ความเหลื่อมล้ำที่ไม่เหมาะสม ความหงุดหงิดที่ชอบธรรม

(Photo by NICOLAS ASFOURI / AFP)

รายงานข่าวผลการประกอบการทางเศรษฐกิจของมนุษยชาติปี 2023 พบพลวัตน่าสนใจคือชาวโลกที่รวยที่สุดห้าคนแรกรวยขึ้นสองเท่า ในขณะที่กลุ่มคนที่จนสุดในโลกอีก 60% หรือประมาณห้าพันล้านคนจนลงกว่าเดิม ถือว่าสถานการณ์น่าวิตก

แน่นอนว่าเสมอภาคสมบูรณ์ทางเศรษฐกิจเป็นไปไม่ได้ และเอาเข้าจริงกลไกตลาดที่แจกจ่ายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้คนไม่เท่ากันนี่แหละ ที่ทำให้คนอยากทำงาน พัฒนาตัวเอง และทำให้คนมีทุน อยากลงทุนให้เศรษฐกิจโตต่อไป

แต่ที่ว่าน่าวิตกก็คือความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และกำลังดำเนินไปนั้นเป็นความเหลื่อมล้ำที่ไม่ชอบธรรม

ใช่ครับ ไม่ใช่ความเหลื่อมล้ำทุกรูปแบบที่ชอบธรรม ถ้าพรุ่งนี้รัฐบาลออกกฎใหม่ ให้คนมาเป่ายิ้งฉุบกัน คนชนะจะแจกทรัพย์สินให้เป็นคนรวย ใครแพ้จะยึดทรัพย์ให้จน ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นย่อมไม่ชอบธรรมแน่ (ใครจะรับกฎเกณฑ์ห่วยแบบนี้ได้) คำถามคือการรวยขึ้นของคนห้าคนในปีที่ผ่านมา

กับการจนลงของคนชั้นล่างชอบธรรมหรือไม่ คำตอบของผมคือไม่

ที่ว่าไม่ก็เพราะความเหลื่อมล้ำใดในโลกนี้จะชอบธรรมได้ ก็ต่อเมื่อมันเกิดขึ้นแล้วให้ประโยชน์แก่คนล่างสุดในสังคม

พูดง่ายๆ คือการรวยขึ้นของใครต้องทำให้คนที่จนที่สุดมีชีวิตที่ดีขึ้นไปด้วย

เช่น ถ้าห้าคนที่รวยขึ้นรวยเพราะทำให้เศรษฐกิจโต ลงทุนเยอะ เกิดการจ้างงาน คนจนสุดเข้าถึงงานมากขึ้นและมีชีวิตที่ดีขึ้นไปด้วย แบบนี้เป็นความเหลื่อมล้ำที่ชอบธรรม

แต่การรวยขึ้นโดยไม่สร้างผลดีอะไรเลย รวมถึงทิศทางภาพรวมยังชี้ว่าคนข้างล่างจนลง เหล่านี้สวนทางกับหลักที่ควรจะเป็นที่เพิ่งกล่าวไป

 

หลักที่ว่าความเหลื่อมล้ำจะชอบธรรมก็ต่อเมื่อมันดึงให้คนข้างล่างดีขึ้นไปด้วย ดีที่สุดโดยเปรียบเทียบกับระบบอื่นนี้เรียกว่า Difference Principle เป็นหลักที่ค่อนข้างได้รับการยอมรับเป็นมาตรฐานในวิชาปรัชญาการเมือง

หลักนี้ไม่ได้เรียกร้องให้เศรษฐีพยายามทำประโยชน์ บริจาคให้คนข้างล่างอะไรแบบนั้น แต่ประยุกต์ใช้กับการออกแบบระบบเศรษฐกิจส่วนกลาง เรียกร้องให้รัฐออกแบบระบบหรือนโยบายในลักษณะที่นำไปสู่การสร้างชีวิตที่ดีที่สุดแก่คนข้างล่าง โดยเปรียบเทียบกับระบบอื่นที่เป็นไปได้

ทำไม?

คำตอบเรื่องนี้เริ่มจากหลักคิดที่ว่ามนุษย์ทุกคนเท่ากัน ความเท่ากันในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าคนมีลักษณะทางโลกเท่าเทียมกัน (descriptive equality) อย่างความแข็งแรง สติปัญญา เพราะเรื่องนี้ไม่จริง

แต่หมายความว่าแม้แต่ละคนจะมีลักษณะทางโลกแตกต่างกันไปอย่างไรก็ตาม หากเขามีความรู้สึกนึกคิด เจ็บปวดเป็น รู้เรื่องรู้ราว สังคมการเมืองก็ “ควร” ปฏิบัติกับทุกคนเท่ากัน

ไม่มีเหตุผลที่จะชูใคร สายเลือดแบบไหนว่าพิเศษกว่าคนอื่น

เริ่มต้นจากฐานคิดนี้เราไม่มีเหตุผลให้ใครบางคนมีอะไรมากกว่าคนอื่น ยกเว้นจะมีเหตุผลเป็นอื่น ที่ฝ่ายสนับสนุนความเหลื่อมล้ำจะต้องเป็นผู้พิสูจน์และชักจูงคนอื่นให้ได้

ฟังเช่นนี้แล้วบางคนอาจบอกว่าเหตุผลที่ว่าก็คือบางคนฉลาดกว่า เก่งกว่าคนอื่น ความสามารถเป็นที่ต้องการของตลาด เขาก็ควรจะได้รางวัลทางเศรษฐกิจมากกว่าคนอื่นตามที่คนในตลาดส่วนใหญ่พร้อมจ่าย เขาจะรวยขึ้นก็ไม่แปลก

แต่คิดแบบนี้มีปัญหา เพราะเอาเข้าจริงแล้วศักยภาพของมนุษย์เป็นสิ่งที่คนมีติดตัวมาแต่กำเนิด ถึงที่สุดแล้วความสามารถมันเป็นเรื่องของ “ดวง” พอสมควร แต่ละคนเกิดมามีไม่เท่ากัน เลือกไม่ได้ แล้วแต่พ่อแม่จะให้มา

และเพราะมันเป็นเรื่องของดวง ปัญหาจึงเป็นว่า “ดวง” มันไม่ใช่เหตุผลที่ดีในการออกแบบกฎเกณฑ์สาธารณะ

 

ถ้าเรายึดดวงเป็นเหตุผล เอาเข้าจริงสังคมการเมืองจะไม่มีเหตุผลให้รัฐบาลควรทำอะไรเลย ควรปล่อยทุกอย่างเป็นไปตามยถากรรมด้วยซ้ำ ไม่จำเป็นต้องมีรัฐบาลเลยก็ได้ ถ้าคนร่างกายแข็งแรงทำร้ายและรังแกคนอ่อนแอตาย คนอ่อนแอตะโกนขอความช่วยเหลือ เราก็จะตอบกลับไปว่าก็ช่วยไม่ได้นะ ปัญหาเกิดจากความเหลื่อมล้ำทางความแข็งแกร่ง ที่เกิดจาก “ดวง” ซึ่งชอบธรรม คุณดันดวงไม่ดีเกิดมาอ่อนแอเอง

ถ้าจะบอกว่าบางคนขยันกว่าคนอื่นจึงควรรวยกว่าก็มีปัญหาอีก เพราะเราไม่มีทางรู้ว่าใครลงแรงลงเวลามากกว่าใคร ทำให้ไม่รู้จะจัดสรรผลประโยชน์กันยังไง ถ้าจะบอกว่าคนที่ขยันคือคนที่พัฒนาตัวเองจนสุดท้ายเก่งกว่าคนอื่นก็จะกลับไปสู่เรื่องความสามารถที่พูดถึงไปแล้ว ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของดวง จึงไม่สามารถเป็นเหตุผลที่ดีได้

รูปธรรมหนึ่งที่มีฝ่ายซ้ายเคยเสนอเพื่อให้รางวัลคนขยันคือให้จ่ายค่าแรงทุกงาน ทุกประเภทเป็นรายชั่วโมงในอัตราเท่ากันหมด ทีนี้ใครทำงานมากชั่วโมงกว่าก็จะรวยกว่า

แต่ถ้าเอาแบบนี้ ใครสักคนอาจบอกว่าตอนแรกผมจะไปอ่านหนังสือ ฝึกทักษะเพื่อทำงานเป็นหมอ แต่ถ้าเอากฎนี้ ผมไม่ทำแล้วนะ เพราะเรียนแทบตาย ไปผ่าตัดคนไข้สองชั่วโมง ได้ค่าแรงน้อยกว่าไปเป็นยามหน้าห้องผ่าตัดสามชั่วโมงอีก

ทีนี้ระบบเศรษฐกิจก็สุ่มเสี่ยงล่มสลาย เพราะไม่มีใครอยากทำงานยาก ใช้ความสามารถสูง

 

ด้วยปัญหาเหล่านี้ เลยมีคนเสนอทางออกเป็นหลักคิดเรื่อง Difference Principle ขึ้นมา ว่าเอาเช่นนี้ดีกว่า ต่อไปเหตุผลเดียวที่จะให้ความชอบธรรมความเหลื่อมล้ำได้ก็คือความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นนั้นต้องนำไปสู่ประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นของคนข้างล่าง

เหตุผลนี้อธิบายได้สองแบบ

แบบแรกคือสมมุติผมรวยขึ้นแล้วคนข้างล่างรวยขึ้นด้วยเพราะผมลงทุน บริษัทเติบโต แล้วไปจ้างงานคุณด้วยค่าแรงที่ดีกว่าเดิม (ไม่จริงนะครับ แค่สมมุติ-ฮา) คนข้างล่างมาโวยวายว่าทำไมผมรวยขึ้น ผมก็จะตอบว่าคุณ ผมรวยขึ้นแล้วชีวิตคุณก็ดีขึ้นด้วยนะ คุณจะบ่นอะไร?

หรือจะให้ย้อนเวลากลับไปเป็นเหมิอนเดิม ผมกลับมาเท่ากับคุณ แต่คุณและผมจนลงกว่าเดิม ถ้าไม่เอาก็นั่นแหละครับ คุณจะบ่นอะไร?

พูดง่ายๆ คือคุณไม่มีเหตุผลให้ปฏิเสธ เพราะการรวยขึ้นของผมไม่ได้เกิดจากการไปเอาของของคุณมา แต่เกิดจากการขยายเค้กให้ทุกคนซึ่งรวมถึงคุณด้วย

เหตุผลชักจูงที่สองมาจาก John Ralws นักปรัชญาการเมืองผู้เสนอหลัก Difference Principle จนกลายเป็นมาตรฐานในปัจจุบัน

Rawls เริ่มจากแนวคิดตามสามัญสำนึกที่ว่ากฎเกณฑ์สาธารณะที่ถูกต้องคือกฎที่ทุกคนในสังคม “ยอมรับได้” ไม่ว่าเขาจะเป็นใคร อยู่ในสถานะไหนก็ตาม

วิธีหากฎแบบนี้ก็คือให้เราลองขจัดอคติทางความคิดและผลประโยชน์ ด้วยการสมมุติว่าถ้าเราโดนรถชน ตื่นมา ความทรงจำหายชั่วคราว ไม่รู้ว่าเราเป็นใครในสังคมหนึ่ง พรุ่งนี้ความทรงจำกลับมาเราอาจเป็นคนรวย เก่ง ไม่รวย ห่วย ขยัน ขี้เกียจ อะไรก็ได้ ทีนี้เราลองถามตัวเองในขณะความจำเสื่อม ว่ากฎแบบไหนที่คุณจะยอมรับได้ ไม่ว่าสุดท้ายพรุ่งนี้เราจะกลายเป็นใครก็ตาม

คำตอบก็คือหนึ่งเลยเราจะอนุญาตให้เกิดความเหลื่อมล้ำ เพราะพรุ่งนี้เราอาจจะเป็นผู้ชนะในระบบ แต่ในขณะเดียวกันคุณก็กลัวว่าเราจะเป็นผู้แพ้แล้วถูกทอดทิ้ง

ดังนั้น จึงตั้งเงื่อนไขไว้ว่าท่ามกลางความเหลื่อมล้ำหลากหลายรูปแบบ เราขอรูปแบบที่คนจนสุดจะมีชีวิตที่ดีกว่าโดยเปรียบเทียบกับทางเลือกอื่น เพราะต่อให้จน ก็ยังเป็นคนจนที่รวยกว่าคนจนในระบบอื่น

กฎนี้คือกฎที่ทุกคนยอมรับได้ ไม่ว่าจะเป็นคนกลุ่มไหน เพราะมัน “แฟร์”

สรุปก็คือ Difference Principle คือเหตุผลที่ดีในการข่วยอธิบายความเหลื่อมล้ำ เพราะระบบสังคมภายใต้กฎนี้เป็นระบบที่ไม่มีใครสามารถบ่นได้ (ดูเหตุผลข้อหนึ่ง) และแฟร์ (ดูข้อสอง) แถมยังอนุญาตให้คนมีความสามารถและขยันได้รางวัลทางเศรษฐกิจมากกว่าคนอื่นแบบที่หลายคนต้องการ เพราะว่าการขยายเค้กให้คนข้างล่างจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อคนเก่งคนขยันลงแรงทำงานขยายเค้ก

หากระบบตลาดทุนนิยมปัจจุบันจะให้ความชอบธรรมกับความเหลื่อมล้ำที่ตนสร้างขึ้น ระบบก็ต้องพิสูจน์ตัวเองกับหลักดังกล่าวให้ได้

ระบบต้องอธิบายว่าเหตุใดคนที่จนสุดในระบบนี้ ยังมีชีวิตที่ดีกว่าคนในระบบอื่น

และเพื่อบรรลุเงื่อนไขดังกล่าว ทุนนิยมอาจต้องประนีประนอมตัวเอง ด้วยการอนุญาตให้มีการกระจายรายได้ ระบบสวัสดิการ และระบบสนับสนุนคนข้างล่างในระดับหนึ่ง หรือสร้างกฎ แรงจูงใจที่นำไปสู่กิจกรรมทางเศรษฐกิจของคยรวยที่สร้างมูลค่าให้คนข้างล่าง

เช่น เก็บภาษีทรัพย์สินอัตราสูง บีบให้คนรวยต้องควักเงินในธนาคารออกมาลงทุนจนเกิดการจ้างงาน การแข่งขันแย่งชิงแรงงาน ซึ่งนำไปสู่ค่าแรงที่สูงขึ้น เป็นต้น รัฐบาลต้องสร้างกฎเกณฑ์เหล่านี้อย่างเหมาะสม

(แต่ไม่มากเกินไป เช่น ควบคุมจนคนเก่งไม่อยากทำงาน เศรษฐกิจล่วง ทุกคนจนลงหมดรวมถึงคนจน ซึ่งจะละเมิด Difference Principle เช่นกัน

 

ปัญหาของข้อมูลในปี 2023 ก็คือมันกำลังบอกเราว่าภายใต้ระบบทุนนิยมโลกปัจจุบัน ความเหลื่อมล้ำที่กำลังเกิดขึ้นไม่เพียงสอบตกหลักที่ว่า แต่ยังวิ่งสวนทางด้วยซ้ำ เพราะนอกจากคนรวยรวยขึ้น คนจนยังจนลงในเวลาเดียวกัน

นั่นแปลว่าระบบที่เป็นอยู่ตอนนี้แย่กว่าโดยเปรียบเทียบต่อระบบที่รัฐบาลเก็บภาษีคนรวยปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น ซึ่งข้อมูลบอกว่าเพียง 1-2% ก็เพียงพอแล้วที่จะเอามาทำให้คนจนไม่จนลงหรือมีชีวิตที่ดีขึ้น ตัวเลข 1-2% นี้ยากจะทำให้คนรวยหมดแรงจูงใจในการทำงาน จนเศรษฐกิจหยุดโต และคนจนจนลงซึ่งจะไปละเมิด Difference Principle ในอีกรูปแบบหนึ่ง

แต่แค่นี้มนุษยชาติที่ว่าเป็นสปีชีส์ที่ก้าวหน้าสุดในโลกก็ยังทำไม่ได้

ถ้าคนที่รวยขึ้นถามว่าคนข้างล่างไม่พอใจทำไม ในบริบทนี้เราก็ตอบกลับได้ว่าเราไม่ได้หมั่นไส้พวกคุณเป็นการส่วนตัว

แต่ไม่พอใจเพราะว่าพวกคุณรวยขึ้นบนฐานกติกาที่มันไม่แฟร์ และที่สำคัญหรือพวกคุณรวยขึ้นมันทำให้ของที่พวกเรามีน้อยลงไปด้วย จะไม่ให้โกรธความเป็นไปในปัจจุบันได้อย่างไร?

ทั้งหมดที่เขียนมาก็แค่นี้แหละครับ ประเด็นคือเพราะความเหลื่อมล้ำมันไม่ถูกต้อง ดังนั้น ถ้าใครสักคนหงุดหงิด ผมยกป้ายให้ว่า “ผ่าน”

ความหงุดหงิดของคุณชอบธรรมมีเหตุผลรองรับตามหลักจริยศาสตร์ครับ