ปิยบุตร แสงกนกกุล : ศาลไทยกับรัฐประหาร (1)

รัฐประหารโดยกองทัพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยและยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาล เกิดขึ้นในประเทศไทยนับรวมได้ 10 ครั้ง

ได้แก่ รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490
รัฐประหาร 29 พฤศจิกายน 2494
รัฐประหาร 16 กันยายน 2500
รัฐประหาร 20 ตุลาคม 2501
รัฐประหาร 17 พฤศจิกายน 2514
รัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519
รัฐประหาร 20 ตุลาคม 2520
รัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534
รัฐประหาร 19 กันยายน 2549
รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557

ในการรัฐประหารแต่ละครั้ง ศาลไทยย่อมมีโอกาสได้พิพากษาคดีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหาร

จากการศึกษาของ สมชาย ปรีชาศิลปกุล ในวิทยานิพนธ์เรื่อง “ปัญหาทางกฎหมายบางประการเกี่ยวกับการปฏิวัติ” และจากการศึกษาของ พุฒิพงศ์ มานิสสรณ์ ในวิทยานิพนธ์เรื่อง “การใช้กำลังทหารล้มล้างรัฐธรรมนูญ : ศึกษาสถานะและผลทางกฎหมายของการยึดอำนาจ 19 กันยายน 2549”

พบว่า ศาลไทยมีคำพิพากษาเกี่ยวกับรัฐประหารครั้งแรก คือ รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490

กรณีดังกล่าว มีข้อเท็จจริงอยู่ว่า จ่าสิบเอกเปรื่อง นวารัตน์ และ สิบเอกประเทือง อินทรอำ ได้ยุยงให้ทหารนายอื่นๆ กำเริบและไม่ปฏิบัติตามหน้าที่และไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ทั้งนี้ เพื่อช่วยเหลือสนับสนุนคณะรัฐประหาร ต่อมาศาลมณฑลทหารบกตัดสินให้ทั้งสองคนถูกจำคุก แต่ศาลทหารบกกลางพิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง อัยการศาลทหารได้ฎีกา

ศาลฎีกาในคำพิพากษาฎีกาที่ 1874/2492 ได้ยกฟ้อง โดยให้เหตุผลว่า แม้การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดทางวินัยทหารและมีโทษจำคุก แต่เนื่องจากมีพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการรัฐประหาร พ.ศ.2490 แล้ว

ดังนั้น การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงได้รับการนิรโทษกรรมไปหมดแล้ว

 

หลังจากนั้นเป็นต้นมา ศาลไทยก็มีโอกาสในการพิพากษาคดีที่เกี่ยวพันกับรัฐประหารอยู่อีกหลายครั้ง ซึ่งเราอาจแบ่งได้เป็นสองประเภท ได้แก่

ประเภทแรก คำพิพากษาในคดีที่ฟ้องเอาผิดกับผู้ก่อการรัฐประหาร

ประเภทที่สอง คำพิพากษาในคดีที่มีประเด็นต้องพิจารณาถึงสถานะของการรัฐประหาร ความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและความชอบด้วยกฎหมายของบรรดาประกาศ คำสั่ง และการกระทำทั้งหลายของคณะรัฐประหาร

ในกลุ่มคำพิพากษาประเภทแรกนั้น ได้แก่ กรณีที่มีการดำเนินคดีและฟ้องว่าคณะรัฐประหารกระทำความผิดอาญาฐานกบฏตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 เท่าที่พอสืบค้นได้ จนถึงปัจจุบันนี้ มีคำพิพากษาในเรื่องดังกล่าวรวม 4 กรณี

กรณีแรก นายอุทัย พิมพ์ใจชน นายบุญเกิด หิรัญคำ และ นายอนันต์ ภักดิ์ประไพ ฟ้อง “คณะปฏิวัติ” ผู้ก่อการรัฐประหาร 17 พฤศจิกายน 2514

วันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 จอมพลถนอม กิตติขจร และคณะนายทหารในนามของ “คณะปฏิวัติ” ได้ก่อการรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลของตนเอง ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2511 ประกาศให้สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และคณะรัฐมนตรีสิ้นสุดลง

คณะปฏิวัติอธิบายเหตุผลว่า

“ได้พิจารณาถึงสถานการณ์ของโลกและภัยที่คุกคามประเทศโดยละเอียดแล้ว เห็นว่าจะมีผลกระทบกระเทือนถึงความมั่นคงของประเทศและราชบัลลังก์ และกำลังทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นเป็นลำดับ ทั้งมุ่งจะเปลี่ยนระบอบการปกครองไปสู่ระบอบอื่นซึ่งมิใช่ระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

นอกจากนี้ คณะรัฐประหารยังอ้างว่า “มีบุคคลบางจำพวกอาศัยสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ยุยงบ่อนทำลาย ใช้อิทธิพลทั้งภายในและภายนอกสภานิติบัญญัติ ก่อกวนการบริหารราชการของรัฐบาล”

และการแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยวิถีทางรัฐธรรมนูญย่อมไม่ทันการ จึงจำเป็นต้องยึดอำนาจการปกครอง

 

ต่อมา ในวันที่ 9 มีนาคม 2515 นายอุทัย พิมพ์ใจชน ส.ส.ชลบุรี พรรคประชาธิปัตย์ นายบุญเกิด หิรัญคำ ส.ส.ชัยภูมิ พรรคประชาธิปัตย์ และ นายอนันต์ ภักดิ์ประไพ ส.ส.พิษณุโลก ไม่สังกัดพรรค ได้ฟ้อง จอมพลถนอม กิตติขจร และพวกรวม 17 คน เป็นจำเลยต่อศาลอาญา ในข้อหากบฏตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113

โจทก์ทั้งสามยืนยันว่าพวกตนเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้องในคดีนี้ เพราะจำเลยได้ร่วมกันทำผิดกฎหมาย เป็นกบฏ ร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายและขู่เข็ญคนไทยทั้งประเทศว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อล้มล้างรัฐธรรมนูญ ล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ คณะรัฐประหารยังได้สั่งกำลังทหารติดอาวุธไปประจำการตามจุดสำคัญ ทำให้เจ้าหน้าที่และโจทก์ทั้งสามเกรงกลัวว่าจำเลยจะประทุษร้ายด้วยกำลังกายและอาวุธ

นอกจากนี้ จำเลยที่ 1 (จอมพลถนอม กิตติขจร) ยังได้ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ และสภาผู้แทนฯ ทำให้โจทก์ไม่อาจไปประชุมสภาผู้แทนฯ เพื่อทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายมาจากปวงชนชาวไทยได้

 

ศาลอาญาโดยมีองค์คณะประกอบด้วย นายสีห์ คลายนสูตร นายอำนวย อินทุภูติ นายโชค จารุจินดา ได้มีคำพิพากษาหมายเลขแดงที่ 1295/2515 เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2515 ยกฟ้อง เพราะโจทก์ทั้งสามคนไม่ใช่ผู้เสียหาย จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ศาลอาญาให้เหตุผลว่า

“หากตีความไปโดยนัยกว้างๆ แล้ว โจทก์ซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องสิ้นสภาพการเป็นสมาชิกไปก็ดี ไปประชุมสภาไม่ได้ก็ดี ต้องขาดเงินเดือนหรือผลประโยชน์รายได้หรือที่คาดว่าจะได้ไปก็ดี ก็น่าจะถือว่าโจทก์ทั้งสามเป็นผู้เสียหาย และในขณะเดียวกันก็อาจมีบุคคลอื่นๆ อีกที่จะเป็นผู้เสียหายฟ้องคณะปฏิวัติได้ในข้อหาเดียวกันนี้… เป็นต้นว่า ราษฎรในจังหวัดที่โจทก์แต่ละคนเป็นผู้แทนฯ หรือราษฎรในจังหวัดอื่นๆ จะฟ้องว่าการปฏิวัติของคณะปฏิวัติทำให้เขาเสียหายต้องกลายเป็นราษฎรที่ไม่มีผู้แทนฯ ไป อย่างนี้เป็นต้น เรียกว่าฟ้องกันได้ทั่วประเทศ ซึ่งถ้าหากเป็นไปได้ถึงเพียงนั้นแล้ว แทนที่จะเกิดความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง กลับจะเกิดเป็นความระส่ำระสายเสียด้วยซ้ำ”

นอกจากนี้ ศาลอาญายังเห็นว่า “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรย่อมมีสิทธิและหน้าที่เท่าที่กฎหมายบัญญัติไว้ เมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติให้ผู้แทนราษฎรเป็นผู้เสียหายหรือมีสิทธิฟ้องคดีในประเภทใดได้โดยเฉพาะแล้ว ผู้แทนราษฎรก็ไม่มีสิทธิเช่นนั้น”

ภายหลังจากศาลอาญาพิพากษายกฟ้อง จอมพลถนอม กิตติขจร ในฐานะหัวหน้าคณะปฏิวัติได้มีคำสั่งหัวหน้าคณะปฏิวัติที่ 16/2515 สั่งให้ลงโทษจำคุก นายอุทัย พิมพ์ใจชน เป็นเวลา 10 ปี สั่งลงโทษจำคุก นายอนันต์ ภักดิ์ประไพ และ นายบุญเกิด หิรัญคำ คนละ 7 ปี

โดยคณะปฏิวัติให้เหตุผลว่า นายอุทัย นายอนันต์ และนายบุญเกิด ได้บรรยายฟ้องว่าเหตุเกิดในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง ทั้งๆ ที่ในเวลานั้นยังมิได้มีการปฏิวัติ ย่อมแสดงให้เห็นว่าทั้งสามคนบิดเบือนความจริง เพื่อต้องการให้ศาลอาญารับฟ้อง เพราะอยากใช้กระบวนพิจารณาของศาลกระตุ้นให้ประชาชนเกิดความรู้สึกว่าคณะปฏิวัติเป็นกบฏอยู่ตลอดไป มุ่งหวังให้ประชาชนเคลือบแคลงใจในฐานะของคณะปฏิวัติ

นอกจากนี้ คณะปฏิวัติยังอธิบายต่อไปอีกว่า การบรรยายฟ้องเพื่ออ้างว่าจอมพลถนอมและพวกกระทำความผิดนั้น เป็นความเท็จ คณะปฏิวัติไม่ได้ใช้กำลังประทุษร้ายผู้ใดเลย

สิ่งที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งในคำสั่งหัวหน้าคณะปฏิวัติฉบับนี้ คือ การอ้างว่าทั้งสามคนต่างก็เคยเป็น ส.ส. ย่อมรู้กฎหมายดี โดยเฉพาะ นายอุทัย พิมพ์ใจชน ที่เป็นนิติศาสตรบัณฑิตและเนติบัณฑิตไทย ยิ่งต้องทราบว่า

“เมื่อคณะปฏิวัติหรือคณะรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองเป็นผลสำเร็จแล้ว อำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศหรืออำนาจอธิปไตยย่อมเป็นของคณะปฏิวัติ คณะปฏิวัติหรือหัวหน้าคณะปฏิวัติย่อมใช้อำนาจอธิปไตยได้ทุกวิถีทาง”

มีข้อน่าสังเกตว่าคำสั่งหัวหน้าคณะปฏิวัติฉบับนี้ ได้อ้างถึงคำพิพากษาศาลอาญาที่ 1295/2515 อยู่บ่อยครั้ง ทั้งนี้ก็เพื่อนำมาสนับสนุนว่า ศาลยังตัดสินยกฟ้องเพราะเกรงว่าหากวินิจฉัยให้ทั้งสามคนเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้องจอมพลถนอมและพวกได้ ราษฎรทั้งประเทศก็จะฟ้องคณะปฏิวัติได้ ทำให้เกิดความไม่สงบตามมา

ดังนั้น การฟ้องจอมพลถนอมและพวกฐานกบฏนี้จึง “เจตนาให้เกิดความปั่นป่วนและกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนจนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในบ้านเมืองได้”

คำสั่งหัวหน้าคณะปฏิวัติได้สรุปไว้ในตอนท้ายว่า การฟ้องคดีของทั้งสามคนนี้ไม่ใช่การใช้สิทธิโดยสุจริต แต่ต้องการชักจูงให้ประชาชนหลงผิดว่าการกระทำของคณะปฏิวัติเป็นการกระทำของพวกกบฏ

“ถ้าประชาชนหลงผิดว่าคณะปฏิวัติยังเป็นกบฏอยู่ ก็อาจเกิดความกระด้างกระเดื่องขึ้นในหมู่ประชาชนถึงขนาดอาจไม่ยอมปฏิบัติตามกฎหมาย…”

ถือได้ว่า การฟ้องคดีของทั้งสามคนนี้ เป็น “การกระทำร้ายแรงกระทบกระเทือนความสงบในราชอาณาจักรและต่อต้านล้มล้างคณะปฏิวัติ” จึงต้องลงโทษจำคุกทั้งสามคน

จะเห็นได้ว่า กรณี นายอุทัย พิมพ์ใจชน นายอนันต์ ภักดิ์ประไพ และ นายบุญเกิด หิรัญคำ ฟ้อง จอมพลถนอม กิตติขจร และพวก เป็นจำเลยในข้อหากบฏนี้ นอกจากศาลอาญาจะยกฟ้องโดยอ้างว่าโจทก์ทั้งสามไม่ใช่ผู้เสียหายแล้ว และนอกจากจอมพลถนอมและพวกผู้ก่อการรัฐประหารจะไม่ถูกดำเนินคดีใดๆ แล้ว ทั้งสามคนกลับถูกจอมพลถนอมใช้อำนาจเผด็จการลงโทษให้จำคุกอีกด้วย

สัปดาห์หน้า มาว่ากันต่อในกรณี เรืออากาศตรีฉลาด วรฉัตร ฟ้องคณะรัฐประหารถึงสองครั้ง