แรงงานไรเดอร์ : รูปแบบการจ้างที่พยายามทำลายอำนาจการต่อรอง ที่ต่ำกว่ามาตรฐานสากล

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีการนำเสนอข่าวเรื่องการปรับค่ารอบของแพลตฟอร์มบริการส่งอาหารรายหนึ่ง

ซึ่งนำไปสู่การตั้งคำถาม และการประท้วงของกลุ่ม “ไรเดอร์” หรือผู้ที่รับงานผ่านทางแพลตฟอร์ม จนนำไปสู่การตั้งคำถามและทบทวนอีกครั้งว่า “ไรเดอร์” ที่รับงานผ่านแพลตฟอร์ม มีสถานะอย่างไร

ไม่ว่าจะเป็นสถานะทางปฏิบัติ และสถานะทางกฎหมาย อำนาจต่อรองเป็นเช่นไร

และเราในฐานะผู้บริโภคควรพิจารณาเรื่องนี้อย่างไร เมื่อเรากำลังพิจารณาถึงคนที่รับงานผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ มากกว่า 300,000 คนทั้งประเทศ

และเป็นกลุ่มที่เข้ามามีส่วนในพฤติกรรมการบริโภคของผู้คนมากขึ้นในปัจจุบัน

 

ก่อนที่ผมจะพิจารณาถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เกิดกับแรงงาน “ไรเดอร์” ที่มีปัญหาทุกมิติ

ผมอยากฉายภาพถึงสถานภาพของธุรกิจกลุ่มนี้ ซึ่งเริ่มต้นจากปัญหาผังเมือง ขนส่งสาธารณะ การเข้าถึงความหลากหลายของอาหารมีจำกัดอย่างมากในสังคมไทย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มชนชั้นกลางใหม่ที่ไม่สามารถอาศัยในพื้นที่เมือง และอยู่ตามชุมชนที่เกิดใหม่ห่างไกลจากชุมชนดั้งเดิม

การเข้าถึงความหลากหลายทางอาหารกลายเป็นปัญหาใหญ่สำหรับชุมชนใหม่ ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล รวมถึงเมืองใหญ่ต่างๆ

ค่าใช้จ่ายด้านอาหารจึงพ่วงเข้าไปกับค่าใช้จ่ายด้านการเดินทาง ซึ่งกลายเป็นภาระที่หนักเข้าไปอีกสำหรับชนชั้นกลางที่เริ่มชีวิตและชักหน้าไม่ถึงหลังในแต่ละเดือน

ประกอบกับในช่วงสิบปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจใหม่ แรงงานอิสระเพิ่มมากขึ้นในช่วงวิกฤตโควิด-19 การทำงานอิสระตามบ้าน หรือการทำงานประจำแต่ไม่ต้องเข้าสำนักงาน ความต้องการอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งถึงบ้าน ก็กลายเป็นเรื่องจำเป็นที่ขาดไม่ได้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ธุรกิจรับส่งอาหารจึงขยายตัวขึ้นอย่างมาก

 

การขยายตัวในก็ไม่ใช่ปัญหาอะไร

ด้านหนึ่งเมื่อสิบปีก่อนจะมีเฉพาะร้านอาหาร “เชน” ใหญ่ๆ เท่านั้นที่มีบริการส่งอาหาร

แต่เมื่อธุรกิจรับส่งอาหารขยายตัวมากขึ้นก็ทำให้ร้านเล็กๆ ที่ขายอาหารในชีวิตประจำวัน ร้านข้าวแกง ก๋วยเตี๋ยว ที่ไม่มีชื่อเสียง ไม่มีพนักงานรับส่งก็สามารถส่งอาหารของตนเองเข้าสู่ผู้บริโภคได้

เป็นการขยายตลาดให้ธุรกิจรายย่อย และผู้บริโภคมีโอกาสได้รับทางเลือกที่หลากหลายมากขึ้น

ปัญหาไม่ใช่ตัวแบบธุรกิจ แต่คือตัวแบบการสะสมทุนของบริษัทที่ทำงานด้านนี้ ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์กับร้านค้า หรือตัวผู้ใช้แรงงานที่เข้ามาเป็นคนขับส่งสินค้า ที่มีความไม่เป็นธรรมในการรับผิดชอบต่อสุขภาพและอุบัติเหตุ รวมถึงต้นทุนที่ผู้ใช้งานต้องเป็นคนแบกรับเอง

พร้อมทั้งในระยะหลัง ก็มีการหักส่วนแบ่งเปอร์เซ็นต์กับร้านค้าในสัดส่วนที่สูง และก็กลายเป็นเหตุปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ราคาสินค้าและบริการเพิ่มสูงมากขึ้น

กลายเป็นว่าทั้งผู้บริโภค ไม่ว่าร้านค้า คนขับส่งสินค้าต่างๆ เป็นผู้แบกรับต้นทุนให้บริษัทแพลตฟอร์มทั้งหลายเหล่านี้มั่งคั่งมากขึ้น

โดยที่เราไม่สามารถจะรวมตัวตั้งคำถามกับความไม่เป็นธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นได้เลย

แม้จะมีบริษัทแพลตฟอร์มที่หลากหลายมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่ตัวแบบการสะสมทุนที่ไม่ได้แตกต่างไปมากนัก และไม่ได้ทำให้คุณภาพชีวิตของไรเดอร์แตกต่างไปแต่อย่างใด

คำอธิบายหลักคือ ไรเดอร์เป็นพาร์ตเนอร์กับบริษัท มีการทำงานที่มีความยืดหยุ่น ทำงานเมื่อไรก็ได้ ดูเหมือนจะไม่เป็นความจริง

เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นคือ การออกแบบตัวแบบค่าจ้างหลายอย่าง รวมถึง Algorithm ในการรับงานฝั่งบริษัทมีอำนาจเต็มในการกำหนดลักษณะการทำงานของไรเดอร์ ลักษณะเช่นนี้จึงแตกต่างจากการเป็น “หุ้นส่วน” แต่เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่าง “นายจ้าง” และ “แรงงาน” อย่างชัดเจน ในเงื่อนไขของการที่บริษัทสามารถกำหนดค่าจ้าง แนวทางการทำงาน

แต่ความแตกต่างสำคัญคือ คุณภาพชีวิตของไรเดอร์ไม่ได้รับการดูแลแต่อย่างใด

ต้นทุนการประกอบอาชีพ อุปกรณ์ รวมถึงความเสี่ยงในอุบัติเหตุต่างๆ ก็ไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม

 

ตัวแบบการสะสมทุนนี้ จึงตรงกับสิ่งที่ เดวิด ฮาร์วีย์ นักวิชาการฝ่ายซ้ายชาวอังกฤษเรียกว่า “การสะสมผ่านการปล้นชิง”

คือการเข้าไปตักตวงสิ่งที่ไม่เคยมีใครเป็นเจ้าของ เป็นสินค้าสาธารณะ และแสวงหากำไรอย่างเต็มที่

กรณีนี้ที่เกิดกับแรงงานไรเดอร์ก็เช่นกัน คำถามสำคัญคือการปล่อยให้กลุ่มทุนสามารถวางเงื่อนไขการทำงานที่ต่ำกว่ามาตรฐาน แม้แต่กับกฎหมายแรงงานไทย ถือว่าเป็นเรื่องปกติหรือไม่

ในสเปน ได้ผ่านกฎหมายไรเดอร์ ตั้งแต่ปี 2564 โดยกำหนดว่า ไรเดอร์เป็นแรงงาน ด้วยเหตุผลที่ว่าต้องเผชิญกับการควบคุมและสั่งการทางตรงหรือทางอ้อม ผ่านอัลกอรึธึ่มกำหนดราคา เงื่อนไขการให้บริการ ไรเดอร์ไม่มีอิสระ ไม่สามารถต่อรองการกำหนดอัลกอริธึ่มได้

ถ้าเช่นนั้น ไรเดอร์จึงไม่ใช่ผู้ประกอบการอิสระ แต่เป็นลูกจ้างที่ต้องได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน และได้รับสวัสดิการต่างๆ ตามกฎหมายแรงงาน

“รายงานวิจัย การศึกษาข้อเรียกร้องของกลุ่มแรงงานแพลตฟอร์มและข้อเสนอแนะ สำหรับการพัฒนาสวัสดิการที่เหมาะสม” โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอกพลณัฐ ณัฐพัทธนันท์ และอาจารย์ ดร.กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์ ได้สำรวจว่า จาก 53 ประเทศ มีมากกว่าร้อยละ 50 ที่นิยามไปแล้วว่า ไรเดอร์เป็นลูกจ้างที่ต้องได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน ซึ่งถือว่าไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ที่ท้าทายแต่อย่างใด

เช่นเดียวกัน กองทุนบำนาญของนอร์เวย์ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นกองทุนที่มีความโปร่งใส ก็ยังมีเงื่อนไขคำนึงว่า บริษัทที่มีการสะสมทุนแบบใหม่ต้องปฏิบัติกับลูกจ้างโดยให้ได้รับค่าจ้างและสวัสดิการตามกฎหมายแรงงานและเปิดเผยกลไกการใช้ AI ในการสะสมทุน จึงจะถือเป็นบริษัทที่มีธรรมาภิบาล และสามารถลงทุนร่วมได้

ดังนั้น เงื่อนไขสำคัญที่เราจำเป็นต้องพิจารณาคือ ปัญหาไม่ใช่อยู่ที่ตัวแบบธุรกิจ และการให้บริการ

แต่ปัญหาคือตัวแบบการสะสมทุนที่ไม่เป็นธรรม และไม่เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสามารถต่อรองภายใต้เงื่อนไขการสะสมทุนนี้

หากปล่อยเรื่องนี้ต่อไป สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือการขูดรีดอย่างแสนสาหัส ที่ผู้บริโภค ไรเดอร์ ร้านค้า ไม่สามารถอยู่ได้

อันทำให้ค่าครองชีพของคนทั้งระบบสวนทางกับค่าจ้างที่แท้จริง ภายใต้รูปแบบการสะสมทุนในลักษณะนี้