การคืนชีพของร้าน ‘แผ่นเสียง-ซีดี-เทป’ จาก ‘โตเกียว’ ถึง ‘ลอนดอน’

คนมองหนัง

“ญี่ปุ่น” คือ ประเทศเดียวในโลก ที่ร้านขาย “ซีดี-เทป-แผ่นเสียง” อย่าง “ทาวเวอร์ เรคคอร์ดส์” สามารถยืนหยัดอยู่ได้อย่างมั่นคง ตลอดห้วง 1-2 ทศวรรษที่ผ่านมา ท่ามกลางสภาวะที่คนทั่วโลกต่างหันไปฟังเพลงผ่านระบบออนไลน์

แม้กระทั่งร้านค้าใหญ่ๆ ประเภทเดียว ในสหรัฐอเมริกาและโลกตะวันตก ก็ยังต้องล้มหายตายจากไป

ล่าสุด ร้านค้าสาขาเรือธงของ “ทาวเวอร์ เรคคอร์ดส์” ที่ “ชิบูยะ” กรุงโตเกียว กำลังอยู่ในกระบวนการปรับปรุงอาคารครั้งใหญ่ โดยมีกำหนดแล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้

สาระสำคัญของการปรับปรุง ก็คือ “ทาวเวอร์ เรคคอร์ดส์ ชิบูยะ” จะขยายแผนก “อะนาล็อก มิวสิก” หรือแผนกขาย “แผ่นเสียง-เทปคาสเส็ต” ให้ใหญ่โตขึ้นกว่าเดิมถึงสองเท่า

ทั้งนี้ พื้นที่ที่จะขยายเพิ่มมากที่สุด ก็ได้แก่ พื้นที่ในการวางขายแผ่นเสียง ขณะที่จำนวนสินค้าเทปคาสเส็ต (ทั้งที่ออกใหม่และ “เทปเก่ามือสอง”) ก็จะเพิ่มปริมาณขึ้นเช่นกัน

“สินค้าเก่า” อีกหนึ่งชนิด ที่ “ทาวเวอร์ เรคคอร์ดส์” สาขา “ชิบูยะ” จะเริ่มนำมาวางจำหน่าย “ใหม่” หลังเดือนกุมภาพันธ์ ก็คือ “โปสเตอร์ศิลปินมือสอง”

ส่วนความเปลี่ยนแปลงสำคัญข้อสุดท้าย คือ จะมีการย้ายสถานที่จัดอีเวนต์ (สำหรับแสดงดนตรีสดหรือเปิดตัวผลงาน) จากชั้นแปด ลงมายังพื้นที่ชั้นสองของตัวอาคาร

ข้ามไปอีกฟากหนึ่งของโลก ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร

เป็นที่รับรู้กันว่า ร้าน “เอชเอ็มวี” ซึ่งเริ่มต้นก่อตั้งเมื่อปี 1921 ในฐานะร้านขายแผ่นเสียง นั้นมีบทบาทสำคัญ ท่ามกลางสภาวะเฟื่องฟูของอุตสาหกรรมดนตรีโลกและอังกฤษ ตลอดครึ่งหลังศตวรรษที่ 20

แต่แล้ว “เอชเอ็มวี” กลับต้องปิดร้านค้าสาขาเรือธงที่ “ออกซ์ฟอร์ด สตรีต” ลงชั่วคราวเมื่อปี 2019 ภายหลังกิจการประสบปัญหาทางธุรกิจ เพราะผู้คนส่วนใหญ่นิยมฟังเพลงผ่านระบบสตรีมมิ่งมากกว่า

อย่างไรก็ดี มาถึงปลายปี 2023 “เอชเอ็มวี” สาขา “ออกซ์ฟอร์ด สตรีต” ได้หวนกลับมาเปิดให้บริการใหม่อีกครั้ง พร้อมๆ กับกระแสนิยมในแผ่นเสียงไวนิล, ซีดี และเทปเพลง ที่พุ่งผงาดขึ้นชัดเจน ในช่วงไม่กี่ปีหลัง

หมายความว่า จากโตเกียวถึงลอนดอน อุตสาหกรรมดนตรีโลกกำลังเผชิญหน้ากับปรากฏการณ์ในลักษณะ “คนละเรื่องเดียวกัน”

คำถามคือ ปรากฏการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร?

คําอธิบายเบื้องต้น ซึ่งพบเห็นได้ในปัจจุบัน ดูจะมุ่งไปสู่ประเด็นหลักที่ว่า ผู้บริโภคดนตรียุคนี้ มิได้มองกิจกรรมการฟังเพลงเป็นเพียงเรื่องของ “เสียง” หรือความปีติที่บังเกิดขึ้นผ่านโสตประสาทเท่านั้น

ทว่า ผู้คนยังต้องการแสวงหาประสบการณ์ชนิดอื่นๆ ระหว่างการเสพดนตรีด้วย

เริ่มจากการเสพดนตรีผ่าน “วัตถุที่จับต้อง-สัมผัสได้” ซึ่งแผ่นเสียง-ซีดี-เทป ตอบโจทย์ดังกล่าวได้เป็นอย่างดี

ยิ่งกว่านั้น การบริโภคดนตรีผ่าน “วัตถุบันทึกเสียง” ทั้งหลาย ยังช่วยเปิดชุดประสบการณ์ที่ผิดแผกออกไป เมื่อผู้บริโภคจะต้องตั้งใจ ระมัดระวัง (กรณีของแผ่นเสียง) และมีสมาธิในการฟังเพลงมากขึ้น รวมถึงมีแนวโน้มจะได้ฟังเพลงแบบยกชุดทั้งอัลบั้มบ่อยครั้งขึ้น

ส่วนหีบห่อของบรรจุภัณฑ์ก็กลายเป็นงานศิลปะน่าสะสมอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งช่วยเพิ่ม “ประสบการณ์ทางสายตา” ให้แก่การฟังเพลง (แต่เป็นสิ่งที่ไม่ค่อยมีความสำคัญนักในโลกดิจิทัล)

หรือหากจะประเมินในแง่คุณภาพของเสียงกันจริงๆ ก็ต้องยอมรับว่า “แผ่นซีดี” คือสื่อกลางที่สามารถมอบคุณภาพเสียงที่ดีและมีมิติลุ่มลึก-กว้างขวางที่สุดให้แก่บรรดานักฟังเพลง

 

นอกจากนี้ ร้านขาย “แผ่นเสียง-ซีดี-เทป” ยังมีสถานะเป็น “ชุมชน” ของคนรักเสียงเพลง ที่ค่อยๆ ฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้ง

สำหรับ “คนหนุ่มสาว” ในปัจจุบัน ที่โตไม่ทันยุครุ่งเรืองที่สุดของสินค้าจำพวกนี้ การทดลองฟังเพลงผ่าน “แผ่นเสียง-ซีดี-เทป” ซึ่งเป็น “วัตถุสิ่งของจากอดีตกาล” ย่อมหมายถึงการได้รับชุดประสบการณ์ที่แตกต่างและ “แปลกใหม่”

สำหรับ “คนรุ่นกลาง-รุ่นเก่า” ที่เคยมีประสบการณ์การฟังเพลงผ่านวัตถุข้างต้นมาบ้างไม่มากก็น้อย การได้เดินกลับเข้าไปยังร้านค้าที่วางจำหน่ายสินค้าชนิดนี้จำนวนมาก ย่อมตอบสนองอารมณ์ความรู้สึก “โหยหาอดีต” ของพวกเขาเป็นอย่างดี •

 

ภาพและข้อมูลจาก

https://www.facebook.com/photo/?fbid=875525547917854&set=a.448799377257142

https://theconversation.com/hmv-is-back-on-oxford-street-bringing-the-old-school-music-experience-to-a-new-generation-219211

https://www.facebook.com/photo/?fbid=777991951035941&set=a.657966536371817

 

| คนมองหนัง