เอ็มเทค ยกระดับนวัตกรรมสู่ความยั่งยืน โชว์วิชั่น ปั้นเศรษฐกิจไทย

รายงานพิเศษ | กรกฤษณ์ พรอินทร์

เอ็มเทค ยกระดับนวัตกรรมสู่ความยั่งยืน โชว์วิชั่น ปั้นเศรษฐกิจไทย

 

6 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 09.30 รองศาสตราจารย์ ดร.เติมศักดิ์ ศรีคิรินทร์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ หรือ MTEC (เอ็มเทค) ดร.อศิรา เฟื่องฟูชาติ รองผู้อำนวยการศูนย์ ดร.ศราวุธ เลิศพลังสันติ รักษาการรองผู้อำนวยการศูนย์ และคณะทีมวิจัย ให้การต้อนรับคุณปานบัว บุนปาน กรรมการผู้จัดการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) และคณะผู้บริหาร ณ อาคารเอ็มเทค อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี

คณะผู้บริหาร MTEC (เอ็มเทค) นำเสนอกลยุทธ์ทิศทางการวิจัยพัฒนา และนำชมนวัตกรรมที่ขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยเทคโนโลยีวัสดุ สู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ โดยนำเสนอภาพรวมงานวิจัยทั้ง 4 ด้าน ได้แก่

สถาบันเทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (TIIS) โดย ดร.นงนุช พูลสวัสดิ์ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัย สถาบันเทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน MTEC

MTEC กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน (CIRCULAR ECONOMY) โดย ดร.วิชชุดา เดาด์ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัย กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีโพลิเมอร์ขั้นสูง MTEC

“End of Waste” เพิ่มมูลค่ากากของเสียอุตสาหกรรม ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย ดร.อนุชา วรรณก้อน ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัย กลุ่มวิจัยเซรามิกส์และวัสดุก่อสร้าง MTEC

และโครงการยกระดับอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนด้วยแนวคิดอุตสาหกรรม 4.0 โดย ดร.จอมขวัญ มั่นแน่ นักวิจัย ทีมวิจัยระบบวิศวกรรมขั้นสูง กลุ่มวิจัยการออกแบบเชิงวิศวกรรมและการคำนวณ MTEC

นอกจากนี้ ยังนำชมห้องปฏิบัติการวิจัย “Wearable Technology Consulting Service” โดย ดร.ศราวุธ เลิศพลังสันติ รองผู้อำนวยการ และผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยการออกแบบเชิงวิศวกรรมและการคำนวณ MTEC, “เทคโนโลยีระบบจำลองการย่อยอาหาร” โดย ดร.กมลวรรณ อิศราคาร นักวิจัย ทีมวิจัยวัสดุศาสตร์อาหาร MTEC และ ดร.มณชยา รัตนประเสริฐ ทีมวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพทางอาหาร ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) และ “เทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน” โดย ดร.พิมพา ลิ้มทองกุล ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมพลังงาน ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC)

ในการนี้ ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ ผู้อำนวยการฝ่ายเผยแพร่เทคโนโลยี ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ MTEC (เอ็มเทค) ในการสัมภาษณ์พิเศษเพื่อบอกเล่าความสำคัญของการทำงานด้านนวัตกรรมของทาง MTEC (เอ็มเทค) ว่ามีส่วนสำคัญในการผลักดันธุรกิจไทยอย่างไรบ้าง

: บทบาทหน้าที่ของ MTEC

ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ หรือ MTEC (เอ็มเทค) เป็นหน่วยงานเฉพาะทางหนึ่งภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เอ็มเทคมุ่งเน้นพัฒนาและสร้างขีดความสามารถทางด้านเทคโนโลยีวัสดุและการผลิตให้แก่องค์กรในภาครัฐและภาคเอกชน

เอ็มเทคมีกิจกรรมหลักคือ การวิจัย พัฒนาและสร้างนวัตกรรม การถ่ายทอดเทคโนโลยีที่มุ่งเน้นการใช้ประโยชน์ได้จริง รวมทั้งการพัฒนากำลังคนและโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีวัสดุและการผลิต

: MTEC มุ่งเน้นงานด้านใดเป็นพิเศษ

ปัจจุบัน มุ่งเน้น 4 แนวทางการวิจัยหลัก (4 Main Research Themes) ได้แก่

(1) การขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยเทคโนโลยีวัสดุ สู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

(2) นวัตกรรมอุปกรณ์การแพทย์และสุขภาพเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต

(3) การพัฒนาเทคโนโลยีวัสดุและออกแบบสำหรับการผลิตสมัยใหม่และการขนส่ง

และ (4) การพัฒนาวัสดุชีวภาพให้เป็นผลิตภัณฑ์สมบัติเฉพาะที่มีมูลค่าสูง

จุดมุ่งหมายสำคัญคือ อยากเห็นกลุ่มเป้าหมายนำผลงานของ MTEC ไปใช้ได้จริง และเกิดผลกระทบเชิงบวกในวงกว้างต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

: ขยายความนิยาม “นึกถึง ‘ความยั่งยืน’ นึกถึง MTEC – นึกถึง ‘การผลิตสมัยใหม่’ นึกถึง MTEC”

‘ความยั่งยืน’ หรือ ‘sustainability’ เป็นเป้าหมายสำคัญสูงสุดขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งมีชื่อเรียกว่า ‘เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals)’ ที่เรียกย่อๆ ว่า SDGs ซึ่งแนวทางการวิจัยหลักของ MTEC ล้วนเชื่อมโยง หรือสอดรับกับ SDG อย่างน้อย 1 เป้าหมาย

ในแนวทางการวิจัยหลักที่ (1) ของ MTEC กิจกรรมที่เชื่อมโยงกับ SDG เช่น ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) เชื่อมโยงกับ SDG-13 การดำเนินการเกี่ยวกับภูมิอากาศอย่างชัดเจน

เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และการสิ้นสุดการเป็นของเสีย (End-of-Waste) สอดคล้องกับ SDG-9 อุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน และ SDG-12 การบริโภคและการผลิตอย่างมีความรับผิดชอบ คุณภาพน้ำ (Water Quality) สอดคล้องกับ SDG-6 สะอาดและสุขอนามัย

ในแนวทางการวิจัยหลักที่ (2) ของ MTEC ก็มีกิจกรรมหลายอย่างที่เชื่อมโยงกับ SDG เช่น อาหารแห่งอนาคต และอุปกรณ์ทางการแพทย์และอุปกรณ์เกี่ยวกับสุขภาพ เชื่อมโยงกับ SDG-3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี

ส่วนเรื่อง ‘การผลิตสมัยใหม่’ หรือ ‘Modern Manufacturing’ MTEC ได้มุ่งเน้นการยกระดับอุตสาหกรรมสู่อุตสาหกรรม 4.0 (Industry 4.0) การอุตสาหกรรม 4.0 เป็นการผสานรวมเทคโนโลยีขั้นสูงเข้ากับกระบวนการผลิตและอุตสาหกรรม เปลี่ยนจากระบบอัตโนมัติแบบดั้งเดิมให้เป็นระบบที่เชื่อมต่อกันและขับเคลื่อนด้วยระบบไอทีมากขึ้น และอาจใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ (AI) ร่วมด้วย

: MTEC และนวัตกรรมในสังคมไทย

ในบริบททางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรม คำว่า ‘นวัตกรรม’ คือ การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ และมีการนำสิ่งใหม่ๆ นั้นไปใช้ประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ สังคม หรือสิ่งแวดล้อม

สิ่งใหม่ๆ ที่ว่านี้อาจเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ เช่น วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องยนต์กลไก หรือจับต้องไม่ได้ เช่น แอพพลิเคชั่น หรือซอฟต์แวร์ ไม่เพียงแค่นั้น สิ่งใหม่ๆ ยังหมายรวมถึงขั้นตอนหรือกระบวนการได้ด้วย เช่น กระบวนการผลิตแบบใหม่ที่ประหยัดพลังงานหรือส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมลดลง รวมทั้งการแก้ปัญหาเดิมด้วยวิธีการใหม่ๆ ที่ช่วยลดเวลาและต้นทุน

อีกแง่หนึ่ง นวัตกรรมจะเกิดขึ้นได้ต้องมีปัจจัยหลายอย่างมีปฏิสัมพันธ์กัน เช่น ผู้เกี่ยวข้อง องค์กร ผู้ลงทุนหรือผู้ประกอบการ ทรัพยากร เช่น ข้อมูล แหล่งทุน โครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งกฎหมาย ระเบียบต่างๆ โมเดลธุรกิจ บางครั้งยังรวมถึงคู่แข่งในเชิงธุรกิจอีกด้วย ปัจจัยเหล่านี้รวมกันเรียกว่า ระบบนิเวศนวัตกรรม (Innovation Ecosystem) ซึ่งทาง MTEC เข้าใจและมีประสบการณ์เกี่ยวกับระบบนิเวศนวัตกรรมเป็นอย่างดี และผลงานหลายชิ้นของเราเกิดเป็นนวัตกรรมด้วยการจัดการอย่างถูกต้อง

4 แนวทางการวิจัยหลักของ MTEC

: นวัตกรรมจะนำไปสู่ความยั่งยืนได้อย่างไร

นวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรม ช่วยส่งเสริมความยั่งยืน เช่น ความยั่งยืนด้านเศรษฐกิจ ในกรณีที่นวัตกรรมหมายถึงสินค้าก็คือสิ่งที่ขายได้ แข่งขันในตลาดได้ หรือในกรณีที่นวัตกรรมหมายถึงกระบวนการผลิตแบบใหม่ ก็หมายถึงการผลิตซึ่งมีผลิตภาพสูงขึ้น ช่วยลดต้นทุนสินค้าต่อหน่วย การส่งเสริมนวัตกรรมให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องย่อมหมายถึงการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันได้ในระยะยาว

ด้านความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม นวัตกรรมในเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนย่อมช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร ลดขยะ และอนุรักษ์ทรัพยากรที่มีค่า หรืออุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง เช่น เซ็นเซอร์ขั้นสูง และเครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูล ช่วยยกระดับการติดตามสภาพแวดล้อม ตรวจจับมลพิษ และความพยายามอนุรักษ์ทรัพยากรที่สำคัญได้

ส่วนความยั่งยืนด้านสังคม นวัตกรรมด้านสุขภาพและการแพทย์ย่อมช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพที่มีคุณภาพให้มากขึ้น และยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนจำนวนมาก

นวัตกรรมของ MTEC ย่อมถือได้ว่ามีส่วนส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืนทั้งสามด้านที่กล่าวมาแล้ว

การขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยเทคโนโลยีวัสดุ สู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์

: MTEC กับอุตสาหกรรม 4.0 และเศรษฐกิจหมุนเวียน

กรณีอุตสาหกรรม 4.0 MTEC ร่วมกับ NECTEC (เนคเทค) ซึ่งเป็นศูนย์แห่งชาติอีกศูนย์หนึ่งใน สวทช. ได้เริ่มดำเนินการสนับสนุนบริษัทกว่า 130 บริษัทในภาคการผลิตให้มุ่งเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 มาระยะหนึ่งแล้ว

ส่วนกรณีเศรษฐกิจหมุนเวียนนั้น MTEC ยึดหลักการ 6 มิติที่เชื่อมโยงกัน ได้แก่ การคิดให้รอบด้าน (systems thinking), การสร้างคุณค่า (value creation), การแบ่งปันคุณค่า (value sharing), การคำนึงถึงขีดจำกัดของทรัพยากร (resource availability focus), การตามติดทรัพยากรที่นำมาใช้ (resource traceability) และการปกป้องและฟื้นฟู (ecosystem resilience)

ประเด็นสำคัญคือ เรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนต้องคิดให้รอบด้าน คือมองเป็นระบบครบวงจร ไม่ใช่แค่เรื่องรีไซเคิลเท่านั้น ดังนั้น เราจึงเริ่มจากโครงการส่งเสริมการออกแบบตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Design for Circular Economy) เพื่อการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน รวมทั้งโครงการอื่นๆ ที่ไปในทิศทางเดียวกัน เช่น โครงการเกี่ยวกับการสิ้นสุดการเป็นของเสีย (End-of-Waste)

: โครงการของ MTEC ที่คนทั่วไปได้รับประโยชน์

สำหรับบุคคลทั่วไปที่ไม่ใช่ภาคธุรกิจที่จะได้รับประโยชน์จากโครงการของ MTEC ที่เห็นได้ชัดเจนคือ นวัตกรรมด้านอาหาร ซึ่งตอบโจทย์สังคมสูงอายุและผู้ที่ต้องดูแลสุขภาพบางแง่มุมเป็นพิเศษ รวมทั้งอุปกรณ์การแพทย์และสุขภาพ เรื่องนี้ขอให้ติดตามเพราะเรามีผลงานที่เป็นรูปธรรม ใช้งานได้จริง ทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ MTEC ยังมีผลงานที่ช่วยยกระดับความปลอดภัยบนท้องถนน (Road Safety) ซึ่งเรามั่นใจว่าส่งผลดีต่อผู้คนจำนวนมากที่ต้องใช้รถใช้ถนนอีกด้วย •

 

หมายเหตุ : ผู้ที่สนใจผลงานของศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ หรือ MTEC (เอ็มเทค) สามารถติดตามได้จากเว็บ www.mtec.or.th หรืออ่านจากรายงานประจำปีล่าสุด พ.ศ.2566 ได้ที่ https://www.mtec.or.th/annual-report2023/