ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 16 - 22 กุมภาพันธ์ 2567 |
---|---|
เผยแพร่ |
นโยบายการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ยังคงเป็นมหากาพย์ในทางการเมืองในประชาชนต้องลุ้นและรอคอยกับการตัดสินใจของรัฐบาลต่อไป
เมื่อกำหนดการการประชุมคณะกรรมการนโยบายแจกเงินดิจิทัลชุดใหญ่ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 ยังมีแนวโน้มที่จะยังไม่ตัดสินใจอะไรแต่จะตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนขึ้นมา 1 ชุด และตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อวางมาตรการป้องกันการทุจริตที่สืบเนื่องจากการดำเนินการโครงการอีก 1 ชุด
โดยบอกว่าเพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างรอบคอบและอาจใช้เวลาอีกประมาณ 2 เดือนจึงจะมีข้อสรุป
ย้อนหลังไป คณะกรรมการนโยบายดิจิทัลชุดใหญ่ถูกตั้งขึ้นมาตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ.2566 หรือเป็นเวลา 4 เดือนเศษ มีการตั้งคณะอนุกรรมการ และคณะทำงานขึ้นมาอีก 3 ชุด ได้แก่ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการ คณะทำงานด้านตรวจสอบการกระทำที่อาจเข้าข่ายผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการ และคณะทำงานด้านบริหารฐานข้อมูลโครงการ
โดยให้ความหวังแก่ประชาชนในการแถลงข่าวครั้งแรกๆ ว่า จะสามารถแจกเงินเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชนในเดือนมกราคม พ.ศ.2567
การขยับกำหนดการออกครั้งแล้วครั้งเล่า จากมกราคม เป็นกุมภาพันธ์ เป็นพฤษภาคม และปัจจุบันไม่สามารถระบุเวลาที่ชัดเจน แม้จะมีแต่คำยืนยันจากปากผู้รับผิดชอบว่ายังคงเดินหน้าเต็มที่ ไม่ลดวงเงิน ไม่ลดกลุ่มเป้าหมาย แต่ไม่ช่วยอะไรในการสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนว่าจะได้รับเงินจำนวนดังกล่าวจากรัฐบาล
เหตุที่ไม่สามารถใช้เงินงบประมาณประจำปี
รัฐบาลเพื่อไทยมีโอกาสและจังหวะเวลาในการปรับเปลี่ยนรายการของร่างพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปี โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ.2566 มีการปรับเปลี่ยนปฏิทินการจัดทำงบประมาณใหม่ โดยเพิ่มกรอบวงเงินงบประมาณ จาก 3.35 ล้านล้านบาท เป็น 3.48 ล้านล้านบาท และให้ส่วนราชการไปทบทวนราชการใช้จ่ายงบประมาณ ตัดทอนรายการที่ไม่จำเป็น และเสนอคณะรัฐมนตรีใหม่ในปลายเดือนธันวาคม พ.ศ.2566
การจัดทำงบประมาณใหม่ กลับไม่สามารถตัดทอนรายจ่ายต่างๆ ออกได้ เนื่องจากทุกรายการล้วนมีเจ้าของ ในขณะที่รัฐมนตรีซึ่งมากำกับดูแลก็ต้องการงบประมาณไปสร้างผลงานของตนเอง
ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี พ.ศ.2567 จึงไม่มีจุดใดที่ถูกแบ่งปันมาใช้สนับสนุนโครงการดิจิทัลวอลเล็ตได้แม้แต่บาทเดียว
เช่นเดียวกับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี พ.ศ.2568 ที่กำลังจัดทำอยู่ในปัจจุบันก็ไม่มีการแบ่งสัดส่วนเพื่อมาสนับสนุนโครงการดังกล่าวแต่อย่างใด
การใช้นโยบายกึ่งการคลัง
ไม่ใช่ทางออกที่เป็นไปได้
รัฐบาลมีกลไกการใช้เครื่องมือนโยบายกึ่งการคลัง (Quasi-fiscal policy) ที่ให้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันทางการเงิน เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารออมสิน ดำเนินการตามมาตรา 28 ของ พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 โดย “การมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการ โดยรัฐบาลรับภาระจะชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ในการดำเนินการนั้น”
การหาทางออกของแหล่งเงิน 500,000 ล้านเพื่อแจกแก่ประชาชนหลังจากไม่สามารถใช้จากงบประมาณประจำปี โดยใช้แหล่งเงินจากรัฐวิสาหกิจจึงเป็นทางเลือกที่ตามมา แต่ก็ต้องติดขัดไม่สามารถดำเนินการได้จากกรณีไม่อยู่ในหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายและไม่อยู่ในขอบเขตวัตถุประสงค์ของหน่วยงานดังกล่าว
จึงต้องนำไปสู่การใช้ทางเลือกสุดท้ายคือ การกู้เงินนอกประมาณด้วยวิธีการออกเป็นร่างพระราชบัญญัติกู้เงิน
ถึงเวลาต้องลุยไฟ
การประวิงเวลาโดยการตั้งอนุกรรมการไปสอบถามคิดเห็นของประชาชนนั้นไม่ช่วยให้เกิดความชอบธรรมใดๆ ในการดำเนินโครงการมากขึ้น
เพราะถามประชาชนว่าอยากได้เงิน 10,000 บาท หรือไม่ คำตอบส่วนข้างมากคงตอบว่าอยากได้
เหมือนกับหากจะไปสอบถามประชามติประชาชนว่า ไม่ต้องเสียภาษีเอาไหม เกือบร้อยทั้งร้อยก็ต้องตอบว่าเอา
ดังนั้น ไม่ว่าประชาชนจะมีความคิดเห็นอย่างไร การตัดสินใจในขั้นสุดท้ายและความรับผิดชอบในการตัดสินใจก็ยังคงอยู่ที่คณะรัฐมนตรี
ความเห็นจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาก็ดี รายงานข้อคิดเห็นจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ถึงความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นและคำแนะนำต่างๆ ก็เป็นเพียงข้อคิดเห็นจากจากหน่วยงานราชการและองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง ไม่เป็นการห้ามการตัดสินใจดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล
ช้า เร็ว หรือยอมเปลี่ยนแปลงนโยบาย
ทางเลือกที่เหลือในการดำเนินนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ตามนโยบายที่หาเสียงไว้นั้น จึงเหลือเพียงไม่กี่ทาง โดยหากอยากให้เกิดขึ้นเร็วสุด ต้องออกเป็นพระราชกำหนดโดยมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งสามารถดำเนินการได้ทันที
ในเส้นที่ล่าช้า คือ การออกเป็นพระราชบัญญัติ ซึ่งหากรวมระยะเวลาที่อาจมี ส.ส. หรือ ส.ว. เสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยด้วย ต้องใช้เวลารวมทั้งในขั้นตอนรัฐสภาและศาลรวมประมาณ 6-8 เดือน และยังมีโอกาสสูงที่จะไม่สำเร็จ
ส่วนการเปลี่ยนแปลงนโยบาย เช่นการลดขนาดของประชาชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดวงเงินที่ต้องใช้ในการดำเนินการ หรือการแบ่งการจ่ายออกเป็นหลายงวดเพื่อเป็นภาระในการจัดหาแหล่งที่มาของเงินงบประมาณน้อยลงนั้น ไม่น่าจะเป็นทางเลือกของรัฐบาลแม้ว่าจะเป็นทางเลือกที่เป็นไปได้และคนกลุ่มที่มีความจำเป็นไม่ได้รับผลกระทบก็ตาม
เพราะสิ่งที่ได้จากการดำเนินการจะเป็นเพียงการให้สวัสดิการแก่กลุ่มยากไร้ ไม่ใช่การสร้างผลกระทบในการกระตุ้นกระตุกเศรษฐกิจอย่างรุนแรงตามเจตนาความตั้งใจของพรรค
สร้างดาวคนละดวง
พรรคเพื่อไทยในฐานะรัฐบาล มีนโยบายการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท เป็นนโยบายเรือธงสำคัญ โดยประกาศเป็นนโยบายเร่งด่วนข้อแรกในการแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภาและยอมไม่ได้ที่จะล้มเลิกหรือเปลี่ยนแปลงโครงการให้มีขนาดเล็กลง เพราะนั่นหมายถึงการสูญเสียเครดิตและคำขวัญที่ชูมาตลอดในการหาเสียงที่ว่า “คิดใหญ่ ทำเป็น”
ในขณะที่ระบบราชการไทยที่มีความคิดอนุรักษนิยมมากกว่า องค์กรอิสระที่มีพื้นฐานความคิดจากการเคยดำรงตำแหน่งข้าราชการระดับสูงในหน่วยงานราชการที่เคร่งครัดในด้านการใช้จ่ายเงินงบประมาณ ตลอดจนกรอบกติกาต่างๆ เกี่ยวกับการรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐที่ถูกสร้างขึ้นมาในสมัยที่รัฐบาลมาจากการรัฐประหารและมีความหวาดระแวงรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งจะใช้เงินงบประมาณแผ่นดินให้สูญเปล่าไปกับนโยบายประชานิยม
ความขัดแย้งในสองแนวทาง จึงเหมือนการสร้างดาวคนละดวง ฝ่ายหนึ่งต้องการตอบสนองความต้องการของประชาชนโดยไม่ใส่ใจผลที่ตามมาในอนาคต อีกฝ่ายก็จำกัดการกระทำของอีกฝ่ายภายใต้กรอบกติกาที่ร่างขึ้นมา
นับหนึ่งเมื่อ ครม.มีมติส่งร่าง พ.ร.บ.เงินกู้
ขณะนี้ทุกอย่างเป็นการความคิดเห็น รัฐบาลยังเพียงหยั่งท่าที ทั้งถามสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ดูท่าทีธนาคารแห่งประเทศไทย ฟังข้อเสนอแนะจาก ป.ป.ช. ดูอารมณ์ความรู้สึกของประชาชนฝ่ายต่างๆ ในขณะที่ฝ่ายที่มีความเห็นต่างก็เพียงให้แง่มุมความคิดถึงประเด็นวิกฤต ไม่วิกฤต และความคุ้มค่าที่ตามมา
จุดชี้ขาดสำคัญ ไม่ได้อยู่ที่จะแจกหรือไม่แจก แต่อยู่ที่การกู้หรือไม่กู้เงิน เพราะฝ่ายเห็นต่างเห็นว่า ไม่ใช่สถานการณ์วิกฤตที่ต้องกู้เงินมาแจก
วันไหนเปลี่ยนรูปแบบไปใช้งบประมาณแผ่นดิน คงไม่มีปัญหาใดตามมา
แต่หากวันไหน คณะรัฐมนตรีมีมติผลัก ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 500,000 ล้านบาทเข้ารัฐสภา วันนั้นคือวันเริ่มต้นนับหนึ่ง เราจะเห็นการใช้กลไกการป้องกันการใช้อำนาจฝ่ายบริหารเพื่อปกป้องความเสียหายด้านวินัยการการเงินการคลังของรัฐอย่างร้ายแรงตามมาอย่างแน่นอน
สิ่งที่ไม่เคยเห็นจะได้เห็น สิ่งที่ไม่เคยใช้จะได้ใช้ ขนาดที่นักกฎหมายและผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองอาจพลิกกฎหมายมาอธิบายแทบไม่ทัน
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022