จดหมาย

จดหมาย | ฉบับประจำวันที่ 2 -8 กุมภาพันธ์ 2567

 

• บ้าน

จากการสำรวจตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยภาคสนามล่าสุดถึงสิ้นปี 2566

ตลาดที่อยู่อาศัยไทยยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง

โดยในปี 2566 มีหน่วยขายเปิดใหม่ 101,536 หน่วย ซึ่งถึงแม้จะน้อยกว่าปี 2565 (จำนวน 107,090 หน่วย) ประมาณ 5.2% แต่ก็เป็นการลดลงอย่างไม่มีนัยสำคัญใดๆ

ที่มีจำนวนลดลงก็เพราะแทบไม่มีการเปิดตัวโครงการอาคารชุดราคาถูก (ไม่เกิน 1.5 ล้านบาท) เลย

หากตัดจำนวนห้องชุดราคาถูกออกไปประมาณ 20,000 หน่วย ก็จะเห็นได้ว่าจำนวนหน่วยขายในปี 2566 มีมากกว่าปี 2565 เป็นอย่างมาก

แสดงว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยกำลังฟื้นตัว ไม่ได้หดตัวเช่นที่เข้าใจกัน

ยิ่งหากพิจารณาจากมูลค่าการเปิดตัวในปี 2566 ที่สูงเป็นประวัติการณ์ถึง 559,743 ล้านบาท น้อยกว่าปี 2561 ที่เคยเปิดสูงสุดถึง 565,811 ล้านบาทแล้ว

นับว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยโดยเฉพาะตลาดที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลฟื้นตัวอย่างสมบูรณ์แล้ว

ทั้งนี้ คาดว่าในปี 2567 ตลาดจะเติบโตมากกว่านี้

ราคาเฉลี่ยของที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่เปิดใหม่ในปี 2566 ทั้งปีอยู่ที่ 5.513 ล้านบาท ซึ่งต่างจากปี 2565 ที่เปิดตัวในราคาเฉลี่ยเพียง 4.412 ล้านบาท

แสดงว่าราคาเฉลี่ยของหน่วยขายเปิดใหม่เพิ่มขึ้นถึง 25%

หากประมาณการหน่วยขายรอการขายในมือผู้ประกอบการทั่วประเทศ

มีอยู่รวมกันประมาณ 400,000 หน่วย (รวมเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลแล้ว)

เป็นบ้านมือสองอีกประมาณ 1,100,000 หน่วย

รวมสินค้าที่อยู่อาศัยรอการขายทั้งหมดประมาณ 1,500,000 หน่วย

แสดงว่าในประเทศไทยไม่ได้มีภาวะขาดแคลนที่อยู่อาศัย

การส่งเสริมให้ประชาชนมีบ้านเป็นของตนเอง เป็นเรื่องดี

แต่การส่งเสริมให้มีการซื้อมากเกินไป จะกลายเป็นการกระตุ้นการเก็งกำไรจนอาจทำให้ตลาดเติบโตเกินความเป็นจริง

และอาจทำให้เสื่อมทรุดลงในที่สุดเช่นที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศจีน

สิ่งที่รัฐบาลพึงส่งเสริมควรเป็น

1. การบังคับใช้ พ.ร.บ. ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาอย่างจริงจัง

เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคว่าเงินดาวน์จะไม่ถูกนำไปใช้ผิดประเภทและไม่สูญไปเมื่อโครงการไม่สามารถพัฒนาจนส่งมอบได้

เมื่อผู้บริโภคได้รับการคุ้มครอง ก็ย่อมจะมาซื้อบ้านมากขึ้นด้วยความมั่นใจ ตลาดก็จะดีขึ้นตามลำดับ

2. กระตุ้นให้สถาบันการเงินลดดอกเบี้ยเงินกู้

เพราะถ้าลดดอกเบี้ยเงินกู้ได้เพียง 1% จะส่งผลให้เงินผ่อนชำระลดลงถึงประมาณ 8%

เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างยิ่งยวด

ดร.โสภณ พรโชคชัย

ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย

บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th)

 

แม้ตามข้อมูล

ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทย

ดูจะไม่น่าห่วงนัก

แต่ค่าเฉลี่ย “บ้าน” ของคนไทยใน กทม.และปริมณฑล

ที่ระดับ 5.513 ล้านบาทนั้น

ทำให้ความฝันของคนระดับล่างที่จะมีบ้าน

โดยเฉพาะหลังแต่งงานมีครอบครัว

ยาก และโหดหินขึ้นทุกที

 

• บ้านแตก

Bangkok Matching บริษัทจัดหาคู่ ได้ทำการสำรวจสถิติอัตราการจดทะเบียนสมรสของคนไทยที่เก็บโดยกรมการปกครอง

พบว่าในปี 2566 กรุงเทพมหานครมีอัตราการจดทะเบียนสมรสที่สูงถึง 39,150 คู่

รองลงมาคือจังหวัดชลบุรี จดทะเบียนสมรสอยู่ที่ 14,593 คู่

และอันดับสาม ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา อยู่ที่ 10,568 คู่

กรุงเทพฯ เป็นแชมป์ยอดจดทะเบียนสมรสสูงมายาวนาน

รวมแล้ว 5 ปี (พ.ศ.2562-2566) จดทะเบียนสมรสทั้งหมดอยู่ที่ 185,506 คู่

ส่วนสถิติการจดทะเบียนหย่า

ในช่วงระยะ 1 ปี คือปี พ.ศ.2566

กรุงเทพฯ ครองแชมป์ มีอัตราการหย่าสูงถึง 17,410 คู่

รองลงมาคือจังหวัดชลบุรี ที่มีการจดทะเบียนหย่าที่ 8,060 คู่

และอันดับสามคือจังหวัดนครราชสีมา อยู่ที่ 5,880 คู่

3 จังหวัดที่มีอัตราการจดทะเบียนสมรสสูงอย่างกรุงเทพมหานคร, ชลบุรี และนครราชสีมา

ก็คือ 3 จังหวัดที่มีอัตราการจดทะเบียนหย่าสูงสุดเช่นกัน

ปี พ.ศ.2563 สถิติการจดทะเบียนหย่าของคนกรุงเทพฯ อยู่ที่ 15,567 คู่

ปี พ.ศ.2564 สถิติการจดทะเบียนหย่า 10,258 คู่

ปี พ.ศ.2565 สถิติการจดทะเบียนหย่า 17,635 คู่

ปี พ.ศ.2566 สถิติการจดทะเบียนหย่า 17,410 คู่

กรุงเทพฯ ในช่วง 5 ปีให้หลังมานี้ มีจำนวนตัวเลขการหย่าร้างสูงทะลุ 78,136 คู่! คิดเป็น 42% ของอัตราการจดทะเบียนสมรส หรือเกือบครึ่งหนึ่งของคู่ที่ทำการจดทะเบียนสมรสในประเทศ

สาเหตุการหย่าร้างที่พบบ่อย

ปัญหาอันดับ 1 การทะเลาะเบาะแว้งระหว่างสามี-ภรรยา ลามไปจนถึงการใช้ความรุนแรงในครอบครัว

กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว พบว่า ในปี 2565 ที่ผ่านมามีรายงานการใช้ความรุนแรงในครอบครัวสูงถึง 2,347 ราย ฝ่ายที่ถูกทำร้ายมักจะเป็นฝ่ายหญิง จำนวน 82.78%

ปัญหาอันดับ 2 การนอกใจ ไม่ซื่อสัตย์

ประเทศไทยติดอันดับอัตราการนอกใจสูงสุด 61% ในระดับโลก

ปัญหาอันดับ 3 ขาดการรับผิดชอบ

ทั้งด้านการงาน การเงิน และการใช้ชีวิต

ปัญหาอันดับ 4 ปัญหายาเสพติด

ที่ทำให้เกิดความรุนแรงและกระตุ้นให้เกิดการทำร้ายร่างกายในครอบครัว

ทั้งยังทำให้ความสัมพันธ์ครอบครัวแตกแยกอีกด้วย

สำหรับเรื่องการหย่านี้ ประโยคที่ว่า “การหย่าร้างคือทางออกของคนที่หนีปัญหา” หรือ “สมัยนี้หย่าร้างกันง่ายเพราะมีสิ่งเร้ารอบตัวเยอะกว่าสมัยก่อน” ถ้าหากเป็นเมื่อก่อนคำนี้อาจจะทรงพลังและทำให้คนที่รู้สึกอยากหย่าร้างนั้นต้องกลับไปทบทวนความคิดตัวเองใหม่

แต่สำหรับปัจจุบัน

การหย่าก็เหมือนกับการตัดสินใจที่จะจบเกม พาตัวเองออกมาจากเกมที่รู้ดีว่าเล่นไปยังไงก็คงจะวนอยู่ที่ด่านเดิมๆ ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง รังแต่จะทำให้เสียเวลา เสียใจ และเสียคุณค่าความเป็นตัวเองไปอย่างไม่รู้จักจบสิ้น

คู่สมรสยุคใหม่ จึงรู้สึกว่าถ้าไม่ใช่ก็จะไม่ทนและเสียเวลา

ทำให้การหย่าร้างสูง เช่น สำหรับชาวกรุงเทพมหานคร ที่จดทะเบียนสมรสสูงแล้ว แต่อัตราการจดทะเบียนหย่าก็สูงจนเกือบถึง 50% ของอัตราการจดทะเบียนสมรส

เรียกได้ว่า “ครึ่งหนึ่งรอด อีกครึ่งหนึ่งร่วง”

ดังนั้น การที่เราจะคบกันไปให้ตลอดรอดฝั่งได้โดยไม่จบลงที่การหย่านั้น

ขึ้นอยู่กับความเข้ากันได้ก่อนที่จะตัดสินใจสร้างความสัมพันธ์

การสร้างความสัมพันธ์นั้นก็เหมือนกับการสร้างบ้าน

ต้องเริ่มต้นที่รากฐานอันแข็งแรงซึ่งก็คือความเข้ากันได้ ความเป็นไปได้ระหว่างคนทั้งสองคนให้มั่นคงและมั่นใจเสียก่อนถึงจะก้าวไปสู่ระดับต่อๆ ไปได้

บริษัทจัดหาคู่

Bangkok Matching

 

มีบ้านก็ยาก

จะรักษาบ้าน มิให้แตก

โดยไม่หย่าร้าง

ก็ยากไม่แพ้กัน

ดังนั้น ตั้งสติ คิดให้รอบคอบ

แม้ว่าท่าทีต่อการ “หย่า” ในปัจจุบันจะเปลี่ยนแปลงไป

โดยเฉพาะฝ่าย “หญิง” ที่เป็น “หญิงมั่น” มากขึ้น

ทำให้การตัดสินใจ “หย่า” ง่ายขึ้น

แต่กระนั้น การไตร่ตรองอย่างมีเหตุมีผลก็ยังจำเป็น

มิใช่นำไปสู่ความ “ว่างเปล่า” อย่างอีเมลต่อไป

 

• ว่างเปล่า

โลกนี้ช่างว่างเปล่า

หาสาระเอาอะไรไปไม่ได้

มีเพียงบุญและกรรมหนุนนำใจ

รีบนำน้ำมาดับไฟในโลกา

อรูปนาม

 

อยากย้ำส่งท้าย

ไม่อยากให้ปัญหา “บ้าน”

และปัญหา “บ้านแตก” ข้างต้น

มาจบลงที่ “ความว่างเปล่า”

ว่างเปล่า แบบไม่เหลืออะไรเลย •