตั้งพูดถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม, เศรษฐกิจสร้างสรรค์, ปรับปรุงโครงสร้างภาษีเพื่อความเป็นธรรม, ระบบงบประมาณฐาน ศูนย์ ฯลฯ ผลงานเศรษฐกิจที่รัฐบาลทำจนเห็นผลจริงๆ กลับมีแค่ฟรีวีซ่านักท่องเที่ยวจีนและขยายตลาดส่งออกบางกรณี

ขณะที่พรรคการเมืองช่วงเลือกตั้งพูดเรื่องปฏิรูปกองทัพ, ลดอำนาจระบบราชการ,กระจายอำนาจ, ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับด้วยสภาที่ประชาชนเลือก, แก้ไขกฎหมายอาญา ม.112 ฯลฯ

สิ่งที่รัฐบาลกำลังทำตอนนี้คือทักษิณ ชินวัตร กลับบ้าน ไม่ร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ไม่ปฏิรูปกองทัพ และใช้ ม.112 ตามใจชอบกว่าเดิม

 

ปรากฏการณ์แบบนี้สะท้อนว่าการเมืองไทยหลังเลือกตั้ง “บิดพลิ้ว” ต่อคำพูดที่ให้ไว้กับประชาชน แต่ปัญหาที่มากกว่าคือ “วาระ” ของประเทศด้านเศรษฐกิจและการเมืองที่ประชาชนต้องการนั้นหายวับไป และถูกแทนที่ด้วย “วาระของชนชั้นนำ” แทบจะทันทีที่การเลือกตั้งเสร็จสิ้นลง

หากถามชาวบ้านตามท้องตลาดว่าหลังเลือกตั้งอะไรดีขึ้นบ้าง คำตอบที่ได้คือแทบไม่มีอะไรดีขึ้นเลย

หากถามนักลงทุนต่างประเทศว่าน่าขนเงินมาลงทุนในไทยหรือไม่ ตัวเลขเงินทุนไหลเข้าที่ทรงๆ ทรุดๆ คือหลักฐานว่าประเทศไทยยังไม่น่าลงทุนจน “เจ้าสัว” อาจเป็นคนกลุ่มเดียวที่ได้ประโยชน์จากประเทศจริงๆ

“วาระ” ของประเทศด้านเศรษฐกิจที่พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยพูดตรงกันคือการ “ปรับโครงสร้าง” และถึงแม้คำว่า “โครงสร้าง” ของสองพรรคจะต่างกันอย่างไร แต่ที่แน่ๆ ประชาชนอยากเห็นประเทศไทยที่เศรษฐกิจผูกขาดน้อยลง มีผู้ประกอบการหน้าใหม่มากขึ้น

แต่วาระของรัฐบาลนี้ไม่มีอะไรแบบนี้เลย

 

“โครงสร้าง” เรื่องหนึ่งที่คุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ พูดช่วงเลือกตั้งคืออุตสาหกรรมไอทีแบบใหม่ที่เติบโตคู่ขนานไปกับเศรษฐกิจนวัตกรรม คุณธนาธรพูดเยอะเรื่องประเทศไทยเน้นส่งออกฮาร์ดดิสก์ (HDD) จนกำลังการผลิตในไทยมีสัดส่วน 50% ของโลก และสัดส่วนของการส่งออก HDD คิดเป็นร้อยละ 5 ของการส่งออกไทย

อย่างไรก็ดี คอมพิวเตอร์และโน้ตบุ๊กทั่วโลกกำลังทยอยเลิกใช้ HDD แล้วแทนที่ด้วยการใช้ SSD จนไม่กี่ปีมานี้ตัวเลขการผลิตและส่งออก HDD ของไทยลดลงไปมากกว่าครึ่ง ฐานการผลิตบางส่วนย้ายไปอินเดีย และกำลังการผลิตของไทยในอุตสาหกรรมนี้ถูกใช้ไม่ไปถึงครึ่งจนอาจใกล้ทยอยหมดมูลค่าลงไปทุกวัน

มองในแง่นี้ “วาระของประเทศ” ควรกระตุ้นให้อุตสาหกรรมไอทีแบบเดิม “ปรับโครงสร้าง” สู่การผลิต SDD ให้มากขึ้นก่อนที่ตลาด HDD ที่ไทยเคยครอบครองจะไม่มีใครต้องการ และก่อนที่อุตสาหกรรม SDD จะลงหลักปักฐานในประเทศอื่นๆ จนไทยสูญเสียโอกาสในการผลิตและส่งออกในระยะยาว

 

น่าสังเกตว่านอกจากคุณธนาธรที่พูดเรื่องนี้อย่างชัดเจน คุณศิริกัญญา ตันสกุล จากพรรคก้าวไกลก็เป็นอีกคนที่พูดเรื่องนี้ชัดเจนมาก เพราะในการให้สัมภาษณ์ผมในรายการ #มีเรื่องมาเคลียร์ คุณศิริกัญญาพูดเรื่องนี้และการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอื่นซึ่งตอนนี้รัฐบาลยังไม่ได้ทำอะไรเลย

กองเชียร์รัฐบาลอาจอ้างว่า “ซอฟต์เพาเวอร์” เป็นนโยบายฟื้นเศรษฐกิจไทย แต่ถ้าไม่มองเรื่องนี้เพื่ออวยคุณแพทองธารจนเกินไป อย่างดีที่สุดที่ “ซอฟต์เพาเวอร์” ทำได้คือการเพิ่มมูลค่าให้สินค้าวัฒนธรรมของ แต่จะได้มูลค่าแค่ไหนยังไม่รู้

และที่สำคัญกว่าคือมูลค่านี้ไม่มีทางมากเท่าสร้างอุตสาหกรรมใหม่ระยะยาว

พรรคเพื่อไทยเน้นกู้เงินแจกโดยอ้างว่าจะทำเศรษฐกิจไทยโต แต่วิธีตีฟูเศรษฐกิจด้วยเงินแจกแบบนี้จบเร็วจนหลังแจกเศรษฐกิจอาจทรุดอีก รัฐบาลจึงต้องคิดให้มากเรื่องปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมใหม่เพื่อให้เศรษฐกิจไทยโต

และคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จึงพูดถูกที่บอกว่ารัฐบาลควรมีแผนสองมากกว่ารอกู้เงินแจกอย่างเดียว

ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกควรเป็นจิ๊กซอว์สำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ของไทย แต่รัฐบาลเพื่อไทยให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเรื่องนี้น้อยมาก ไม่ต้องพูดถึงกระบวนการกฎหมายและอื่นๆ ที่กว่าโครงการนี้จะสร้างรายได้ให้ประเทศจริงๆ ก็ใช้เวลาอีกเกือบสิบปี

การมีแผนที่เร็วและมากกว่านี้จึงจำเป็น

 

น่าสังเกตว่าโจทย์ที่เป็น “วาระของประเทศ” แบบนี้แทบไม่ถูกพูดถึงโดยรัฐและพรรครัฐบาล หรือจะมีบ้างก็แค่พูดเปิดงานสัมมนาเท่านั้น เพราะชนชั้นนำที่กำหนดนโยบายเศรษฐกิจเป็นคนกลุ่มเดียวกับชนชั้นนำทางการเมืองทั้งในและนอกรัฐบาล คนเหล่านี้รวยเพราะผูกขาดมากกว่าสร้างความเจริญให้ประเทศจริงๆ

ไม่ใช่ความลับว่าพรรคเพื่อไทยแพ้เลือกตั้งแต่ได้เป็นรัฐบาลเพราะชนชั้นนำทุกกลุ่มร่วมกันสกัดพรรคก้าวไกล แกนนำเพื่อไทยระดับที่ทั้งพรรคเกรงใจเคยบอกกับผมว่า “ทหาร” ระบุว่าอย่างไรก็ให้ก้าวไกลเป็นรัฐบาลไม่ได้ และปัจจัยที่จะทำให้แผนนี้สำเร็จคือคุณทักษิณอยากกลับบ้านและพรรคเพื่อไทยเอง

เครือข่ายผลประโยชน์ที่ซับซ้อนระหว่างชนชั้นนำทางการเมืองหน้าเก่าๆ กับชนชั้นนำทางเศรษฐกิจกลุ่มเดิมๆ คือต้นตอของ “ดีลลับ” ซึ่งวาระที่แท้จริงคือการผูกขาดอำนาจ

ก้าวไกลเป็นเป้าหมายที่ต้องทำลายเพราะเป็นตัวแปรใหม่ที่ไม่มีส่วนใน “ดีลลับ” แต่กลับมีประชาชนเลือกถล่มทลาย

 

ถ้าเปรียบประเทศกับหนังเรื่องเมทริกซ์ ประเทศไทยก็เหมือนเมทริกซ์ที่ผู้มีอำนาจไม่กี่คนเป็น “จอมบงการ” กำหนดกติกาทั้งหมด ส่วนธนาธร, พิธา และก้าวไกลก็เหมือนตัวละครอย่าง “นีโอ” ซึ่งเป็นโปรแกรมใหม่ที่กลายเป็นตัวแปรใหม่การ “รื้อสร้าง” กติกาที่ผู้มีอำนาจเหนือเมทริกซ์ยึดไว้กลุ่มเดียว

ท่ามกลางความอลหม่านตั้งแต่กรณีตะวันจนถึงจับนักข่าว การเมืองไทยกำลังเข้าสู่สถานการณ์ใหม่ที่ผู้มีอำนาจต้องการสร้างฉากว่าประเทศไทยมีขบวนการ “ล้มล้างการปกครอง” ซึ่งเป็นข้อหาเดียวกับที่พรรคเพื่อไทยและคนเสื้อแดงเคยโดนกรณี “แดงล้มเจ้า” ก่อนที่ทั้งคนและพรรคจะมีพฤติกรรมแบบปัจจุบัน

น่าสังเกตว่าขณะที่พรรคก้าวไกลแสดงความเห็นเรื่องนี้เฉพาะประเด็นเสรีภาพสื่ออย่างเดียว นักการเมืองฝ่ายตรงข้าม, ตำรวจ หรือคุณเศรษฐา ล้วนปั่นประเด็น “มีผู้ใหญ่อยู่เบื้องหลัง” เพื่อใส่ความก้าวไกลโดยไม่มีหลักฐานอย่างต่อเนื่องจนเหมือนจงใจสร้างความเกลียดชังให้ก้าวไกลตลอดเวลา

ประเทศไทยมาไกลจนกว่าจะหมุนนาฬิกากลับไปสู่ละครบทเก่าที่จะให้ผลลัพธ์ซึ่งเสียหายกว่าเดิม