ติดยาต้องรักษา ไม่ใช่เข้าคุก

คำ ผกา

คำ ผกา

 

ติดยาต้องรักษา ไม่ใช่เข้าคุก

 

เป็นเรื่องเป็นราว เป็นประเด็นในโซเชียลมีเดีย (ที่ต้องบอกว่าโซเชียลมีเดียเพราะไม่แน่ใจว่าโลกภายนอกโซเชียลมีเดียเป็นประเด็นด้วยหรือไม่) เมื่อมีการประกาศกฎกระทรวงออกมาว่า

“การมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ประเภท 2 หรือประเภท 5 หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 หรือประเภท 2 ในปริมาณเล็กน้อยตามที่กำหนดดังต่อไปนี้ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ

(1) ยาเสพติดให้โทษในประเภท 1

(ก) แอมเฟตามีน (amphetamine หรือ amfetamine) มีปริมาณไม่เกิน 5 หน่วยการใช้ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 500 มิลลิกรัม…”

https://www.thaipbs.or.th/news/content/336884

 

แน่นอนสื่อก็เอาไปพาดหัวว่า ต่อไปนี้การครอบครอง “ยาบ้า” ไม่เกิน 5 เม็ด ไม่ต้องติดคุก

จากนั้นก็สร้างความใจผิดต่อๆ กันไปว่า รัฐบาลนี้กำลังทำให้ประเทศไทยเป็นสวรรค์ของยาเสพติด

เลยเถิดไปจนน่าตกใจในความถดถอยทางสติปัญญาของสังคมนี้ ที่ตลกคือ กลุ่มคนที่โจมตีรัฐบาลในเรื่องนี้จำนวนไม่น้อยเป็นผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกล

และคงลืมไปแล้วว่าพรรคก้าวไกลกับพรรคเพื่อไทยในนโยบายเรื่องยาเสพติดที่ตรงกันนั่นคือ ใช้แนวทางที่เรียกว่า Harm Reduction หรือการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด เน้นนำผู้ใช้สารเสพติดไปบำบัดรักษามากกว่าการจับไปขังคุก ที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อใคร และไม่ใช่การแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน

ส่วนฉันก็ออกจะผิดหวังว่า เพราะคิดว่าคนสนับสนุนพรรคก้าวไกลเป็นคนหัวก้าวหน้า จะออกมาต่อสู้ว่า การกำหนดที่ 5 เม็ดถือเป็นมาตรการที่ถดถอยด้วยซ้ำ เพราะก่อนหน้านี้ตั้งแต่สมัยของทักษิณ ชินวัตร จนมาถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กำหนดไว้ที่ 15 เม็ด เพราะฉะนั้น ชัดเจนว่าคนที่ออกมาตีโพยตีพายเรื่องนี้ ไม่ได้ตีโพยตีพายวิจารณ์จากหลักการ แต่วิจารณ์จากการยึดถือตัวบุคคลเป็นที่ตั้ง

เรื่องเดียวกัน เนื้อหาเดียวกัน มาตรการเดียวกัน ถ้าเป็นคนที่ฉันชอบทำ ฉันว่าดี แต่ถ้าเป็นคนที่ฉันไม่ชอบทำ ฉันจะบอกว่ามันไม่ดี

 

กลับมาที่มาตรการผู้เสพคือผู้ป่วย ฉันคิดว่าเราจำเป็นต้องมีความรู้เรื่องนี้กันบ้าง เพราะสารเสพติดที่เรากำหนดให้เรียกว่า “ยาบ้า” กลายเป็นกำแพงทำให้เราไม่รู้สิ่งนี้ว่ามันคืออะไรแต่กลับ “ตีตรา” มันไปโดยอัตโนมัติด้วยคำว่า “บ้า” พอๆ กับที่สมัยก่อนเรียกมันว่า “ยาขยัน” แต่จริงแล้วมันคืออะไร?

สิ่งที่เราเรียกว่า “ยาบ้า” ชื่ออย่างเป็นทางการของมันคือ แอมเฟตามีน และเกี่ยวข้องกับยาอีกตัวหนึ่งคือ เมทแอมเฟตามีน

ประวัติของสารเคมีสองตัวนี้ถือกันว่าเป็นพี่น้องกันทางเคมี ผลที่ตามมาจากการใช้สารเคมีนี้ในทางที่ผิดต่อเนื่องเป็นเวลานานจะก่อให้เกิดภาวะทุพโภชนาการ ภาวะซึมเศร้ารุนแรง ไปจนถึงการสูญเสียการควบคุมตนเอง

แอมเฟตามีนถูกสังเคราะห์ขึ้นเป็นครั้งแรกที่ประเทศเยอรมนีในปี 1887 ส่วนเมทแอมเฟตามีนถูกค้นพบในประเทศญี่ปุ่นในปี 1919 และเริ่มหาซื้อได้อย่างแพร่หลายในปี 1943 โดยใช้เป็นยารักษาภาวะง่วงเกิน ภาวะซึมเศร้า โรคอ้วน โรคพิษสุราเรื้อรัง หรือความผิดปกติเล็กน้อยในการทำงานของสมอง และมาใช้กันอย่างแพร่หลายมากขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ในหมู่ทหารที่เข้าเวรให้มีการตื่นตัวเสมอ

ยาเหล่านี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อ Adderall, Benzedrine, Dexidrine และ Methedrine Desoxyn กลายมาเป็นยาที่ซื้อหากันได้ทั่วไป ใช้เพื่อควบคุมน้ำหนัก รักษาภาวะซึมเศร้าไม่รุนแรง และใช้กับคนที่มีอาชีพขับรถบรรทุกทางไกลให้ถึงที่หมายโดยไม่ผล็อยหลับ

แล้วยาเหล่านี้กลายเป็นสิ่งผิดกฎหมายตั้งแต่เมื่อไหร่?

 

เมื่อปี 1963 อัยการสูงสูดแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย และกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐอเมริกา โน้มน้าวให้บริษัทนำเอาเมทแอมเฟตามีนในรูปแบบฉีดที่ต้องใช้ใบสั่งยาออกจากตลาด รวมถึงแบบที่เป็นยาสูดหายใจ และ รัฐสภาผ่านกฎหมายการป้องกันและควบคุมการใช้ยาในทางที่ผิดแบบเบ็ดเสร็จในปี 1971

ผลคือทำให้ยาตัวนี้หายากขึ้น คนไม่สามารถหาซื้อมาใช้ในทางผ่อนคลาย สันทนาการได้ จึงทำให้เกิดการลักลอบผลิตและจำหน่ายในตลาดมืดมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัย เพื่อตอบสนองต่ออุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล

เหล่านี้ทำให้ประเทศสหรัฐอเมริกาก็เจอกับปัญหาเหมือนที่ทุกประเทศเจอ มีคนที่ลักลอบซื้อ และใช้ยาเหล่านี้โดยผิดกฎหมาย และอย่างผิดวิธีมากขึ้น ใช้โดยไม่ได้อยู่ภายใต้คำแนะนำทางการแพทย์หรือเภสัชกร เพราะมันกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย

ผลก็คือรัฐบาลต้องใช้งบประมาณหลายแสนล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อคุมขังคนอเมริกันหลายล้านคนจากความผิดเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้

พร้อมๆ กับที่ปัญหายาเสพติดไม่ได้ลดลง ยาที่ผิดกฎหมายที่มากขึ้น ยิ่งราคาถูกลง

คนที่หวนกลับไปพึ่งพิงยาเหล่านี้แบบผิดๆ มากขึ้น

 

เมื่อศึกษาให้ลึกลงไปอีกว่า เพราะอะไรผู้คนถึงเอาตัวเองไปพึ่ง “ยา” เหล่านี้ และลักลอบใช้ยาเหล่านี้ทั้งๆ ที่รู้ว่ามันผิดกฎหมาย ในกรณีศึกษาของอเมริกาพบลักษณะร่วมที่น่าสนใจดังนี้

– ผู้หญิงที่เสพเมทแอมเฟตามีนเกือบร้อยละ 15 เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ซึ่งมีมากกว่าผู้ชาย 4 เท่า

– ร้อยละ 40 ของผู้หญิงที่เสพ ไม่มีงานทำ

– ผู้หญิงแสวงหาการรักษาภาวะการเสพติด มากกว่าผู้ชาย

– ผู้หญิงที่อยู่ระหว่างการรักษา บำบัดการเสพ มักพบกรณีบาดเจ็บทางจิตวิทยา การเจ็บทางกาย การถูกล่วงละเมิดทางเพศทั้งระยะสั้น ระยะยาว

– ผู้หญิงที่เสพ มักใช้เพื่อลดน้ำหนักและลดภาวะซึมเศร้า

– ผู้หญิงที่เข้ารับการรักษามีช่วงอายุ 12-14 ปี

 

มิติทางเพศสภาพที่มีผลต่อการเข้าสู่วงจรการพึ่งพิงยา ไม่ได้เกิดกับผู้หญิงเท่านั้น ในกรณีของอเมริกา ยังพบในหมู่ชายรักชาย อันเนื่องมาจากการเผชิญกับภาวะกดทับ แรงกดดันทางจิตวิทยา ความเกลียดชัง และการเลือกปฏิบัติจากสังคม ความกลัว การสูญเสีย ตราบาป ที่สังคมประทับลงมา ส่งผลต่อสภาวะเครียด โดดเดี่ยว และนั่นคือก้าวแรกที่จะพาผู้คนไปสู่สภาวะพึ่งพิง “ยา” จนไปสู่ระดับของการเสพติด

เพราะฉะนั้น การรับมือและแก้ปัญหายาเสพติด เบื้องต้นสังคมเราต้องลืมตาและเผชิญหน้ากับความจริง

เริ่มจากการพูดถึง ทำความรู้จัก “ตัวยา” ในเชิงเคมีและวิทยาศาสตร์

เข้าใจถึงประวัติศาสตร์ การมีอยู่ของมันในฐานะที่เป็น “ยา” รักษาโรคบางอย่าง พร้อมๆ ไปกับสถานะของมันที่เป็น “สารเสพติด” เมื่อมันถูกนำมาใช้อย่างผิดประเภท

หรือเมื่อมันกลายเป็นสิ่งที่ผลิตในตลาดมืดอย่างไร การควบคุมมันก็ยิ่งทวีความอันตราย

จากนั้นเราต้องยอมรับความจริงว่าการนำผู้เสพสารเสพติดไปเข้าคุก เป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณอย่างมหาศาลในกระบวนการคุมขัง

และเงินจำนวนเดียวกันนี้ หากนำมาใช้ในกระบวนการสาธารณสุขเพื่อบำบัดรักษา มันจะเป็นการใช้งบประมาณที่มีประโยชน์และได้ผลมากกว่าอย่างเห็นได้ชัด

เพราะเมื่อเราจับคนไปขัง นอกจากเขาจะไม่สามารถเลิกยาเสพติดได้อย่างถาวร พวกเขายังเข้าสู่วงจรยาเสพติดวนลูปต่อเนื่องเพราะไปรู้จักเครือข่ายคนใช้ยาเสพติดในคุก ออกจากคุกมาก็มีประวัติอาชญากรรมติดตัว ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิ สวัสดิการที่พึงมี ทั้งสิทธิการเรียน การสมัครงาน เพิ่มตราบาปและบาดแผลในชีวิต

สุดท้ายก็เท่ากับผลักคนเหล่านั้นให้เป็นคนนอกและไม่สามารถเป็นอะไรได้ นอกจากผันตัวเองเข้าเป็นส่วนหนึ่งของวงจรอาชญากรรมในรูปแบบต่างๆ และยิ่งทำให้ปัญหายาเสพติดไม่มีวันหมดไป

 

การแก้ไขปัญหายาเสพติดที่ยั่งยืน จึงมีทั้งมิติของการใส่ใจ “อคติ” ของสังคมที่มีส่วนในการผลักคนให้เข้าสู่วงจรการ “พึ่งพิง” ยาบางอย่างเพื่อลดความเจ็บปวดทั้งทางกาย ทางใจที่ประสบ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาอคติทางเพศ เชื้อชาติ ชนชั้น การล่วงละเมิดทางเพศ ความยากจน

จากนั้นคือกระบวนการ decriminalized ผู้เสพในฐานะผู้ป่วยที่ต้องการความช่วยเหลือ และประคับประคองให้พวกเขากลับมาใช้ชีวิตโดยไม่มีความจำเป็นต้อง “พึ่งพิง” ยาตัวใดตัวหนึ่ง หรือเปลี่ยนมาพึ่งพิงยาที่ไม่ผิดกฎหมายแทน

ส่วนผู้ค้ายาเสพติด ผู้ผลิตยาในตลาดมืดที่ผิดกฎหมายก็ต้องกวาดล้างจับกุมอย่างเข้มงวด ทำทั้งหมดนี้ได้จึงเป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

ภาวนาให้รัฐบาลมั่นคงในแนวทาง Harm reduction เพื่อแก้ปัญหายาเสพติดที่ถึงที่สุด เพราะนี่เป็นเรื่องที่ก้าวหน้าในไม่กี่เรื่องที่ประเทศไทยมี