คุยกับทูต | ฌ็อง-โกลด ปวงเบิฟ การกลับมาครั้งที่สองของนักการทูตเมืองน้ำหอม ณ สยามเมืองยิ้ม (1)

หลังโยกย้ายจากประเทศไทยไปประจำยังประเทศอื่นนานถึง 3 ทศวรรษ ในที่สุด สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฝรั่งเศสประจำประเทศไทย ก็ได้ต้อนรับการกลับมาประจำการอีกครั้งของนายฌ็อง-โกลด ปวงเบิฟ (Jean-Claude Poimbœuf)

ซึ่งคราวนี้มารับตำแหน่งเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทยคนปัจจุบัน

และได้ให้สัมภาษณ์มติชนสุดสัปดาห์ ณ ทำเนียบเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส อาคารเก่าแสนสวยริมแม่น้ำเจ้าพระยา สร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 หนึ่งในสถานเอกอัครราชทูตที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย

นายฌ็อง-โกลด ปวงเบิฟ (Jean-Claude Poimbœuf) เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย

นายฌ็อง-โกลด ปวงเบิฟ เป็นนักการทูตอาวุโสประจำกระทรวงกิจการยุโรปและการต่างประเทศ กรุงปารีส ผ่านงานบริหารหลายตำแหน่งในหน่วยงานของกระทรวงฯ ได้แก่ กรมเอเชีย-โอเชียเนีย กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กรมทรัพยากรบุคคล และคณะผู้ตรวจราชการกระทรวงฯ รวมทั้งทำเนียบประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส

เคยได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ในต่างประเทศ ณ กรุงปักกิ่ง กรุงเทพมหานคร กรุงโตเกียว นครซิดนีย์ ไทเป และกรุงลอนดอน

นายฌ็อง-โกลด ปวงเบิฟ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตเป็นครั้งแรกประจำประเทศกัมพูชา เมื่อปี 2014 ล่าสุด มีตำแหน่งเป็นรองหัวหน้าผู้ตรวจราชการ กระทรวงกิจการยุโรปและการต่างประเทศ ก่อนที่จะมาดำรงตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทยเมื่อเดือนกันยายนปีที่ผ่านมา

ในการปฏิบัติงานทางการทูตของนายฌ็อง-โกลด ปวงเบิฟ นั้นมุ่งให้ความสำคัญต่อภูมิภาคตะวันออกไกลและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

18 พ.ย. 2022 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี  เสด็จออกพร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงรับนายเอมานูว์แอล มาครง (ภาพ-ทรท)

เส้นทางสู่การเป็นนักการทูต

“ก่อนที่จะมาเป็นเอกอัครราชทูต นักการทูตจะต้องผ่านการทำงานที่ยาวนานทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อฝึกฝนทักษะต่างๆ ที่จำเป็น สำหรับผมได้รับอิทธิพลจากการติดตามบิดามารดาตั้งแต่ยังเล็กไปอยู่ในต่างประเทศ คืออาร์เจนตินา ถือเป็นประสบการณ์ในช่วงแรกที่ทำให้ผมได้เรียนรู้วัฒนธรรมและวิถีการดำเนินชีวิตที่แตกต่างกัน ในขณะที่บิดายังคงทำงานให้กับบริษัทน้ำมันรายใหญ่ในต่างประเทศ จึงเป็นโอกาสให้ผมได้ค้นพบประเทศอื่นๆ ต่อไป โดยเฉพาะในแอฟริกา”

“เมื่อบิดาต้องเดินทางไปทำธุรกิจในญี่ปุ่นบ่อยครั้งขึ้น ก็ยิ่งทำให้ผมเกิดความอยากรู้อยากเห็นเกี่ยวกับประเทศนี้มากยิ่งขึ้น รวมถึงประเทศอื่นๆ ในเอเชียด้วย ประสบการณ์ดังกล่าวได้มีส่วนช่วยในการตัดสินใจของผมเมื่ออายุได้ 17 ปี ที่จะเป็นนักการทูตให้ได้สักวันหนึ่ง”

17 ก.พ. 2006 ฯ พระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำอย่างเป็นทางการ เพื่อเป็นเกียรติแก่นายฌาคส์ ชีรัค ประธานาธิบดีฝรั่งเศสและภรรยา (ภาพ-pool MAE – F. de la Mure)

ความรู้สึกหลังกลับมาประจำประเทศไทยครั้งที่สอง

“ก่อนหน้านี้ ผมเคยทำงานที่สถานทูตฝรั่งเศสในกรุงเทพฯ เป็นเวลาหนึ่งปีระหว่างปี 1989-1990 เมื่อได้กลับมาประจำอีกครั้ง ก็รู้สึกประทับใจกับการพัฒนาอันน่าทึ่งของที่นี่”

“แม้ว่าจะเคยกลับมากรุงเทพฯ หลายครั้งก่อนที่จะมารับตำแหน่งใหม่เมื่อปีที่แล้วก็ตาม แต่ภูมิทัศน์เมือง โครงสร้างพื้นฐานการคมนาคม และวิถีชีวิตทางวัฒนธรรม ต่างจากสิ่งที่ผมเคยรู้เคยเห็นมาก่อน”

“ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยก็สามารถอนุรักษ์ สืบสานขนบธรรมเนียมประเพณีของตนไว้ได้ ทำให้เป็นชาติที่คงความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว”


11 ต.ค.1960 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร-มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชฯ-เสด็จฯยังกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมด้วยนายพลชาร์ล เดอ โกล ประธานาธิบดีฝรั่งเศส (ภาพ- สำนักข่าวเอเอฟพี)

บทบาทในฐานะเอกอัครราชทูต

“เอกอัครราชทูตเปรียบเสมือนสะพานเชื่อมระหว่างสองประเทศ โดยประการแรกและสำคัญที่สุด เอกอัครราชทูตเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนจากประเทศของตน อีกทั้งเป็นผู้แทนประมุขแห่งรัฐ และรัฐบาล เอกอัครราชทูตต้องประสานงานกับหุ้นส่วนในกิจกรรมทุกด้าน เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในทุกมิติ เช่น การเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม การศึกษา วิทยาศาสตร์ และอื่นๆ นอกจากนี้ ยังต้องคอยปกป้องผลประโยชน์ของพลเมืองเพื่อนร่วมชาติทั้งที่พักอาศัยและเดินทางมาเยือนประเทศที่ประจำการอยู่ด้วย ทั้งนี้ เอกอัครราชทูตยังทำหน้าที่เป็นผู้สังเกตการณ์ นักวิเคราะห์ ผู้ส่งสาร นักเจรจา ผู้อำนวยความสะดวก และผู้ที่ลงมือปฏิบัติ”

ประเทศไทยในอาเซียนและในบริบทที่กว้างขึ้นในสายตานักการทูต

“ประเทศไทยเป็นประเทศสำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยตำแหน่งทางภูมิศาสตร์และระดับทางเศรษฐกิจ มีธรรมเนียมทางการทูตที่ดำเนินการอย่างเงียบๆ สุขุมรอบคอบเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ จังหวะเวลา และหาความสมดุลที่จะเอื้อต่อผลประโยชน์ของตนมากที่สุด”

“ซึ่งในมุมมองของผม ประเทศไทยสามารถแสดงบทบาทที่แน่วแน่ชัดเจนมากขึ้นในสิ่งที่ปัจจุบันเรียกว่า ปัญหาระดับโลก เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ”

 

เข้าถวายสักการะเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ (ปสฤทธ์ เขมฺงกโร) เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพลวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร

คุณค่าที่มีร่วมกันระหว่างสองประเทศ

“ประเทศฝรั่งเศสและไทยต่างยึดมั่นอย่างหนักแน่นในความเป็นเอกราชของตนและในการธำรงไว้ซึ่งอิสรภาพในการดำเนินการ ทั้งสองประเทศต่างภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์อันยาวนานของตน ซึ่งสร้างมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญไว้ให้อย่างมากมาย”

“เรามีความอดทนอดกลั้นซึ่งถือเป็นค่านิยมร่วมกัน และเป็นพื้นฐานสำคัญในโลกที่กำลังเผชิญกับความขัดแย้งและความโหดร้ายที่เพิ่มมากขึ้นในระดับหนึ่ง”

ลำดับความสำคัญของการดำเนินงานในประเทศไทย

“หลังมาดำรงตำแหน่งที่นี่ได้เพียงสามเดือน ผมมองเห็นลำดับความสำคัญหลักสี่ประการ”

“ประการแรก ทางการเมือง คือการทำงานร่วมกับหุ้นส่วนฝ่ายไทยในการติดตามผลการดำเนินงานตามแผนการ (Roadmap) สำหรับการดำเนินความสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศส (ค.ศ.2022-2024) ที่ลงนามร่วมกันระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศของทั้งสองฝ่ายในปี 2022 เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ไปสู่ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกัน”

“ประการที่สอง คือการเพิ่มพูนความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจอย่างเต็มศักยภาพ”

“ประการที่สาม คือการกระชับความร่วมมือที่เกิดขึ้นในช่วงการดำเนินกิจกรรมปีแห่งนวัตกรรมฝรั่งเศส-ไทย 2023”

“ประการที่สี่ เกี่ยวข้องกับคุณภาพงานบริการชุมชนฝรั่งเศสในไทย”

เยี่ยมชมโรงงานผลิตเลนส์สายตาและกรอบแว่นแห่งใหม่ใน จ.ระยอง ของบริษัทเอสซีลอร์ลูซอตติกา ลูซอตติกา (EssilorLuxottica)

โอกาสและความท้าทายที่จะช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างฝรั่งเศสกับไทย

“ผมได้รับกำลังใจจากแรงผลักดันทางการเมืองที่เกิดขึ้นในระดับสูงสุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการเยือนประเทศไทยของประธานาธิบดีเอมานูว์แอล มาครง (Emmanuel Macron) ของฝรั่งเศส เมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 2022 นอกจากนี้ ภายใต้กิจกรรมปีแห่งนวัตกรรมฝรั่งเศส-ไทยที่ผมกล่าวถึงก่อนหน้านี้ ความร่วมมือของเราได้รับการเสริมสร้างความเข้มแข็งในด้านการอุดมศึกษา การวิจัยและนวัตกรรม ผมจึงมั่นใจในความสามารถของเราในการรับมือกับความท้าทายร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเราสามารถสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกันได้”

การค้าการลงทุนระหว่างประเทศ

“ผมสามารถให้ตัวเลขได้บางส่วน โดยมูลค่าการค้าโดยรวมของเราอยู่ที่ประมาณ 5 พันล้านยูโร มีบริษัทฝรั่งเศสประมาณ 300 แห่งที่ดำเนินกิจการในประเทศไทยและมีการจ้างพนักงานประมาณ 60,000 คน ส่วนการถือครองหุ้นของนักลงทุนฝรั่งเศสในตลาดหุ้นไทยนั้น มีมูลค่าราว 3 พันล้านยูโร”

“เมื่อเร็วๆ นี้ เอสซีลอร์ ลูโซติกา (Essilor Luxoticca) บริษัทสัญชาติฝรั่งเศส-อิตาลี ได้ลงทุนเกือบ 400 ล้านยูโร เปิดโรงงานผลิตเลนส์และกรอบแว่นตาแห่งใหม่ใน จ.ระยอง บนพื้นที่ 220,000 ตารางเมตร โดยที่นี่เป็นหนึ่งในโรงงานของเอสซีลอร์ ลูโซติกา ที่ใหญ่ที่สุดในโลก”

“สำหรับการลงทุนของไทยในฝรั่งเศส มีบริษัทไทยลงทุน 600 ล้านยูโร ซึ่งรวมถึงอินโดรามา (Indorama), พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) และไทยยูเนี่ยน (Thai Union) เป็นต้น”

การลงนามในแถลงการณ์แสดงเจตจำนง ว่าด้วยความร่วมมือด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ระหว่างฝรั่งเศสกับไทย

จุดเด่นอีกด้านหนึ่งของความสัมพันธ์ทวิภาคี

“ฝรั่งเศสและไทยมีความร่วมมือกันหลายด้าน แต่ผมขอกล่าวถึงด้านการศึกษาและการวิจัย ซึ่งคนทั่วไปอาจจะไม่ได้เห็นกันมากนัก แต่ผมคิดว่ามีความสำคัญมากเป็นพิเศษเนื่องจากความร่วมมือด้านดังกล่าวส่งผลในระยะยาว โดยความสัมพันธ์ของเราในด้านนี้มีมาอย่างยาวนาน”

“หากไม่นับย้อนกลับไปถึงการก่อตั้งโรงเรียนอัสสัมชัญโดยบาทหลวงคาทอลิกชาวฝรั่งเศสเมื่อปี 1885 แล้ว ผมนึกถึงความร่วมมือระหว่างสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ในฐานะผู้ทรงก่อตั้งระบบการศึกษาสมัยใหม่ของไทย กับ ฌอร์ฌ เซแด็ส (George Cœdès) นักประวัติศาสตร์คนสำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเดินทางมารับราชการในตำแหน่งบรรณารักษ์ใหญ่ประจำหอพระสมุดวชิรญาณ (หอสมุดแห่งชาติ) ตามคำเชิญของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในปี 1920 โดยความสัมพันธ์ของบุคคลทั้งสองจะเป็นหัวข้อในการสัมมนาซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นที่กรุงปารีสในเดือนพฤษภาคม ที่สถาบันภาษาและอารยธรรมตะวันออกแห่งชาติ (Institut National des Langues Orientales : INALCO) เพื่อฉลองการครบรอบ 150 ปี ของการเริ่มสอนภาษาไทย”

“นอกจากนี้ ยังมีคนไทยหลายร้อยคนที่เข้ารับการศึกษาในประเทศฝรั่งเศส โดยเฉพาะในสาขานิติศาสตร์ และกลับมาดำรงตำแหน่งสำคัญต่างๆ ในไทย ซึ่งบางส่วนก็ยังคงอยู่ในวาระการดำรงตำแหน่ง”

“ความร่วมมือด้านการวิจัยก็มีการดำเนินงานอย่างแข็งขันเช่นกัน ทั้งนี้ เป็นเพราะการที่สถาบันสำคัญของฝรั่งเศสในสาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ พืชไร่ และสุขภาพ ได้มาตั้งสำนักงานอยู่ในไทย”

การทำหน้าที่เอกอัครราชทูตประจำประเทศไทยมีความท้าทายที่น่าสนใจ

“ความท้าทายหลักของผม คือการเรียนรู้ภาษาไทยใหม่ จากที่เคยเรียนมาบ้างเมื่อ 30 ปีที่แล้ว แต่ผมก็พยายามเรียนเมื่อมีเวลา น่าเสียดายที่ความก้าวหน้าทางด้านนี้ของผมยังช้าเกินไปเมื่อเทียบกับความชอบ เส้นทางนี้สำหรับผมจึงน่าจะยังอีกยาวไกล” •

ทดลองนวดแผนไทย วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร

 

รายงานพิเศษ | ชนัดดา ชินะโยธิน

Chanadda Jinayodhin