Perfect Days วันที่สมบูรณ์ที่ไม่ได้สมบูรณ์

“วันนี้ก็คือวันนี้”

นี่คือบทพูดของตัวละครนำในภาพยนตร์ญี่ปุ่นเรื่อง “Perfect Days”

เป็นหนึ่งในจำนวนไม่น่าเกิน 200 ประโยคจากหนังเรื่องนี้ที่มีความยาว 2 ชั่วโมง นั่นหมายความว่า หนังทั้งเรื่องพูดกันน้อยมาก ส่วนใหญ่แล้วผู้ชมจะรับรู้เรื่องราวจากภาพและการกระทำของตัวละครมากกว่า รวมทั้งได้สดับรับฟังเสียงต่างๆ ที่ไม่ใช่การพูดโดยตรง

ที่หนังเป็นเช่นนี้ก็เพราะเป็นแนวทางที่กำหนดโดยผู้กำกับฯ ชาวเยอรมันชื่อว่า “วิม เวนเดอร์ส” แต่มาทำหนังญี่ปุ่นได้แบบ ญี่ปุ๊น…ญี่ปุ่น มากๆ

ซึ่งเขาได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า สิ่งที่เขาค้นพบจากการทำหนังเรื่องนี้คือ “จิตวิญญานของความเป็นญี่ปุ่น”

หนังเล่าเรื่องถึงกิจวัตรประจำวันของ “ลุงฮิรายามะ” ที่มีหน้าที่ทำความสะอาดห้องน้ำสาธารณะ เราจะได้เห็นว่าตั้งแต่ลุงตื่นนอนมาในตอนเช้าแล้วทำอะไรก่อนจะออกไปทำงาน แล้วเราก็ได้เห็นกระบวนการทำงานของลุงในห้องน้ำแบบต่างๆ ไปจนกระทั่งเย็น และเข้านอน…แค่นั้นจริงๆ

กิจวัตรนี้ไม่ได้เล่าแค่วันเดียว แต่เล่าอย่างนี้น่าจะร่วม 10 วันได้ เราจึงได้เห็น “ความซ้ำ” ของสิ่งที่ตัวละครทำแบบวนลูป

แต่เชื่อไหมว่า มันไม่ได้น่าเบื่อเลย กลับทำให้เราอยากติดตามว่าในวันนี้ลุงจะได้เจอกับอะไร และเขามีวิธีรับมือกับมันอย่างไร

สิ่งที่เราได้รู้จัก “ตัวตนของลุงฮิรายามะ” ก็มาจากสิ่งที่แกทำในแต่ละวัน ที่ดูแล้วเรียบง่าย ธรรมดา ซ้ำๆ แต่ทว่า จะเห็นได้ถึงการมี “ความสุข” ของแกอย่างแท้จริง

ลุงอาศัยอยู่ตัวคนเดียวในห้องเช่าเล็กๆ แต่สะอาดเป็นระเบียบ โดยเฉพาะในห้องนอนของแก ที่มีชั้นไม้ใส่เทปคาสเซ็ตเพลงจำนวนมาก และวางหนังสือจำนวนไม่น้อยเช่นกัน บ่งบอกถึงรสนิยมในการใช้ชีวิตของลุง

เราจะได้เห็นแกอ่านหนังสือเล่มเล็กๆ ก่อนนอนทุกวัน และเปิดเพลงฟังจากวิทยุทรานซิสเตอร์เครื่องเก่า แต่นั่นก็ทำให้แกมีความสุขได้

นอกจากฟังเพลงที่บ้าน แกยังเปิดเพลงฟังในรถเล็กๆ ที่มีเครื่องมือทำความสะอาดอัดอยู่เต็มในขณะขับไปทำงาน

เพลงที่เปิดฟังนี้เหมือนเป็นตัวละครตัวหนึ่งที่บอกถึงอารมณ์ความรู้สึกของลุงในตอนนั้น

โดยเฉพาะกับฉากสุดท้ายที่เป็นเพลง “Feeling Good” พร้อมภาพลองเทคที่จับสีหน้าของคุณลุงที่สะท้อนความรู้สึกภายในออกมาได้อย่างดี

เป็นการแสดงที่ต้องยกนิ้วให้ และนี่อาจโดนใจกรรมการของเทศกาลหนังเมืองคานส์ปีนี้ จึงเลือกให้ “โคจิ ยาคุโช” ที่รับบทลุงฮิรายามะ ได้รางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมไปครอง

เราจะเห็นลุงไปซักผ้าที่ร้านเดิม ไปร้านอาบน้ำสาธารณะที่เดิม กินอาหารร้านเก่า บางทีก็แวะเวียนไปบาร์ที่คุ้นเคย ร้านหนังสือที่ไปซื้อก็เป็นร้านเล็กๆ ขายเล่มละ 100 เยน เจ้าของเป็นหญิงกลางคนที่รู้จักนักเขียนอย่างดี จึงวิจารณ์ได้ทันทีเมื่อเห็นหนังสือที่ลุงเลือกซื้อ

มีอีกสิ่งหนึ่งที่เติมเต็มความสุขของแกได้มากก็คือ การถ่ายรูปด้วยกล้องอะนาล็อกเก่าๆ ที่ต้องเอาฟิล์มไปล้าง แล้วลุ้นว่ารูปที่ถ่ายออกมาเป็นอย่างไร ซึ่งภาพที่ลุงถ่ายก็เป็นภาพธรรมชาติที่เห็นอยู่รอบตัวในแต่ละวัน โดยเฉพาะภาพต้นไม้ใหญ่และแสงเงาที่ลุงเงยหน้าขึ้นไปเห็นในขณะพักกินอาหารกลางวันในสวนสาธารณะ

ต้นไม้ต้นเดียวกันนี้ บรรยากาศรอบข้างเดียวกันนี้ที่ทำให้ลุง “สุขแบบง่ายๆ” ได้ แต่กับหญิงสาวอีกคนที่มานั่งกินอาหารกลางวันที่นี่ทุกวันกลับมองไม่เห็น เราจะเห็นว่าเธอสนใจแต่ความรู้สึกทุกข์ เศร้าหมอง และขุ่นมัวในตัวเองเสมอ

ไม่มีแม้แต่สายตาที่จะมองเห็นความงามตรงหน้าอย่างที่ลุงเห็น

เห็นอย่างนี้แล้วไม่ใช่ว่าลุงเป็นคนประเภท Introvert นะครับ

จริงๆ แล้วลุงมีอัธยาศัยดีทีเดียว แม้จะไม่ค่อยพูดแต่เจอใครก็จะส่งยิ้มและสายตาทักทายเสมอ โดยไม่สนใจว่าเขาจะตอบรับอย่างไร

แกเป็นคนฟังมากกว่าพูด แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าแกจะไม่เอาใคร

หลายคนที่เดือดร้อนหรือเป็นทุกข์ที่แกได้เจอ ได้ฟังเรื่องของเขา ลุงแกก็ยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือเท่าที่ทำได้ ไม่ว่าจะคนรู้จักหรือคนแปลกหน้า

อย่างการที่ชวนชายสูงวัยที่ระบายว่าตนเป็นมะเร็งขั้นลุกลาม ได้ลุกขึ้นเล่นแข่งเหยียบเงากัน เกิดเป็นเสียงหัวเราะแบบเด็กๆ ขึ้นได้ สุขง่ายๆ มีอยู่จริง

มีการสื่อสารกับคนแปลกหน้าอย่างหนึ่งของลุงที่น่ารักมาก คือ แกจะเล่นเกม OX กับใครก็ไม่รู้ที่เข้ามาใช้บริการที่ห้องน้ำ โดยแกจะเสียบกระดาษที่เล่นเกมไว้ตรงซอก ทุกวันจะมีคนมากา O เพิ่มเข้าไป

แกก็จะกา X ตอบเพื่อเล่นเกมกับเขา

เราได้เห็นคนที่แวะเวียนเข้ามาในชีวิตประจำวันของลุงเป็นคนไกลตัวทั้งนั้น มีที่ใกล้ตัวที่สุดก็คือ “เนโกะ” หลานสาววัยรุ่นที่เป็นลูกของน้องสาว ซึ่งเนโกะได้แวะมาขอพักพิงกับแก และขอตามไปด้วยเวลาลุงไปทำงาน

เราะจะเห็นความแตกต่างของวัย ในขณะที่คนหนึ่งเป็นดิจิทัล แต่อีกคนเป็นอะนาล็อก เนโกะได้เห็นเทปคาสเซ็ตครั้งแรกที่นี่ เมื่อได้ฟังเพลงๆ หนึ่ง ก็เปรยขึ้นว่า “ที่ Spotify จะมีเพลงนี้ไหมนะ”

ลุงก็ตอบว่า “น่าจะมี ร้านมันอยู่ที่ไหนล่ะ”

หลานได้ฟังก็หัวเราะออกมา

ในขณะเดียวกันเนโกะก็ได้ซึมซับเอาความเรียบง่ายของลุงเข้ามา หลายอย่างเป็นประสบการณ์ใหม่ในชีวิต แต่ก็ทำให้เธอค้นพบอะไรบางอย่าง เช่น การได้อ่านหนังสือของลุง ที่ตัวละครในหนังสือมีปมคล้ายกับเธอ ได้เห็นการบริการคนอื่นด้วยความสุขของลุง ได้ร่วมนั่งดื่มเครื่องดื่มในสวน สาธารณะพร้อมชมความงามของธรรมชาติ จนเธอต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่ายภาพบ้าง

เธอพักอยู่กับลุงได้ไม่กี่วัน แม่ก็นั่งรถเก๋งคันโตมีคนขับมาจอดหน้าที่พักของลุงเพื่อรับเธอกลับ ทั้งที่ไม่อยากกลับแต่เนโกะก็จำต้องลาลุงของเธอ

เธอบอกว่าลุงเธออยู่ที่นี่แล้วมีความสุขพร้อมสวมกอดเพื่อลาอย่างคิดถึง

หนังไม่ได้เล่าถึงเรื่องราวระหว่างลุงกับน้องสาวแต่อย่างใด คนดูพอจะรับรู้บ้างก็จากคำพูดของเนโกะที่บอกว่า “ลุงกับแม่เหมือนอยู่กันคนละโลก” หากโลกของลุงทำให้เธอมีความสุข งั้นโลกของแม่คงจะไม่ได้สร้างความสุขให้เธอได้พอกระมัง

น้องสาวมองบ้านที่พี่ชายพักและถามว่าทำงานทำความสะอาดห้องน้ำจริงๆ เหรอ ในสายตานั้นมีแววสงสารและผิดหวังปนอยู่

แม้จะเห็นน้องสาวแค่ฉากสั้นๆ ฉากเดียวนี้ แต่เราก็พอจับได้ว่า ความสุขของน้องสาวน่าจะมีไม่เท่ากับความสุขที่ลุงมี ไม่อย่างนั้นลูกสาวคงไม่หนีมาหาลุงเป็นแน่

ฉากที่สดใสและมีความสุขไม่น้อยคือฉากที่ลุงกับหลานขี่จักรยานข้ามสะพานที่ด้านล่างเป็นแม่น้ำกว้างพร้อมแสงแดดที่สาดมา เมื่อเธอรู้ว่าแม่น้ำนี่ไหลไปออกมหาสมุทร เธอก็เปรยว่าอยากไปที่นั่นจัง เราไปกันไหม?

ลุงตอบสั้นๆ ว่า “ไว้วันหลัง” หลานถามกลับว่า “แล้ววันหลังนะวันไหน” ลุงก็ตอบว่า

“วันหลังก็คือวันหลัง วันนี้ก็คือวันนี้”

เป็นคำตอบสั้นๆ ง่ายๆ เหมือนไม่มีอะไร แต่จริงๆ มันคือนิยามของการใช้ชีวิตของลุงฮิรายามะนั่นเอง ลุงไม่สนใจว่าวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร แต่ขออยู่กับวันนี้ให้ดีที่สุด อยู่กับสิ่งที่พบเจอไม่ว่าจะดีหรือร้ายอย่างมีความสุขที่สุด

แม้สิ่งที่ลุงทำอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันมันจะเล็กๆ น้อยๆ ในสายตาของคนอื่นก็ตามที

แต่กับเขามันมีคุณค่าและมีความสำคัญเสมอ

ที่ตั้งชื่อตอนตอนนี้ว่า Perfect Days วันที่สมบูรณ์ที่ไม่ได้สมบูรณ์ ก็เพราะในทุกๆ วันของลุงมันไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ มีปัญหาให้ได้เผชิญเสมอ แต่ลุงก็รู้จักวิธีที่จะรับมือกับปัญหาเหล่านั้น อย่างสงบนิ่ง และมองมันอย่างมีความสุข

ก็เหมือนกับชีวิตของคนเราที่ไม่มีทางสมบูรณ์แบบได้ หากแต่ในความไม่สมบูรณ์นั้น ถ้าเราเรียนรู้ที่จะหา “ความสุข” จากมันได้ มันก็คงจะดีไม่น้อย

ทุกอย่างมันอยู่ที่ใจเราและตาที่มองเห็น หูที่ได้ยิน นั่นเอง

เมื่อพูดถึงงานด้านการสร้าง เราจะเห็นการออกแบบที่ไม่ธรรมดาในงานนี้ของผู้กำกับฯ อย่างแรกเลยคือขนาดของภาพ ที่เลือกใช้ขนาด 4:3 แบบภาพยนตร์รุ่นเก่า ไม่ใช่ภาพกว้างอย่างในปัจจุบัน สเกลภาพขนาดนี้ เวลาชมจะให้ความรู้สึกใกล้ชิดและโฟกัสกับสิ่งที่ต้องการนำเสนอได้มากกว่า

มีการเล่นแสงที่เป็นธรรมชาติมากๆ ทั้งแสงในที่พัก แสงในสวนสาธารณะ แสงยามบ่ายในขณะที่ขี่จักรยานข้ามสะพาน และแสงของเมืองในมุมสูง ในขณะเดียวกันก็มีการเล่นแสงกับเงาในฉากความฝันของลุงได้อย่างน่าสนใจ

อีกงานหนึ่งที่โดดเด่นคืองานเสียง เป็นภาพยนตร์ที่ไม่เปลืองค่าทำดนตรีประกอบเลย เพราะเราจะได้ยินแต่เสียงที่เป็นธรรมชาติรอบตัวของลุงเท่านั้น ไม่ว่าเสียงที่เกิดจากกิจกรรมต่างๆ ที่ลุงทำ เสียงบรรยากาศโดยรอบ และเสียงเพลงจากเทปคาสเซ็ต ทำให้เราพลอยรู้สึกว่าในชีวิตจริงนั้น เราก็ได้ยินเสียงเหล่านี้ แต่เราแค่ไม่ได้สนใจ ไม่ได้สัมผัสกับมันในความรู้สึก

ทั้งที่จริงๆ แล้วมันเป็นเสียงจากธรรมชาติที่ไพเราะไม่น้อยเลย

และสุดท้ายก็ต้องปรบมือดังๆ ให้กับการแสดงของ “โคจิ ยาคุโช” ที่แบกหนังคนเดียวไว้ทั้งเรื่อง เป็นการแสดงที่น้อยแต่มาก โดยเฉพาะการแสดงออกทางสายตานั้นทำได้อย่างยอดเยี่ยม เราจะไม่ได้ยินแกพูดเพื่อแสดงถึงความรู้สึกข้างใน แต่เราจะรับรู้ได้จากสายตาที่แสดงออกมา

โดยเฉพาะในฉากที่กอดน้องสาว และฉากสุดท้ายที่เป็นลองเทคที่ว่านั่น เอารางวัลไปครองเลยครับ

ทั้งนี้ คงมาจากการที่เขาไม่ได้เป็นแค่นักแสดงที่มีผลงานทั้งทางโทรทัศน์และภาพยนตร์มาแล้วร่วม 45 ปีเท่านั้น เขายังเป็นผู้กำกับอีกด้วย สำหรับเรื่องนี้เขายังทำหน้าที่เป็น Executive Producer อีกตำแหน่งหนึ่ง ซึ่งก็พิสูจน์ได้ถึงความเป็นมืออาชีพของเขา

เชียร์ให้ไปชมนะครับ แต่บอกก่อนว่าอาจจะไม่ได้ถูกจริตกับทุกคน เพียงแต่ว่าหากเปิดใจให้กว้าง เราก็สามารถมีความสุขกับสิ่งที่ได้สัมผัสไม่ยาก

ลุงฮิรายามะ เขาบอกกับเราอย่างนั้นครับ •

 

เครื่องเคียงข้างจอ |  วัชระ แวววุฒินันท์