ป.ป.ช. ‘ลดโทน’ ด่านสกัดดิจิทัลวอลเล็ต นายกฯ เรียกจุลพันธ์ถกเคลียร์ปม สัญญาณเศรษฐกิจยังฟื้นช้า โพล 70% เชียร์เดินหน้าแจก 1 หมื่น

หลังจากรัฐบาลแตะเบรก “โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต” เพื่อรอความเห็นของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จนต้องขยับไทม์ไลน์มาตรการนี้ออกไปอีกครั้ง

ล่าสุด นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ก็หยิบยกผลสำรวจของสำนักวิจัย “Super Poll” ที่ศึกษาเรื่องเงินดิจิทัลที่ประชาชนเชื่อมั่นและรอคอย โดยสุ่มตัวอย่างจากประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวนทั้งสิ้น 1,120 ราย ระหว่างวันที่ 1-3 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา

ซึ่งผลสำรวจออกมาพบว่า ในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย คือ รายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน มีความเชื่อมั่น 71.3% และกลุ่มผู้มีรายได้ระหว่าง 15,000-35,000 บาทต่อเดือน มีความเชื่อมั่น 71.6% ในขณะที่กลุ่มรายได้เกิน 35,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป มีความเชื่อมั่น 57.5% ว่าการแจกเงินดิจิทัลจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ

นายชัยกล่าวว่า ผลสำรวจ เมื่อแบ่งตามภูมิภาคของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง พบว่า กลุ่มคนในภาคเหนือ มีความเชื่อมั่นสูงสุด คือ 75.4% รองลงมากลุ่มคนในภาคกลาง มีความเชื่อมั่น 74.2% กลุ่มคนในภาคอีสาน มีความเชื่อมั่น 73.6% กลุ่มคนกรุงเทพฯ มีความเชื่อมั่น 68.7% และกลุ่มคนในภาคใต้ มีความเชื่อมั่น 65.8%

และเมื่อแบ่งกรณีศึกษาตามอายุ กลุ่มคนรุ่นใหม่ ทั้งกลุ่มคนอายุน้อย คือต่ำกว่า 20 ปี 54.1% และ กลุ่มคนอายุระหว่าง 20-29 ปี 47.2% กลุ่มคนอายุ 60 ปีขึ้นไป 42.5% กลุ่มคนอายุ 40-49 ปี 31.7% และกลุ่มคน อายุ 50-59 ปี 26.7% ชี้ว่า ควรเดินหน้านโยบายแจกเงินดิจิทัลต่อไป

 

ขณะที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า รัฐบาลอยากเร่งรัด รีบทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ต อย่างไรก็ดี คงต้องรอข้อเสนอแนะจากทาง ป.ป.ช. แต่ระหว่างที่รอ ก็คงจะเดินหน้าคู่ขนานกันไป และหวังว่าอีกไม่นานคงมีคำแนะนำมาจาก ป.ป.ช.มาในเร็ววัน

“ผมบอกมาตลอดว่า เราเปิดกว้าง ให้ทุกคนแสดงความคิดเห็น เรามีการปรับเงื่อนไขต่างๆ ทราบว่าพี่น้องคอยอยู่ ในตอนลงพื้นที่ก็ได้ยินได้ฟังอยู่ และรัฐบาลมีความเชื่อว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเป็นเครื่องจักรอันใหญ่ที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ” นายเศรษฐากล่าว

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคลัง กล่าวว่า โครงการดิจิทัลวอลเล็ต อยู่ระหว่างรอหนังสือจาก ป.ป.ช. อย่างไรก็ดี เชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะสามารถตอบคำถามในประเด็นต่างๆ ของ ป.ป.ช.ได้ โดยเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ได้เข้าหารือกับนายเศรษฐา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เกี่ยวกับโครงการดิจิทัลวอลเล็ตดังกล่าว

“เรื่องหนังสือของ ป.ป.ช.นั้น รัฐบาลมีคำตอบให้อยู่แล้ว แต่ในรายละเอียดก็มีขั้นตอนที่ต้องทำ แต่เชื่อว่าไม่มีประเด็นอะไร รัฐบาลตอบได้แน่นอน” นายจุลพันธ์กล่าว

นายจุลพันธ์กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์เศรษฐกิจของไทยในตอนนี้ จะเห็นว่าตัวเลขเศรษฐกิจชี้ชัด ว่าสถานการณ์หนักขึ้นเรื่อยๆ เป็นภาวะที่ประชาชนขาดความมั่นใจในการใช้จ่าย เอกชนก็ไม่กล้าลงทุน ส่วนการลงทุนกับต่างชาติ ซึ่งรัฐบาลประสบความสำเร็จ แต่กว่าจะมีผลในเรื่องของเม็ดเงินต้องใช้เวลา

ขณะที่การบริโภคชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด เห็นได้จากอัตราเงินเฟ้อที่ติดลบ 4 เดือนต่อเนื่อง สาเหตุหนึ่งมาจากการลดปัจจัยพลังงานของรัฐบาล แต่ก็ต้องทำเพื่อให้ประชาชนสามารถประคับประคองในภาวะเศรษฐกิจที่วิกฤตขนาดนี้ได้

 

นายจุลพันธ์กล่าวว่า ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะพยายามอย่างไรก็ตาม แต่สถานการณ์ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ออกมาเรื่อยๆ มีการชะลอลงจริงๆ ล่าสุด สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ยืนยันว่าตัวเลขชะลอลงจริงๆ

“กำลังซื้อของประชาชนมันหดหาย บวกกับสถานการณ์ตอนนี้ที่ตัวเลขหนี้สูง ทั้งหนี้ภาคครัวเรือน ทำให้ประชาชนไม่ใช้จ่าย เพราะเป็นห่วงเรื่องการแก้ไขปัญหาหนี้สินของตัวเอง ขณะที่ภาคเอกชนเองก็ไม่ลงทุน เพราะประชาชนไม่ใช้จ่าย มันก็ทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำ เราจะเห็นได้ว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ผ่านมา มันไปอยู่ที่ประชาชนกลุ่มบนทั้งหมด ขณะที่ประชาชนในกลุ่มล่าง หรือกลุ่มฐานรากจริงๆ ไม่มีการขยายตัว ไม่มีรายได้ที่เพียงพอ” นายจุลพันธ์กล่าว

นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 2.5% ขณะนี้ดูดซับสภาพคล่องจากระบบพอสมควร ซึ่งสถานการณ์ของไทยในขณะนี้ เปรียบเหมือนปลาในบ่อ ประชาชนคือปลา เมื่อน้ำในบ่อมีน้อย ประชาชนก็อยู่ไม่ได้ สิ่งสำคัญ คือการเติมน้ำลงในบ่อให้เพียงพอ กับจำนวนปลาและขนาดของบ่อ ซึ่งต้องการเม็ดเงินใหม่ นั่นคือการเติมเงินผ่านดิจิทัลวอลเล็ต

“รัฐบาลมองว่ากลไกที่จะสร้างเม็ดเงินใหม่ คือการออกพระราชบัญญัติกู้เงิน แต่เมื่อมีข้อท้วงติงมา ในช่วงเดือนที่ผ่านมา มีการหารือกันว่าจะต้องรอความเห็นของ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นเอกสารที่หลุดออกมา จะจงใจหรือไม่ เราไม่ทราบ แต่ต้องรับฟังและรอมาจนถึงขณะนี้ ก็ยังไม่มีความชัดเจน”

 

นายจุลพันธ์กล่าวว่า จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยยายดิจิทัลวอลเล็ตในสัปดาห์หน้า เพื่อพิจารณาข้อห่วงใยการเกิดทุจริตคอร์รัปชั่น แม้จะยังไม่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นว่าเกิดการทุจริต เพราะยังไม่ได้เริ่มดำเนินนโยบายก็ตาม เมื่อมีข้อห่วงใย จะมีการตั้งอนุกรรมการติดตามล่วงหน้า

อย่างไรก็ดี ไทม์ไลน์การแจกดิจิทัลวอลเล็ตนั้น ได้ขยับออกไปแล้วจากเดือนพฤษภาคม แต่ไทม์ไลน์ใหม่จากสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศ ก็ยืนยันว่า เป็นเรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลจะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด จะหยุดรอไม่ได้แม้มีอุปสรรค โดยจะเดินหน้าให้เร็วที่สุด

“คณะอนุกรรมการจะตีกรอบระยะเวลา อาจใช้เวลา 2-3 สัปดาห์ ต้องจบ ขณะที่ไทม์ไลน์ของบอร์ดชุดใหญ่ จะต้องเคาะก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี ตนหวังว่าภายใน 2 เดือนข้างหน้า จะต้องเรียบร้อย” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังกล่าว

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ขณะนี้วิกฤตการณ์ไม่ใช่วิกฤตการณ์ทั่วไป แต่มีวิกฤตการเงินเข้ามาแทรก ซึ่ง ธปท.ต้องดูให้ละเอียด อย่าดูหรือเพ่งเล็ง เอาใจใส่เฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ต้องดูทั้งระบบถึงจะช่วยแก้ปัญหาได้

“ถ้าดูก็จะเหมือนวิกฤตต้มยำกุ้ง เมื่อปี 2540 ตอนนั้น ธปท.ไม่เห็นอะไรเลย ทั้งที่ถ้าท่านดูรายละเอียดท่านก็จะเห็น ซึ่งอันนี้ก็เหมือนกัน มีนักเศรษฐศาสตร์มองว่าถ้ารัฐบาลไม่ขยับทำอะไรที่แข็งแรง และมีผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ วิกฤตต่างๆ จะเกิดขึ้น ซึ่งวันนี้รัฐบาลมองว่า หนึ่ง คือดิจิทัลวอลเล็ต เป็นประเด็นสำคัญที่จะกระตุ้นกำลังซื้อทั้งหมดให้เกิดขึ้น และอีกหลายมาตรการของเราที่รออยู่ แต่หากมาตรการหลักไม่ขยับ มันทำให้อีกหลายเรื่องเราทำไม่ได้” นายภูมิธรรมกล่าว

 

ด้าน ป.ป.ช. ที่ถูกมองว่าเป็นด่านสกัดสำคัญสำหรับนโยบายการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทนั้น

นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการป.ป.ช. ชี้แจงว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ประชุมเรื่องดังกล่าวเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ได้มีมติรับรอง “ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต” ชุดที่มี น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานแล้ว

แต่ได้มีการปรับปรุงรายละเอียดพอสมควร เพื่อให้ดูซอฟต์ลง ไม่ให้เหมือนมีสภาพบังคับ

ประเด็นที่มีการปรับปรุง คือ ยืนยันว่า ป.ป.ช.มีอำนาจจัดทำข้อเสนอแนะตามมาตรา 32 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

นอกจากนี้ ไม่ได้ฟันธงว่าเศษฐกิจวิกฤตหรือไม่วิกฤต

รวมถึงตัดถ้อยคำที่ว่า นโยบายเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เป็นการหาเสียงที่อาจเข้าลักษณะเป็นสัญญาว่าจะให้ ออกไป

ทั้งนี้ คาดว่าประมาณ 2 สัปดาห์จะส่งให้รัฐบาลได้

“ยืนยันว่า ป.ป.ช.ไม่ได้ก้าวก่ายนโยบายรัฐบาล แต่ทำตามมาตรา 32 พ.ร.ป.ป.ป.ช. เราไม่ได้บอกว่านโยบายนี้จะทุจริต แต่เสนอแนะว่าอาจจะมีการทุจริตเกิดขึ้น จึงให้ไปหามาตรการป้องกัน และ ป.ป.ช.ไม่ได้มีอำนาจไปห้ามหรืออนุญาตให้รัฐบาลทำ ป.ป.ช.แค่เสนอแนะไปเพื่อให้วางแนวทางป้องกัน ให้ระมัดระวัง ถ้าระมัดระวังก็จบ ส่วนอนาคตหากเกิดความเสียหายหรือทุจริตก็ต้องดูว่ามีเจตนาหรือไม่ และหากบอกว่าระมัดระวังแล้วก็ต้องดูพฤติการณ์อีกว่ามีการระมัดระวังมากน้อยแค่ไหน เป็นเรื่องรายละเอียด” นายนิวัติไชยระบุ

เมื่อ ป.ป.ช.ซึ่งถูกจับตาว่าเป็นด่านใหญ่ในการขวางนโยบายนี้ ปรับท่าทีให้นุ่มนวลลง

ก็ต้องรอดูการขยับผลักดันนโยบายที่เป็นเรือธงสำคัญของพรรคเพื่อไทยอีกรอบในครั้งนี้ จะประสบผล หรือเผชิญปัญหาอุปสรรคอะไรอีกบ้าง

ต้องติดตามกันต่อไป