‘เพื่อไทย’ ปรับแผนรุก ชิงธงนำแก้ไข รธน. ตั้งเป้าลดทำประชามติแค่ 2 ครั้ง

หลายปีที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทย (พท.) พยายามเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 หลายต่อหลายครั้งเพื่อผลักดันให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย ขจัดการสืบทอดอำนาจและเผด็จการด้วยการ “สร้างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน”

แต่ทว่า กระบวนการต้องสะดุดหยุดลงไปไม่ถึงฝัน ถูกรัฐสภาตีตก โหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภาเพื่อเข้าสู่กระบวนการแก้ไขได้

จนกระทั่งปัจจุบัน เมื่อพรรค พท. ได้กลับมาเป็นพรรคแกนนำรัฐบาล มี “เศรษฐา ทวีสิน” เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศและผลักดันการแก้รัฐธรรมนูญให้เป็น “นโยบายเร่งด่วน” พร้อมแถลงต่อที่ประชุมรัฐสภาเมื่อ 11 กันยายน 2566 ระบุว่า “การแก้ปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เพื่อให้คนไทยได้มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ยึดรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และไม่แก้ไขในหมวดพระมหากษัตริย์”

“รัฐบาลจะหารือแนวทางในการทำประชามติที่ให้ความสำคัญกับการทำให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมออกแบบกฎ กติกาที่เป็นประชาธิปไตย ทันสมัยและเป็นที่ยอมรับร่วมกัน รวมถึงการหารือแนวทางการจัดทำรัฐธรรมนูญในรัฐสภาเพื่อให้ประเทศสามารถเดินต่อไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง”

 

ฉะนั้น การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดแรก รัฐบาลจึงมอบหมาย “ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีคนที่ 1 เป็นผู้รับผิดชอบ แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ยึดเอาแนวทางของศาลรัฐธรรมนูญเป็นสำคัญ โดยใช้เวทีรัฐสภาหารือรูปแบบแนวทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการทำประชามติ เพื่อให้ประชาชนทุกภาคส่วนร่วมออกแบบกฎกติกาที่เป็นประชาธิปไตยร่วมกัน

โดยการทำงานตลอด 3 เดือนของคณะกรรมการชุดนี้ ผ่านการขับเคลื่อนของ 2 อนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติ ที่มีนายนิกร จำนง เป็นประธาน ได้ลงพื้นที่เดินสายรับฟังความเห็นทุกภาคส่วนทั่วประเทศ มากลั่นกรองจนตกผลึกและได้ข้อสรุปร่วมกันว่า การทำประชามติ ควรทำ 3 ครั้ง ดังนี้

1. การทำประชามติเพื่อสอบถามประชาชนว่าเห็นด้วยกับการทำรัฐธรรมนูญใหม่

2. การทำประชามติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (การสอบถามที่มาของ ส.ส.ร.)

และ 3. การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ภายหลังยกร่างเสร็จ

ส่วนการทำประชามติครั้งแรก มีมติเสนอตั้งคำถามว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์”

นอกจากนี้ จะรวบรวมข้อเสนอแนะต่างๆ ส่งถึงนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ

ดังนั้น คาดว่าประชามติครั้งแรกจะเกิดขึ้นภายในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2567

 

ทว่า ระหว่างที่ “ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานกรรมการศึกษาทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ กำลังจัดเตรียมสรุปรายงานเพื่อนำเสนอนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี (ครม.) ล่าสุด พรรคเพื่อไทย (พท.) จำนวน 122 คน ได้ร่วมกันลงชื่อเสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ (ฉบับที่…) พ.ศ…. ต่อประธานรัฐสภา เพื่อเปิดทางให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 นำไปสู่การทำประชามติสอบถามประชาชนและยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

โดยคณะทำงานของพรรค พท.เห็นว่า สาระสำคัญของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ มีการระบุว่า ให้ถามประชาชนก่อน ว่าต้องการจะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และการถามประชาชนก่อน ขณะที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าอยู่ในขั้นตอนใด ซึ่งอาจตีความได้ว่าสามารถเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อแก้ไขวิธีแก้รัฐธรรมนูญ และเพิ่มเติมหมวดการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยกระบวนการ ส.ส.ร. ไปก่อนได้

เมื่อรัฐสภาอนุมัติร่างแก้ไขมาตรา 256 ในวาระสามแล้ว จึงไปสอบถามประชาชน ว่าเห็นชอบให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยถามพร้อมไปกับคำถามที่ว่า เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมหรือไม่ โดยขณะที่สอบถาม ยังไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เกิดขึ้น จึงถือได้ว่า ได้สอบถามประชาชนก่อนจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ หากทำได้เช่นนั้น สามารถลดการทำประชามติเหลือเพียง 2 ครั้ง ทำให้ลดภาระงบประมาณได้ 3-4 พันล้านบาท

จึงเห็นว่าประเด็นดังกล่าว ผู้ที่จะชี้ขาดคือศาลรัฐธรรมนูญ

 

เรื่องนี้ ชูศักดิ์ ศิรินิล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรค อธิบายเหตุผลว่า พรรค พท.มีความตั้งใจ และเห็นด้วยกับนโยบายของรัฐบาลในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และเข้าใจดีถึงความซับซ้อน ความเห็นที่แตกต่างกันในข้อกฎหมาย

เจตนาที่เสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมในครั้งนี้ เป็นไปเพื่อหาข้อยุติว่า ควรทำประชามติกี่ครั้ง หากสามารถหาคำตอบได้ว่า ทำประชามติเพียง 2 ครั้ง กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะมีความกระชับ และไม่สิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดินเกินความจำเป็น

ไม่ได้มีเจตนาที่จะไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ปัญหาเกิดจากคำวินิจฉัยที่ยังไม่ชัดเจนในเรื่องดังกล่าว จึงต้องทำให้เกิดความชัดเจนเท่านั้น หากในที่สุดแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัยในเรื่องนี้ จะถือว่าปัญหาการทำประชามติก็จะจบลง และทุกฝ่ายต้องปฏิบัติตาม

“เราแก้มาตรา 256 และเพิ่มเติมคือเรื่อง ส.ส.ร. และหากไปถามประชาชนในตอนนั้น และหากในตอนนั้นยังไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เราคิดว่าแบบนี้จะเป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และเราคิดว่าไม่ได้เป็นการขัดคำวินิจฉัยอะไร” ชูศักดิ์อธิบาย

 

ส่วนจุดยืนของพรรคก้าวไกล (ก.ก.) “พริษฐ์ วัชรสินธุ” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ออกมายอมรับว่า เห็นด้วยกับพรรคเพื่อไทย ที่เสนอว่าตามหลักกฎหมายการทำประชามติ 2 ครั้งก็เพียงพอแล้ว ไม่ติดใจกับข้อเสนอของพรรค พท. พร้อมให้ความร่วมมือ

แต่โจทย์สำคัญคือ ทั้งสองพรรคต้องร่วมมือกันหาแนวทางโน้มน้าวให้สมาชิกรัฐสภา โดยเฉพาะ ส.ว. เห็นชอบกับการทำประชามติ 2 ครั้ง

ส่วนอีกโจทย์สำคัญคือเชิงรายละเอียด ทั้งรูปแบบและที่มาของอำนาจสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) โดยพรรค ก.ก. ได้เตรียมร่างแก้ไขที่จะยื่นประกบกับร่างของพรรค พท. ซึ่งมีทั้งส่วนที่เหมือนกันและแตกต่างกัน

ฟาก “ภูมิธรรม เวชยชัย” ในฐานะประธานคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ มองว่า การยื่นของพรรคเพื่อไทย เป็นเรื่องของพรรคการเมือง ไม่ได้ตั้งประเด็นให้เกิดความขัดแย้ง แต่ฝ่ายการเมืองมีความเป็นห่วงและรวมถึงรัฐบาลก็เป็นห่วงเช่นกันว่าจะทำประชามติให้ถูกต้องกี่ครั้ง เพราะมีหลายคนยืนยันว่าทำแค่ 2 ครั้งก็พอ

ถ้าได้ 2 ครั้งจริงก็ประหยัดเงินไปได้ 3,000 กว่าล้าน แต่หากว่ามีหลักประกันว่า ใช้เงินเพิ่มแล้วรัฐธรรมนูญผ่าน เราก็ยินดี แต่ถ้าประหยัดได้โดยศาลรัฐธรรมนูญระบุไว้ก็จะสามารถทำได้

แต่หากรัฐบาลไปถามกับศาลเองก็จะไม่มีคำตอบอะไร เพราะเหตุยังไม่เกิด ศาลอาจจะไม่รับวินิจฉัย แต่หากสภาเสนอเข้าไป และมีการคุยกัน หากเกิดความขัดแย้ง เหตุมันเกิดก็จะสามารถยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้

อย่างไรก็ดี หลังจากนี้คงต้องจับตาดูว่า กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ ทั้ง ‘ฝ่ายรัฐบาล’ และ ‘ฝ่ายค้าน’ ต้องการผลักดันให้เกิดความสำเร็จ จะไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญอีกครั้งหรือไม่?