ครบรอบ 3 ปีรัฐประหาร อนาคตเมียนมายังมืดมน

(Photo by AFP) / To go with 'MYANMAR-CONFLICT,SCENE'

วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2024 ที่ผ่านมา ถือเป็นวันครบรอบ 3 ปีของการรัฐประหาร ยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนจากการเลือกตั้ง โดยคณะนายทหารที่มีพลเอกอาวุโส มิน อ่อง ลาย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2021

พลิกผันชะตากรรมของประเทศจากชาติประชาธิปไตยใหม่ที่เคยมีอนาคตสดใส กลายเป็นรัฐภายใต้รัฐบาลทหารที่อนาคตเหมือนจะมืดมนลงโดยฉับพลัน แล้วลุกลามขยายตัวเป็นสงครามกลางเมืองเต็มรูปแบบในเวลาต่อมา

รายงานของสหประชาชาติเมื่อ 7 มกราคมที่ผ่านมา ระบุว่า พื้นที่ราว 2 ใน 3 ของประเทศยังคงเต็มไปด้วยความขัดแย้งและการสู้รบ

ประชาชนกว่า 2.6 ล้านคนกลายเป็นคนพลัดถิ่นภายในประเทศ

หลายแสนคนในจำนวนนั้น เกิดขึ้นหลังจาก “ปฏิบัติการ 1027” ของกลุ่มต่อต้าน เมื่อกองกำลังติดอาวุธของกลุ่มชาติพันธุ์ประสานงานกันโจมตีที่ตั้งทางทหารในทางตอนเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ โดยเฉพาะในรัฐฉาน (เหนือ), สกาย, ชิน และยะไข่

เมืองเล็กเมืองน้อยอย่างน้อย 34 เมืองตกอยู่ภายใต้การควบคุมของกองกำลังฝ่ายต่อต้าน

อีกหลายเมืองกำลังตกอยู่ภายใต้การคุกคามอย่างหนักอยู่ในเวลานี้

ในหลายพื้นที่เหล่านี้ บริการทางด้านสาธารณสุขและการศึกษาเหือดหายไปพร้อมๆ กับอาหารและน้ำดื่ม สภาพการดำรงชีวิตเสื่อมทรุดในทุกๆ ด้าน ส่งผลกระทบอย่างฉกรรจ์ต่อการดำรงชีวิตของประชาชน

จำนวนประชากรที่ตกอยู่ในระดับความยากจนเพิ่มขึ้นพรวดพราด ธนาคารโลกประเมินว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในปีนี้จะขยายตัวเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงเกินความคาดหมายไปอยู่ที่ราว 20 เปอร์เซ็นต์ เป็นผลจากความขาดแคลนธัญพืชอาหารสำคัญอย่างข้าว และพลังงาน

 

ในขณะที่กลุ่มพันธมิตรแห่งภราดรภาพ กองทัพของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ซึ่งจับมือเป็นพันธมิตรหลวมๆ กับรัฐบาลเพื่อเอกภาพแห่งชาติ (เอ็นยูจี) ประสบความสำเร็จอย่างสูง กองกำลังติดอาวุธของเอ็นยูจีที่เรียกว่า กองทัพป้องกันประชาชน (พีดีเอฟ) ก็ประสานงานกับกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ เปิดอีกยุทธการโจมตีกองทัพเมียนมาทางตอนกลางของประเทศ โดยเฉพาะในรัฐอย่างสกาย, มะเกว และมัณฑะเลย์

หน่วยจรยุทธ์ในเขตเมือง ก็ก่อเหตุลอบสังหารเจ้าหน้าที่รัฐและทหารในกองทัพขึ้นในเมืองต่างๆ ทั้งยังใช้โดรนและระเบิดโจมตีที่ทำการรัฐในอีกหลายๆ เมือง ในหลายๆ พื้นที่ เอ็นยูจีถึงกับลงพื้นที่ จัดการฝึกอบรมการบริหารงานท้องถิ่นในระดับหมู่บ้านด้วยซ้ำไป

กองทัพเมียนมาได้แต่พึ่งพาแสนยานุภาพทางอากาศ และอาวุธหนักในมืออย่างปืนใหญ่ ทิ้งระเบิดและยิงถล่มใส่ฝ่ายตรงข้าม โดยไม่ไยดีกับผลกระทบข้างเคียงใดๆ

ผลก็คือ มีบ้านเรือนและอาคารสาธารณะมากกว่า 80,000 หลังถูกทำลายราบเรียบในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

ปลายปี 2023 เมืองสำคัญในเขตปกครองตนเองโกกั้ง ตกอยู่ในเงื้อมมือของฝ่ายต่อต้าน ทหารเมียนมาเกือบ 3,000 นายยกธงขาวยอมแพ้ ปฏิกิริยาของรัฐบาลทหารเมียนมาก็คือ ลงโทษให้ประหารชีวิตนายทหารระดับนายพล 3 นาย และจำคุกนายพลทหารอีก 3 นาย

พันตรีนอง โย อดีตนายทหารแปรพักตร์ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้ง พีเพิลส์ โกล องค์กรเพื่อให้การสนับสนุนทหารที่ละทิ้งกองทัพ ชี้ว่า รัฐบาลทหารคงเชื่อว่าการลงโทษสถานหนักอาจทำให้ทหารหวาดกลัว

แต่ในความเป็นจริงกลับจะยิ่งทำลายขวัญกำลังใจของทหาร โดยเฉพาะนายทหารระดับกลาง ซึ่งช็อกมากกับการลงโทษดังกล่าว และยิ่งทำลายความไว้วางใจต่อกองทัพมากยิ่งขึ้นไปอีก

 

สภาพการณ์เช่นนี้ทำให้หลายคนอดคิดไม่ได้ว่า รัฐบาลและระบอบปกครองของทหารในเมียนมากำลัง “ล่มสลาย” แต่นักวิเคราะห์ที่คร่ำหวอดกิจการเมียนมาจริงๆ ยืนยันว่า กรณีของเมียนมาไม่มีวันเป็นเหมือนกับกรณีของเวียดนามใต้เมื่อปี 1975 คณะนายทหารที่เรียกตัวเองว่า สภาเพื่อการบริหารแห่งรัฐ (เอสเอซี) ไม่มีวันล่มสลายภายในชั่วข้ามคืนเหมือนรัฐบาลเวียดนามใต้ก่อนหน้านี้

นักการทูตชาวเอเชียรายหนึ่งเชื่อในทำนองเดียวกัน ให้ความเห็นว่า สถานการณ์ในเมียนมาจะเปลี่ยนแปลงไปก็ต่อเมื่อรัฐบาลไม่สามารถทำหน้าที่บริหารและปกครองประเทศได้แล้วเท่านั้น ซึ่งกว่าจะเกิดขึ้นได้อาจต้องใช้เวลาอีกเป็นปี หรือมากกว่านั้น

เอเดรียน โรเวล นักวิเคราะห์อิสระเห็นด้วยเช่นกัน และระบุว่า แม้ไม่ว่าอะไรก็สามารถเกิดขึ้นได้ในประเทศอย่างเมียนมาก็จริง แต่เชื่อว่าคณะนายทหารยังสามารถยึดกุมเนปิดอว์ไว้อย่างมั่นคงต่อไปได้อีกนานไม่น้อย แม้ว่าเงื่อนไขอื่นๆ จะสุกงอมแล้วก็ตาม

“เมืองหลวงใหม่ของเมียนมาสร้างขึ้นภายใต้ตรรกะทางทหารและมีแนวคิดด้านการทหารเป็นแกน ไม่เพียงมีสรรพาวุธระดับไฮเทคประจำการอยู่เท่านั้น ยังมีหน่วยคอมมานโดที่ดีที่สุดของประเทศประจำการอยู่ที่นี่อีกด้วย”

ผลก็คือ ฝ่ายต่อต้านไม่มีทั้งยุทโธปกรณ์และกำลังคนเท่าที่จำเป็นต้องใช้ หากต้องการโจมตีเพื่อยึดครองเมืองนี้

ในความคิดของโรเวลความวิตกกังวลน่าจะอยู่ที่สิ่งที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว นั่นคือเมียนมาอาจแตกเป็นเสี่ยงๆ ส่วนหนึ่งปกครองโดยกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ซึ่งสามารถจำแนกออกไปได้อีกว่าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ทางการจีนสนับสนุนหรือไม่

เพราะนอกจากกองทัพแล้ว กลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้เท่านั้นที่มีกองกำลังติดอาวุธที่ทรงพลังและผ่านการฝึกอบรมมานานปี ในขณะที่เอ็นยูจีก็อาจดำรงอยู่ต่อไปได้ แต่มีเขตอิทธิพลของตนเองจำกัดอยู่ตอนล่างของประเทศ และโอกาสที่จะมีอิทธิพลเหนือกลุ่มชาติพันธุ์นั้นมีน้อยมาก

สุดท้ายสภาพเช่นนี้อาจผลักดันไปสู่ความพยายามจัดตั้งระบอบการปกครองแบบสหพันธรัฐ ที่เปราะบางและอ่อนไหวอยู่ตลอดเวลา

เว้นเสียแต่ว่าจะมีใครคนใดคนหนึ่ง หรือองค์กรใดองค์กรหนึ่งซึ่งได้รับการยอมรับ ดึงทุกฝ่ายเข้าสู่โต๊ะเจรจา ไม่เช่นนั้นโอกาสที่เมียนมาจะแตกแยกออกเป็นเสี่ยงๆ มีสูงยิ่ง