โซลาร์เซลล์เป็นเรื่องยุ่งยาก

ปริญญา ตรีน้อยใส

ผู้เขียนพยายามจะเป็นพลเมืองดี พอได้ฟังประกาศหลังข่าวสองทุ่ม ขอความร่วมมือติดตั้งโซลาร์เซลล์ ตามนโยบายพลังงานของประเทศ ก็เลยขวนขวายหามาติดตั้งบ้าง

ตอนฟังประกาศก็คิดว่าเป็นเรื่องง่าย เหมือนตอนที่ขอความร่วมมือ ตอนที่เกิดโรคระบาดโควิด-19 คือใส่หน้ากาก ล้างมือ และอยู่บ้าน

แต่ทว่า เรื่องพลังงานแสงอาทิตย์กลับกลายเป็นเรื่องวิชาการ เทคนิค และกฎระเบียบราชการ ที่ ยากยิ่ง ยุ่งยาก และ ยาวนาน

เริ่มตั้งแต่ติดต่อบริษัท ก็ต้องทนฟังพนักงานอธิบายเรื่องการลงทุน ผลตอบแทน และระยะเวลาคืนทุน ทั้งๆ ที่บอกแล้วว่าเป็นแค่บ้าน ไม่ใช่บริษัท ไม่ได้คิดเรื่องลงทุน แค่อยากเป็นพลเมืองดีของประเทศ และเป็นพลโลกที่รักษ์สภาพแวดล้อม

ต่อมาเป็นเรื่องเทคนิค เจ้าหน้าที่ของบริษัทที่เป็นวิศวกรจะเริ่มต้นตั้งคำถามเหมือนอยู่ในห้องสอบวิศวกรรมไฟฟ้า เช่น ขนาดหม้อแปลง ตู้เมนไฟ กำลังไฟที่ต้องการ

เหมือนกำลังวัดระดับสติปัญญาเจ้าของบ้าน ว่าพอจะติดตั้งได้ไหม

 

ตามมาด้วยการขอเอกสารสำเนามากมาย เช่น บัตรประจำตัวประชาชน ทะเบียนบ้าน ใบอนุญาตปลูกสร้างอาคาร ชื่อผู้ขอใช้ไฟฟ้า ใบเสร็จค่าไฟฟ้ามากมาย

หลายรายการ ไม่ตรงกับที่รัฐบาลประกาศยกเลิกการขอสำเนาไปแล้ว

หลายรายการยังเป็นเรื่องยากยิ่ง อย่างตัวบ้านที่สร้างและอยู่มานาน ชื่อผู้รับเหมาก่อสร้างบ้านเป็นผู้ดำเนินการขอใบอนุญาต ทั้งการก่อสร้าง การขอใช้ไฟฟ้า ประปา และโทรศัพท์

จากนั้น ทีมสำรวจที่ใช้ทั้งเครื่องบินโดรนช่วยดูพื้นที่ ทั้งเครื่องวัดธรรมดาพื้นที่ต่างๆ ตามด้วยทีมออกแบบ วางแผนติดตั้งโซลาร์เซลล์ สำรวจความแข็งแรงมั่นคงสถานที่จะติดตั้ง จนถึงทีมเทคนิคตรวจ ระบบควบคุม และแอพพ์ที่จะรายงานผล รวมแล้วพบปะเจ้าหน้าที่ พนักงาน และช่าง หลายสิบคน รวมเวลานานหลายอาทิตย์ หลายเดือน

จนถึงขั้นติดตั้ง จะมีพนักงานขนวัสดุ เพราะงานติดตั้งแผ่นโซลาร์เซลล์บนหลังคา พนักงานเดินสายไฟตู้ควบคุม และแอพพ์มากมาย หลายวัน หลายอาทิตย์ จนทุกอย่างแล้วเสร็จ

แต่ยังมีเรื่องเกี่ยวพันกับการไฟฟ้านครหลวง มีการเปลี่ยนมิเตอร์ กับสำนักงานกิจการพลังงานเขต เมื่อเปลี่ยนที่พักอาศัย เป็นโรงงานผลิตไฟฟ้า ต่อไปถ้าจะขายไฟ

ที่เหลือใช้เข้ากริด คงจะวุ่นวายมากกว่านี้

 

เรื่องราวที่เกิดขึ้นคงเหมือนกับอีกหลายกรณี ที่การเป็นพลเมืองดี ทำตามนโยบายรัฐบาลนั้น ยากยิ่งนัก ระบบราชการและข้าราชการที่ว่ายุ่งยากและซับซ้อน มาเจอภาคเอกชน บริษัทมหาชนรายใหญ่ ยิ่งยุ่งยากซับซ้อนมากกว่า

เลยกลายเป็นว่า แผนการยกระดับการแข่งขันของไทยในเวทีโลก ได้ผลดีเกินคาด สามารถปรับเปลี่ยนให้ภาคเอกชนมีประสิทธิภาพเหมือนกับภาครัฐ คือล่าช้า วุ่นวายทัดเทียมกัน

เลยกลายเป็นว่า ถ้าอยากเป็นคนไทยที่ดี รักชาติ รักษ์สิ่งแวดล้อม ให้ซื้อโคมไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ที่มาจากเมืองจีน ที่มีขายในตลาดออนไลน์ ดีกว่า ง่ายกว่า และสะดวกกว่าการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ที่รัฐบาลเชิญชวน และบริษัทมหาชนโฆษณาขาย

เลยกลายเป็นเรื่องน่าเสียดายสำหรับเมืองไทยและคนไทย ที่ตั้งถิ่นฐานในภูมิภาคที่มีแสงแดดแรงทั้งวัน ทั้งปี แต่ยังต้องไปซื้อน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน จากภูมิภาคอื่นมาผลิตไฟฟ้า ที่เสียทั้งเงินตรา และทำลายสิ่งแวดล้อม

ผู้เขียนเลยเหมือนสาวไทย ที่เลือกดื่มน้ำสกัดผลไม้เมืองหนาวจากขวด เพราะซื้อหาสะดวกกว่าผลไม้ พืชผักสดของไทย ทั้งๆ ที่มีคุณค่าเหนือกว่า •

 

มองบ้านมองเมือง | ปริญญา ตรีน้อยใส