อำนาจ/ความรู้ : มหาวิทยาลัยแห่งมนุษยธรรม (มธก.) (4)

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

ตุลวิภาคพจนกิจ | ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

 

อำนาจ/ความรู้

: มหาวิทยาลัยแห่งมนุษยธรรม (มธก.) (4)

 

ร่องรอยของแนวคิดการศึกษาแบบศิลปศาสตร์พบเป็นครั้งแรกใน “รายงานความเห็นในเรื่องการสำรวจการศึกษาเพื่อประกอบพระบรมราโชบายเรื่องการตั้งมหาวิทยาลัย” (2471) เจ้าฟ้ากรมหลวงสงขลานครินทร์เป็นผู้ถวายความเห็นนั้น

รายงานฉบับนี้เป็นครั้งแรกที่มีการนำเสนอความคิดเรื่องมหาวิทยาลัยที่รอบด้านและให้น้ำหนักแก่ความคิดปรัชญาเบื้องหลังมหาวิทยาลัยที่เรียกกันต่อมาว่า “ศิลปศาสตร์” ด้วย ซึ่งแน่นอนว่าได้รับอิทธิพลจากมหาวิทยาลัยอเมริกัน

รายงานนี้ตั้งประเด็นที่การสำรวจต้องตอบ ได้แก่

1) โครงการศึกษาสำหรับชาติมีวิธีการศึกษาอย่างใดบ้าง

2) ในวิธีการอุดมศึกษา ควรใช้วิธีตั้งมหาวิทยาลัยหรือไม่

3) เมื่อเราเห็นควรให้มีมหาวิทยาลัยแล้ว จะคิดโครงการอย่างไร และจะประกอบการติดต่อกับคณะอุดมศึกษาอย่างอื่นได้อย่างไร

4) ควรมีมหาวิทยาลัยในสมัยนี้หรือในอนาคต ขณะใดจึงควรมี

5) เมื่อถึงเวลาจะตั้ง การลงทุนเท่าใด

6) ผลได้

7) มหาวิทยาลัยใช้อะไรเป็นแก่นของโครงการสร้าง

มธ เก่า

แนวความคิดดังกล่าวน่าได้มาจากประสบการณ์ของพระองค์ท่านในโครงการแพทยศาสตร์ในสมัยรัชกาลที่ 7 ซึ่งเป็นแห่งเดียวที่ดำเนินการการศึกษาที่เป็นแบบมหาวิทยาลัยได้ตามมาตรฐานตะวันตก โดยเจ้าฟ้ากรมหลวงสงขลานครินทร์ทรงรับผิดชอบและดำเนินการเอง ซึ่งได้รับความช่วยเหลือและร่วมมือกับร็อกกี้เฟลเลอร์มูลนิธิ ให้เงินทุนมาสร้างห้องทดลองและค่าเงินเดือนศาสตราจารย์อเมริกัน 6 คน

ในขณะที่แผนการสร้างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้านอื่นๆ นั้นตกในสภาวะที่เรียกว่า “หยุดนิ่ง” ไม่มีการขยายออกไปตามแผน หลักสูตรไม่ประสบผลสำเร็จ หลักสูตรอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ (เคมี ฟิสิกส์) ไม่มีนักเรียนสมัครเข้าเรียน จนต้องระงับไป

น่าสังเกตว่าแนวคิดแบบเรียนรู้รอบยังมีเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีอีกท่านที่เห็นด้วย และทำรายงานการจัดมหาวิทยาลัยถวาย

รายงานนี้เริ่มระบุถึงการจัดการศึกษามหาวิทยาลัยที่มากไปกว่าด้านวิชาชีพ ด้วยการระบุว่า ควรจัดให้ได้ผลทั้งทาง “อบรมมนุษยธรรม” (cultural training) แบบมหาวิทยาลัยเก่าของอังกฤษและทางวิชาชีพ (professional training) ซึ่งเป็นจุดหมายของมหาวิทยาลัยใหม่ๆ เช่น ในเมืองอาณานิคม

หลักสูตรสำหรับจุดมุ่งหมายการอบรมทางมนุษยธรรมและหลักสูตรสำหรับผู้มุ่งทางอาชีพ แบ่งออกเป็น 2 แผนกใหญ่คือหนึ่งอักษรศาสตร์ ซึ่งแบ่งออกไปได้สี่คณะคือ 1) ทางอักษรศาสตร์ (General Course) 2) ทางศึกษาศาสตร์ 3) ทางนิติศาสตร์ 4) ทางรัฐประศาสนศาสตร์

ส่วนแผนกทางวิทยาศาสตร์ จัดเป็นกิ่งได้แก่ 1) ทางวิทยาศาสตร์กลางๆ 2) ทางศึกษาศาสตร์ 3) ทางแพทยศาสตร์ 4) ทางวิศวกรรมศาสตร์

นำไปสู่การอภิปรายถึงปัญหาและแนวทางในอนาคตของการสร้างมหาวิทยาลัยซึ่งยังไม่มีการดำเนินการอะไรอย่างเป็นระบบจนถึงปี 2475

 

กล่าวได้ว่ามหาวิทยาลัยในระยะเปลี่ยนผ่านของระบอบการปกครองสยามยังไม่มีการอภิปรายและค้นคว้าในเชิงลึกโดยเฉพาะจากสภาพทางสังคมของสังคมสยามเอง

ที่สำคัญคือสภาพทางระบบการเมืองและโครงสร้างอำนาจ ซึ่งยังรวมศูนย์อำนาจทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ ทำให้การเติบใหญ่ของตลาดและกลุ่มคนชั้นกลางจากการประกอบธุรกิจการค้าและอุตสาหกรรมไม่เกิดอย่างจริงจัง

ปัจจัยของการมีผู้ประกอบการและช่างฝีมือที่มีบทบาททางสังคม เป็นฐานรองรับความต้องการในความรู้แบบเสรีและมีมนุษยธรรม ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของระบบศึกษาแบบศิลปศาสตร์ที่ได้ทำสำเร็จมาก่อนแล้วในสหรัฐอเมริกา

จุดอ่อนของสยามคือที่ผ่านมาการจัดตั้งและสร้างระบบอุดมศึกษาก็คิดเหมือนกับการนำเข้าสินค้าใหม่ชนิดหนึ่งที่เมื่อใช้ไประยะหนึ่งก็จะคุ้นเคยและทำเองได้ต่อไป

กระนั้นก็ตามยังมีคนจำนวนน้อยที่เริ่มคิดและเสนอแนวทางในการสร้างระบบการศึกษาใหม่ในสยามที่ต้องคำนึงถึงการสร้างพื้นฐานอันกว้างใหญ่และมั่นคง

เช่น เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีซึ่งมองไกลไปถึงอนาคตของประเทศเห็นว่าปัญหาสำคัญในการจัดการศึกษาของประเทศสยาม อยู่ที่ว่าจะจัดแผนเส้นราบหรือแผนเส้นตั้ง คือสร้างคนส่วนน้อยหรือคนส่วนใหญ่ให้ได้รับการศึกษาถึงระดับอุดมศึกษา

“ปัญหาสำคัญในการจัดการศึกษาของประเทศสยามซึ่งทางการจะต้องตัดสินใจแต่เบื้องต้นนั้น อยู่ที่ว่าจะจัดแผนเส้นราบหรือแผนเส้นตั้ง ความเร่งร้อนที่ต้องการคนเข้ารับราชการในตำแหน่งสำคัญ และในงานเทคนิคซึ่งประเทศจัดใหม่จะต้องรีบจ้ำ กับความรักสงบของประชาชนทั่วไปสนับสนุนให้ใช้แผนเส้นตั้ง แต่วิทยาลัยและโรงเรียนอุดมศึกษาจัดได้แพง ทั้งจะต้องตั้งฐานรับให้แข็งแรงคือมีโรงเรียนประถมมัธยมเลี้ยงเพียงพอ การเงินซึ่งอัตคัดอยู่มากเข้ามาหักล้างให้จัดไปในทางแผนเส้นราบ พร้อมด้วยคติที่ว่า ไม่ต้องปั้นเทวดาก็ได้ เมื่อยกมนุษย์ขึ้นทั้งกะบิก็ได้เทวดาเอง คำตัดสินใจจึงเป็นไปในทางเลือกจัดแผนเส้นราบ ให้ได้รูปเป็นการศึกษาชาติที่เรียกว่า national education…” (กองจดหมายเหตุแห่งชาติ 2462)

 

มองย้อนกลับไป น่าคิดว่าแนวคิดในการก่อตั้งมหาวิทยาลัยแต่แรกของสยามนั้น ทั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและธรรมศาสตร์ในเวลาต่อมา ที่รับมาจากอิทธิพลของอุดมศึกษาตะวันตกได้เริ่มถกเถียงปัญหาอันเป็นแกนกลางของอุดมศึกษาคือระหว่างวิชาชีพเฉพาะกับที่เน้นการเรียนแบบรู้รอบและความแตกฉานทางสติปัญญามากกว่าความรู้ในทางวิชาชีพอย่างเดียว

ที่ต่อมาเรียกว่าความขัดแย้งในสองวัฒนธรรม (The Two Cultures) ระหว่างวิทยาศาสตร์กับมนุษยศาสตร์ เห็นได้จากการที่คณะอักษรศาสตร์ยุคแรกนั้นมีชื่อว่า “คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์” แต่สยามติดขัดในเรื่องอาจารย์และนักศึกษา จึงไม่อาจปฏิบัติได้ตามความมุ่งหมายดั้งเดิมหากหันไปหาการส่งเสริมวิชาชีพและเฉพาะทางแทนซึ่งให้ผลสัมฤทธิ์ในเวลาไม่นานนัก

อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยที่ตั้งปณิธานในการสร้างความรู้แบบมนุษยธรรมเป็นแกนหลักในที่สุดก็ถือกำเนิดออกมาในปี พ.ศ.2477 คือ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (มธก.) ซึ่งก่อตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการตามหลัก 6 ประการของคณะราษฎร แต่ไม่ได้สืบทอดแนวความคิดศิลปศาสตร์ของเจ้าฟ้ากรมหลวงสงขลานครินทร์เลย

โดยในวันเปิดมหาวิทยาลัยประธานในงานระบุว่า “เพราะประเทศปกครองโดยรัฐธรรมนูญ จำเป็นต้องเผยแพร่วิชาธรรมศาสตร์และการเมืองให้แพร่หลาย เพื่อปวงชนจะได้รับทราบความเป็นไปในบ้านเมืองซึ่งทุกๆ คนเป็นเจ้าของ”

และเพื่อให้เป็นแบบแนวนอน “ยกมนุษย์ทั้งกระบิ” ขึ้น จึงได้เปิดเป็น “ตลาดวิชา” คือรับนักศึกษาอย่างกว้างขวางและมีคุณสมบัติการเข้าศึกษาที่ไม่กีดกัน

นี่จึงเป็นนโยบายการศึกษาในระบอบประชาธิปไตยครั้งแรก “ที่เปิดโอกาสแก่พลเมืองที่จะใช้ เสรีภาพในการศึกษา ให้กว้างขวางขึ้น” มีเพียงคณะนิติศาสตร์ในระดับปริญญาตรี หลักสูตรแบ่งเป็นวิชากฎหมาย วิชาการเมือง วิชาเศรษฐการและอื่นๆ กฎหมายเป็นหลักแต่ครอบคลุมถึงวิชาอื่นๆ ด้วย คือเน้นความรอบรู้ วิชาที่นักศึกษาต้องสอบมี 4 วิชาคือ ธรรมศาสตร์ (วิทยาศาสตร์) วิชาการงาน (เศรษฐศาสตร์) วิชาประชาคม (การเมืองและกฎหมาย) และวิชาศีลธรรม (ปรัชญา-ศาสนา)

นี่เป็นแนวคิดอุดมศึกษาแบบยุโรปโดยเฉพาะฝรั่งเศสโดยแท้ และให้มีระดับปริญญาโทและเอกในวิชารัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์และการทูต

ในปี 2481 เปิดสอนวิชาการบัญชีในระดับปริญญาตรีและโท โดยให้ประกาศนียบัตรชั้นสูงทางการบัญชีแทน ไม่ใช้คำว่า “ปริญญา” เพราะความหมายของปริญญาในพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยหมายรวมเฉพาะความรู้รอบทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์และการเพิ่มสติปัญญามากกว่าความรู้ในทางวิชาชีพ

“แนวความคิดเช่นนี้ต้องการวางรากฐานการศึกษาให้คนสามารถรู้และเข้าใจในปรากฏการณ์ต่างๆ อย่างรอบด้าน เข้าใจสิ่งต่างๆ อย่างมีเหตุมีผล หรืออย่างใช้ความสามารถทางปัญญา การเป็นผู้เข้าใจในสิ่งต่างๆ อย่างเป็นระบบคือเป้าหมายสูงสุดของการศึกษาตามแนวปรัชญาอันนี้” (ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และคณะ 2535, 79)

 

โครงสร้างและปรัชญาการศึกษามหาวิทยาลัยดังกล่าวถึงจุดจบและสลายไปแทบหมดสิ้นหลังการรัฐประหารในวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 โดยคณะทหารบก ซึ่งในระยะยาวจะเข้ามาแทนที่คณะราษฎรในการปกครองและบริหารประเทศ โครงสร้างและหลักสูตรรวมถึงชื่อของมหาวิทยาลัยเปลี่ยนมาเป็น “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” ไม่มีวิชาและการเมือง

จัดตั้งปรับโครงสร้างคณะต่างๆ ให้เป็นแบบวิชาชีพที่แยกส่วนออกจากกัน ได้แก่ กำเนิดคณะนิติศาสตร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี คณะรัฐศาสตร์และคณะเศรษฐศาสตร์ในปี 2492

ต่อมาในปี 2497 ภายหลังจากที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม มาดำรงตำแหน่งอธิการบดีธรรมศาสตร์ ได้ผลักดันให้จัดตั้งคณะสังคมสงเคราะศาสตร์ขึ้นมา จากความต้องการและความเชื่อในเรื่องการประชาสงเคราะห์ของท่านเอง

สุดท้ายในปี 2498 รัฐบาลอเมริกันผลักดันให้ตั้งคณะรัฐประศาสนศาสตร์ โดยให้ความสนับสนุนทั้งหมดไม่ว่าด้านเงินทุนและบุคลากรผู้สอน

น่าสนใจว่าพัฒนาการระยะนี้ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ตกอยู่ใต้อำนาจบีบบังคับทางการเมืองของรัฐบาลสูงมากและต้องดำเนินการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปตามนโยบายอันเป็นความต้องการของฝ่ายผู้มีอำนาจการเมืองทั้งจากในและต่างประเทศ

การจะรักษาและสานต่ออุดมการณ์และปรัชญาการศึกษาแบบความรู้รอบแต่เดิมนั้นแทบจะไม่มีพื้นที่และความคิดอะไรที่จะมาผลักดันต่อไปได้

บรรณานุกรม

กองจดหมายเหตุแห่งชาติ 2462. เอกสาร ร. 6 ศธ. 42/13 การประชุมอุปราชและสมุหเทศาภิบาล พ.ศ.2462 หน้า 5-6.

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และคณะ. 2535. สำนักนั้น ธรรมศาสตร์และการเมือง กรุงเทพฯ ดอกหญ้า.