เจตจำนงเสรี-กับปีศาจในพล พต?

อภิญญา ตะวันออก

อัญเจียแขฺมร์ | อภิญญา ตะวันออก

 

เจตจำนงเสรี-กับปีศาจในพล พต?

 

“หือ? มันจำเป็นแค่ไหนที่เนียงจะปกป้องปีศาจตัวนี้ให้มีชีวิต?” เวียสนาคีรีถาม

“แม่นเฮย!” โลกสรัยตอบ และยืนยันว่า “คุณไม่มีสิทธิ์สังหารหรือทำลาย ความเป็น ‘เขมรแดง’ ออกจากประวัติศาสตร์ของตัวเองไม่ว่าใดๆ”

“ความจริงนี่คือ อดีตทั้งหมดที่ผ่านมาและมันได้กลายเป็นประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของกัมพูชา โดยไม่ว่ามันจะเลวร้ายหรือสร้างความเจ็บปวดรวดร้าวสักแค่ไหน คุณต้องยอมรับความจริง ไม่มีสิทธิ์ใดๆ ที่จะลบล้างหรือทำลาย เว้นเสียแต่ว่าจะชำระสะสางอย่างเป็นขั้นตอน ซึ่งกัมพูชาก็ทำแล้วด้วยการไต่สวนอดีตผู้นำระบอบนี้ ที่เหลือ…ก็แค่ถอดบทเรียน เพื่อรับมือให้ได้กับระบอบใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ไม่ว่า! จะรักหรือชัง?”

เวียสนาคีรี : แต่ก็ไม่ยุติธรรมกับพวกเราเช่นกัน!?”

“เวียสนาคีรีเอ๋ย มันก็เหมือนกับคนที่ประสบหายนะในวิบัติของชีวิต คุณเหลือรอด และกลับมาเรียกร้องความยุติธรรมผ่านองค์กรตุลาการสากล และคุณก็ได้ผลของมันแล้ว ที่เหลือคือการเรียนรู้ประวัติอันเจ็บปวดนั้น นั่นต่างหากที่เป็นอนุสรณ์ที่เราควรรักษา ไม่ใช่ทำลาย และมันไม่ยุติธรรมสำหรับพล พต เลยที่ผู้นำปัจจุบันกัมพูชา กำลังทำอยู่ตอนนี้…”

เวียสนา-วีระบุตรโคลงหัวไปมา

“เอาล่ะ! แล้วพวกคุณได้อะไรจากการทำลายซ้ำในปีศาจตนนั้น! มันเท่ากับคุณกำลังแปลงร่างเป็นซาตานหรือปีศาจเช่นเดียวกับระบอบพลพตใช่หรือไม่?”

“ความผิดพลาดของระบอบพลพตก็เช่นกัน มันคือประวัติบาดแผลที่รอคอยการเยียวยาจากการเรียนรู้ของประชาชนบนความลุ่มหลงอำนาจอย่างสุดโต่งของผู้นำที่ผ่านมา คนแล้วคนเล่า ล้วนแต่สร้างบาดแผลไว้ทั้งสิ้น และสิ่งผู้นำแต่ละยุคของคุณกระทำ คือการทำลายระบอบของอีกฝ่ายเพื่อประกาศว่าตนเองคือฮีโร่ ทว่า มันไม่ใช่!”

“แต่มันคือปีศาจตนใหม่ ต่างหาก! ซ้ำในตอนนี้ ไม่มีใครรู้เลยว่า จะย้อนกลับไปยังสารตั้งต้นของสิ่งที่ระบอบเขมรแดงทิ้งไว้อย่างไรได้!”

เวียสนาคีรี : แล้ว ประวัติศาสตร์บทนั้นของระบอบหลังพล พต จะเริ่มต้นอย่างไร?

“ฉันคิดว่า เพื่อถอดรหัส ‘ดีเอ็นเอผู้นำประเทศ’ ของนาย จากบทสนทนานี้ เราควรเริ่มตอนที่พล พต ตาย! เพราะนั่นคือจุดเริ่มต้นของการทำลายพฤติกรรมซ้ำซากของผู้นำกัมพูชาต่อลัทธิบูชาความเป็น ‘ฮีโร่’ ที่อยู่ในผู้นำเขมรทุกระบอบ”

“กับอีกข้อหนึ่ง คือ ‘เจตจำนงเสรี’ ที่ประชาชนประเทศนายไม่รู้จัก แต่เราอย่าเพิ่งคุยข้อนี้กันเลยนะ เพราะถ้านายทำลายลัทธิบูชาตัวตนได้! เจตจำนงเสรีก็จะตามมาเอง!”

“ตัวอย่างง่ายๆ ความพยายามโยนบาปให้พล พต เป็นปีศาจตลอดกาลจากความผิดพลาดของคณะกัมพูชาประชาธิปไตยด้วยการป้อนยาพิษสังหารพล พต ที่อัลลองแวง แล้วคิดว่ามันคือการสิ้นสุด เปล่าเลย มันคือจุดเริ่มต้นของทฤษฎีสมคบคิด…ต่างหาก!”

โลกสรัย : ฟังนะ เวียสนาคีรี! และนี่คือ วิธีเล่าเรื่องของระบอบเผด็จการผู้นำเขมรแดง แต่ไงล่ะ วันนี้ คนที่พิฆาตซ้ำระบอบนี้ เพื่อเขียนประวัติศาสตร์ของตนขึ้นมาในฐานะฮีโร่ กลับเป็นผู้นำคนปัจจุบันของนาย เขาเขียนอะไรบ้าง นายก็วิ่งไปดูที่อนุเสาวรีย์สันติภาพสิ! แล้วนายจะตาสว่าง!

เวียสนาคีรี : ให้ตายเถอะ! โลกสรัย! เนียงกำลังบอกเล่าเรื่องอะไร ฉันไม่เข้าใจ?

“ฟังนะ เวียสนาคีรีเอ๋ย ฉันไม่ได้ทำอะไรเลย ตอนที่คุยกับนายอยู่นี้ ฉันคิดถึงบทละครอิงประวัติศาสตร์ของจิตร ภูมิศักดิ์ ปัญญาชนชาติเสียม ที่นำพล็อตเรื่องมาจากการสร้างเมืองนครวัดของชนชั้นนำ”

เมา วีระบุตร : แล้วมันเกี่ยวข้องกันอย่างไร?

โลกสรัย : ฟังดู! มันอาจจะเข้าใจยากอยู่บ้างที่จะย้อนไปในยุคกลางเมื่อ 800 ปีก่อน แต่จงใช้ความเป็นนักโบราณคดีของนายไปที่อนุสาวรีย์ “ชนะ-ชนะ-สันติภาพ” ที่เพิ่งสร้างขึ้นมาใหม่โดยสมเด็จฮุน เซน นั่น นายก็จะเห็นมัน เหล่าภาพแกะสลักนูนต่ำมากมายที่เต็มไปด้วยเรื่องราวความยิ่งใหญ่ในผู้นำเขมรคนนั้น!

“นั่นล่ะ! คือสิ่งที่ฉันต้องการจะกล่าว นี่คือวิธี ‘ดงแฮ’ สรรเสริญบูชาฮีโร่ปกรณัมของศตวรรษที่ 21 ในแบบเขมรไงล่ะ!”

“พุทโธ่เอ๋ย โลกสรัย เนียงต้องการบอกอะไร? ถึงอย่างนั้น คนอย่างปีศาจพล พต ก็ไม่สมควรจะสืบทอดเป็นความทรงจำของผู้ใด”

โลกสรัย : วีระบุตรเอ๋ย พล พต จอมบงการ เคยกำหนดชะตากรรมคนเขมรรุ่นก่อนให้กลายเป็นนักโทษตรวนชีวิตตัวเองกับกงล้อลัทธิคอมมิวนิสต์สุดโต่ง แต่ไม่ว่ากงล้อของเวลาจะเคลื่อนผ่านกัมพูชาไปกี่ยุค พล พต ตัวที่ 2 ที่ 3 ก็ยังอยู่ ตราบใดที่เรายังยอมรับลัทธิฮีโร่ปกรณัมที่ฝังร่างอยู่ผู้นำคนใหม่?

นายก็เห็นมันแล้วในประติมากรรมนูนต่ำที่อนุสาวรีย์สันติภาพใช่ไหม มันคืออะไรในรูปจำลองเหล่านั้น ให้ตายเถอะเวียสนาคีรีและเยียงวีระบุตร! นี่มันหวนกลับไปหายุคกลางสมัยนครวัดนครทมที่ชาวพระนครทั้งหมดคือทาส ทูนหัวของบ่าวแห่งชาวบูชาอติเทพเตโช อวตารองค์ใหม่และนายได้เห็นอะไรบ้าง? ก็วันที่ก่อสร้างอนุเสาวรีย์แห่งนี้ไง!

มันคือวันเดียวกับระบอบเขมรแดงกัมพูชาประชาธิปไตยถูกทำให้หายไปจากประวัติศาสตร์!

เมา วีระบุตร : ฉันไม่อยากจะเข้าใจอะไรซับซ้อน มันก็แค่อนุเสาวรีย์แห่งสันติภาพ ก็แค่ประวัติศาสตร์ทั้งมวลที่ควรได้รับการบันทึกไว้

โลกสรัย : แล้วใครคือผู้ออกแบบสถาปนิกการทำลายพล พต จากอัลลองแวงถึงสมรภูมิอื่นๆ ใครกันที่ทำพิธีกำหราบศัตรูทันทีที่ชนะสมรภูมิเสียมเรียบ? กระทั่งมาถึงวันนี้ วันที่สมเด็จอติเทพเตโชเดินมาถึงการหลอมรวมประวัติศาสตร์ความสำเร็จของตัวเอง?

โห! มันทำให้เรานึกถึง วัน/เดือน/ปี ที่นายกฯ ฮุน เซน ส่งตัวเองไปแบ่งแยกและปกครองอัลลองแวงของกลุ่มเขมรแดง โดยมีเอียง สารี และพวกที่หักหลังพล พต การจับตัวนายพลตาม็อกที่ชายแดนไทยเปิดทางให้ฮุน เซน กวาดล้างอัลลองแวงจนสิ้นซาก จนถึงเอียง สารี กับพวกเข้ากรุงพนมเปญและจบลงที่ขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศ

เวียสนาคีรี : หรือนั่นคือ ยุทธการสังหารหมู่?

“แต่มันทำให้เราหวนคิดถึง ‘คุณค่า’ บางอย่างในงานวิจัยของเดวิด พี แชนด์เลอร์” โลกสรัยสรุป “มันทำให้คนทั้งโลกยุคนั้นรู้จักสล็อต ซอ : เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชาหรือ “พี่ชายหมายเลขหนึ่ง”

วีระบุตร: ถูกแล้ว เดวิด พี แชนด์เลอร์ ได้ทิ้งอะไรแก่ชาวเขมรไม่น้อย มันยังเป็นคุณูปการต่อประวัติศาสตร์การเมืองกัมพูชาร่วมสมัยอีกด้วย มันเป็นหลักฐานที่ทำให้เราได้จดจำสังคมเขมรยุคราชานิยม สาธารณรัฐและระบอบเขมรแดง

โลกสรัย : เงาของระบอบพล พต ที่แชนด์เลอร์บันทึกไว้ ก็เงาอีกด้านของปรากฏการณ์สมัยสมัยเขมรแดง อย่างแชนด์เลอร์ก็ไม่ถึงกับชี้นิ้วว่าพล พต เป็นปีศาจในทุกมิติ ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากศาลอาญาระหว่างประเทศลงทัณฑ์อดีตผู้นำเขมรแดง แล้ววันหนึ่งผลพวงตรงนั้น ก็ถูกผู้นำปัจจุบันของกัมพูชานำไปเป็นประโยชน์อ้างความเป็นฮีโร่ของตน

เวียสนา : โลกสรัยคุณจะทำอย่างนี้ไปเพื่ออะไร คุณไม่จำเป็นต้องยกอ้างอดีตของเราที่เจ็บปวดแบบนั้น? มันไม่จำเป็นว่าทำไมคนเขมรจะต้องคิดแบบชาวเสียม และกงล้อปีศาจของเราถ้ามันมีอยู่จริง เราก็อยากไปถึงข้อมูลชั้นนั้นด้วยตัวเอง!

โลกสรัย : ฟังนะ เราไม่ได้ปกป้องพล พต บนความผิดฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่สมควรให้อภัย และถึงแม้เขาจะตายไป 19 ปีแล้ว เราก็ไม่ควรมีใครถูกพิพากษาให้ตายซ้ำ! ในนามการสร้างตำนานในนามผู้สร้างชาติคนใหม่ ที่เขียนขึ้นใหม่ในยุคหลัง มันไม่แฟร์สำหรับเขมรแดงสำหรับการถูกตราหน้าซาตานครั้งแล้วครั้งเล่าซ้ำรอยประวัติศาสตร์ที่ถูกจดจารโดยระบอบยุคหลัง!

แต่เครื่องมืออะไรที่จะทำให้เราเห็นประวัติศาสตร์อันโหดร้ายช่วงนี้ แบบที่นักประวัติศาสตร์ตะวันตกยุค 60 อย่างเดวิด พี แชนด์เลอร์ ทำไว้ตะหากที่ช่วยดึงสติเราได้ และเราจะมองระบอบพลพตอย่างไรก็ได้ด้วยมุมมองของเรา เช่นเดียวกับนักปกครองยุคหลัง ไม่ว่าจะ “นักบุญ” หรือ “ปีศาจ” และนั่นต่างหากที่จะนำเราไปสู่เจตจำนงอันเสรีของการเรียนรู้ ไม่ใช่มรดกของคณะกัมพูชาประชาธิปไตยหรืออนุเสารีย์สันติภาพของสมเด็จฮุน เซน ซึ่งทั้งหมดเป็นคำบอกเล่าแต่ฝ่ายเดียว

“โลกสรัย เนียงไม่ได้พิทักษ์รักษ์ ‘ระบอบพลพต’ ให้คงอยู่ใช่มั้ย?”

ไม่เลยมิตรสำลัญ, เราก็แค่อยากเห็น “เจตจำนงเสรี” ในผู้คนกัมพูชา กลับมาเท่านั้น!