ผังเมือง กทม.เพื่อใคร?

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ร่างผังเมืองกรุงเทพมหานคร ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 ที่ กทม.ประกาศออกไปนั้น มีเสียงคัดค้านดังกระหึ่มไปทั่ว เพราะในหลายพื้นที่ กทม.ขีดเส้นให้ขยายแนวถนนล้วนมีข้อกังขาว่าทำเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุนกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะ

ยกตัวอย่างร่างผังเมืองในพื้นที่ของเขตสะพานสูง กทม.ขีดเส้นถนนสาย ก.20 ผ่ากลางหมู่บ้านสัมมากร เขตสะพานสูง แนวถนนที่จะขยายเสมือนจงใจเชื่อมทางให้กับโครงการหมู่บ้านจัดสรรระดับหรูราคาเริ่มต้นเฉียดๆ 20 ล้านบาท อยู่ระหว่างการก่อสร้างเพื่อเปิดทางออกให้คนในหมู่บ้านแห่งนั้นได้ใช้เส้นทางสะดวก

เพราะถ้า กทม.ไม่ขีดเส้นขยายแนวถนนสาย ก.20 คนในหมู่บ้านจะไม่สามารถผ่านเข้าหมู่บ้านสัมมากรได้เลยเนื่องจากต้นทางและปลายทางเป็นทางตัน

ต้นทางนั้นคือซอย 25 เป็นถนนภายในของหมู่บ้านสัมมากร ปกติแล้วเป็นทางตัน ทางหมู่บ้านสัมมากรทำประตูเปิดปิดเชื่อมกับหมู่บ้านพฤกษชาติ เปิดให้รถวิ่งออกเฉพาะในบางเวลาเท่านั้น ส่วนปลายทางเป็นซอย 32 ซึ่งเป็นทางตันของหมู่บ้านสัมมากร

การขีดเส้นขยายแนวถนนในซอย 25 และซอย 32 จากเดิมกว้าง 7 เมตรเป็น 12 เมตร จะต้องเวนคืนที่ดินของชาวบ้านบริเวณรอบถนนทั้งสองซอย แน่นอนว่าจะสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านบริเวณนั้นซึ่งเป็นชุมชนขนาดใหญ่ แต่คนในหมู่บ้านหรูที่กำลังก่อสร้างจะยินดีปรีดาเพราะได้ทางออกใหม่ ราคาที่ดินของตัวเองจะพุ่งกระฉูด

หมู่บ้านแห่งใหม่ซึ่งชาวสัมมากรต่างรู้กันว่าคือเป็นโครงการของบริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการอสังหาริมทรัพย์ อดีตผู้บริหารของบริษัทนี้พลิกตัวกลายเป็นผู้ยิ่งใหญ่ในวงการการเมือง

 

การขีดเส้นถนนสาย ก.20 ในร่างผังเมืองของกรุงเทพมหานครดังกล่าวนี้ ตัวผมพักอาศัยอยู่ในหมู่บ้านสัมมากรไม่เคยรู้มาก่อนเลย บังเอิญว่า เข้าไปคลิกอ่านในเฟซบุ๊กของชมรมรักษ์สัมมากรจึงทราบข่าวที่มาที่ไปของร่างผังเมืองที่ชวนให้เกิดความสงสัยอย่างยิ่ง

ทนายเบิ้มแกนนำของชมรมรักษ์สัมมากรเขียนในเพจบอกว่า ไปคุยกับเจ้าหน้าที่ของสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง ถึงการกำหนดถนนสาย ก.20 ในร่างผังเมือง กทม. เจ้าหน้าที่บอกว่า ถนนสาย ก.20 ไม่ได้มีในผังเมืองเก่าปี 2556

ชาวสัมมากรยังสงสัยอีกว่า การขยายถนนในหมู่บ้านจาก 7 เมตร เป็น 12 เมตร นอกจากจะเอื้อประโยชน์ให้กับหมู่บ้านใหม่ติดกับซอยตัน 32 แล้ว

กลุ่มผู้รับผลประโยชน์เป็นนายทุนหมู่บ้านสัมมากรด้วยใช่หรือไม่ เพราะเมื่อขยายถนนเป็น 12 เมตร จะสามารถสร้างคอนโดมิเนียมสูงได้ถึง 34 ชั้น

 

ถนนสาย ก.20 เป็นโมเดลเดียวกับการเวนคืนซอยอารี ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท ที่กำลังเป็นข่าวฮือฮาในเวลานี้ เพราะถนนสาย ข.18 ตัดผ่านซอยอารี กทม.จะขยายถนนเป็น 16 เมตร จากเดิมเป็นถนน 2 เลน กว้าง 9-10 เมตร

เมื่อถนนกว้าง 16 เมตร นั่นหมายถึงว่า เป็นการปลดล็อกซอยอารีที่ห้ามสร้างอาคารสูงเกิน 8 ชั้น ใครเป็นนายทุนถ้ากว้านซื้อที่ดินในบริเวณนั้นเป็นผืนใหญ่ สามารถสร้างตึกสูงได้มากกว่า 34 ชั้นได้สบายแฮ

เวลานี้ มีอาคารสูง 30-40 ชั้น กำลังก่อสร้างในซอยอารี 1 รวมแล้ว 4 อาคาร ประชาชนยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางเพราะสงสัยว่า ผ่านกระบวนการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) มาแล้วหรือยัง?

บางอาคารนั้น กทม.อนุญาตให้ก่อสร้างได้อย่างไรเพราะถนนกว้างไม่ถึง 10 เมตร และกระบวนการอีไอเอ ผ่านอย่างรวบรัดจบในวันเดียว

เมื่อ กทม.ต้องการเปลี่ยนจากถนน 2 เลนในซอยอารี เป็น 4 เลน ชาวซอยอารีจึงพากันลุกฮือคัดค้านเพราะเห็นความไม่ชอบมาพากลมาตั้งแต่ต้น

 

กทม.อ้างว่า ได้เชิญชวนประชาชนรับฟังความคิดในการวางและจัดทำผังเมืองรวมในท้องที่รวม 50 เขตตั้งแต่วันที่ 8-22 ธันวาคม 2566 จากนั้นในวันที่ 23-24 ธันวาคม จัดประชุมกลุ่มเขตเพื่อรับฟังความคิดเห็นและปรึกษาหารือกับประชาชน ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Zoom Meeting) ร่วมกับการประชุมในสถานที่ต่างๆ เช่น ครั้งที่ 1 กลุ่มกรุงเทพตะวันออก ครั้งที่ 2 กลุ่มกรุงเทพกลาง ครั้งที่ 3 กลุ่มกรุงธนใต้ ครั้งที่ 4 กลุ่มกรุงเทพเหนือ ครั้งที่ 5 กลุ่มกรุงธนเหนือ ครั้งที่ 6 กลุ่มกรุงเทพใต้ และครั้งที่ 7 กรุงเทพมหานคร (50 เขต) นับรวม 7 ครั้ง

แต่ในความเป็นจริง ประชาชนในแต่ละกลุ่มเข้าประชุมรับฟังความเห็นจริงๆ แค่ 1-2 ครั้งเท่านั้น เพราะครั้ง 1-3 ประชุมพร้อมกันเวลาเดียวกันทุกกลุ่ม แต่ต่างสถานที่ เช่นเดียวกับครั้งที่ 4 ประชุมพร้อมกัน คนละสถานที่ แต่นับเป็นครั้งที่ 7

มีการตั้งข้อสังเกตว่า การจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นการร่างผังเมือง เพียงเพื่อให้เสร็จๆ ไป เหมือนเป็นการลักไก่หรือไม่ คือทำเพียงแค่ให้เสร็จตามขั้นตอน เงื่อนไขว่าได้ทำแล้ว ทั้งที่วิธีการไม่ถูกต้อง เป็นการทำเพียงเพื่อให้เข้ากับขั้นตอนว่าประชาชนรับรู้แล้ว และไม่คัดค้านเท่านั้น

 

ในเพจของคุณกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้พูดถึงเรื่องการจัดทำร่างผังเมืองใหม่ของ กทม.ว่า แทบทุกการปรับเปลี่ยนที่ กทม.เสนอล้วนมีเจตนาปรับเพื่อช่วยสนับสนุนกิจการของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ทั้งสิ้น

คุณกรณ์ยกตัวอย่าง 2 ข้อเสนอของ กทม.ดังนี้

1. กทม.จะเพิ่มขนาดถนนรอง โดยอ้างว่าเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงระบบรถไฟฟ้า และช่วยแก้ไขปัญหาการจราจร ซึ่งฟังไม่ขึ้น

เพราะจากพิกัดบริเวณที่กำหนดให้ถนนแทรกขยาย ผ่าชุมชนเข้าไปบางพื้นที่นั้น ทำให้เชื่อว่าวัตถุประสงค์หลักคือ เพื่อกำจัดอุปสรรคในการสร้างตึกสูงเพิ่มเติมเข้าไปในย่านชุมชนที่มีถนนเล็กซอยแคบ (ปัจจุบันหลายโครงการติดเงื่อนไขระยะความกว้างของซอย)

กทม. ได้ขีดเส้นวางแนวการตัดขยายถนนไว้ถึง 148 สาย ความยาวกว่า 600 กิโลเมตร หากตรงนี้ผ่านได้ จะนำไปสู่การรุกคืบโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่เข้าไปในหลายชุมชน หลายซอย ทั่วเมือง (โดยที่การขยายให้ถนนกว้างกว่า 10 เมตรซึ่งมีผลมากต่อการสร้างตึกสูง จะไม่ต้องมาจากการเวนคืนด้วยซ้ำ แต่จะเป็นการให้เอกชนร่นพื้นที่ตนเอง พูดง่ายๆ คือประโยชน์สาธารณะแทบไม่มี)

2. กทม.เสนอมาตรการ ‘FAR. Bonus’ คือ การเพิ่มสิทธิก่อสร้างอาคารให้สามารถเพิ่ม “อัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน” (FAR – Floor Area Ratio) ได้ถึง 20% จากเดิม แลกกับการอุทิศบางสิ่งที่ กทม.กำหนดว่าจะเป็นประโยชน์กับประชาชนทั่วไป เช่น สวนหย่อมบนหลังคาตึก, สวนแนวตั้ง, การจัดให้มีพื้นที่ว่าง หรือเจียดพื้นที่เสมือนสาธารณะบางส่วนของโครงการ เพื่อประโยชน์แก่สาธารณะ ฯลฯ ที่ล้วนเป็นมาตรการที่ประโยชน์สาธารณะน้อย แต่ประโยชน์ของผู้ประกอบการมีมูลค่ามหาศาล

ที่สุดมาตรการนี้จะทำให้เกิดโครงการลูบหน้าปะจมูกเพื่อเป็นข้ออ้างสิทธิสร้างตึกให้ใหญ่ขึ้น จะเปิดช่องการใช้วิจารณญาณของเจ้าหน้าที่ และการทุจริตคอร์รัปชั่นมากมาย ที่จะควบคู่ตามมาจากวิถีปฏิบัติที่เห็นกันต่อเนื่องมาในเรื่องการขาดการกำกับ ตรวจสอบ การบังคับใช้กฎหมายไปจนถึงการลงโทษในกรณีที่ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง

“เรื่องทั้งหมดนี้คนกรุงเทพฯ ต้องสู้เองนะครับ อย่าหวังผู้มีอำนาจมาช่วย เพราะไม่ว่าจะเป็นท่านผู้ว่าฯ หรือแม้แต่ท่านนายกฯ ทั้งสองท่านจะเก่งจะดีอย่างไรก็ตาม ผมก็ยังกังวลว่า ที่สุดแล้วท่านจะเข้าข้างบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (ผมหวังจากใจว่าประเมินทั้งสองท่านผิดในกรณีนี้)

ท่านทั้งสองล้วนมาจากอาชีพสร้างคอนโดฯ และท่านผู้ว่าฯ ยังได้แต่งตั้งนักพัฒนาอสังหาฯ มาเป็นทั้งรองผู้ว่าฯ และที่ปรึกษา ที่ยังสามารถสลับร่างไปมาในการบริหารจัดการ ทำธุรกิจอสังหาฯ ควบคู่หน้าที่ทางราชการไปได้อย่างน่าฉงน

“ผมจึงคิดว่าชาวกรุงเทพฯ วางใจไม่ได้ ต้องสู้ร่วมกันครับ” คุณกรณ์สรุปตบท้าย •

 

ใต้ภาพ

ชาวหมู่บ้านสัมมากร เขตสะพานสูง กรุงเทพมหานคร ติดป้ายคัดค้านการเวนคืนที่ดินขยายถนนในซอยของหมู่บ้านที่ปรากฏในร่างผังเมืองฉบับใหม่ของ กทม. พร้อมกับตั้งข้อสงสัย เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังก่อสร้างโครงการหรูพื้นที่ติดกับหมู่บ้านสัมมากร

 

สิ่งแวดล้อม | ทวีศักดิ์ บุตรตัน

[email protected]