As the future (forward) catches you เมื่ออนาคต (ใหม่) ไล่ล่าคุณ

กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์www.facebook.com/bintokrit
(Photo by ODD ANDERSEN / AFP)

ย้อนหลังไปเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อนตอนทักษิณ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เขามักจะแนะนำหนังสือให้คณะรัฐมนตรีได้อ่านอยู่บ่อยๆ

ซึ่งหนึ่งในหนังสือที่ถูกหยิบยกขึ้นมาแนะนำก็คือ “As the future catches you” ของ “Juan Enriquez” (ฮวน เอนริเกซ์) นักวิชาการ นักธุรกิจ และนักเขียนชาวอเมริกันเชื้อสายเม็กซิกัน

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 กันยายน พ.ศ.2545 ทำให้อีกไม่กี่เดือนต่อมาก็มีการนำหนังสือเล่มนี้มาแปลเป็นภาษาไทยและขายดีเป็นเทน้ำเทท่า

As the future catches you เป็นหนังสือเบสต์เซลเลอร์ในหลายประเทศ โดยเฉพาะยิ่งสหรัฐอเมริกา ต้นฉบับภาษาอังกฤษออกวางแผงครั้งแรกใน ค.ศ.2000 หรือ พ.ศ.2543

ฉบับภาษาไทยใช้ชื่อว่า “เมื่ออนาคตไล่ล่าคุณ” วางแผงเมื่อปี พ.ศ.2546 แปลโดยชวนิต ศิวะเกื้อ และสมสกุล เผ่าจินดามุข สามารถทำยอดขายถล่มทลายคล้ายคลึงกับที่ประเทศอื่น หรืออาจมากกว่าประเทศอื่นด้วยซ้ำ

เนื่องจากนายกรัฐมนตรีที่ ณ ขณะนั้นกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นเป็นผู้แนะนำหนังสือเล่มนี้ด้วยตัวเองทั้งในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีและด้วยการเขียนคำนิยมเอาไว้ในตัวเล่ม ส่งผลให้มีการตีพิมพ์ซ้ำหลายครั้งตลอดปี 2546

เนื้อหาของหนังสือกล่าวถึงอนาคตและความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยที่กำลังวิ่งเข้ามาอย่างรวดเร็ว โดยเน้นหนักไปที่ความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อย่างเช่น นาโนเทคโนโลยี พันธุศาสตร์ และจีโนมิกส์-ดิจิทัล (digital-genomics) เป็นต้น

ซึ่งแม้ว่าหนังสือนี้ไม่ได้นำเสนอประเด็นทางการเมืองมากนัก แต่เนื่องจากผู้แนะนำหนังสือเป็นนักการเมืองที่กำลังดำรงตำแหน่งสูงสุดในการบริหารประเทศอยู่ ประกอบกับบุคลิกและวิธีการเล่นการเมืองแบบ “คิดใหม่ ทำใหม่” ในขณะนั้น ก็ทำให้หนังสือนี้กลายเป็นประเด็นสำคัญทางการเมืองไปได้

หรือกล่าวได้ว่าเปลือกนอกของปรากฏการณ์นี้เป็นเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

แต่เนื้อในคือการคืบคลานเข้ามาของการเมืองแบบใหม่ที่กำลังจะ “ดิสรัปต์” แบบเก่า ซึ่งเป็นประเด็นที่สาธารณชนสนใจมากกว่า

 

ทักษิณและเครือข่าย ตลอดจนขั้วการเมืองของพรรคไทยรักไทยขณะนั้นได้กลายเป็น “ผี” หรือ “ปีศาจ” ตนใหม่ซึ่งคอยหลอกหลอนอำนาจเก่าที่ไม่เอาด้วยกับความเปลี่ยนแปลงใดๆ

หลังจากนั้นเมื่อเวลาผ่านมาสามปี ความหวาดกลัวผีแห่งอนาคตก็สั่งสมก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างจนสำแดงฤทธิ์เดช ปรากฏเป็นการต่อต้านขั้วอำนาจที่ล้อมรอบทักษิณ

ไล่มาตั้งแต่การกำเนิดพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ไปจนถึงการรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ.2549 ผ่านข้อโจมตีเรื่องการขายชาติ การทุจริตคอร์รัปชั่น ผลประโยชน์ทับซ้อน นโยบายประชานิยม ไปจนถึงการไม่จงรักภักดี

กระทั่งสามารถขับไล่ทักษิณให้พ้นไปจากอำนาจได้ที่สุด

พรรคไทยรักไทยของทักษิณถูกยุบลงไปก็จริง แต่อวตารไปเป็นพรรคใหม่ชื่อพลังประชาชน แล้วก็ได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งอีก

ครั้นพลังประชาชนถูกยุบก็อวตารไปเป็นเพื่อไทย แล้วเพื่อไทยก็ได้ชัยชนะจากการเลือกตั้งอีก

เมื่อยุบใหม่ก็ตั้งใหม่ ฆ่าไปก็ฆ่าไม่ตาย ดังนั้น การรัฐประหารครั้งต่อมาจึงเกิดขึ้น ทว่า การรัฐประหารแต่ละครั้งก็ไม่สามารถขจัดอิทธิพลของกลุ่มการเมืองนี้ไปได้

มิหนำซ้ำยังแพร่ขยายและส่งต่อความเคลื่อนไหวมาสู่กลุ่มการเมืองกลุ่มใหม่ในเวลาต่อมา

 

คล้อยหลังได้ 8 ปีก็มีการรัฐประหารซ้ำสองเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 และมีพรรคการเมืองใหม่ถือกำเนิดขึ้นในนาม “พรรคอนาคตใหม่”

ที่แม้ในช่วงแรกจะดูเหมือนเป็นแนวร่วมของพรรคสายประชาธิปไตยขั้วเดียวกับเพื่อไทยก็ตาม แต่เวลาต่อมาก็เห็นได้ชัดว่าแนวทางของสองพรรคนี้มีแก่นสารสาระที่แตกต่างกัน

ทั้งนโยบายที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ กฎหมายอาญามาตรา 112 นโยบายเกี่ยวกับรัฐสวัสดิการ นโยบายทางเศรษฐกิจ นโยบายความมั่นคง รวมทั้งแนวทางในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าทุกวันนี้ “ผีตัวเก่า” จะไม่น่ากลัวสำหรับอำนาจเก่าอีกต่อไป

หากแต่มี “ผีตัวใหม่” ขึ้นมาแทนที่

ผีตัวใหม่ในนามของพรรคก้าวไกลที่สืบสายมาจากพรรคอนาคตใหม่ที่ถูกยุบไปแล้ว นอกจากปราบผีให้สิ้นซากไม่ได้แล้ว ผีตัวใหม่ยังเฮี้ยนกว่าเก่า และผลุบโผล่ตามที่ต่างๆ อย่างยากที่จะคว้าจับได้ เนื่องจากว่ามันได้กระจายตัวในรูปของแนวคิดเสียมากกว่าเป็นกลุ่มบุคคล

ดังนั้น จึงไม่รู้ว่าจะจับผีอย่างไร และจะยัดผีตัวไหนลงไปในหม้อ

ผีที่ถูกรุกไล่อาจดูเสียเปรียบ แต่ผู้ที่ปวดเศียรเวียนเกล้ากว่าน่าจะเป็นหมอผีต่างหาก

 

ล่าสุดในวันที่ 31 มกราคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำพิพากษาเรื่องที่มีผู้ร้องว่า

“การกระทำของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลขณะนั้น ในฐานะผู้ถูกร้องที่ 1 และพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้ถูกร้องที่ 2 เสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่…) พ.ศ…. เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้งและยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่งหรือไม่” ตามข่าว https://www.matichon.co.th/politics/news_4402484

ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้ทำการวินิจฉัยโดยมติเอกฉันท์ 9:0 ว่า “การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง และสั่งการให้ผู้ถูกร้องทั้งสองเลิกการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่นเพื่อให้มีการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อีกทั้งไม่ให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วยวิธีการซึ่งไม่ใช่กระบวนการทางนิติบัญญัติโดยชอบ ที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย”

ตามข่าว https://www.matichon.co.th/politics/news_4402757

 

ไม่นานหลังจากศาลอ่านคำพิพากษา พรรคก้าวไกลได้แถลงข่าวแสดงความกังวลต่อการวินิจฉัยที่อาจส่งผลกระทบต่อขอบเขตอำนาจระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายตุลาการ รวมทั้งยืนยันถึงเจตนาว่าการแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 ไม่ใช่การล้มล้างสถาบันกษัตริย์ นอกจากนี้ ยังเสนอประเด็นที่น่าวิตกอีกหลายข้อ

เช่น คำจำกัดความที่คลุมเครือของการล้มล้างสถาบันกษัตริย์ เป็นต้น ตามลิงก์ https://www.youtube.com/watch?v=O50ISOtD_S4

ผลจากคำพิพากษานี้อาจส่งผลนำไปสู่การร้องให้ยุบพรรคและตัดสิทธิทางการเมืองของผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่หลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

หากมองแต่เพียงเปลือกนอก เหตุการณ์เหล่านี้เป็นเรื่องเชิงกฎหมายหรือเป็นเรื่องทางนิติศาสตร์โดยแท้ แต่ถึงวันนี้จะมีใครเชื่อบ้างว่าเรื่องราวเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องทางการเมืองด้วย และสะท้อนให้เห็นการต่อสู้ของขั้วอำนาจที่ยังไม่สิ้นสุดยุติ

การต่อสู้ที่มีการเลือกตั้งปรากฏให้เห็นในระดับพื้นผิว แต่สมรภูมิที่แท้จริงอยู่ลึกลงไปอีกชั้นหนึ่ง และแตกต่างจากอดีต

เพราะมันคือกระแสความคิดที่ปะทะกันระหว่างใหม่กับเก่า หาใช่ระหว่างกลุ่มใดกับกลุ่มใดแต่เพียงอย่างเดียว

 

24 ปีหลังจากที่ As the future catches you วางแผง หนังสือที่เคยสร้างความฮือฮามาก่อนหาได้มีอิทธิพลในวันนี้ไม่ จนแทบไม่มีใครสนใจเรื่องราวในเล่มนี้

อนาคตในวันนั้นได้เคลื่อนผ่านไปกลายเป็นอดีตในวันนี้

และอนาคตของวันนี้ที่กำลังมาถึงเป็นสิ่งใหม่ที่เลยไกลไปกว่าเมื่อครั้งอดีต

ในขณะที่หนังสือชื่อดังเล่มนี้แทบจะเลือนหายไปจากความทรงจำของผู้คนในปัจจุบัน

ปรากฏการณ์ใหม่ก็คืบคลานเข้ามาแทนที่และเป็นที่สนใจของผู้คนมากกว่า

นั่นคือคลื่นความคิดของคนรุ่นใหม่ที่ตั้งต้นจากพรรคอนาคตใหม่และเดินทางไกลมาถึงก้าวไกลในวันนี้

สภาพการณ์ตามธรรมชาติและพัฒนาการของสังคมที่เป็นพลวัตไม่มีใครไปหยุดยั้งได้ การสกัดกั้นอนาคตที่ไหลบ่ามาอย่างเชี่ยวกราก อย่างมากก็ทำได้แต่เพียงชะลอหรือยับยั้งชั่วคราวเท่านั้น การทำลายหรือบั่นทอนกำลังอาจให้ผลที่ดูเหมือนชัยชนะเพียงชั่วครู่ชั่วยาม แต่มิอาจหยุดสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง

ไม้ใหญ่ที่ดำเนินไปตามสัจธรรมเช่นนี้ก็จะเอนลู่ปรับตัว แต่หากตรงกันข้ามก็จะฝืนต้านจนหักโค่น

การเปลี่ยนผันของยุคสมัยดำเนินไปไม่ต่างอะไรกับในอดีต ทว่า เมื่อคลื่นลูกใหม่ในวันนี้มีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างออกไปจากสมัยทักษิณ ดังนั้น ก็เลยไม่ใช่ “As the future catches you” แบบเมื่อ 24 ปีก่อน

แต่เป็น “As the future forward catches you”

เมื่ออนาคตใหม่ไล่ล่าคุณ