ไม่หวังในนโยบายรัฐ

(Photo by TINGSHU WANG / POOL / AFP)

ความพยายามคลี่คลายวิกฤตของประเทศ โดยไม่แตะต้อง “โครงสร้างการบริหารจัดการ” ของรัฐบาลที่ “เศรษฐา ทวีสิน” ถือธงนำ เริ่มเป็นคำถามถึงประสิทธิผลที่ดังและถี่ขึ้นเรื่อยๆ

แน่นอนไม่ใช่ประสิทธิภาพของ “นายกรัฐมนตรี” เพราะหากติดตามใกล้ชิดจะเห็นได้ชัดเจนว่า ทั้ง “ความคิดความอ่าน” ที่สื่อสารออกมา และ “ความทุ่มเท” ที่สะท้อนผ่านการทำงานแบบไม่รู้เหน็ดรู้เหนื่อย ย่อมพิสูจน์แล้วว่าในมิติของความสามารถนั้นเต็มเปี่ยม

ประเด็นจึงมาอยู่ที่ว่า แล้วเกิดอะไรขึ้น ที่ทำให้ “นโยบายเรือธง” ทั้งหลายดูขยับได้ยากเย็น

 

ที่ชัดเจนคือ “ดิจิทัลวอลเล็ต” ที่จะแจกให้คนละ “10,000 บาท” ทำท่าจะเดินหน้าต่อได้ยากเย็น ด้วยเสียงต้านทุกสารทิศ

ไม่เพียงแต่ “นักเศรษฐศาสตร์” ในสายแบงก์ชาติเท่านั้นที่ออกโรงมายืนต้านกันแบบไม่เกรงใจ กระทั่งหน่วยงานด้านที่ปรึกษาของรัฐบาล ยังส่งสัญญาณให้เห็นถึงอันตรายหากคิดเดินหน้าแบบไม่ดูตาม้าตาเรือ

เป็นคำเตือนที่แรงถึงขนาดชี้ให้เห็น “ความเสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมาย” อันมีโทษรออยู่ข้างหน้า

แม้รัฐบาลจะพยายามชี้ให้เห็นว่าสถานการณ์ของประเทศนั้น “วิกฤต” จนไม่สามารถรั้งรอให้เลือกวิธีอื่นที่ส่งผลเนิ่นช้าออกไปได้

แต่แม้รัฐบาลจะยืนยันว่าต้องเทเงินลงไปกระตุ้นกำลังซื้อในตลาดเท่านั้น จึงจะมีโอกาสกอบกู้ระบบเศรษฐกิจที่กำลังเซทรุดให้ฟื้นตัวขึ้นมาได้

สถานการณ์วิกฤตหรือไม่ ยังถูกนำมาเป็นประเด็นถกเถียงในเชิงไม่เห็นด้วยกับการมีมุมมองที่เห็นเศรษฐกิจประเทศเลวร้ายระดับนั้น

จึงเป็นเรื่องชวนอึดอัดอย่างยิ่ง สำหรับผู้มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบต่อความเป็นไปของประเทศ ด้วยเดินหน้าปฏิบัติการเพื่อกอบกู้ แก้ไขในสภาวะที่เห็นว่าเป็นปัญหาไม่ได้

 

ทั้งที่เชื่อมั่นว่า “ปัญหาปากท้องประชาชนส่วนใหญ่” จำเป็นต้องเร่งเยียวยา แต่ฝ่ายที่ควบคุมกลไกการบริหารจัดการกลับคล้ายมองไปคนละทาง หรือ “เศรษฐกิจไทยยังห่างไกลกับการสรุปว่าวิกฤต” เป็นความเชื่อที่ไปกันคนละทางกับรัฐบาลเห็น

แม้ว่าเมื่อเร็วๆ นี้ ผลสำรวจ “นิด้าโพล” เรื่อง “วิกฤตเศรษฐกิจกับการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต” จะสะท้อนความรู้สึกของประชาชนชัดเจน

เมื่อถามถึงเศรษฐกิจของประเทศขณะนี้ ร้อยละ 63.51 เห็นว่า วิกฤติในระดับที่ต้องหาทางแก้ไขอย่างเร่งด่วน, ร้อยละ 20.15 เห็นว่าวิกฤตในระดับที่ต้องหาทางแก้ไข แต่ไม่เร่งด่วน, ร้อยละ 10.08 ระบุว่า วิกฤตเศรษฐกิจในระดับที่ไม่น่าวิตกกังวลใดๆ, ร้อยละ 5.65 เห็นว่า ไม่ได้เผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจ และร้อยละ 0.61 ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ร้อยละ 36.72 ต้องการความช่วยเหลือจากรัฐบาลอย่างเร่งด่วน, ร้อยละ 31.91 สามารถรับมือได้ด้วยตัวเอง, ร้อยละ 20.45 ต้องการความช่วยเหลือจากรัฐบาลแต่ไม่เร่งด่วน, ร้อยละ 10.62 ไม่ได้เผชิญวิกฤตใดๆ

อย่างไรก็ตาม แม้ส่วนใหญ่จะสัมผัสวิกฤตชัดเจน แต่เมื่อถามถึงการดำเนินนโยบายแจกคนละ 10,000 บาท กลับกลายเป็นว่า ร้อยละ 34.66 เห็นว่าควรหยุดการดำเนินการในนโยบายนี้ได้แล้ว, ร้อยละ 33.66 ให้ดำเนินการต่อ, ร้อยละ 18.55 ดำเนินต่อเฉพาะกลุ่มเปราะบาง, ร้อยละ 5.88 ให้เลื่อนการดำเนินการออกไปในปี 2568, ร้อยละ 4.58 ให้เลื่อนไปปี 2568 และแจกเฉพาะกลุ่มเปราะบาง, ร้อยละ 2.67 ไม่ตอบ

และเมื่อถามว่ารู้สึกอย่างไรหากนายกฯ เศรษฐายกเลิกนโยบายนี้ มากถึงร้อยละ 68.85 ไม่โกรธเลย, ร้อยละ 12.37 เท่านั้นที่ค่อนข้างโกรธ, ร้อยละ 9.39 ที่โกรธมาก, ร้อยละ 8.85 ไม่ค่อยโกรธ, ร้อยละ 0.54 ไม่ตอบ

 

คําตอบในคำถามข้อหลังนี้นับว่าน่าสนใจ ด้วยแม้ประชาชนส่วนใหญ่จะรู้สึกไปในทางที่รัฐบาลมองเห็นถือ “เศรษฐกิจของประเทศวิกฤต”

แต่กลับกลายเป็นว่าในการแก้ไขรัฐ ดูจะเห็นดีเห็นงามไปคนละทางกับที่รัฐบาลเลือกใช้

ทำให้น่าคิดว่าเป็นไปได้หรือไม่ว่า ความเชื่อถือของประชาชนส่วนใหญ่เลือกที่จะให้กับฝ่ายที่เห็นต่างจากรัฐบาลมากกว่า

หากเป็นเช่นนั้น ย่อมหมายความว่าสถานะของรัฐบาลในศรัทธาประชาชนอยู่ในจุดที่น่าเหนื่อยแล้ว

แม้ยังโชคดีที่ประชาชนไม่รู้สึกกับโครงสร้างอำนาจที่ทำให้รัฐบาลบริหารให้เป็นไปตามนโยบายไม่ได้

แต่ในระยะยาวการสร้างผลงานไม่สำเร็จ จะเป็นปัญหาตามมา