การเมืองเลว-ตำรวจเลว การเมืองดี-ตำรวจดี อยู่ที่ ‘ปณิธาน’

ภายหลังจาก พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว รอง ผบช.ก. และ พล.ต.ต.ประสงค์ เฉลิมพันธ์ ผบก.ปปป. สนธิกำลังกับ ป.ป.ช. เข้าตรวจค้นจับกุมกลุ่มผู้ต้องหาคดีร่วมกันข่มขู่เรียกรับเงิน 3 ล้านบาทจากนายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว ก็เกิดเหตุการณ์ควันหลงที่กลายเป็น “ควันพิษ”

ตอนเช้า ตำรวจเข้าล่อซื้อและจับกุมนายศรีสุวรรณ จรรยา ถึงบ้านพักพร้อมเงินสด (ทำตำหนิ) ของกลาง 5 แสนบาท

พอช่วงบ่าย ตำรวจอีกชุดไปจับกุมนายยศวริศ ชูกล่อม หรือ เจ๋ง ดอกจิก ที่ทำเนียบรัฐบาล

ตำรวจจับ “เจ๋ง ดอกจิก” กลางทำเนียบ เกิดเป็น “ควันพิษ”!

ในระหว่างที่ประชุม ครม. “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวตำหนิการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจประมาณว่า

ทำไมต้องมารวบตัวที่ทำเนียบ ทำไม่ถูก เพราะทำเนียบรัฐบาลเป็นหน้าเป็นตาของรัฐบาล ทำไมช่วงเช้าไปจับกุมผู้เกี่ยวข้องมีตำรวจยศ “นายพล” นำกำลังไป แต่พอช่วงบ่ายที่จับกุมนายยศวริศ ใช้ตำรวจยศ “พันตำรวจเอก” มาจับ นายกฯ ก็เป็นผู้บังคับบัญชาของตำรวจ เรื่องนี้ถือว่าไม่เหมาะสม ไม่ให้เกียรติสถานที่

“พีระพันธุ์” ตำหนิตำรวจ กับคล้ายๆ จะต่อว่านายกรัฐมนตรี!

ขณะที่ในเวลาต่อมาเพจ “เชียร์ลุง” โพสต์ภาพนายพีระพันธุ์พร้อมข้อความ “คนจริง!!!”

ทำให้อยากจะเข้าใจจริงๆ ว่า “เกียรติ” ที่แต่ละคนแบกเอาไว้นั้นคืออะไรกันแน่

 

ในสังคมที่มีชั้นวรรณะ “เกียรติ” ถูกจัดลำดับชั้นไว้ล่วงหน้าตั้งแต่เกิด พราหมณ์, กษัตริย์, แพศย์ และศูทร ส่วน “จัณฑาล” คนเป็นชั้นต่ำสุดนั้น ไร้ชั้นวรรณะสังกัด

“เกียรติ” ในภาษาไทยหยิบยืมมาจากภาษาสันสกฤต หมายความถึง ความมีหน้ามีตา การยกย่องนับถือ ซึ่งก็สุดแล้วแต่ว่าสังคมใดจะนับอะไรเป็น “ความมีหน้ามีตา” หรือจะยกย่องนับถืออะไร เช่น บางสังคมยกย่องนับถือคนมีเงิน มีตำแหน่ง มีอำนาจว่า “มีเกียรติ” ในทางตรงกันข้าม คนที่ไม่มีเงิน ไม่มีตำแหน่ง ไม่มีอำนาจก็จะเป็น “คนไร้เกียรติ”

แต่ในสังคมที่เจริญแล้วทางปัญญา “เกียรติ” ไม่ใช่ชั้นวรรณะของบุคคลหรือสถานที่

“เกียรติ” เกิดจากการประพฤติปฏิบัติ คนที่กล้าหาญ คนที่เสียสละทำเพื่อประโยชน์คนส่วนใหญ่ คนที่ทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ ซื่อตรง ไม่คดงอบิดเบี้ยวเป็นคน “มีเกียรติ” ที่แท้จริง ตรงกันข้ามกับคนทุจริต คดโกง ฉ้อฉล ถึงแม้จะมีตำแหน่งใหญ่โต มีอำนาจและมีเงินมาก ก็จะไม่ถูกนับว่า “มีเกียรติ”

เกียรติของตำรวจเกิดจากการทำหน้าที่ “บังคับใช้กฎหมาย”

เมื่อมีเหตุการณ์กระทำความผิด ตำรวจเป็นด่านหน้าด่านแรกของกระบวนการยุติธรรมไทยที่จะบรรเทาทุกข์ และอำนวยความยุติธรรมให้ผู้คน

การสืบสวนสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานทุกชนิดเริ่มที่ตำรวจ

ถ้าทำได้ดีผู้คนก็จะว่า กฎหมายมีความศักดิ์สิทธิ์ การอำนวยความยุติธรรมน่าเชื่อถือ

แต่หากทำไม่ดีก็จะว่า กฎหมายไทยไม่ได้เลวร้าย ที่เลวร้ายคือ “ผู้บังคับใช้กฎหมาย” ที่เลือกปฏิบัติ ไม่มีมาตรฐาน

ถึงจุดหนึ่งที่คนขาดความเชื่อมั่น “ระบบยุติธรรม” ก็จะเสื่อมทราม!

 

การวางแผนล่อซื้อและจับกุมนายศรีสุวรรณกับพวกครั้งนี้ นับตั้งแต่ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. พล.ต.ต.จรูญเกียรติ พล.ต.ต.ประสงค์ ตลอดจนนายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว ผู้ถูกข่มขู่รีดทรัพย์ และเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ผู้ร่วมปฏิบัติการทุกคน ควรได้รับการเชิดชู “เกียรติ” ในความกล้าหาญ

อาคารสถานที่ไม่สำคัญไปกว่า “หัวใจคน”!

พฤติการณ์ข่มขู่เรียกรับเงินข้าราชการระดับ “อธิบดีกรมการข้าว” นั้นนับว่าอุกอาจอหังการ

กลุ่มผู้ต้องหาที่ประกอบไปด้วย นายศรีสุวรรณ จรรยา นักร้องเรียนคนดัง นายยศวริศ ชูกล่อม หรือ “เจ๋ง ดอกจิก” นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งเคยเป็น 1 ในคณะทำงานเขตตรวจราชการที่ 11 ได้รับแต่งตั้งจากนายพีระพันธุ์ และ น.ส.พิมณัฎฐา จิระพุทธิภาคย์ หรือการ์ตูน อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่เพิ่งได้รับแต่งตั้งเป็น 1 ในคณะทำงานเขตตรวจราชการที่ 11 ไปเมื่อไม่นาน โปรไฟล์แต่ละคนล้วนไม่ธรรมดา

ยิ่งคดีนี้ “เจ้าทุกข์” เป็นถึงระดับอธิบดีที่ได้ตัดสินใจเสี่ยงเล่นเกมนี้เอง ลงทุนล่อซื้อด้วยเงินของตัวเอง ยิ่งเป็นเรื่องครึกโครม อลังการ น่าติดตาม

 

ถามว่าอะไรเป็น “จุดระเบิด” อธิบดีท่านว่า

“เป็นเรื่องศักดิ์ศรีของข้าราชการคนหนึ่ง ทั้งกับตัวเองและครอบครัวที่ต้องมาเผชิญกับเรื่องห่าเหวอะไรก็ไม่รู้ มันไม่หยุดสักที ผมเจ็บใจมาก มันเป็นใคร ประเทศไทยจะอยู่ได้ยังไงถ้ามีคนประเภทนี้…”

“ประเทศไทย”!

สถานะประเทศของเราใน “ด้านทุจริตคอร์รัปชั่น” ถือว่าอยู่ในแถวหน้า คือเหตุผลที่ทำให้บรรดา “นักตบทรัพย์” เชื่อว่า จิ้มลงไปตรงไหนก็เจอแผลเน่าตรงนั้น

การเมืองเลวๆ กว่า 2 ทศวรรษมานี้สร้างความคุ้นชินว่า คนไทยต้องนับหน้าถือตากันที่ตำแหน่งใหญ่ มีอำนาจมาก และรวยมาก ซึ่งทุกวันนี้แม้แต่จีนเทาก็เชื่ออย่างสนิทใจว่า เงินซื้อได้ทุกสิ่ง

นายพีระพันธุ์พูดไว้น่าฟังชวนให้คิดประการหนึ่งว่า “นายกฯ เป็นผู้บังคับบัญชาของตำรวจ”

นายกรัฐมนตรีทุกคนที่ผ่านมาเป็น “ผู้บังคับบัญชา” ไม่ใช่เฉพาะนายเศรษฐา ทวีสิน

ตำรวจจะกล้า หรือจะหงอ จะตรงหรือคดงอก็ขึ้นอยู่กับ “ประมุขฝ่ายบริหาร” เป็นสำคัญ

ทุกคดีเริ่มต้นที่ “ตำรวจ” คดีจะเดินไปได้ยาก ไปได้สั้น หรือไปได้ยาว ก็อยู่ที่ตำรวจ

หากแต่ตำรวจนั้นเป็น “ผู้บังคับใช้กฎหมาย” ในระดับชั้นต่ำสุด มักจะได้รับผลกระทบจากการทำหน้าที่บ่อยที่สุด และถูกกดดันหนักที่สุด จะต้องอาศัยการเมืองที่ดี “นำพา”

ผู้นำทางการเมืองจึงต้อง “กล้านำ” ตำรวจให้ทำหน้าที่บังคับใช้กฎหมายอย่างโปร่งใส เป็นธรรม ตรวจสอบได้ “ต้นธาร” กระบวนการยุติธรรมจึงจะเป็นโล้เป็นพาย ควรแก่ความภาคภูมิใจใน “เกียรติตำรวจไทย”!?!!!