‘วีซ่าฟรี’ ไทย-จีน ฉลุย ‘เศรษฐา’ ชี้ผลบวกทั้งการค้า-ลงทุน จับตา! ไทยขาดดุลจีนพุ่งทำสถิติ คนไทยแห่เที่ยวจีนทะลุ 1 ล้านคน

สิ้นสุดการรอคอยแล้วสำหรับนโยบายการยกเว้นวีซ่าให้กับคนไทย เดินทางเข้าสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยรัฐมนตรีต่างประเทศของไทยและจีนได้ลงนามในข้อตกลงยกเว้นการตรวจลงตราซึ่งกันและกัน ไปเรียบร้อยตั้งแต่ 28 มกราคม 2567

และตั้งแต่ 1 มีนาคม 2567 เป็นต้นไป การเดินทางระหว่างไทย-จีน ก็ไม่ต้องยื่นขอวีซ่าอีกแล้ว (ครั้งละไม่เกิน 30 วัน)

ถือเป็นผลสำเร็จจากที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เดินทางไปเยือนจีนอย่างเป็นทางการเมื่อ 16-19 ตุลาคม 2566 และได้หารือกับนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีของจีน ที่ขอให้ทั้ง 2 ฝ่ายทำความตกลงยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาซึ่งกันและกัน

 

“เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี ระบุว่า การลงนามระหว่างไทย-จีนในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในความสัมพันธ์ไทย-จีน และจะมีผลอย่างมากต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ใช่เพียงในแง่การส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างกัน แต่ยังรวมถึงการค้า การลงทุนด้วย การท่องเที่ยวระหว่างกันจะดีขึ้นเป็นอย่างมาก ส่งผลถึงรายได้จากนักท่องเที่ยวที่ส่งตรงถึงพ่อค้าแม่ค้าในไทย

นายกฯ ย้ำว่า ประเทศไทยพร้อมเป็นกลางที่จะสานสัมพันธ์กับทุกประเทศ โดยไทยและจีนมีความเป็นมิตรที่ดีต่อกันมายาวนาน โดยในภาพเศรษฐกิจนั้น จีนมีการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมในไทยมากมาย และต่อจากนี้จะยกระดับเรื่องของรถไฟความเร็วสูงระหว่างไทย-จีนด้วย

นอกจากนี้ นายหวัง อี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของจีน ได้แสดงความสนใจในโครงการแลนด์บริดจ์ เนื่องจากทราบว่าหนึ่งในเหตุผลหลักที่ประเทศไทยต้องการลงทุนในโครงการแลนด์บริดจ์ เพราะในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีบริษัทใหญ่ของจีนมาลงทุนสร้างโรงงานผลิตและอุตสาหกรรมที่ใหญ่มากในเมืองไทย และต้องการเป็นศูนย์กลางการส่งออก

ในการเป็นจุดเชื่อมเอเชียไปยังภูมิภาคตะวันออกกลางและยุโรป นอกจากนี้ จีนยังพร้อมร่วมมือเร่งก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงจีน ลาว ไทย ให้แล้วเสร็จโดยเร็วอีกด้วย

ขณะที่นายหวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศของจีน ระบุว่า การลงนามความตกลงยกเว้นวีซ่าไทย-จีน เชื่อมั่นว่าจะเป็นกระแสหลักใหม่ของการแลกเปลี่ยนของประชาชนทั้ง 2 ประเทศ จำนวนนักท่องเที่ยวจีนมาเมืองไทยจะเพิ่มมากขึ้น และทางจีนก็ยินดีต้อนรับคนไทยไปเที่ยวที่ประเทศจีนด้วย

พร้อมย้ำว่า จีนกับไทยไม่ใช่อื่นไกลเป็นพี่น้องกัน ประชาชนทั้ง 2 ประเทศมีความผูกพันที่ใกล้เคียงกัน เรามีการเดินทางไปมาหาสู่กันมากขึ้น ชีวิตประจำวันของทั้ง 2 ประเทศก็จะดีมากยิ่งขึ้น

 

สําหรับในภาคการท่องเที่ยวนั้นแน่นอนว่าหลังใช้มาตรการวีซ่าฟรีระหว่าง 2 ประเทศจะทำให้การเดินทางระหว่างกันมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

โดย “ธนพล ชีวรัตนพร” อุปนายกสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (TTAA) หรือสมาคมทัวร์ขาออก (outbound) ให้ข้อมูลว่า จำนวนคนไทยเที่ยวจีนเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนนับตั้งแต่จีนเปิดประเทศ และเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา

คาดว่าหลังจากไทย-จีนใช้มาตรการวีซ่าฟรีระหว่างกันตั้งแต่ 1 มีนาคม 2567 นี้เป็นต้นไปจะทำให้ตลอดปี 2567 มีจำนวนคนไทยเที่ยวจีนทะลุ 1 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นได้เท่าตัวจากปีปกติที่มีประมาณ 600,000-700,000 คนต่อปี คาดว่าจะเพิ่มขึ้นมาระดับใกล้เคียงกับจำนวนคนไทยเที่ยวญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเดสติเนชั่นยอดนิยมของคนไทยมานาน

พร้อมให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันจีนเปลี่ยนไปเยอะมาก หลังจากโควิดมีแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย แถมมีรถไฟฟ้าเชื่อมระหว่างมณฑลทำให้สามารถเดินทางท่องเที่ยวได้สะดวกขึ้น ไม่ได้ล้าสมัยเหมือนแต่ก่อน คนไทยจำนวนหนึ่งจึงหันไปเที่ยวจีนมากขึ้น

และเมื่อรวมกับมาตรการวีซ่าฟรี ให้คนไทยเข้าไปเที่ยวได้โดยไม่ต้องขอวีซ่าได้ก็จะยิ่งทำให้จีนกลายเป็นเดสติเนชั่นยอดนิยมของคนไทยมากยิ่งขึ้น

สอดรับกับข้อมูลของเว็บไซต์ Trip.com ที่รายงานว่า หลังข่าวการลงนามในข้อตกลงยกเว้นวีซ่าระหว่างจีนและไทยเมื่อ 28 มกราคม 2567 พบว่าบนแพลตฟอร์ม Trip.com Thailand มีอัตราการค้นหาคำที่เกี่ยวข้องในประเทศจีนเพิ่มขึ้นมากกว่า 4 เท่าเมื่อเทียบกับวันก่อนหน้า

โดยเมืองที่นักท่องเที่ยวไทยค้นหามากที่สุด ได้แก่ เซี่ยงไฮ้ เฉิงตู ฮาร์บิน เซินเจิ้น ปักกิ่ง เทียนจิน ฉงชิ่ง และจางเจียเจี้ย

ขณะที่ในฝั่งจีนก็มีอัตราการค้นหาคำที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยบนแพลตฟอร์มจีนเพิ่มขึ้นมากกว่า 7 เท่าเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า และมีการค้นหาตั๋วเครื่องบินและโรงแรมเพิ่มขึ้นมากกว่า 6 เท่า โดยชาวจีนที่ค้นหาเกี่ยวกับประเทศไทยมากขึ้นส่วนใหญ่อยู่ที่เมืองเซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง กวางตุ้ง เจ้อเจียง เจียงซู เสฉวน และซานตง

และสถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทยที่นักท่องเที่ยวจีนค้นหามากที่สุดคือ กรุงเทพฯ ภูเก็ต เชียงใหม่ เกาะสมุย และพัทยา

ถือเป็นภาพความสำเร็จของรัฐบาลในการเชื่อมโยงการท่องเที่ยว ที่ผูกโยงการค้าการลงทุนกับจีน

 

อย่างไรก็ดี จากการประกาศตัวเลขส่งออกปี 2566 ของไทย พบว่าติดลบ 1% และในภาพของการค้าระหว่างไทย-จีนนั้น พบว่าปี 2566 ที่ผ่านมา ไทยขาดดุลการค้าให้จีนสูงถึง 1.2 ล้านล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากไทยส่งออกสินค้าไปจีนมูลค่า 1.17 ล้านล้านบาท แต่นำเข้าสินค้าจากจีนสูงถึง 2.47 ล้านล้านบาท

โดยจากข้อมูลสินค้าจีนที่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นก้าวกระโดดก็คือ กลุ่มรถยนต์และส่วนประกอบ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากที่มีมาตรการอีวี 3.0 เพื่อดึงดูดการลงทุนของอีวีจีนมาตั้งฐานผลิตในไทย แต่ในช่วงแรกก็เปิดโอกาสให้เป็นการนำเข้ารถอีวีจากจีนมาก่อน และกลุ่มสินค้าจีนที่มีการเติบโตสูง ได้แก่ เสื้อผ้าสำเร็จรูป

นอกจากนี้ ยังมีสินค้าจีนราคาถูกอีกมากที่ทะลักมาในช่องทางอีคอมเมิร์ซ ซึ่งตัวเลขนำเข้าสินค้าจีนเพิ่มขึ้นในทุกช่องทางในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะสินค้าจีนราคาถูกที่ทะลักเข้าไทยเป็นจำนวนมากและส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย ที่เป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาล

“ศุภวุฒิ สายเชื้อ” นักเศรษฐศาสตร์ และที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ประเมินว่าในทางเศรษฐกิจนั้นจีนเหลือเครื่องยนต์หลักเพียง 2 ตัวที่จะพึ่งพาได้คือ การพัฒนาเทคโนโลยี และการผลิตภาคอุตสาหกรรมเพื่อขายในประเทศและส่งออกไปต่างประเทศ

ซึ่งแน่นอนว่าจะกระทบต่อประเทศไทยโดยตรง เพราะปี 2567 ประเทศไทยคาดหวังให้ส่งออกและการท่องเที่ยวกลับมาเป็นพระเอก แต่เมื่อจีนเร่งการส่งออกสิ่งที่ตามมาคือ สินค้าจีนอาจทะลักเข้าไทยและไทยมีโอกาสที่จะขาดดุลการค้ากับจีนมากขึ้นไปอีก