รอฤดูใบไม้ผลิที่เมียนมา! | สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข
(Photo by AFP)

ในขณะที่สถานการณ์โลกมีความร้อนในหลายจุด ไม่ว่าจะเป็นในยูเครน กาซา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในทะเลแดง และตามมาด้วยการโจมตีเยเมน รวมถึงการโจมตีที่เกิดขึ้นในเลบานอน อิรัก และซีเรีย สงครามและการโจมตีที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ทำให้สถานการณ์โลกในปี 2024 เริ่มร้อนตั้งแต่เดือนแรกของปีทันที … ปีใหม่นี้ดูจะเริ่มต้นด้วยสงคราม จนเป็นความกังวลที่สำคัญสำหรับการเมืองโลก

โลกที่ร้อนขึ้นในทางการเมืองนั้น ยังเห็นได้ถึงสถานการณ์สงครามในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา เป็นวาระครบรอบ 3 ปีเต็มของสงครามกลางเมืองเมียนมา สงครามชุดนี้เริ่มด้วยความสำเร็จของการรัฐประหารของกองทัพเมียนมาในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 และเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามชุดใหม่ หรืออาจกล่าวได้ว่า การเมืองของประเทศนี้ ก้าวสู่ “บริบทใหม่” ที่ไม่ใช่สงครามระหว่าง “กองทัพของรัฐบาลกลางกับกองกำลังชนกลุ่มน้อย” ในแบบเดิม หากเป็นสงครามระหว่าง “กองทัพของคณะรัฐประหารกับกองกำลังของฝ่ายประชาธิปไตย”

ฝ่ายประชาธิปไตยหรือฝ่ายต่อต้านรัฐบาลในบริบทใหม่ของสงครามหลังการยึดอำนาจคือ การรวมตัวกันของชนทุกกลุ่มในสังคมที่ไม่ตอบรับกับการปกครองของคณะรัฐประหาร ไม่ใช่แค่ชนกลุ่มน้อยที่ต่อต้านรัฐบาลกลาง แต่เป็นคนหนุ่มสาวในสังคมเมียนมาทั้งหมดที่เติบโตมากับการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย และตัดสินใจจับอาวุธเข้าร่วมในการต่อสู้กับอำนาจรัฐ เพราะหลังจากความสำเร็จของการยึดอำนาจแล้ว กองทัพได้ใช้กำลังปราบปรามผู้เห็นต่างอย่างรุนแรง และทำให้ผู้คนเป็นจำนวนมากเสียชีวิต จนอยากจะเปรียบ รัฐประหาร 1 กุมภาพันธ์ 2021 ของเมียนมาว่า เป็นเสมือนการย้อนรอยรัฐประหาร 6 ตุลาคม 1976 (พศ. 2519) ของไทย ที่ทำให้คนหนุ่มสาวจำนวนมากตัดสินใจเข้าร่วมการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ

ชีวิตในทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ที่เข้าร่วมการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธเหล่านี้ เริ่มด้วยความพ่ายแพ้ของพรรครัฐบาลทหารในการเลือกตั้งเมษายน 2012 หรือโดยนัยคือการเริ่มต้นของ “การเมืองใหม่” หลังจากชนะของพรรคฝ่ายค้านคือ พรรคเอ็นแอลดี (The NLD) หรือ “พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย” ที่นำโดยนางอองซาน ซูจี และในกรณีนี้ เป็นครั้งแรกที่ผู้แทนระหว่างประเทศได้เข้าไปสังเกตการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดมาก่อนสำหรับการเลือกตั้งที่เกิดภายใต้ระบอบทหาร

การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยของเมียนมาในปี 2012 ที่อาจจะดูไม่สมบูรณ์นัก เพราะรัฐธรรมนูญยังสงวนอำนาจให้แก่ฝ่ายทหารในบางส่วน แต่ก็ทำให้ภาพลักษณ์ของเมียนมาในเวทีระหว่างประเทศเปลี่ยนไปในทางบวกอย่างมาก แม้การเลือกตั้งที่เกิดในครั้งนี้ นำไปสู่การเมืองที่มีความเป็น “พันทาง” หรือเป็น “ไฮบริด” ในตัวเอง (hybrid politics) แต่กระนั้น การเมืองหลังการเลือกตั้งเปิดโอกาสให้คนในสังคมรู้จัก และคุ้นเคยกับสิ่งที่เรียกว่า “เสรีภาพและประชาธิปไตย” และเชื่อว่า สิ่งเหล่านี้จะเป็นหนทางของการพัฒนาสังคมไปสู่ “ความเป็นสมัยใหม่” (modernization) เช่นในอารยประเทศ หรืออีกนัยหนึ่งสำหรับคนในสังคม เสรีภาพและประชาธิปไตยจะเป็นเงื่อนไขที่พาประเทศออกจาก “ความด้อยพัฒนา” และ “ความยากจน”

การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองที่เกิดขึ้นในปี 2012 จึงเป็นดังจุดเริ่มต้นของ “การปฏิรูปการเมืองเมียนมา” หรือบางคนอาจจะถือว่า เป็นสัญญาณที่ชัดเจนของการเปิดประเทศ หลังจากการที่ประเทศตกอยู่ในความเป็น “สังคมปิด” มาอย่างยาวนานภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหารที่ล้าหลัง และการปกครองเช่นนี้ ไม่เพียงสร้างความมั่งคั่งให้แก่ผู้นำทหารและครอบครัวอย่างมหาศาล (ซึ่งก็เป็นเช่นเดียวกับการยึดอำนาจในประเทศข้างบ้านของเมียนมา ที่รัฐประหารคือเงื่อนไขในการสร้างความมั่งคั่งของผู้นำทหาร ไม่ใช่เรื่องของการสร้างการเมืองใหม่) แต่ในทางกลับกัน ระบอบการปกครองของทหารเป็นปัจจัยสำคัญของการสร้าง “ความด้อยพัฒนา” (underdevelopment) และนำพาสังคมเมียนมาเข้าสู่ความยากจนอย่างเช่นที่ปรากฎให้เห็นในปัจจุบัน

คงไม่ผิดนักที่จะกล่าวว่า สำหรับชาวเมียนมาแล้ว “เสรีภาพและประชาธิปไตย” ได้เข้ามาเป็นส่วนสำคัญของชุดความคิดทางการเมือง ที่จะใช้เป็นหนทางของการพัฒนาประเทศในอนาคต ซึ่งว่าที่จริง ก็อาจไม่แตกต่างกับเสียงเรียกร้องที่จตุรัสทาห์รีร์ (Tahrir Square) กลางกรุงไคโร ประเทศอียิปต์ อันเป็นจุดเริ่มต้นของ “ฤดูใบไม้ผลิของโลกอาหรับ” หรือ “อาหรับสปริง” (Arab Spring) ที่ถือเป็น “การปฏิวัติประชาธิปไตยอาหรับ” ครั้งสำคัญของสังคมตะวันออกกลาง พวกเขาเรียกร้องที่จะพาสังคมอียิปต์ออกจากการปกครองของระบอบทหาร …

เช่นเดียวกัน ไม่ต่างจากเสียงประกาศก้องของผู้ชุมนุมที่จตุรัสไมดาน ในกลางกรุงคีฟ ประเทศยูเครน ที่เป็นจุดเริ่มต้นของ “ยูโรไมดาน” (Euromaidan) อันมีนัยถึง “การปฏิวัติประชาธิปไตยยูเครน” ดังนั้น การต่อสู้ที่เกิดที่จตุรัสไมดานจึงไม่เพียงต้องการขับไล่รัฐบาลนิยมรัสเซียที่คอร์รับชั่นออกจากอำนาจ แต่ยังหมายถึงการพาสังคมไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย ไม่ใช่การอยู่กับการเมืองแบบอำนาจนิยมของรัสเซีย แล้วความฝันนี้ก็ถูกทำลายลงด้วย “สงครามยูเครน”

ในเมียนมา ความฝันของการสร้าง “สังคมใหม่” ถูกทำลายลงด้วยการรัฐประหาร พวกเขาจึงตัดสินใจที่จะสู้ มากกว่าการจะยอมจำนนอยู่กับ “อำนาจรัฐทหาร” เช่นในการรัฐประหารครั้งก่อนๆ อันทำให้ “สงครามประชาธิปไตย” ขยับตัวมากขึ้นในแต่ละช่วงเวลา และยิ่งหลังจาก “ยุทธการ 1027” ต่อเนื่องเข้าสู่ช่วงเวลาหลังปีใหม่ ก็ยิ่งเห็นถึงความพ่ายแพ้ของกองทัพรัฐบาล แม้ความพ่ายแพ้และถอยร่นของกองทัพเมียนมา อาจจะไม่ใช่การล้มลงของระบอบรัฐประหารในทันที แต่ก็เป็นสัญญาณของการถดถอยครั้งใหญ่ เพราะกองทัพรัฐบาลไม่เคยมีความพ่ายแพ้ในระดับเช่นนี้มาก่อน และทั้งยังเห็นถึงการ “หนีทัพ” ของทหารจำนวนมากด้วย

หรือทั้งหมดนี้ กำลังบ่งบอกถึงการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลทางการเมือง … “ฤดูหนาว” ในเมียนมากำลังจะหมดลง และ “ฤดูใบไม้ผลิ” กำลังจะมา แม้การเปลี่ยนฤดูกาลจะผ่านความโหดร้ายอย่างรุนแรงก็ตาม

วันนี้ “กองทัพของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหาร” มีจิตใจรุกรบ และรอโอกาสของ “การรุกใหญ่” ที่จะเกิดขึ้นในฤดูแล้งที่กำลังจะมาถึง … แน่นอนว่า “สงครามฤดูแล้ง” ในปี 2024 จะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญสำหรับอนาคตของเมียนมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถ้าเช่นนั้นแล้ว ไทยจะเตรียมตัวรับกับความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้อย่างไร ความพยายามที่จะ “อุ้มกระเตง” รัฐบาลทหารในนโยบายแบบด้านเดียวนั้น ถึงเวลาต้องทบทวนอย่างจริงจังแล้ว !