สำรวจประวัติศาสตร์การพลัดถิ่น ของกลุ่มศิลปิน บ้านนอก ความร่วมมือทางศิลปวัฒนธรรม

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ในตอนนี้ขอต่อด้วยเรื่องราวของผลงานศิลปะที่จัดแสดงใน มหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale Chiang Rai 2023 ที่ จ.เชียงรายกัน อีกครา

ที่น่าสนใจก็คือ ศิลปินในครั้งนี้ไม่ใช่ศิลปินเดี่ยวที่ทำงานเพียงคนเดียว

หากแต่เป็นกลุ่มศิลปินและคนทำงานทางศิลปะวัฒนธรรมที่เกิดจากความร่วมมือร่วมใจกันทำงานร่วมกันของกลุ่มคนที่ใช้ชื่อว่า บ้านนอก ความร่วมมือทางศิลปวัฒนธรรม (Baan Noorg Collaborative Arts and Culture) องค์กรไม่แสวงผลกำไรที่ก่อตั้งและเริ่มขับเคลื่อนในปี 2011

โดยศิลปินคู่ จิระเดช มีมาลัย และ พรพิไล มีมาลัย หรือที่รู้จักกันในชื่อ จิแอนด์ยิ่น (jiandyin)

พวกเขาทำงานที่ ต.หนองโพ จ.ราชบุรี ร่วมกับชุมชมศิลปินท้องถิ่นและนานาชาติ

ผลงานของพวกเขาเกิดจากการเชื่อมร้อยประเด็นต่างๆ ทั้งประเด็นทางสังคม เศรษฐกิจ ชุมชน ภูมิศาสตร์ วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ การพลัดถิ่น เข้าด้วยกัน

และมักสร้างผลงานศิลปะจัดวางที่เปิดโอกาสให้ผู้คนมีส่วนร่วมกับผลงาน

 

พวกเขาเป็นที่รู้จักในวงกว้างจากการเข้าร่วมใน มหกรรมศิลปะร่วมสมัย documenta ครั้งที่ 15 ในปี 2022 โดยนำเสนอผลงาน Churning Milk: the Rituals of Things (2022) ที่หยิบเอาประเด็นเรื่องโครงสร้างทางอำนาจของวรรณคดี รามเกียรติ์ ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากหนังใหญ่วัดขนอน ที่ขึ้นชื่อในการแสดงเรื่องรามเกียรติ์ ใน อ.โพธาราม ด้วยการนำมาตีความใหม่ในรูปของหนังใหญ่ ที่แกะโดยช่างจากวัดขนอน

โดยหยิบเอาตอนหนึ่งของรามเกียรติ์อย่าง ‘กวนเกษียรสมุทร’ มาผสมผสานกับนิทานพื้นบ้านของประเทศเยอรมนีอย่าง นิทานกริมม์ ที่เล่าเรื่องราวของคนที่ถูกแม่มดสาปให้กลายเป็นสัตว์และสัตว์ถูกเสกให้เป็นคน ล้อไปกับบทบาทของเทพและอสูรในรามเกียรติ์ตอน กวนเกษียรสมุทร

โดยสลักเสลาเรื่องราวและตัวละครในงานวรรณกรรมทั้งสองซีกโลกเป็นหนังใหญ่ เพื่อทำการแสดงในพื้นที่แสดงงาน

พวกเขายังทำงานร่วมกับคนในชุมชนของเมืองคาสเซิล อย่างเช่น ทีมสเก๊ตบอร์ดของเมือง ให้ช่วยสร้างแรมป์สเก๊ตบอร์ดในพื้นที่แสดงงาน และทำการสอนเด็กๆ ในวันหยุดสุดสัปดาห์ โดยตั้งแรมป์หน้างานศิลปะจัดวางรูปเขาพระสุเมรุ ที่เชื่อมโยงกับการแสดงหนังใหญ่

รวมถึงกิจกรรมสอนการทำสบู่นม โดยใช้นมจากฟาร์มในเมืองคาสเซิล

และกิจกรรมอีกหลายอย่างที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาของมหกรรมศิลปะ documenta ที่เป็นเหมือนการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม และวิถีชีวิตระหว่างหลากประเทศ เชื้อชาติ และวัฒนธรรม

ในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale Chiang Rai 2023 ครั้งนี้ บ้านนอก ความร่วมมือทางศิลปวัฒนธรรม นำเสนอผลงาน Tai Yuan Return : on Transmission and Inheritance A collaborative and participatory art project 2023 (ไท-ยวนปิ๊กบ้าน : การสืบทอดและส่งต่อโครงการศิลปะความร่วมมือและการมีส่วนร่วมทางสังคม 2023) ที่พูดถึงประวัติศาสตร์ของชุมชนยวนพลัดถิ่นใน ต.หนองโพ ที่อพยพมาจากเมืองเชียงแสนในช่วงศตวรรษที่ 19 เนื่องจากบรรพบุรุษถูกกวาดต้อน หลังจากทัพสยามและเชียงใหม่มาปลดแอกเชียงแสนจากกองทัพพม่า ด้วยการพยายามสืบค้นร่องรอยของคนไท-ยวน โดยจินตนาการถึงการพลัดพรากถิ่นฐานบ้านเกิดในอดีตอย่างไม่อาจหวนคืนกลับไปได้

โดย จิระเดช มีมาลัย หนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่มบ้านนอก ความร่วมมือทางศิลปวัฒนธรรม กล่าวถึงที่มาที่ไปในโครงการศิลปะครั้งนี้ของพวกเขาว่า

“เหตุผลที่ทางไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงราย ติดต่อเรามา เพราะโดยพื้นเพ เราเป็นไท-ยวนพลัดถิ่น ที่ ต.หนองโพ จ.ราชบุรี และสิ่งที่เราศึกษากันอยู่คือเรื่องของความสัมพันธ์ในองค์ประกอบต่างๆ อย่างเรื่องประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมโบราณคดี และการศึกษาเรื่องพื้นที่และการสร้างเวทีที่จะทำให้ชาวไท-ยวน ชาติพันธุ์ที่อพยพไปที่อื่นกลับคืนสู่เชียงแสน ตอนนี้จะมีกลุ่มสมาคมไท-ยวนแห่งประเทศไทยจำนวน 10 กลุ่ม ที่อยู่ในจังหวัดต่างๆ เราก็จะรวบรวมตัวแทนกลุ่มชาวไท-ยวนในจังหวัดต่างๆ ขึ้นไปที่เชียงรายในช่วงของการทำกิจกรรม เราจะมีการทำพิธีทางศาสนาให้กับบรรพบุรุษของชาวไท-ยวน ในเชียงแสนที่เสียชีวิตในอดีตอีกด้วย”

“ในส่วนของประวัติศาสตร์ เราก็ดูตั้งแต่ประวัติศาสตร์ของตำนานเวียงหนองล่ม ไปสู่การสร้างอาณาจักรลาวจังกราช ซึ่งเป็นที่มาของ พญาแสนพู ผู้ก่อตั้งเมืองเชียงแสน และมาสิ้นสุดในช่วงที่สยามและเชียงใหม่ยกทัพเข้าตีเมืองเชียงแสน และกวาดต้อนชาวเมืองเชียงแสนทั้งหมดออกจากเมือง เพื่อไม่ให้เป็นที่มั่นสำหรับพม่าในช่วงปี พ.ศ.2347”

“ในส่วนของโบราณคดี เราดูเรื่องชั้นดินและการขุดค้นพบโบราณวัตถุต่างๆ สิ่งที่น่าสนใจในพื้นที่โบราณสถานที่เราศึกษาก็คือ พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ที่กองโบราณคดีที่เชียงแสนไม่สามารถระบุได้ว่าตำแหน่งนี้คือวัดอะไร ในขณะที่พื้นที่โบราณสถานอื่นๆ มีชื่อเรียก ดังนั้น เขาจึงใส่ชื่อว่าเป็น โบราณสถานหมายเลข 16”

“เราก็ต้องอาศัยข้อมูลเกี่ยวกับช่วงเวลาของชั้นดิน และโบราณวัตถุที่ขุดพบต่างๆ เอาไปเทียบเคียงช่วงเวลา และอนุมานว่า ตัวสถูปเจดีย์หรือวิหารในพื้นที่โบราณสถานแห่งนี้น่าจะมีลักษณะที่ใกล้เคียงกับในวัดใดมากที่สุด แล้วก็สร้างเป็นเจดีย์จำลองสามมิติขึ้นมาใหม่”

สิ่งละอันพันละน้อยเหล่านี้ ถูกนำเสนอเป็นรูปธรรมให้จับต้องได้จริงๆ ผ่านผลงานศิลปะจัดวางเฉพาะพื้นที่ (Site-specific art) บนพื้นที่กลางแจ้งในโบราณสถานหมายเลข 16 ในเมืองเชียงแสน ในรูปแบบสถาปัตยกรรมเป่าลมสองชิ้น ที่จำลองรูปทรงของสถูปเจดีย์ (Stupa) และฐานวิหารวัด สีดำสนิท ราวกับจะเป็นการจำลองภาพเงาแห่งอดีตกาลอันไกลโพ้นขึ้นมาใหม่ในรูปของผลงานศิลปะร่วมสมัยอันแปลกตาน่าพิศวง

ที่น่าสนใจก็คือ เมื่อเรายืนชมผลงานนี้ในระยะหนึ่ง สถูปเจดีย์เป่าลมที่ว่านี้ก็จะถูกปล่อยลมให้ฟีบจนยอดเจดีย์ย้วยย้อยลงมา และถูกอัดลมจนกลับไปเต่งตึงตั้งตรงในเวลาไม่นาน ราวกับเป็นรยางค์ของสิ่งมีชีวิตขนาดยักษ์ก็ไม่ปาน

ด้วยสีสัน วัสดุ และผิวสัมผัสของประติมากรรมฐานวิหารวัดสีดำที่ว่านี้ ทำให้เราอดนึกถึงผลงาน Law of the Journey (2016) ประติมากรรมจัดวางรูปแพยางชูชีพสีดําขนาดยักษ์ ที่เป็นตัวแทนของผู้ลี้ภัยจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก ของศิลปินชาวจีนอย่าง อ้าย เว่ยเว่ย (Ai Weiwei) ไม่ได้

ที่สำคัญ ประเด็นเกี่ยวกับผู้อพยพพลัดถิ่นในผลงานของศิลปินทั้งสอง ก็มีความเชื่อมโยงกันอย่างน่าประหลาด นับเป็นความบังเอิญพ้องกันทางการสร้างสรรค์ของคนทำงานศิลปะจากคนละซีกโลกอย่างน่าสนใจ

จิระเดชยังกล่าวถึงบริบทของพื้นที่แสดงงาน อันเป็นพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ที่พวกเขาลงพื้นที่และทำการศึกษาค้นคว้าข้อมูลว่า

“ในส่วนของพื้นที่ เราก็ดูตำแหน่งของผังเมือง เพราะตัวเมืองเชียงแสนส่วนหนึ่งล่มไปในแม่น้ำโขง จากการศึกษาประวัติศาสตร์เมืองเชียงแสน เราพบว่า กว่าที่เมืองจะถูกตีแตกนั้นจริงๆ แล้วไม่ใช่เวลาสั้นๆ แค่เดือนสองเดือน แต่ใช้เวลานานเกือบปี ต้องมีการปิดล้อมเมืองจนชาวเมืองอดอยากอาหารขาดแคลน คนต้องอพยพหนีออกมาแล้วถูกเผาเมืองในที่สุด”

“การที่คนอพยพออกมานั้น ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะเต็มใจออกจากเมือง แต่พวกเขามีแค่สองทางเลือก จะไปหรือจะตาย เท่านั้น ผู้คนเหล่านี้จะถูกกวาดต้อนมากับกองทัพต่างๆ ห้ากองทัพ คือ กองทัพเชียงใหม่ กองทัพลำปาง กองทัพเวียงจันทน์ และกองทัพสยาม ผู้คนที่ถูกกวาดต้อนไปกับกองทัพเชียงใหม่คือเจ้าขุนมูลนาย และช่างหลวง ซึ่งค่อนข้างเป็นชนชั้นสูง”

“ส่วนชาวเมืองเชียงแสนหรือชาวไท-ยวนพลัดถิ่นนั้นเดินทางติดตามกองทัพสยาม ผู้คนกลุ่มใหญ่ในจำนวนนั้นลงมาหยุดที่สระบุรี ที่แม่น้ำป่าสัก มีสิบชุมชน สิบหมู่บ้านใหญ่ จนกลายเป็นชุมชนไท-ยวนที่แข็งแรงที่สุดชุมชนหนึ่ง นอกเขตแดนทางวัฒนธรรมของไท-ยวน”

“ส่วนที่เหลือเป็นชุมชนไท-ยวนที่อพยพมาอยู่ใน ต.หนองโพ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี ซึ่งถือว่าเป็นชุมชนขนาดเล็กมากที่กระจายหลุดออกมาจากวงโคจรของเขตแดนทางวัฒนธรรมไท-ยวน และชุมชนไท-ยวนในหนองโพ ยังเป็นชุมชนที่ค่อนข้างพบความเป็นไท-ยวนได้น้อยมาก นอกเสียจากถ้าเขาไม่พูดภาษาไท-ยวน เราก็แทบไม่รู้เลยว่าที่นี่คือชุมชนไท-ยวน”

“ประเด็นที่ทำให้เขาไม่เหลือความเป็นไท-ยวน ก็เพราะรัฐบาลส่งเสริมให้ชาวบ้านในชุมชนนี้เปลี่ยนจากการทำนามาเลี้ยงวัวแทน ซึ่งการเลี้ยงวัวมีผลในเรื่องของภูมิรัฐศาสตร์ เพราะทำให้พื้นที่ของ ต.หนองโพถูกตัดขาดจากขอบเขตทางวัฒนธรรมไท-ยวน เพราะการไม่ปลูกข้าวนั้นทำให้วิถีชีวิตที่เกาะเกี่ยวกับวัฒนธรรมข้าวนั้นหายไปด้วย ทั้งการทำนา และการทอผ้า หนองโพจึงแทบไม่เหลือรากเหง้าทางวัฒนธรรมไท-ยวนเลย”

“นี่จึงเป็นความท้าทายว่า ชุมชนชาวไท-ยวนหนองโพของเรา นั้นเป็นจุดสุดท้ายของวัฒนธรรมไท-ยวนก่อนที่จะกระจัดกระจายหายไป ทำอย่างไรที่เราจะรวบรวมกลุ่มสมาคมไท-ยวนเพื่อกลับไปยังเชียงแสน อย่างน้อยที่สุดก็กลับไปในเชิงสัญลักษณ์ เพราะในความเป็นจริง ช่วงเวลา 200 ปีที่ผ่านมา ทำให้ชาวไท-ยวนไม่อาจกลับบ้านได้ เพราะเราไม่เหลือบ้านที่เคยอยู่อีกต่อไปแล้ว”

“ในขณะที่เราทำโครงการ ไท-ยวนปิ๊กบ้าน ที่เชียงแสน ในขณะเดียวกัน เราก็ทำโครงการคู่ขนานคือโครงการ ไท-ยวนพลัดถิ่น ไปพร้อมๆ กันด้วย ในโครงการนี้มีการจัดกิจกรรมให้ความรู้ อย่างการเสวนาต่างๆ ที่จะนำเอากลุ่มสมาคมไท-ยวนกลับเข้าไปในพื้นที่ของเมืองเชียงแสน และเชิญนักวิชาการเชียงรายและเชียงใหม่ขึ้นมาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ซึ่งกันและกัน”

มิตรรักแฟนศิลปะท่านใดสนใจสัมผัสกับผลงาน “ไท-ยวนปิ๊กบ้าน : การสืบทอดและส่งต่อโครงการศิลปะความร่วมมือและการมีส่วนร่วมทางสังคม 2023” ของกลุ่ม บ้านนอก ความร่วมมือทางศิลปวัฒนธรรม ก็สามารถมาเยี่ยมชมกันได้ในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale Chiang Rai 2023 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9 ธันวาคม 2566-30 เมษายน 2567 ในพื้นที่แสดงงาน โบราณสถานหมายเลข 16 ถนนรอบเวียง ต.เวียง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย •

ข้อมูล https://www.baannoorg.org/, www.thailandbiennale.org

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์