ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 2 - 8 กุมภาพันธ์ 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | เครื่องเคียงข้างจอ |
เผยแพร่ |
หนึ่งในคอนเทนต์ที่หลายคนสนใจติดตามเสมอคือช่วง “คอลัมนิสต์” ในรายการ “เจาะใจ” เป็นช่วงสั้นๆ ไม่เกิน 10 นาที ที่เหล่าคอลัมนิสต์จะนำเรื่องราวดีๆ ข้อคิดที่น่าสนใจ มาเล่าให้คุณดู๋ สัญญา ฟัง
แม้เป็นช่วงสั้นๆ แต่สิ่งที่ได้จากคอลัมนิสต์เหล่านั้น ล้วนชวนฟัง ชวนคิด และชวนให้ลองนำมาทำดูทั้งสิ้น ซึ่งเรื่องที่พวกเขานำมาคุยด้วยมีตั้งแต่เรื่องเล็กๆ ไปจนถึงเรื่องใหญ่โตระดับโลก
วันนี้จะขอรวบรวมเนื้อหาส่วนหนึ่งที่ได้ถ่ายทอดไว้ในรายการ ถ้าเทียบกับขนาดของโลกก็คงเป็นเรื่องที่เล็กที่สุด แต่ทว่าสำคัญที่สุด นั่นคือเรื่องเกี่ยวกับ “ตัวเอง”
เรื่องแรกเป็นเรื่องจาก คุณเอ๋ นิ้วกลม ที่มาบอกเล่าวิธีจัดการกับ “ความวิตกกังวล” ซึ่งเจ้าตัววิตกกังวลนี้มีอยู่กับทุกคน ขึ้นอยู่ว่าจะมากหรือน้อย แต่สำหรับบางคนแล้วติดจะเป็นโรค “ขี้วิตกกังวล” จนเกินกว่าเหตุ แน่นอนที่ตามมาก็คือความทุกข์ใจนั่นเอง
เอ๋เล่าว่าสิ่งที่ก่อให้เกิดความกังวลนั้นมีอยู่ 3 สาเหตุ คือ
หนึ่ง เกิดจาก “ความจำ” ในประสบการณ์ที่ไม่ดีที่ได้เจอ หรือได้เห็นมา จนฝังอยู่ในความคิด เช่น จำได้ว่าเคยกินปลาแล้วก้างติดคอ จนต้องส่งโรงพยาบาล ก็จะกินปลาอร่อยน้อยกว่าคนอื่นเพราะกังวลถึงไอ้ก้างที่ว่าอยู่นั่นเอง
สอง เกิดจาก “ความกลัว” กลัวในสิ่งที่เคยประสบมา หรือเคยรับรู้มา เช่น บางคนกลัวการลงเรือมาก เพราะเคยได้ยินข่าวเรือจมมีคนเสียชีวิต คนที่กลัวมากก็จะใส่ชูชีพตั้งแต่ยังไม่ลงเรือ แถมตอนอยู่บนเรือก็จะนั่งนิ่ง หายใจติดขัดด้วยความกังวลถึงความปลอดภัย
สาม เกิดจาก “สัญชาตญาณในการเป็นสัตว์สังคมของมนุษย์” ทำให้เรามีการ “อ่านความรู้สึก” ของคนรอบข้างเสมอ ประเมินว่าเขาคิดอะไร รู้สึกอย่างไรบ้าง จนเกิดความกังวลว่าเขาจะชอบเราไหม พอใจเราแค่ไหน หรือโกรธเราเรื่องอะไร
สามสิ่งนี้เป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิด “ความวิตกกังวล” ขึ้นได้ โดยเฉพาะกับคนประเภท “สมบูรณ์แบบ” ที่อะไรต้องเป๊ะ ต้องถูกต้อง ห้ามผิดพลาด ก็จะยิ่งวิตกกังวลมากขึ้นไปอีก
วิธีแก้ไขนั้น เอ๋บอกว่า เริ่มต้นจาก “ให้รู้ตัวเอง” คือต้องรู้ว่าเราเป็นคนประเภทนี้เสียก่อน จึงจะยอมรับ และคิดหาทางแก้ไขได้
ซึ่งพอรู้แล้วว่าเป็น ยาที่ใช้แก้คือ “ประสบการณ์” นั่นคือ เราต้องลงมือทำอะไรสักอย่างแล้วให้ผลของการกระทำไปบำบัดเจ้าความวิตกกังวลนั้น เหมือนเอาน้ำดีไปไล่น้ำเสีย
การลงมือทำที่พูดง่าย แต่อาจจะทำยาก คือ “การปล่อยวาง หรือวางใจ” คือ อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด จะบิดเบี้ยว เฉไฉไปบ้างก็ช่างมันเถิด ไม่งั้นเราก็จะวิตกกังวลไปหมดกับทุกรายละเอียด
คุณพ่อคุณแม่ที่วิตกว่าลูกที่ไปออกแคมป์กับโรงเรียนจะอยู่รอดไหม กินได้ไหม นอนหลับสบายไหม มีอุบัติเหตุอะไรไหม สรุปคือ 3 วัน 2 คืนที่ลูกสนุก มีความสุขกับกิจกรรม กลายเป็นช่วงที่พ่อแม่กลับทุกข์ใจที่สุด
วิธีคือ “วางใจ” เชื่อว่าลูกต้องอยู่ได้ เอาตัวรอดได้ จะหกล้ม กินข้าวดิบบ้าง ก็ช่างมัน ถือว่าเป็นรสชาติของชีวิต
เอ๋เล่าว่าแต่ก่อนก็เป็นคนกังวลไปหมด ต้องมีแผนในการทำอะไรที่ชัดเจนจนเกิดทุกข์ ลองเปลี่ยนมาใช้วิธีปล่อยๆ บ้างก็ได้ ไม่ต้องกังวลมาก เช่น การเดินทาง เอ๋ทดลองใช้การโบกรถดู ไม่มีแผนว่าจะนอนที่ไหน ว่ากันดาบหน้า ก็สามารถไปถึงจุดหมายได้ แลกกับการโบกรถร่วมร้อยคัน แถมได้ความสนุกกับรสชาติใหม่ๆ ประสบการณ์สนุกๆ ที่ไม่ต้องวิตกกังวลจนเกินเหตุ
ถ้าทำบ่อยๆ เราจะค่อยๆ คลายความวิตกกังวลไปได้เอง
ต่อมาคือเรื่อง “วิธีรับมือกับอารมณ์ในแง่ลบของตัวเอง” อันนี้มาจาก คุณอุ๋ย-นที เอกวิจิตร หรือ อุ๋ย บุดด้าเบลส
พูดถึงอารมณ์ในแง่ลบก็จำพวก อารมณ์โกรธ ขุ่นเคือง ซึมเศร้า หดหู่ เป็นต้น เมื่อเกิดขึ้นแล้ว อุ๋ยแนะนำวิธีจัดการมันด้วย 4 วิธีดังนี้
หนึ่ง ให้หยุด และสังเกตดีกรีของอารมณ์ที่เกิดขึ้น เช่น เรารู้สึกโกรธขึ้นมา ให้หยุดแล้วมองดูว่าตอนนี้เราโกรธระดับไหน เช่น เริ่มจากโกรธมาก 100% เวลาผ่านไป 15 นาทีความโกรธลดลงเหลือสัก 60% เวลาผ่านไปๆ ก็น้อยลงๆ จนเมื่อผ่านไปสักชั่วโมงเราก็รู้สึกว่า ความโกรธความไม่พอใจหายไปแล้ว ก็ให้จำความรู้สึกที่เป็นปกตินั้นไว้
และ “เห็นค่าของความปกติ” ว่า มัน เออ สบายใจ สบายตัวจังเลย เพื่อที่ว่าเมื่อไรที่เราโกรธ คลื่นสมองของเราก็จะพาตัวเราไปหาความปกติเพื่อเสพความสุขให้ได้เร็วที่สุด
สอง อย่าไปรู้สึกแย่ที่เรารู้สึกอย่างนั้น เพราะลงเป็นมนุษย์ปุถุชนแล้ว ยังไงก็ต้องมีอารมณ์แง่ลบเกิดขึ้นได้เสมอ ก็ให้รับรู้ถึงความรู้สึกนั้น และยอมรับว่าเรามีอารมณ์นั้นจริง แล้วมันก็จะค่อยๆ ดีขึ้นเอง
สาม อย่า “คิดลบ” กับสิ่งลบๆ เหล่านั้น ไม่งั้นมันก็จะยิ่งตอกย้ำซ้ำเติมลงไปอีก โกรธแล้วโกรธอีก ไม่บรรเทาเลย แนะให้หันไปสนใจสิ่งอื่นๆ แทน แล้วเราก็จะไม่ไป “โฟกัส” กับเจ้าอารมณ์แง่ลบนั้น บางคนเวลาโกรธ จะหันไปหาของกินเพื่อเบนอารมณ์ไปหาอะไรอร่อยๆ แทน
สี่ คือใช้ “ความเมตตา” และ “อารมณ์ขัน” หากเรามีความเมตตากับคนที่ทำให้เราไม่พอใจ เราก็จะรู้สึกว่าเอ็นดูหรือเข้าใจในความผิดพลาดของเขาได้ หรือบางเหตุการณ์แย่ๆ ที่เกิดขึ้นกับเราอย่างเดินอยู่ดีๆ ก็ไปสะดุดหินจนล้มได้ ซึ่งหากเกิดกับเพื่อนเรา เราก็อาจจะหัวเราะเพราะเห็นขันได้ ก็ให้เรารู้สึก “ขบขัน” อย่างนั้นกับตัวเราเองบ้าง มันก็จะช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาได้
นี่คือสี่วิธีที่อุ๋ยแนะนำ โดยทิ้งท้ายว่า
อารมณ์แง่ลบมันก็เหมือนกับ “กองไฟ” หากเราไม่ไปใส่ฟืนในกองไฟ ไม่ช้ามันก็จะค่อยๆ มอดลงไปเอง
หากไม่รู้จักวิตกกังวลจนเกิดเหตุแล้ว รู้วิธีรับมือกับอารมณ์แง่ลบแล้ว เชื่อว่าเราก็จะพบกับ “ความสุข”ได้ไม่ยาก แต่เชื่อไหมว่า “ความสุขก็มีด้านมืด” เหมือนกัน
เรื่องนี้นำมาเล่าโดย คุณปอนด์ ยาคอปเซ่น ปอนด์เปิดหัวว่า รู้สึกไหมว่าความสุขของคนเราสมัยนี้มันแพงขึ้น เช่น เมื่อ 10 ปีก่อนเราอาจจะฝันถึงการมีบ้านหนึ่งหลังที่เป็นหลังเล็กๆ อยู่สบาย ของไม่ต้องเยอะ แต่ภาพบ้านในฝันของเรายุคนี้โดยเฉพาะที่ถูกล้อมด้วยโลกโซเชียล บ้านของเราจะหลังใหญ่ขึ้น มีสไตล์เก๋ๆ มีของในบ้านแบบนั้นแบบนี้ที่ทันสมัยดูดี แน่นอนที่มันต้องแลกด้วยเงิน
ทั้งนี้เพราะชีวิตของคนในสังคมทุกวันนี้ ถูกกล่อมและล้างสมองด้วยข้อมูลข่าวสารและการปฏิสัมพันธ์ที่เกินจริง จนต้องให้ระวังตัวไว้ ไม่อย่างนั้นคุณอาจจะทุกข์จาก “ด้านมืดของความสุข” ได้
โดยปอนด์ได้ขยายความให้ฟัง 5 ข้อด้วยกันคือ
หนึ่ง คนที่มีความสุขบ่อยๆ ง่ายๆ จะยืดหยุ่นในกับสิ่งต่างๆ ที่เจอลดน้อยลง เพราะคนที่ทำอะไรก็ได้รับความสุขมาง่ายๆ เดี๋ยวก็สุขๆ เมื่อเจอความยากในการ “จะสุข” ในบางเรื่อง ก็ไม่รู้ว่าจะปรับตัวหรือรับมือกับความยากนั้นอย่างไร
สอง เมื่อมีสุข ก็จะอยากให้ความสุขนั้นคงอยู่และมีมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะของอย่างเดียวกันที่เคยสุข พอสุขบ่อยๆ มันก็จะชิน ก็จะไม่สุขเท่าเดิม ก็ต้องดิ้นรนหาสิ่งที่คาดว่าจะสุขมากขึ้นๆ ไม่รู้จบ
สาม คนที่มีความสุขง่ายๆ จะมีความคิดสร้างสรรค์สู้คนที่สุขบ้างทุกข์บ้างไม่ได้ เพราะคนอย่างหลังต้องดิ้นรนหาทางออก สมองได้ฝึกปรือในการคิดแก้ปัญหามากกว่า บ่อยกว่า
สี่ คนที่มีความสุขมากๆ จะเสริม “อัตตา” ของตัวเองได้ง่ายๆ ยิ่งคนที่มีความสุขจากความสำเร็จของตัวเองก็จะรู้สึกภาคภูมิใจในตัวตนมากขึ้น ยิ่งภาคภูมิใจ ยิ่งให้ค่าตัวเอง ก็จะยิ่งมีอัตตาว่า กูเก่ง กูแน่ ยิ่งขึ้น
และห้า พอสุขมากๆ เราก็จะยิ่งตามหาสิ่งที่ทำให้เราสุขยิ่งกว่า พอเจอก็ยังไม่พอ ก็จะยิ่งตามหาใน “มาตรฐานที่สูงขึ้น” ไปเรื่อยๆ
สรุปคือ เหนื่อย
ดังนั้น การที่คนเราทำทุกอย่างเพื่อแสวงหาความสุขนั้นไม่ผิด แต่หากเรามีความสุขแล้วไม่รู้จักพิจารณา ไม่รู้จักระมัดระวังตนเอง ความสุขนั้นก็จะสามารถ “ตีกลับ” มาให้เรารู้สึก “ทุกข์” ได้ โดยเฉพาะเราอยู่กับยุคข้อมูลข่าวสารและการสื่อสารที่ฉาบฉวย หากเราหลงเคลิ้มไปกับมันว่าสุข สุข สุข นั่นล่ะจะพาเราไปหาด้านมืดของความสุขได้ไม่ยาก
ทุกอย่างก็วกเข้าธรรมะของพระพุทธองค์คือ “การเดินสายกลาง” สุขก็สุขอย่างพอดีๆ ไม่มากเกินไป น้อยเกินไป
จะวิตกกังวลก็ให้สมควรแก่เหตุ ไม่วิตกกังวลอะไรมากไป ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นวิตกจริต
เมื่อมีอารมณ์แง่ลบ รัก โลภ โกรธ หลง โมโห เศร้าซึม หดหู่ ก็มองให้เห็น ไม่ต้องหนี ยอมรับและเข้าใจมัน ปล่อยวาง แล้วกองไฟก็จะมอดไปเอง
ฉะนั้น สุดท้ายแล้วเงินดิจิทัลหนึ่งหมื่นจะได้รับหรือไม่ ก็ไม่ต้องไปวิตกกังวล หากต้องยืดเวลาออกไปหรือสุดท้ายต้องพับโครงการไป ก็เข้าใจ ยอมรับมัน ฮะ ฮะ ฮ่า…ฮือ ฮือ (หัวเราะไปร้องไห้ไป)
หรือหากสุดท้ายได้รับมาจริงๆ ก็อย่ามีความสุขกับมันมากเกินไป เพราะเราก็จะหวังเงินแจกที่มากจำนวนขึ้นเรื่อยๆ แจกหลักพันในสมัยนายกฯ ตู่ ก็ว่าโอเค มารับหลักหมื่นในยุคนายกฯ นิดก็ติดใจ ไม่รู้ว่าจะต้องแจกอีกสักเท่าไหร่จึงจะสุขพอ หากแจกน้อยกว่านั้นแทนที่จะสุขก็กลายเป็นทุกข์เสียนี่
ปิดท้ายด้วยหลักคิดของคุณดู๋ สัญญา บ้าง ดู๋บอกว่าเวลาเขาได้เจอเรื่องดีๆ มา แล้วพอมาเจอเรื่องร้ายๆ เข้าให้ ก็จะคิดกับตัวเองว่า “นี่ไงเจ้าสมดุลมาแล้ว” และยิ้มต้อนรับมัน
เพราะเมื่อมีสุข ก็ต้องมีทุกข์ เป็นสมดุลของธรรมดาโลก
เพราะฉะนั้น หากคนไทยเราจะสุขบ้าง ทุกข์บ้าง ก็น่ะนะ…คิดเสียว่าเป็นสมดุลของโลกก็แล้วกันนะครับท่าน •
เครื่องเคียงข้างจอ | วัชระ แวววุฒินันท์
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022