ปัญหาทางปรัชญา ในการนิยาม ‘ซอฟต์เพาเวอร์’

(Photo by Manan VATSYAYANA / AFP)

นาทีนี้คงไม่มีคำไหนเป็นที่โจษจันของสังคมไทยเท่ากับคำว่า “ซอฟต์เพาเวอร์” อีกแล้ว พอๆ กับที่คำคำนี้ได้ก่อให้เกิดปัญหาไปทุกหัวระแหง

พลันที่พรรคเพื่อไทยประกาศจะผลักดันนโยบาย “หนึ่งครอบครัว หนึ่งซอฟต์เพาเวอร์” พรรคเพื่อไทยก็กลายเป็นตำบลกระสุนตก คำถามทั่วสารทิศก็กลับเข้ามาที่พรรคเพื่อไทยเองว่า ตกลงแล้ว “ซอฟต์เพาเวอร์” คืออะไรกันแน่

เพราะซอฟต์เพาเวอร์ของเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมว.กระทรวงวัฒนธรรม ก็คงไม่เหมือนซอฟต์เพาเวอร์ของสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรีที่จะชู “วัวชน” เป็นซอฟต์เพาเวอร์

หรือคุณอุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่แรกสุดพูดอธิบายถึงซอฟต์เพาเวอร์โดยยกตัวอย่างคร่าวๆ ถึง “มินต์ช็อก” เครื่องดื่มช็อกโกแลตเย็นรสมินต์ที่เป็นเมนูยอดนิยมของร้านกาแฟประจำพรรคเพื่อไทย ซึ่งได้สร้างกระแสให้ผู้คนอยากลิ้มชิมรสตามในช่วงเลือกตั้งที่ผ่านมา

ดูเหมือนคำตอบที่ว่า “มินต์ช็อก” เป็นซอฟต์เพาเวอร์ยิ่งทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันไปอย่างกว้างขวาง

ส่วนใหญ่ก็มักจะวิจารณ์กันว่า “มินต์ช็อก” ของหัวหน้าพรรคเพื่อไทยไม่น่าใช่ “ซอฟต์เพาเวอร์” ในความหมายที่คนใช้กันแพร่หลายตามเจ้าของทฤษฎีซอฟต์เพาเวอร์ตัวจริงคือ โจเซฟ แซมมวล ไนย์ จูเนียร์ (Joseph Samuel Nye Jr. : 2480- ปัจจุบัน) นักรัฐศาสตร์ชาวอเมริกัน

 

เหตุที่คนส่วนใหญ่วิจารณ์ “มินต์ช็อก” ไม่ใช่ซอฟต์เพาเวอร์นั้นก็คงมาจากการนิยามคำว่าซอฟต์เพาเวอร์ของโจเซฟ ไนย์ เองที่ซอฟต์เพาเวอร์ไม่ใช่ตัววัตถุสิ่งของหรือสินค้า

แต่ซอฟต์เพาเวอร์จะประกอบด้วย

1) วัฒนธรรมที่มีผลต่อคนอื่น

2) คุณค่าทางการเมือง

และ 3) นโยบายการทูตที่ถูกต้องชอบธรรม

พลันที่เสียงวิจารณ์เซ็งแซ่ บรรดาพลพรรคเพื่อไทยก็ดาหน้าออกมาว่า “มินต์ช็อก” นั้นเป็นสิ่งที่หัวหน้าพรรคและรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาตินั้นพูดเล่นในที่ประชุมมากกว่า ไม่ได้เข้าใจผิด

ดูเหมือนความงุนงงสงสัยของประชาชนก็ยังไม่คลี่คลายแต่อย่างใด เมื่อรัฐบาลหรือคณะทำงานด้านนี้ให้สัมภาษณ์ก็จะต้องมีคำถามกลับไปเสมอว่าสุดท้ายแล้ว ซอฟต์เพาเวอร์คืออะไร

เรื่องคงไม่จบง่ายๆ แต่เพียงเท่านี้ เพราะคำว่าช็อกมินต์กลายเป็นเรื่องที่คนเอามาพูดเล่นประชดประชันเสียดสีนัยว่าผู้พูดไม่รู้เรื่องเรื่องซอฟต์เพาเวอร์แต่อย่างใด

เรื่องจึงร้อนไปถึง นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี หรือหมอเลี้ยบ ต้องออกมาห้ามทัพให้สัมภาษณ์รายการข่าวถึงเรื่องนี้โดยตรง โดยหมอเลี้ยบมาเหนือเมฆบอกว่า ซอฟต์เพาเวอร์ของรัฐบาลไม่ได้ใช้ตามความหมายของโจเซฟ ไนย์ แต่อย่างใด

หมอเลี้ยบยังอ้างไปถึงว่าจริงๆ คำคำนี้ไม่ใช่โจเซฟ ไนย์ ใช้เป็นคนแรก ก่อนหน้านั้นหลายสิบปีก็มีคนใช้คำว่าซอฟต์เพาเวอร์แล้ว

นัยว่าปฏิเสธข้อวิจารณ์ก่อนหน้านี้ คือ “ซอฟต์พาวร์” ของรัฐบาลไม่ได้ใช้ตามทฤษฎีของไนย์เสียหน่อย มิหนำซ้ำยังบอกทฤษฎีของไนย์มันไม่เข้ากับยุคสมัยปัจจุบันแล้ว

ตรงนี้ถ้าในทางปรัชญาก็เรียกได้ว่าหมอเลี้ยบเหนือชั้น สามารถปัดตกข้อโต้แย้งได้อย่างสวยงาม

 

แต่ครั้นพิธีกรรายการข่าวถามว่า แล้วสรุปซอฟต์เพาเวอร์ของคุณหมอเลี้ยบคืออะไร คุณหมอเลี้ยบกลับตกม้าตายโดยการเปรียบซอฟต์เพาเวอร์กับความรัก

นัยว่าจะอธิบายเวลาเราถามว่าความรักคืออะไร แต่ละคนจะตอบไม่เหมือนกันเลย ไม่ว่าจะดูจากนิยามของความรักในเพลงสมัยก่อน หรือในบทกลอนในอดีต ก็ไม่มีที่เหมือนกันเลย

นอกจากนี้ ประสบการณ์ตรงของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกันอีก ความรักสำหรับบางคนหวานชื่น สำหรับบางคนโศกตรม แล้วเราจะนิยามความรักว่าคืออะไรได้อย่างไร

ฟังดูก็เข้าท่าดี และถึงกับมีบางคนไปค้นว่า ตอนหลังๆ มา โจเซฟ์ ไนย์ ก็อธิบายซอฟต์เพาเวอร์ทำนองนี้เหมือนกัน

แต่ถ้าเราพิจารณาอย่างท่องแท้จะพบว่าการอธิบายแบบนี้มีปัญหาอย่างแน่นอน

ในทางตรรกวิทยาเราเรียกการเปรียบเทียบผิดฝาผิดตัวแบบนี้ว่าเป็นเหตุผลวิบัติชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า “การเปรียบเทียบผิด” (false analogy)

กล่าวคือ การที่เราจะเปรียบของสองอย่าง ทั้งสองอย่างนั้นจะต้องมีคุณสมบัติหรือความสัมพันธ์ที่เหมือนกันจึงจะนำมาเปรียบกันได้

ยกตัวอย่างการอ้างเหตุผลผิดลักษณะนี้คือ นาฬิกามีกลไกข้างในซับซ้อนอย่างมากเพราะมีช่างนาฬิกาออกแบบและสร้างมันขึ้นมา จักรวาลก็มีองค์ประกอบซับซ้อนอย่างยิ่ง ดังนั้น จักรวาลก็ไม่น่าจะต่างจากนาฬิกาที่จะต้องมีผู้ออกแบบและสร้างจักรวาลขึ้นมา

จะเห็นว่าตรงนี้เป็นการเปรียบเทียบนาฬิกากับจักรวาลว่ามีลักษณะคล้ายกัน ก็ต้องมีคุณสมบัติอย่างอื่นเหมือนกัน

ซึ่งจะเห็นว่าเป็นการเปรียบเทียบผิด เพราะจักรวาลอาจจะมีความซับซ้อนแต่อาจจะไม่จำเป็นต้องมีผู้ออกแบบหรือผู้สร้างเหมือนนาฬิกาก็ได้

 

ในทำนองเดียวกัน ความรักกับซอฟต์เพาเวอร์ ก็ไม่อาจนำมาเปรียบเทียบกันได้

อย่างแรกเป็นนามธรรม ไม่สามารถนิยามให้ตรงกันได้นั้นคงจริง แต่อย่างหลังเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ต้องถ่ายทอดลงไปสู่ผู้ปฏิบัติในระดับต่างๆ ยิ่งต้องมีความชัดเจน แน่นอน ครั้นจะมามีลักษณะเป็นนามธรรมเช่นเดียวกับความรัก ย่อมมีปัญหาเกิดตามมาอย่างแน่นอน

นอกจากนี้ ที่ตอนแรกกล่าวว่าหมอเลี้ยบตกม้าตายที่เปรียบเทียบผิดทำนองนี้แล้ว ยังถูกม้าดีดซ้ำหลังจากตกม้าไปแล้ว ก็ตรงที่สุดท้ายคล้ายว่าหมอเลี้ยบจะเผลอตอบว่า สุดท้ายแล้วซอฟต์เพาเวอร์เป็นอะไรก็ได้ ไม่จำเป็นต้องจัดลำดับความสำคัญ

การตอบว่าซอฟต์เพาเวอร์เป็นทุกอย่างหรือเป็นอะไรก็ได้ นัยยะของข้อความนี้ก็เท่ากับซอฟต์เพาเวอร์ไม่ได้เป็นอะไรเลยเช่นกัน

 

อันที่จริงหากพยายามทำความเข้าใจความคิดหมอเลี้ยบและพยายามช่วยหาทางออก ก็น่าจะพอมีทางอยู่บ้าง ในทางปรัชญา เมื่อการนิยามบางสิ่งบางอย่างไม่สามารถระบุลงไปได้ชัด หรือขอบเขตของบางอย่างมันคาบเกี่ยวซ้อนทับกันหลายเรื่อง ไม่สามารถนิยามอย่างตรงไปตรงมาได้

แต่ก็เรายังสามารถรู้และเข้าใจถึงสิ่งนั้นได้อย่างคร่าวๆ เพราะมันยังมีรายละเอียดโยงใยสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับอีกหลายอย่าง

เราจะใช้ความคิดเรื่องการนิยามที่เรียกว่า “ความคล้ายคลึงกันทางตระกูล” (family resemblance) มาช่วยในการทำความเข้าใจหรือการหานิยามสิ่งต่างๆ

“ความคล้ายคลึงกันทางตระกูล” เป็นความคิดทางปรัชญาที่ลุดวิก วิตต์เก็นสไตน์ (Ludwig Wittgenstein : 1889-1951) นักปรัชญาชาวออสเตรียนำมาใช้จนเป็นที่นิยม

ในหนังสือเล่มสำคัญของเขาที่ชื่อว่า Philosophical Investigations (1953) วิตต์เก็นสไตน์ใช้ความคิดเรื่องนี้เพื่ออธิบายถึงการที่ความคิดบางเรื่องไม่ได้มีลักษณะที่เป็นสารัตถะหรือแก่นสารที่สามารถระบุนิยามได้อย่างชัดเจนแน่นอน แต่ก็ยังมีชุดรายละเอียดที่เกาะเกี่ยวกันอย่างหลวมๆ สามารถเข้าใจได้

โดยเขายกตัวอย่างการนิยามคำสามคำคือ “ภาษา, เกม และจำนวน” ในที่นี้เราจะขอยกตัวอย่างคำว่า ‘เกม’

วิตต์เก็นสไตน์บอกว่า เมื่อเราพูดถึงคำว่า ‘เกม’ เราหมายถึงอะไรได้บ้าง ก็อาจจะหมายถึง บอร์ดเกม (board-games) เกมไพ่ (card-games) เกมฟุตบอล (ball-games) โอลิมปิกเกมส์ (Olympic-games) และอื่นๆ

แต่ทั้งสี่อย่างนี้ไม่ได้เหมือนทั้งไปเสียทั้งหมด บอร์ดเกมอาจจะเหมือนเกมไพ่แค่บางอย่าง และเกมไพ่ก็อาจจะเหมือนเกมฟุตบอล และเกมฟุตบอลอาจจะมีบางอย่างคล้ายกับโอลิมปิกเกมส์ แต่เราเข้าใจและเรียกสิ่งเหล่านี้ว่าเป็น “เกม” เหมือนกัน

ฉะนั้น คำว่า “เกม” ในที่นี้ไม่ใช่ว่านิยามไม่ได้ นิยามได้ แต่นิยามโดยใช้ “ความคล้ายคลึงกันทางตระกูล” มาอธิบายเพื่อความเข้าใจที่มากขึ้น

เหตุที่ใช้วลี “ความคล้ายคลึงกันทางตระกูล” ก็เพราะว่าสมาชิกในตระกูลๆ หนึ่ง ไม่ได้มีความเหมือนกันเปี๊ยบแบบชนิดที่หลุดออกมาจากพิมพ์เดียวกัน

แต่น้องชายเราอาจจะเหมือนอา ลูกชายของอาอาจจะคล้ายกันปู่ตอนหนุ่มๆ ลูกพี่ลูกน้องของเราอาจจะละม้ายคล้ายกับลุงของเรา ฯลฯ

นั่นคือ ความเป็นตระกูลๆ หนึ่งไม่อาจจะบรรยายหรือระบุได้อย่างชัดเจนว่ามีลักษณะอย่างไร บอกได้แต่เพียงคร่าวๆ หรือลักษณะที่คล้ายคลึงกันไปมาแต่เพียงเท่านั้น

หาได้ต่างจากคำว่า “ซอฟต์เพาเวอร์” แต่อย่างใด เพราะรัฐบาลได้จัดแบ่งงาน แนวทางจัดกิจกรรมต่างๆ จำนวนมากที่ประกอบกันขึ้นรวมเป็นนโยบายหลักของความคิดเรื่องซอฟต์เพาเวอร์

แสดงว่ารัฐบาลรู้อยู่แล้วว่าซอฟต์เพาเวอร์คืออะไร เพราะผู้เขียนไม่อยากคิดร้ายไปเองว่า รัฐบาลไม่มีภาพรวมหรือความเข้าใจจริงๆ ที่มีต่อนโยบายซอฟต์เพาเวอร์ของตัวเอง ถึงอธิบายไม่ได้สักทีว่า ซอฟต์เพาเวอร์คืออะไร อย่างไร

 

คุณอุ๊งอิ๊ง ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ได้กล่าวไว้ในงานสัมมนา Thailand 2024 Beyond Red Ocean ซึ่งจัดโดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ สื่อในเครือมติชน โดยได้ยกตัวอย่างสินค้า “น้ำเต้าหู้” ยี่ห้อหนึ่งที่ก่อร่างสร้างธุรกิจขึ้นมาเองจนเป็นที่นิยมในประเทศแล้ว ยังโด่งดังไปถึงต่างประเทศอีกต่างหาก ว่าเป็น “ซอฟต์เพาเวอร์” ที่สามารถพาประเทศไทยไปยังเวทีโลก

แน่นอนว่าย่อมเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

โดยเฉพาะเสียงโต้ตอบจากคุณช่อ พรรณิการ์ วานิช ในรายการข่าวทางทีวีว่า “น้ำเต้าหู้ไม่ได้เป็นซอฟต์เพาเวอร์อย่างแน่นอน”

เรื่องก็ดูจะจบลงตามท้องเรื่องปกติ หากเจ้าของน้ำเต้าหู้ยี่ห้อดังกล่าวไม่ได้ส่งน้ำเต้าหู้ไปให้คุณช่อเป็นลังหลังจบรายการ นัยว่าขอบคุณคุณช่อและนิยมชมชอบแนวทางของคุณช่อและพรรค เหตุการณ์ดังกล่าวนี้จึงได้รับการตีความและเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันไปต่างๆ นานา

หากพรรคเพื่อไทยยังไม่ตระหนักถึงความสำคัญของการนิยามก็จะต้องเผชิญกับปัญหาเช่นนี้ตลอดไป เพราะหนึ่งในการแก้ไขปัญหาทางปรัชญาที่สำคัญที่สุดก็คือ การนิยาม เพราะถ้าเราไม่นิยามให้ชัดเจน เราก็ไม่สามารถจะถกเถียงให้เป็นที่ยุติได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นความดี ความยุติธรรม ความเสมอภาค ฯลฯ ที่ความคิดเหล่านี้มีปัญหาเสมอเมื่อเกิดข้อถกเถียงกันขึ้น

แน่นอนคำเหล่านี้อาจจะมีสถานะเหมือนคำว่า “ความรัก” ที่มีลักษณะเป็นนามธรรม ยากต่อการนิยาม แต่ยังมีคำจำนวนมากที่อาจจะยากในการนิยาม แต่เราจำเป็นต้องนิยามให้ชัดเจน เมื่อเป็นนโยบายของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็น ความยากจน แรงงาน การศึกษา ประชาธิปไตย ฯลฯ

 

อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น ความคิดบางอย่างไม่อาจจะนิยามได้ในขอบเขตที่แน่นอนตายตัว แต่เราสามารถนิยามให้ชัดเจนได้ในขอบเขตของความสัมพันธ์คาบเกี่ยวทับซ้อนแต่เข้าใจได้ เพราะความคิดเรื่อง “ความคล้ายคลึงกันทางตระกูล” ก็เป็นเครื่องมือทางปรัชญาช่วยให้เรานิยามความคิดหรือนโยบายของเราออกมาได้

ปัญหาเรื่องความเข้าใจที่มีต่อ “ซอฟต์เพาเวอร์” ก็อาจจะลดความเข้าใจผิดหรือข้อโต้แย้งต่างๆ ลงได้

แต่จากที่กล่าวมาทั้งหมด ผู้เขียนชักเริ่มไม่แน่ใจว่านโยบายซอฟต์เพาเวอร์ของรัฐบาลที่เป็นปัญหานั้นมาจากประชาชนไม่เข้าใจนิยามซอฟต์เพาเวอร์ของรัฐบาล หรือรัฐบาลยังไม่ได้นิยามว่าซอฟต์เพาเวอร์คืออะไรกันแน่

หรือพูดอีกอย่างก็คือว่ารัฐบาลเข้าใจจริงๆ หรือยังว่า ซอฟต์เพาเวอร์ที่รัฐบาลจะผลักดันเป็นนโยบายนั้นอันที่จริงคืออะไร