อุตสาหกรรมการคอร์รัปชั่น

กล่าวขานกันมากขึ้นถึงความเป็นประเทศที่ “คอร์รัปชั่นเป็นอุตสาหกรรมใหญ่”

เมื่อใครสักคนพูดว่าการทุจริตเกิดขึ้นในหน่วยงานของรัฐทั้งในระดับกระทรวง กรม กอง ถึงแผนก แทบไม่มีใครเลยที่จะเถียงแทน หรือเห็นต่าง

ทุกคนที่ได้ยินต่างเห็นดีเห็นด้วยกันแทบทั้งนั้น หรืออย่างมากที่สุดคือ “นิ่งเงียบ”

ไม่มีใครปฏิเสธ

ความเจริญรุ่งเรืองของ “อุตสาหกรรมคอร์รัปชั่น” ก่อให้เกิดอาชีพที่ตามมาอีกมากมาย ทั้งแต่ “นักล็อบบี้” หรือ “นักเคลียร์พื้นที่” เลยเถิดไปถึง “ธุรกิจรับร้องเรียนทุจริต” ก่อตัวขึ้นมาอย่างคึกคัก

องค์กรธุรกิจเหล่านี้ ไม่ทำได้ในรูป “บริษัท” แต่มีการจัดโครงสร้างบริหารองค์กรไม่ต่างกัน มีการแบ่งงานออกเป็นหลายฝ่าย เท่าที่ตำรวจไปสืบสอบมา “ธุรกิจร้องเรียนทุจริต” ดูจะเป็นโครงสร้างการจัดการที่ซับซ้อนเสียยิ่งกว่า “บริษัทธุรกิจปกติ”

“องค์กรธุรกิจร้องเรียนธุรกิจ” สร้างรายได้เป็นล่ำเป็นสัน จนดึงดูดให้คนหัวหมอทั้งหลายเห็นช่องทางทำมาหากิน “ตั้งองค์กร” หรือ “ฉายเดี่ยว” เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ “ธุรกิจร้องเรียนทุจริต” กันคึกคัก มากหน้าหลายตามากในช่วงที่ผ่านมา

เป็น “ธุรกิจ” ที่อาศัยฐานจาก “อุตสาหกรรมคอร์รัปชั่น” ที่รุ่งเรืองเฟื่องฟูในประเทศนี้ มีงานให้ทำ สร้างรายได้บำรุงบำเรอครอบครัวได้อย่างอู้ฟู่ และมั่นคง

เป็นธุรกิจและอุตสาหกรรมที่รับเต็มๆ โดย “ไม่ต้องเสียภาษี” ทั้งที่มีรายได้มหาศาล

 

คนที่เข้ามาสู่ธุรกิจนี้ส่วนใหญ่เข้ามาในเสื้อคลุมของ “คนดี” เป็น “อาสาสมัคร” เข้ามาดูแลรักษาผลประโยชน์ประเทศ และช่วยเหลือประชาชน

แต่พฤติกรรมที่เริ่มถูกเปิดเผยออกมานั้น โสมม เป็น “อุตสาหกรรมทำลายการพัฒนาประเทศ” และ “ธุรกิจที่ส่งเสริมความเสื่อมทรามให้เกิดขึ้นกับสังคม”

ที่น่าเศร้าคือเป็น “อุตสาหกรรม” ที่สร้างความ “มั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืน” ให้เหล่าผู้ประกอบการมาอย่างยาวนาน

ถามว่าประชาชนรับรู้ความระยำตำบอนของ “อุตสาหกรรมและธุรกิจ” นี้หรือไม่ว่าเกิดจากอะไร

 

เมื่อเร็วๆ นี้ “นิด้าโพล” สำรวจเรื่อง “อาสาสมัครช่วยเหลือสังคมกับนักร้องเรียน”

ใน “ความคิดต่อบทบาทของนักร้องเรียน”
ร้อยละ 48.55 รู้ว่าอาจจะมีผลประโยชน์อยู่เบื้องหลัง,

ร้อยละ 28.85 เห็นว่า เป็นการเสนอความจริงต่อสังคม,

ร้อยละ 25.65 มองว่า เป็นปรากฏการณ์หิวแสงของนักร้องเรียนบางคน,

ร้อยละ 20.76 ระบุว่า เป็นการเสริมสร้างชื่อเสียง อำนาจ บารมีของนักร้องเรียนบางคน,

ร้อยละ 20.08 เห็นว่า เป็นการดำเนินการทางการเมืองอย่างหนึ่ง,

ร้อยละ 19.31 บอกว่า นักร้องเรียนเป็นอาชีพอย่างหนึ่ง,

ร้อยละ 17.33 เห็นว่า เป็นการตรวจสอบ/กล่าวหาจากภาคประชาชน,

ร้อยละ 15.50 ระบุว่า หน่วยงานรัฐ เจ้าหน้าที่รัฐ นักการเมือง พรรคการเมือง ต้องทำงานด้วยความ

ระมัดระวังมากขึ้น,

ร้อยละ 15.19 เห็นว่า ต้องเป็นข่าวหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงจะใส่ใจตรวจสอบ/กล่าวหา,

ร้อยละ 8.47 ชี้ว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ทำงานเชิงรุกในการตรวจสอบ/กล่าวหา
และร้อยละ 7.10 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

จะพบว่า แม้ประชาชนส่วนใหญ่จะพอเข้าใจอยู่ว่า “นักร้องเรียนอาชีพ” เหล่านี้ มีผลประโยชน์อยู่เบื้องหลัง แต่มีไม่น้อยเห็นว่าเป็นอาชีพที่ปรารถนาดีต่อการพัฒนาประเทศ

 

เรื่องราวที่เกิดขึ้นกับ “อาชีพนักร้องเรียน” ครั้งนี้น่าจะทำให้เกิดความเข้าใจมากขึ้นสำหรับประชาชน ต่อ “ความเป็นมิจฉาชีพ” ของเหล่าผู้ใส่เสื้อคลุม เป็น “คนดี” ทำงานอาสาช่วยเหลือสังคม

“อุตสาหกรรมการคอร์รัปชั่น” ที่มีเครือข่ายกว้างใหญ่ในองค์กรของรัฐทุกระดับ ได้สร้าง “ภาพมายาในนามคนดี” ขึ้นมาลวงหลอกมากมาย

ที่แม้ประชาชนจะรู้เท่าทัน แต่แทบทำอะไรให้ดีขึ้นไม่ได้เลยเพราะเครือข่ายและกลไกของ “อุตสาหกรรมคอร์รัปชั่น” ได้หยั่งรากลึก และกระจายครอบคลุมจนมีอิทธิพลมากพอที่จะคุ้มครองให้ “มั่งคั่ง มั่นคง ยั่งยืน” ไปอีกยาวนาน

โดยโครงสร้างอำนาจ และกติกาที่วางไว้ “ยิ่งใหญ่ และถาวร”