จากนิวเคลียร์ถึงนิวคลีโอไทด์ (ซีรีส์ประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมไบโอเทคตอนที่ 28)

ภาคภูมิ ทรัพย์สุนทร

Biology Beyond Nature | ภาคภูมิ ทรัพย์สุนทร

 

จากนิวเคลียร์ถึงนิวคลีโอไทด์

(ซีรีส์ประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมไบโอเทคตอนที่ 28)

 

Walter Goad เป็นนักนิวเคลียร์ฟิสิกส์ผู้ร่วมพัฒนาระเบิดไฮโดรเจนที่ Los Alamos National Laboratory (LANL) ศูนย์วิจัยหลักของโครงการระเบิดนิวเคลียร์ตั้งแต่สมัย The Manhattan Project

ศูนย์วิจัยมีทั้งระบบคอมพิวเตอร์ชั้นสูงและโครงสร้างพื้นฐานด้านการจัดการข้อมูลต่างๆ สำหรับงานนิวเคลียร์ฟิสิกส์และพัฒนาอาวุธ

Goad สั่งสมประสบการณ์ด้านนี้ตั้งเริ่มทำงานที่ LANL ในยุค 1950s พอถึง 1960s เขาก็หันเหไปสนใจงาน และทำงานในกลุ่มวิจัยด้านชีวทฤษฎีและชีวฟิสิกส์

ทศวรรษที่ 1970s กลุ่มวิจัยของ Goad โฟกัสเรื่องการศึกษาลำดับเบสของดีเอ็นเอและลำดับอะมิโนของโปรตีน

เขาได้ก่อตั้ง Los Alamos Sequence Database และต่อมาในปี 1982 ก็ขอทุนวิจัยจาก NIH เพื่อขยายเป็นฐานข้อมูลถาวรภายใต้ชื่อ GenBank

“นักวิจัยหลายร้อยคนในสหรัฐและยุโรปอ่านลำดับเบสดีเอ็นเอกันรวมๆ แล้วปีละกว่า 500,000 เบส เป้าหมายของเราคือเอามันเข้าสู่ฐานข้อมูลภายในสามเดือนหลังการค้นพบ” Goad ประกาศต่อสื่อมวลชน

ทีมทำงานของ Goad มีแค่ห้าคนเท่านั้น ช่วยกันอ่านงานวิจัย (ที่ตีพิมพ์แต่ในกระดาษสมัยนั้น) พิมพ์ลำดับเบส A, T, C, G ทีละบรรทัดทีละตัวลงไปในฐานข้อมูล

ถึงปี 1984 บน GenBank มีข้อมูลอยู่ 2.3 ล้านเบสจากข้อมูลทั้งหมด 3.2 ล้านเบสที่เคยถูกตีพิมพ์มาตั้งแต่ยุค 1960s

นอกจากฐานข้อมูลแล้ว ทีมจาก LANL ยังได้ริเริ่มการแชร์ข้อมูลผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่เรียกว่า ARPANET (พัฒนาโดยกระทรวงกลาโหมสหรัฐ)

ซึ่งต่อมากลายเป็นต้นแบบของอินเตอร์เน็ตในปัจจุบัน

กำเนิดฐานข้อมูลดีเอ็นเอโดยอดีตนักวิจัยนิวเคลียร์ของ LANL
Cr. ณฤภรณ์ โสดา

LANL บริหารจัดการ GenBank อยู่ถึงปลาย 1980s ก่อนจะส่งต่อให้กับหน่วยงานใหม่ที่ชื่อ National Center of Biotechnology Information (NCBI)

ส่วน GenBank ก็กลายเป็นหนึ่งในฐานข้อมูลที่นักชีววิทยาใช้กันมากที่สุดถึงปัจจุบัน มีข้อมูลอยู่ตอนนี้กว่า 15 ล้านล้านเบส

Charles DeLisi นักฟิสิกส์อีกท่านจาก LANL เริ่มต้นงานในกลุ่มวิจัยด้านแบบจำลองคณิตศาสตร์ของระบบภูมิคุ้มกันก่อนจะย้ายไปรับตำแหน่งนักวิจัยอาวุโสที่ NIH

ในช่วงเวลาเดียวกับที่ Goad ก่อตั้ง GenBank ทีมของ DeLisi เริ่มสร้างฐานข้อมูลและระบบปัญญาประดิษฐ์สำหรับทำนายโครงสร้างของดีเอ็นเอและโปรตีนจากลำดับเบส

นับเป็นหนึ่งในตัวอย่างแรกสุดของการประยุกต์ใช้ฐานข้อมูลเพื่อการสร้างแบบจำลองในงานชีวโมเลกุล

ปี 1985 DeLisi ย้ายกลับมาที่ LANL ในตำแหน่งหัวหน้าโครงการวิจัยด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของ DOE โจทย์เรื่องผลกระทบของกัมมันตรังสีต่อพันธุกรรมมนุษย์ที่ LANL สนใจศึกษามายาวนานตั้งแต่ The Manhattan Project ส่งต่อมาถึง AEC และ DOE จึงตกทอดมาอยู่ในความดูของเขาโดยปริยาย

DeLisi อ่านรายงานเกี่ยวกับความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีการศึกษาจีโนม รวมทั้งสรุปการประชุมเรื่องการอ่านจีโนมมนุษย์จาก “The Santa Cruz Workshop 1985” ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่กี่เดือนก่อน

เขารับรู้ได้ว่าทั้งเทคโนโลยีทั้งเทรนด์ความสนใจของเหล่านักวิจัยชั้นนำถึงพร้อมประจวบเหมาะแล้ว

แต่โครงการใหญ่ขนาดนี้ยังต้องการใครสักคนที่มีพละกำลังทางการเมืองพอที่จะขับเคลื่อนมันเป็นวาระแห่งชาติได้

สามเฟสข้อเสนอโครงการจีโนมของ DOE : พัฒนาเทคโนโลยีฐาน ทำแผนที่กายภาพ และอ่านลำดับเบส
Cr. ณฤภรณ์ โสดา

DeLisi ให้ทีมจาก LANL นำโดย Mark Bitensky จัดการประชุมใหญ่ขึ้นเพื่อประเมินต้นทุน ความคุ้มค่า และความเป็นไปได้ในการอ่านจีโนมมนุษย์ “The Santa Fe Workshop 1986” ได้รวบรวมเหล่านักวิจัย นักวิเคราะห์นโยบาย ตัวแทนภาคอุตสาหกรรม ฯลฯ มาหารือกันที่เมือง Santa Fe รัฐนิวเม็กซิโกบ้านของ LANL ถกประเด็นร้อนเกี่ยวกับ The Human Genome Project

ที่ประชุมได้ข้อสรุปว่าการได้ข้อมูลจีโนมมนุษย์มาจะเป็นประโยชน์มหาศาล แต่ต้นทุนดำเนินการอาจจะสูงถึงสามพันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ $1/เบส)

ข้อมูลส่วนใหญ่ที่ได้อาจจะเป็นข้อมูลขยะ (เพราะพื้นที่จีโนมส่วนมากไม่ได้มียีน) และคงจะเป็นงานที่น่าเบื่อจำเจมากๆ กว่าจะทำเสร็จ

DeLisi ร่างโครงการจากข้อสรุปและความเห็นผู้เข้าร่วมในการประชุมนี้ The Human Genome Project จะแบ่งเป็นสามเฟสหลัก

1) อัพเกรดเทคโนโลยี ทั้งการอ่านลำดับเบส การโคลนดีเอ็นเอ และระบบคอมพิวเตอร์

2) ทำ physical mapping คร่าวๆ ของชิ้นดีเอ็นเอในจีโนม

3) อ่านและประกอบข้อมูลลำดับเบสที่ได้จากดีเอ็นเอแต่ละชิ้น

The Human Genome Project ต้องผ่านอีกหลายด่านกว่าจะเป็นวาระแห่งชาติ (และนานาชาติ) เริ่มจากต้องได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารของ DOE ในฐานะกระทรวง จากนั้นก็ขึ้นไปสำนักงบประมาณ (Office of Management and Budget, OMB) ของทำเนียบขาว พอได้อยู่ในรายงานงบประมาณของรัฐบาล (สมัยประธานาธิบดี Ronald Reagan ในขณะนั้น) แล้ว ก็ต้องผ่านทั้งสภาล่างและสภาสูงกว่าจะมีเงินออกมาใช้ได้จริง

DeLisi และทีมงานของเขาจาก LANL และ DOE ต้องสวมหมวกทั้งนักวิจัย นักบริหาร นักเจรจา และนักการเมือง

โชคยังดีที่ OMB สนใจสนับสนุนโครงการนี้เป็นพิเศษ (ทั้งที่ปกติแล้วเป็นหน่วยงานที่ไว้หั่นงบฯ โดยเฉพาะ)

ส่วนในสภาก็ยังมีวุฒิสมาชิกจากมลรัฐนิวเม็กซิโกที่ DeLisi ไปตีซี้ด้วยแต่แรก สำหรับนักการเลือกตั้ง (วุฒิสมาชิกสหรัฐมาจากการเลือกตั้งไม่ได้แต่งตั้งแบบบางประเทศ) การได้เมกะโปรเจ็กต์ใหญ่ๆ มาลงเป็นเรื่องดีต่อเศรษฐกิจท้องถิ่น มลรัฐที่ค่อนไปทางบ้านนอกอย่างนิวเม็กซิโกมีศูนย์วิจัยอาวุธนิวเคลียร์มูลค่าหลักพันล้านถึงสองแห่ง คือ LANL และ Sandia National Laboratory (SNL)

“จะเกิดอะไรขึ้นถ้าสงครามจบ?” วุฒิสมาชิก Pete Domenici เคยตั้งคำถาม สองศูนย์วิจัยแห่งชาติที่นิวเม็กซิโกน่าจะหาอะไรอย่างอื่น (ที่ไม่เกี่ยวกับสงคราม) ทำเผื่อไว้

Domenici กลายเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญที่ช่วยรวมเสียงในสภามาดันโครงการจีโนม

งบประมาณก้อนแรกของโครงการจีโนมมนุษย์มูลค่า 13 ล้านดอลลาร์สหรัฐผ่านทั้งสองสภาออกมาอย่างเป็นทางการในปี 1988

ปฏิบัติการของ DeLisi และ DOE ได้รับทั้งคำชมและเสียงก่นด่า

ในทางหนึ่งมันคือก้าวแรกสู่สุดยอดภารกิจของมวลมนุษยชาติในการไขความลับชีวิตมนุษย์

แต่อีกมุมหนึ่งมันคือการที่ DOE เดินเกมชิงตัดหน้าไปตบงบประมาณมาก่อนระหว่างที่ฝั่งนักชีวโมเลกุลและหน่วยงานวิจัยอื่นอย่าง NIH ยังคุยกันไม่จบดีเลยว่าจะดำเนินการโครงการนี้หรือไม่อย่างไร

ประวัติศาสตร์เทคโนโลยี ธุรกิจ และการเมืองของโครงการจีโนมและวงการไบโอเทคจะไปทางไหนต่อ ติดตามตอนหน้า