ธุรกิจระวัง เครดิตหดตัว

บรรยายกาศในแวดวงธุรกิจต้นปี 2567 เศรษฐกิจไม่ได้คึกคักฟื้นตัวตามที่คาดหวังไว้ และอนาคตก็ยังคาดการณ์แน่นอนอะไรไม่ได้ ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจต่างๆ หันมาระมัดระวังการดำเนินธุรกิจมากขึ้น

เฉพาะในวงการธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เจอปัญหากำลังซื้อในตลาดอ่อนตัว ปัญหาหนี้ครัวเรือน และการปฏิเสธการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยของสถาบันการเงิน ทำให้บริษัทอสังหาฯ ขนาดกลางและเล็กบางรายที่เร่งขยายการลงทุนประสบปัญหาการขายและรายได้ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ส่งผลให้การชำระหนี้กับซัพพลายเออร์สินค้าวัสดุก่อสร้าง ตกแต่ง ล่าช้า ไม่เป็นไปตามกำหนดเวลา

ก่อนหน้านี้เกิดปัญหาผู้รับเหมาขนาดกลางใหญ่รายหนึ่งไม่ได้รับชำระหนี้จากโครงการพัฒนาอสังหาฯ ได้แก้ปัญหาโดยขอศาลล้มลาย ส่งผลให้บรรดาซัพพลายเออร์ทั้งหลายไม่ได้รับการชำระหนี้สินค้า

และล่าสุดเร็วๆ นี้ บริษัทก่อสร้างยักษ์ใหญ่ของประเทศที่เคยมีงานก่อสร้างสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ภาครัฐมากมาย เกิดปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน และหนี้สินจำนวนมหาศาล

 

สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ ธุรกิจการค้าต่างๆ ที่เกี่ยวข้องพากันระมัดระวังตัว ทำให้การเปิดให้เครดิตการเงินกับคู่ค้าน้อยลง และมีเงื่อนไขที่รัดกุมเข้มงวดมากขึ้น

ในระบบเศรษฐกิจนั้น ถัดจาก “เงินสด” ก็คือ “เครดิต” ที่คู่ค้าให้กัน ถือเป็น “อำนาจซื้อ” เมื่อการค้าต่างๆ ให้เครดิตกันน้อยลง มูลค่าการซื้อขายในระบบก็ลดลง

ในอีกด้านหนึ่งสถาบันการเงินซึ่งเป็นผู้ให้เครดิตรายใหญ่ของระบบก็เจอปัญหาหนี้เสียและหนี้สงสัยจะมีปัญหามากขึ้น เมื่อเร็วๆ นี้บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ หรือ “เครดิตบูโร” เปิดเผยว่า หนี้เสียหรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อยู่ในระดับสูง

แต่ที่น่าห่วงคือหนี้ค้างชำระไม่ถึง 90 วันที่ยังไม่นับเป็นหนี้เสีย แต่เป็นหนี้ที่จับตา (SM) เพิ่มขึ้น 17.8% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านี้ และที่ค้างชำระมากที่สุดในปี 2566 คือสินเชื่อบ้าน 1.8 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 31% ซึ่งในจำนวนนี้ค้างชำระ (SM) หรือหนี้ที่ออกอาการผ่อนไม่ไหวของสินเชื่อบ้าน 1.8 แสนล้านบาทนี้ จำนวน 1.2 แสนล้านบาทเป็นหนี้สินเชื่อซื้อบ้านต่ำกว่า 3 ล้านบาท

ฉะนั้น ไม่ต้องแปลกใจเลยว่าปี 2567 นี้ การกู้ซื้อบ้าน คอนโดฯ ระดับราคา 3 ล้านบาท จะถูกปฏิเสธการปล่อยกู้ในอัตราสูงต่อไป และสูงมากกว่าเดิม และการให้สินเชื่อโครงการบ้าน คอนโดฯ ที่ทำที่อยู่อาศัยในกลุ่มระดับราคา 3 ล้านบาทบวกลบ ก็ย่อมยากไปด้วย

 

ประเทศไทยสิบกว่าปีเกือบยี่สิบปีมานี้อยู่ในความขัดแย้งทางการเมืองรุนแรง ไม่มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจธุรกิจ

ยังอาศัยอุตสาหกรรมเดิมๆ ธุรกิจเดิมๆ สร้างรายได้และจ้างงาน ขณะที่สภาพแวดล้อมระหว่างประเทศเปลี่ยนไปมากแล้ว

แม้ปัจจุบันนโยบายรัฐกระตุ้นกำลังซื้อ ก็ยังไม่มั่นใจว่าจะทำได้หรือไม่

ยังไม่ต้องพูดถึงนโยบายการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ๆ ธุรกิจใหม่ๆ ที่ทำให้สามารถแข่งขันหรืออยู่ในตลาดโลกได้ •

 

ก่อสร้างและที่ดิน | นาย ต.