หวอ : พระนครภายใต้ฝนเหล็ก ในช่วงปลายสงคราม (1)

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand | ณัฐพล ใจจริง

 

หวอ

: พระนครภายใต้ฝนเหล็ก

ในช่วงปลายสงคราม (1)

 

การโจมตีพระนครทางอากาศจากฝ่ายสัมพันธมิตร

จากความทรงจำของเด็กญี่ปุ่นที่อยู่ในพระนครครั้งนั้น บันทึกว่า นับแต่สัมพันธมิตรทิ้งระเบิดเมื่อต้นปี 2485 แล้ว โรงเรียนญี่ปุ่นสอนให้นักเรียนรู้จักป้องกันอันตรายจากกระจกหน้าต่างแตกจากแรงอัดระเบิด ด้วยการสอนให้นักเรียนตัดกระดาษหนังสือพิมพ์เป็นชิ้นยาวๆ หน้ากว้าง 5 ซ.ม. ปิดบนกระจกหน้าต่างโรงเรียนเป็นรูปกากบาด หัดให้นักเรียนทำถุงทรายเพื่อเตรียมการดับเพลิง มีการเตรียมถังน้ำไว้รอบโรงเรียน ฝึกซ้อมการก้มหมอบเวลาระเบิดลง เอานิ้วโป้งอุดหูสองข้าง นิ้วที่เหลือให้ปิดตา ฝึกหายใจทางปาก และที่หน้าสนามโรงเรียนมีหลุมหลบภัยด้วย (มาซาโอะ เซโตะ, เล่ม 1, 2548, 91-93)

ภายหลังน้ำท่วมใหญ่พระนครเมื่อปลายปี 2485 ผ่านไปแล้ว และเมื่อญี่ปุ่นเพลี่ยงพล้ำในการรบที่กัวดาคาเนล (2486) และที่อิมพัลในอินเดีย (2487) แล้ว การโจมตีทางอากาศในไทยช่วงปลายสงครามจากฝ่ายสัมพันธมิตรเริ่มหนักมากขึ้น

การโจมตีพระนครครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2486 มีเครื่องบินโจมตี 30 ลำของสัมพันธมิตรเข้ามาทิ้งระเบิดที่ถนนเจริญกรุง สีลม สุรวงศ์ ทำให้มีคนไทยเสียชีวิต บ้านเรือนพังเสียหาย นายพลนากามูระ ตั้งใจจะออกไปเยี่ยมและต้องการบริจาคเงินช่วยเหลือผู้เสียหาย แต่กองบัญชาการที่โตเกียวและที่สิงคโปร์ไม่เห็นความจำเป็น เพราะไทยอยู่ในฐานะพันธมิตรร่วมรบ

เรื่องดังกล่าวทำให้นายพลนากามูระขุ่นเคืองใจ เขาบรรยายความรู้สึกไว้ว่า “จอมพล ป.ได้นำประชาชนไทยสิบเจ็ดล้านคนเข้าร่วมสงครามเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นโดยสมัครใจหรือ การที่ประชาชนไทยต้องมาประสบกับระเบิดในครั้งนี้ ส่วนหนึ่งสืบเนื่องมาจากกองทหารญี่ปุ่นมาประจำการอยู่ที่นี่ พวกกองทัพใหญ่ภาคพื้นทิศใต้ ไม่ได้สำเหนียกถึงความรู้สึกของประชาชนรวมทั้งจอมพล ป.ที่ต้องการให้ชาวญี่ปุ่นออกไปจากประเทศ…”

(โยชิกาวา โทชิฮารุ, 2550, 83)

เครื่องบินทิ้งระเบิด บี 29 ฝ่ายสัมพันธมิตรโจมตีสถานีรถไฟหัวลำโพง เครดิตภาพ : Flickr และ Australian War Memorial

ความถี่ของการโจมตีที่มากขึ้น

ต่อมา อังกฤษได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐจนสามารถตั้งรับญี่ปุ่นได้ที่อินเดียและศรีลังกา ราวปี 2487 เครื่องบินขนาดใหญ่แบบ 4 เครื่องยนต์แบบป้อมบิน (Flying Fortress) สามารถบินจากอินเดียมาทิ้งระเบิดที่กรุงเทพฯ และจุดยุทธศาสตร์ต่างๆ ในไทยได้ เช่น สะพาน โรงงาน รถไฟ และที่ตั้งของทหารญี่ปุ่น โดยมุ่งทำลายขวัญของประชาชน

ในชั้นแรกนั้น เครื่องบินเริ่มมาทิ้งระเบิดในยามกลางคืน เช่น ทิ้งระเบิดเพลิง ทำลายถนนสี่พระยา สุรวงศ์ สีลม ทำให้เกิดเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ (รอง ศยามานนท์, 2520, 179)

ต่อมา ในช่วงปลายสงครามเมื่อการโจมตีทางอากาศมีความถี่มากขึ้น และไม่จำกัดเวลาอีกต่อไป ยิ่งเร่งให้ชาวพระนครต่างอพยพย้ายออกไปจากพระนคร

คุณหมอแห่งโรงพยาบาลศิริราชบันทึกว่า “กรุงเทพฯ ธนบุรีเงียบเหงามากที่สุด” ผู้คนที่มิได้ทำกิจการที่สำคัญใดมักจะอพยพไปอยู่นอกเมือง หรือบ้างก็เข้าเมืองเช้าเย็นกลับชานเมือง เหลือแต่คนเฝ้าบ้าน (เสนอ อินทรสุขศรี, 2548, 79)

ในช่วงปลายสงคราม เมื่อพระนครถูกโจมตีทางอากาศถี่ขึ้นทำให้กระทรวงศึกษาธิการประกาศหยุดเรียนอย่างไม่มีกำหนด (วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร, 2554, 39)

นายแพทย์คนหนึ่งของโรงพยาบาลศิริราชบันทึกในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2487 เครื่องบินสัมพันธมิตรเข้าโจมตีพระนครแม้นแต่ในยามกลางวัน แต่ละครั้งบินมาเป็นฝูง 15-20 ลำ “ผมกลับจากธุระ พอถึงท่าพระจันทร์รอเรืออยู่ที่โป๊ะเรือเพื่อข้ามฝากไปศิริราช ทันใดนั้นเสียงสัญญาณเตือนภัยทางอากาศดังขึ้น ไม่ทันไรก็มีฝูงบินผ่านเข้ามาที่กรุงเทพฯ แหงนมองไปทางเหนือเห็นเครื่องบินเป็นฝูงบินผ่านเป็นขบวนไปแล้วเห็นลูกระเบิดทิ้งลงมาเป็นแถว เสียงเครื่องบิน เสียงระเบิดที่แหวกอากาศลงมา เสียงลูกระเบิด เห็นควันไฟพุ่งแผ่ขึ้นไปบนอากาศ เห็นเครื่องบินทิ้งระเบิดในตอนกลางวันน่ากลัวมากกว่าการทิ้งระเบิดในยามกลางคืนซึ่งเรามองไม่เห็น หัวใจแทบหยุดเต้นเพราะไม่รู้จะหนีไปที่ไหน ต้องทรุดลงนั่งที่โป๊ะตามคนอื่นๆ…” (เสนอ อินทรสุขศรี, 2548, 81)

เมื่อการทิ้งระเบิดถี่ขึ้น ประชาชนที่อาศัยอยู่ในแหล่งยุทธศาสตร์ เช่น สะพานพุทธ สะพานพระราม 6 ผู้คนที่พักอาศัยแถวสี่พระยา สีลม สุรวงศ์ ต่างอพยพไปอยู่ชานพระนครย่านบางกะปิ ส่วนคนที่กลัวมากมักจะอพยพออกไปอยู่แถวปทุมธานี (รอง ศยามานนท์, 2520, 179)

ในช่วงปลายสงคราม เครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรเข้ามาโจมตีกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ถี่ขึ้น บางครั้งมาในเวลากลางวัน เช่น 14 เมษายน 2487 หวอดัง 14.45-15.30 น. ทำลายโรงงานไฟฟ้าวัดเลียบ และสามเสนย่อยยับเสียหายใช้การไม่ได้ ทำให้รถราง น้ำประปาหยุดการให้บริการจวบจนสิ้นสงคราม (รอง ศยามานนท์, 2520, 179-180)

โรงเรียนเพาะช่าง เชิงสะพานพุทธเสียหายจากการโจมตีทางอากาศ

อาจินต์ ปัญจพรรค์ บันทึกว่า คืนใดมีเสียงหวอ สักพักเดียวจะมีเสียงเครื่องบินดังหึ่มมา คนวิ่งหลบลงหลุมหลบภัย หรือท่อน้ำข้างถนน คนที่กล้าบ้าบิ่น จะไปยืนกลางถนนเพื่อดูไฟฉายจับไปยังเครื่องบินข้าศึกกลางเวหา แต่ยุทโธปกรณ์ของไทยมิอาจเทียบเครื่องบินทิ้งระเบิดของอเมริกันได้ ไฟฉายต่อสู้อากาศยานมีที่สี่แยกเกียกกาย สวนฝั่งธนฯ สวนบางโพ และคลองเตย เมื่อแสงสาดขึ้นไปท้องฟ้าเป็นลำแสงกว้างดุจไม้บรรทัดยักษ์ ขาวสว่างกวาดไปมาทั่วท้องฟ้า (อาจินต์ ปัญจพรรค์, 2541, 118)

“แสงจ้าเป็นลำของดวงที่เกียกกายสาดทางยาวขึ้นไปจับลำตัวเครื่องบินข้าศึกที่สูงลิบแล้วดวงที่ฝั่งธนฯ ก็พาดแสงมาทับเกิดเป็นเครื่องหมายคูณจับเครื่องบินไว้ได้ ดวงที่เกียกกายคุมมุมแสงไว้นิ่ง ดวงที่ฝั่งธนฯ ค่อยๆ รูดลำแสงสูงขึ้นไปช้าๆ พยายามขังเครื่องบินไว้ในลำแสง คนที่แหงนหน้าดูได้เห็นชัดยิ่งกว่าดูหนัง เครื่องบินข้าศึกตกอยู่ในเครื่องหมายคูณ มันสูงเหลือเกิน สูงจนเห็นเหมือนแมลงเม่าเป็นขุยๆ ตัวหนึ่งในจุดตัดของเครื่องหมายคูณ…ประชาชนโห่ร้องกันขึ้นมาจากถนนหนทางและเรือกสวนอันมืดตื้อให้กำลังใจแก่ทหารไฟฉาย ปืนต่อสู้อากาศยานจากจุดต่างๆ ก็ยิงประเคนขึ้นไปกระสุนแตกเป็นกลุ่มควันขาวเท่าชามข้าวอยู่ใต้ลำตัวของเครื่องบิน…ยิงไม่ถึง”

จากนั้นมีเสียง แต๊กๆ เหมือนเรือแท็กซี่ มันคือเสียงของเครื่องบินใบพัดบินขึ้นขับไล่เครื่องบินข้าศึก แต่คนไทยเรียก เสียงเรือแท็กซี่ ด้วยน้อยใจในสมรรถภาพของเครื่องบินขับไล่ของญี่ปุ่น (อาจินต์, 118-120)

ซากอาคารบ้านเรือนและป้ายประจานการกระทำของฝ่ายสัมพันธมิตร

พ.อ.มาซาโนบุ ทสุจิ เสนาธิการทหารญี่ปุ่นในไทยครั้งนั้น บันทึกว่า ราวเดือนกรกฎาคม 2487 เครื่องบินทิ้งระเบิด บี 29 ของอเมริกา กว่า 20 ลำเข้าโจมตีพระนคร ทิ้งระเบิดราวกับห่าฝน ปืนต่อสู้อากาศยานตั้งอยู่นอกพระนครกว่า 50 กระบอกยิงต่อสู้ แต่ยิงไม่ถูกสักลำเดียว (มาซาโนบุ ทสุจิ, 2497, 35)

ชะตากรรมของชาวพระนครและคนไทยที่อาศัยในจังหวัดสำคัญและตามจุดยุทธศาสตร์ในช่วงปลายสงครามจึงตกอยู่ภายใต้ความเป็นความตายจวบจนสงครามเสร็จสิ้น

สภาพความเสียหายของโรงงานปูนซีเมนต์ บางซื่อ เครดิตภาพ : Pinterest
การทิ้งระเบิดจากเครื่องบิน บี 29 เครดิตภาพ : warfarehistorynetwork.com