อำนาจ/ความรู้ : จาก Liberal Arts สู่ศิลปศาสตร์ (3)

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

ตุลวิภาคพจนกิจ | ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

 

อำนาจ/ความรู้

: จาก Liberal Arts สู่ศิลปศาสตร์ (3)

 

การก่อตั้งคณะศิลปศาสตร์และการศึกษาตามแนวทางของลิเบอรัล อาร์ตส์ แบบอเมริกัน สามารถลงรากปักฐานในระบบอุดมศึกษาไทยก็ในสมัยรัฐบาลปฏิวัติภายใต้จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ดังได้กล่าวมาก่อนนี้แล้ว

วันนี้จะเล่าเพิ่มเติมในข้อมูลที่เพิ่งค้นพบระยะหนึ่งมาแล้ว แต่ยังไม่ครอบคลุมเรื่องราวของความเปลี่ยนแปลงในระบบอุดมศึกษาไทยทั้งหมด

ผมเชื่อว่าถึงให้ไปกดถามใน Chat GPT ก็จะไม่ได้อะไรออกมาเหมือนกัน

เพราะมันรอพวกเราช่วยกันอธิบายและเติมช่องว่างเหล่านี้ให้เต็มเสียก่อน นักวิจัยในอีกห้าปีข้างหน้าคงจะลอกจาก AI เหล่านี้ได้

 

คําถามแรกของผมคือทำไมรัฐบาลไทยถึงมีแรงจูงใจที่จะจัดตั้งการเรียนการสอนแบบเสรีนิยม ซึ่งมีหลักการและอุดมการณ์อันตรงข้ามกับการปฏิบัติและความเชื่อแบบไทยยิ่งนัก โดยเฉพาะต่อชนชั้นนำผู้ครองอำนาจอย่างเด็ดขาดซึ่งมักไม่เสรีนิยมเลย

โดยทั่วไปในยุคที่สยามเริ่มผนวกเข้ากับระบบเศรษฐกิจโลกที่เรียกว่าทุนนิยม แนวการสร้างรัฐชาติที่เกิดตามมาดำเนินไปคล้ายกัน คือต้องสร้างระบบที่กล่อมเกลาและดัดแปลงประชากรของตน ซึ่งมีความแตกต่างหลากหลายทางเชื้อชาติศาสนาและวัฒนธรรม ให้เป็นพลเมืองอันหนึ่งอันเดียวภายใต้การปกครองของรัฐ

นั่นคือผ่านวิธีการเกณฑ์ทหารโดยทั่วหน้า สองคือการศึกษาถ้วนหน้าได้แก่นโยบายการศึกษาภาคบังคับในสมัยรัชกาลที่ 6 เป็นต้นมา

ดังนั้น การเกิดสถาบันความรู้และวิจัยจึงมีความเชื่อมโยงกับความต้องการพัฒนาทางเศรษฐกิจการเมืองโลก นั่นคือยุคแรกของการเกิดความคิดในการก่อตั้ง “สากลวิทยาลัย” หรือมหาวิทยาลัยในปัจจุบันในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่ลงมือได้ในสมัยรัชกาลที่ 6 สำเร็จราวส่วนหนึ่งที่เป็นวิชาชีพและช่างเทคนิค

แต่ที่ยากและทำไม่ได้คือความพยายามตั้งระบบการศึกษาแบบมนุษยศาสตร์หรือลิเบอรัล อาร์ตส์

ที่น่าแปลกใจคือได้เกิดมีแนวคิดของการศึกษาแนว “ศิลปศาสตร์” นี้แล้วในระยะนั้น ผู้เป็นเจ้าของแนวคิดใหม่นี่ ไม่ใช่ใครที่ไหนหากคือสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงสงขลานครินทร์

 

การศึกษาทางศิลปศาสตร์ (Liberal Arts Education หรือ Liberal Education) “ถือว่าเป็นการศึกษาในอุดมคติ ทั้งนี้ก็เพราะว่า รูปแบบการศึกษาชนิดนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อนักศึกษาสามารถพัฒนาศักยภาพทางปัญญาด้วยการประมวล การสังเคราะห์และบูรณาการองค์ความรู้ต่างๆ จนก่อให้เกิดความเป็นอิสระทางความคิด ความสามารถในการวิพากษ์วิจารณ์ และการริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อตนเอง สังคมและมวลมนุษยชาติ” (เกษม เพ็ญภินันท์ และคณะ 2553)

ถ้าพิจารณาจากนิยามความหมายข้างต้นนี้ การจัดตั้งและจัดการศึกษาแบบศิลปศาสตร์ในระบบการศึกษาไทยน่าจะเป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้เลย เนื่องด้วยการขาดเงื่อนไขทางสังคมและการเมืองดังกล่าว

แต่ในความเป็นจริง เมื่อย้อนกลับไปมองประวัติศาสตร์ของการเปลี่ยนแปลงในด้านการศึกษาไทย น่าแปลกใจไม่น้อยว่ามีการพูดและระบุถึงแนวความคิดและจุดหมายบางส่วนที่ตรงกับอุดมคติของการศึกษาศิลปศาสตร์เกิดขึ้นในสังคมไทยด้วยเหมือนกัน เพียงแต่ผลพวงและกระบวนการที่มากับแนวความคิดเหล่านั้นไม่สามารถดำรงและสืบทอดการปฏิบัติของมันได้อย่างจริงจัง

ระบบการอุดมศึกษาไทยจึงยังดำรงอยู่และต่อสู้กับอุดมคติต่างๆอย่างไม่สิ้นสุด แม้ว่าชัยชนะที่ได้มาจะเล็กน้อยและสั้นเกินไปก็ตาม

การหวนกลับไปพินิจถึงความเป็นมาของความคิดว่าด้วยศิลปศาสตร์จึงน่ายังมีประโยชน์พอประมาณสำหรับการขับเคลื่อนและเดินหน้าไปสู่จุดหมายอันดีงามต่อไปได้

 

ความคิดเรื่องการสร้างมหาวิทยาลัยก็เหมือนกับความคิดในการปฏิรูปพระราชอาณาจักรสยาม ที่เกิดและอภิปรายกันภายในชนชั้นนำระดับสูงจำนวนน้อยเท่านั้น

แรงจูงใจที่จะมีฐานะทัดเทียมกับตะวันตก ทำให้ชนชั้นนำสยามต้องหันมามองดูตัวเองและพยายามหาช่องทางในการปรับปรุงตนเองให้ทัดเทียมต่างประเทศ อันนำไปสู่แนวคิดเรื่องการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเมื่อกรมศึกษาธิการทำบันทึกทูลเกล้ารัชกาลที่ 5 เรื่อง “โครงการศึกษาพ.ศ. 2441(1898)” ตามที่ทรงพระประสงค์จะให้มีการศึกษาแบบ “เบื้องสูงสุด” ซึ่งดำเนินการอยู่ใน “วิทยาลัยหรือสากลวิทยาลัย”

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวหวังจะตั้งให้ได้ในปี “สุวรรณาภิเษก” โดยการรวมเอามหามกุฎราชวิทยาลัยสำหรับทำด้านวินัยและศาสตร์ กับมหาธาตุวิทยาลัยที่สำหรับทำด้านกฎหมาย นอกนั้นก็รวมเอาโรงเรียนต่างๆ ของหน่วยงานอื่นๆ เช่น โรงเรียนแพทยากรมาทำเป็นวิทยาลัยแพทย์ โรงเรียนอื่นๆ ก็ตั้งเป็นโรงเรียนสำหรับวิทยาลัย มีห้องสมุดกลางเรียกว่าหอสากลวิทยาลัยที่รวมหนังสือทุกวิชาเข้าไว้ในที่เดียวกัน ทั้งหมดนี้รวมกันเป็น “รัตนโกสินทร์สากลวิทยาลัย”

ความคิดในโครงการดังกล่าวนี้นับว่าทันสมัยและก้าวหน้าอย่างมาก

แสดงว่ากรมศึกษาธิการได้ค้นคว้ารูปแบบและวิธีการจากมหาวิทยาลัยในตะวันตกอย่างมากพอสมควร เห็นได้ในหลักการของการสร้างมหาวิทยาลัยแบบใหม่ที่เน้นทั้งด้านความรู้ทั่วไปและเฉพาะด้านที่เป็นวิชาชีพ แม้ยังไม่ได้ลงรายละเอียดของการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมต่อไปก็ตาม

กระนั้นก็ตาม การก่อตั้งมหาวิทยาลัยปรากฏเป็นจริงก็ในสมัยรัชกาลที่ 6 ด้วยการตั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี 2460 (1917) ด้วยวิธีการแบบเดิมคือยกระดับจากโรงเรียนข้าราชการพลเรือนและรวมวิชาชีพชั้นสูงจากโรงเรียนต่างๆ เข้ามาไว้ด้วยกัน เมื่อพิจารณาถึงความไม่เป็นเอกภาพในความคิดเรื่องการตั้งมหาวิทยาลัยของผู้เกี่ยวข้องที่เป็นข้าราชการระดับสูง ซึ่งมีประสบการณ์ในเรื่องดังกล่าวแตกต่างกันไป

ที่สำคัญคือสยามไม่มีระบบการศึกษาระดับพื้นฐานและกลางมากพอที่จะสร้างนักศึกษาในระดับอุดมศึกษาได้ตามความต้องการและอย่างมีคุณภาพด้วย

ยังไม่ต้องพูดถึงการขาดอาจารย์ไทยผู้สามารถสอนได้ ซึ่งรัฐบาลมักแก้ด้วยการจ้างชาวต่างชาติมาทำหน้าที่แทนเหมือนดังที่ได้ปฏิบัติมาแล้วในการก่อตั้งกระทรวงสมัยใหม่ทั้งหลาย

ที่สำคัญสำหรับการสร้างระบบอุดมศึกษาสมัยใหม่คือการมีส่วนร่วมของพลเมืองผู้มีความรู้ความเข้าใจในอุดมคติของการศึกษาว่าจำเป็นอย่างไรต่อการสร้างรัฐชาติสมัยใหม่ ปัจจัยสำคัญเหล่านั้นไม่มีอยู่เลยในการวางแผนก่อตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นในสยาม นอกจากพระราชประสงค์ของพระมหากษัตริย์แต่เพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น

จึงไม่แปลกใจที่แผนการสร้างมหาวิทยาลัยแห่งแรกประสบอุปสรรคและไม่อาจดำเนินไปตามโครงการไว้ได้ จนถึงปีสวรรคตของพระองค์ท่าน (2468)

 

การดำเนินการจัดการมหาวิทยาลัยแห่งแรกไม่อาจบรรลุจุดหมายได้เลย ด้วยปัญหาหลายประการ ดังที่อธิบดีกรมมหาวิทยาลัยขณะนั้น กรมหมื่นไชยนาทนเรนทร แจกแจงไว้ในลายพระหัตถ์ทรงมีถึงเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เสนาบดีกระทรวงธรรมการอย่างตรงไปตรงมา

เช่น ไม่ได้คำนึงถึงสภาพความเป็นจริงของสังคมไทย ความสามารถทางการเงินของรัฐและสังคม ธรรมชาติเนื้อแท้ของการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา

ที่สำคัญยิ่งยังได้ทรงตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับปรัชญาการศึกษาของการสถาปนามหาวิทยาลัยแห่งแรก ว่ามีเนื้อหารูปแบบอย่างไรและมีภารกิจที่เหมาะสมกับสังคมไทยอย่างไรด้วย

เช่น มหาวิทยาลัยควรเป็นเสมือน “ตลาดขายวิชา” เป็นที่ “ชุมนุมแห่งผู้รู้วิชาและผู้อยากเรียนวิชาทั่วไป” เหมือน “ตลาดย่อมอยู่ในที่ประชุมชน” ห้องสมุดก็ควรเป็นที่รวบรวมตำราทุกอย่างและเปิดโอกาสให้ผู้อยากรู้วิชาใช้สมุดได้ทั่วถึงกัน” (ฉลอง สุนทราวาณิชย์ 2530)

สังเกตว่าแนวคิดว่าด้วยลักษณะของมหาวิทยาลัยในทางอุดมคติยังไม่ได้มีการกล่าวถึงมากนัก ยังยึดแนวคิดเดิมๆ ที่เน้นการศึกษาและสร้างนักวิชาชีพด้านการแพทย์ วิศวกรรมและวิทยาศาสตร์เป็นหลัก

(ยังมีต่อ)

บรรณานุกรม

เกษม เพ็ญภินันท์ และคณะ. 2553. รายงานการวิจัยเรื่อง รูปแบบและแนวทางการจัดการศึกษาศิลปศาสตร์ (Liberal Arts Education) ในสถาบันอุดมศึกษาไทย กรุงเทพฯ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ.

ฉลอง สุนทราวาณิชย์. 2530. “ปฐมมหาวิทยาลัยวิพากษ์ : เอกสารประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” บานไม่รู้โรย ปีที่ 3 ฉบับที่ 11 ธันวาคม 2530 หน้า 51-59.