อว.เปิดเกมรุกย้ายอุเทนฯ แก้ขัดแย้ง-คืนพื้นที่จุฬาฯ

กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาอีกครั้งหลัง นายชวน หลีกภัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ตั้งกระทู้ถามสด นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ถึงปัญหาความขัดแย้งของ 2 สถาบัน คือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย และสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน ที่ยืดเยื้อมานาน จนส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศ…

การย้ายอุเทนฯ ออกจากพื้นที่ จึงถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ปัญหาข้อขัดแย้งดังกล่าว

โดยนายกรัฐมนตรีตอบกระทู้ตอนหนึ่งว่า 2 สถาบันถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ รัฐบาลยืนยันจะให้ความสำคัญกับปัญหาที่เรื้อรังมานานมากแล้ว เพราะ 2 สถาบันอยู่ติดกัน พยายามที่จะย้ายไปที่อื่นและจัดหาพื้นที่ให้ และยังกำชับไปยังฝ่ายความมั่นคง สำนักงานตำรวจแห่งชาติที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงของทั้งสองสถาบันนี้ ขอให้เพิ่มกำลังเป็นพิเศษ ซึ่งถือเป็นมาตรการที่ป้องกันเท่านั้น

แต่ไม่ได้แก้ไขที่วัฒนธรรม ถือเป็นเรื่องใหญ่ ความเชื่อของนักศึกษาที่สืบทอดกันมา เป็นค่านิยมที่ผิด…

ดังนั้น ต้องตัดปัญหาด้วยการย้ายไปที่อื่น เพื่อลดการกระทบกระทั่งระหว่างนักศึกษาของทั้ง 2 สถาบัน และปรับลดค่านิยมลดการกระทบกระทั่งระหว่างรุ่นพี่ที่เป็นแกนนำ ตัดวงจรการสืบทอดวัฒนธรรมที่ไม่ถูกต้อง

 

อย่างไรก็ตาม ความพยายามย้ายอุเทนฯ ออกจากพื้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีมาอย่างต่อเนื่อง แม้ศาลปกครองสูงสุดจะมีคำสั่งให้อุเทนฯ ส่งมอบพื้นที่คืนให้กับจุฬาฯ หลังสิ้นสุดสัญญาเช่าตั้งแต่ปี 2548 มีการจัดเตรียมพื้นที่ใหม่ทำแผนการย้ายมาแล้วหลายรอบ แต่ก็ยังไม่มีผลในทางปฏิบัติ

ล่าสุด นางศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ชี้แจงแผนการย้ายอุเทนฯ โดยสรุปว่า อุเทนฯ ยังรับนักศึกษาปีที่ 1 เช่นเดิม แต่จะต้องสอดคล้องกับแผนการย้ายสถานศึกษาที่จะต้องย้ายวิทยาเขตไปยังบางพระ จ.ชลบุรี หรือสถานที่ที่กรมธนารักษ์จัดหาให้ หรือที่มีผู้บริจาคพื้นที่

และให้ปรับแผนการรับนักศึกษา ซึ่งจะต้องเสนอให้สภามหาวิทยาลัยให้ความเห็นชอบ ส่วนการจัดหาสถานที่เรียนสำหรับนักศึกษาที่ต้องย้ายนั้น เบื้องต้นมีในวิทยาเขตบางพระ จ.ชลบุรี วิทยาเขตจักรพงษ์ภูวนาถ และพื้นที่บริจาคมีนบุรี รวมถึงพื้นที่ราชพัสดุ จ.สมุทรปราการ โดยได้เสนอของบประมาณ 400 ล้านบาท เพื่อจัดทำโครงการก่อสร้างการขยายเขตพื้นที่เพื่อรองรับการเคลื่อนย้ายนักศึกษา ของคณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ บนที่ดินจำนวน 24 ไร่ 2 งาน 50 ตารางวา ที่มีนบุรี กรุงเทพฯ

ขณะเดียวกัน ยังได้ออกมาตรการแก้ปัญหาความขัดแย้งของ 2 สถาบัน ทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยระยะยาวได้ออกมาแบบ “ปทุมวันโมเดล” ดีไซน์หลักสูตรที่สอดคล้องกับนโยบายเรียนดี มีความสุข มีรายได้ให้นักศึกษามีงานทำระหว่างเรียน ตั้งแต่ปี 1 โดยเชื่อว่า เมื่อเด็กเรียนหนังสือหนักและทำงานไปด้วย จะมีความรับผิดชอบสูงขึ้น เวลาว่างน้อยลง ปัญหาต่างๆ ก็จะลดน้อยลงไปด้วย

แม้จะมีแผนย้ายชัดเจน แต่ก็ยังต้องลุ้นต่อว่าครั้งนี้ความพยายามจะประสบความสำเร็จหรือไม่ เพราะล่าสุด กลุ่มศิษย์เก่า ยื่นหนังสือคัดค้านการย้ายอุเทนฯ ออกจากพื้นที่ พร้อมประกาศรวมตัว ที่ อว. 27 กุมภาพันธ์นี้…

 

ที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ ข้อคิดเห็นจากนายธงทอง จันทรางศุ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ซึ่งได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว โดยสรุปดังนี้

1. ผมเคยทำหน้าที่ผู้อำนวยการหอประวัติจุฬาฯ อยู่นานสิบกว่าปี ได้ค้นคว้าเอกสารและผ่านตาเอกสารเกี่ยวกับที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งของจุฬาฯ มาครบทุกชิ้น ไม่ปรากฏหลักฐานใดว่า “อุเทนถวาย” ได้รับพระราชทาน ได้รับโอน หรือมีกรรมสิทธิ์ด้วยประการหนึ่งประการใดในที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งของอุเทนถวายในปัจจุบัน มีแต่เพียงสัญญาเช่า ซึ่งครบกำหนดไปนานปีแล้ว และจุฬาฯ ไม่ได้ต่อสัญญาเช่าให้อีก

2. อุเทนถวายมีข้อโต้เถียงในเรื่องกรรมสิทธิ์ และนำคดีขึ้นสู่ศาล คดีถึงที่สุดว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นเจ้าของแปลงนี้

3. ผมจำวันเวลาที่แน่นอนไม่ได้ แต่ได้มีการเจรจาตกลงและทำบันทึกความเข้าใจร่วมกันระหว่างอุเทนถวายกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าอุเทนถวายจะย้ายการเรียนการสอนไปยังสถานที่ใหม่ แต่ในทางปฏิบัติแล้วเหตุการณ์ดังกล่าวก็ไม่เคยเกิดขึ้นจริง

4. เรื่องเหตุกระทบกระทั่งระหว่างอุเทนถวายกับสถาบันการศึกษาอีกแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ไม่ห่างไกลกัน มีมาช้านาน และมีความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินเกิดขึ้นต่อเนื่อง บางคราวประชาชนคนธรรมดาก็ถูกลูกหลง บาดเจ็บล้มตายไปกับเขาด้วย

5. ผมได้ทราบจากข่าวสารสาธารณะว่า อว.มีแนวทางที่จะแก้ไขปัญหาที่ยืดเยื้อมายาวนาน โดยการให้สถาบันการศึกษาที่ชื่อ อุเทนถวาย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ มทร.ตะวันออก ยังคงรับนักศึกษาปีที่ 1 โดยให้ไปจัดการเรียนการสอนในวิทยาเขตหรือสถานที่อื่นซึ่งไม่ใช่พื้นที่ปทุมวัน ซึ่งมีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุดชี้ขาดมานานปีแล้วว่าเป็นที่ดินของจุฬาฯ

6. การดำเนินการตามข้อ 5 ข้างต้น นักศึกษาชั้นปีที่หนึ่งย่อมอยู่ในฐานะที่จะได้รับทราบตั้งแต่ต้นแล้วว่า เมื่อตนเข้าไปเป็นนักศึกษา จะมีสถานที่เรียนอยู่ที่ใด เป็นการรับทราบข้อมูลล่วงหน้า ทำให้มีข้อมูลที่เพียงพอสำหรับการตัดสินใจเลือกเข้าศึกษาในสถาบันแห่งนี้

7. มีบางเสียงอภิปรายกล่าวอ้างว่า หากอุเทนถวายไม่อยู่ที่ปทุมวันแล้ว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะนำที่ดินไปจัดผลประโยชน์หรือทำธุรกิจ ผมเห็นว่าข้อเถียงดังกล่าวเป็นการหลงประเด็น หลงตรรกะ จุฬาฯ ผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ย่อมมีความชอบธรรมที่จะนำที่ดินดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ได้ตามที่เห็นสมควร จากความรู้ส่วนตัวของผม พื้นที่ตรงนี้อยู่ในแผนการใช้ที่ดินเพื่อประโยชน์ในการศึกษามานมนานแล้ว

แต่ถ้าในวันข้างหน้า จุฬาฯ คิดจะปรับแผนไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น ก็เป็นเรื่องที่ประชาคมจุฬาฯ รวมตลอดถึงประชาชนจะสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ เพราะจุฬาฯ เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ไม่ใช่สมบัติส่วนตัวของผู้หนึ่งผู้ใด ถ้ามีเรื่องทุจริตคิดมิชอบเกิดขึ้น ไม่ต้องเดือดร้อนถึงคนอื่นหรอกครับ เพียงแค่คนในจุฬาฯ และนิสิตจุฬาฯ ทั้งนิสิตเก่าและนิสิตปัจจุบัน เขาย่อมไม่ยอมอยู่นิ่งอย่างแน่นอนครับ

ถือเป็นข้อคิดเห็นที่น่าสนใจ ซึ่งคงต้องจับตามองต่อไปว่า รัฐบาลเปิดเกมรุกแก้ปัญหาความขัดแย้ง ระหว่างอุเทนฯ-ปทุมวัน ครั้งนี้จะประสบความสำเร็จหรือไม่… •

 

| การศึกษา