เบี้ยบ้ายรายทาง | ธงทอง จันทรางศุ

ธงทอง จันทรางศุ

สองสามวันก่อนผมเป็นแขกรับเชิญของกรมธนารักษ์เดินทางไปจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อไปร่วมอภิปรายเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และคุณค่าของกำแพงเมืองและประตูเมืองของเมืองเชียงใหม่

ฟังดูแปลกไหมครับ ที่เจ้าภาพเรื่องนี้ไม่ใช่กรมศิลปากร แต่เป็นกรมธนารักษ์

ขอเฉลยความสงสัยของท่านทั้งหลายว่า กรมธนารักษ์นั้น นอกจากมีหน้าที่ในเรื่องการผลิตเหรียญกษาปณ์ เหรียญที่ระลึก และจัดสร้างเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทั้งหลายแล้ว

กรมยังมีหน้าที่สำคัญอีกด้านหนึ่ง คือการดูแลที่ราชพัสดุ ได้แก่ ที่ดินบรรดาที่เป็นของหลวงทั้งประเทศ

แม้กระทั่งที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งสถานที่ราชการทั้งหลาย ไปเปิดดูโฉนดเถิดครับ จะพบว่าที่ดินเหล่านั้นมีชื่อเจ้าของโฉนด คือกรมธนารักษ์ทั้งสิ้น

หน่วยราชการทุกกระทรวง ทบวง กรมเป็นแต่เพียงผู้ใช้ประโยชน์โดยได้รับอนุญาตจากกรมธนารักษ์

บรรดาที่ดินที่เป็นของหลวงทั้งประเทศที่ผมว่ามาในย่อหน้าข้างต้น ไม่ได้มีแต่เฉพาะที่ดินที่เป็นที่ตั้งหน่วยงานสถานที่ราชการเท่านั้น หากแต่รวมไปถึงกำแพงเมือง ประตูเมือง และคูเมืองของจังหวัดเชียงใหม่ด้วย

อย่าสับสนกับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานนะครับ สถานที่ดังกล่าวขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน โดยกรมศิลปากรมีหน้าที่ปกป้องดูแล แต่กรรมสิทธิ์เป็นของกรมธนารักษ์ครับ

เปรียบก็เหมือนกับวัดวาอารามต่างๆ ที่เป็นโบราณสถาน แต่วัดก็ยังคงเป็นวัด โฉนดก็ออกในนามของวัด หากแต่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานในความดูแลของกรมศิลปากรแล้ว เจ้าของกรรมสิทธิ์จะทำอะไรกับโบราณสถานก็ต้องเหลียวดูกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

รวมทั้งการขออนุญาตจากกรมศิลปากรด้วย

กรมธนารักษ์ จัดกิจกรรม “มนต์ฮัก รักษ์เวียง Chiang Mai’s Memnories Season 2” ที่ประตูท่าแพ

ในวันที่เป็นวันจัดงานและผมขึ้นไปเป็นผู้ร่วมสนทนาด้วยนั้น มีการออกร้านรวงจากชุมชนทั้งหลาย เพื่อขายสินค้าหัตถกรรมพื้นเมือง รวมทั้งมีการออกร้านโฆษณาผลิตภัณฑ์ของกรมธนารักษ์ด้วย

ผมก็เพิ่งรู้นี่แหละครับว่า นอกจากพิพิธภัณฑ์เหรียญกษาปณ์และพิพิธบางลำพูที่กรุงเทพฯ แล้ว กรมธนารักษ์ยังมีพิพิธภัณฑ์สาขาย่อยอยู่อีกหลายจังหวัด รวมทั้งที่เชียงใหม่ด้วย

บูธของกรมธนารักษ์ที่ว่า มีการแจกของชำร่วยเป็นที่ระลึกให้กับผู้ที่แวะไปเยี่ยมชมด้วย

ของที่ระลึกนั้นเป็นหอยตัวเล็กหนึ่งตัว บรรจุอยู่ในซองพลาสติก มีคำอธิบายว่านี่คือ เบี้ย ซึ่งเป็นเงินปลีกในสมัยโบราณ

ท่านผู้อ่านโปรดให้อภัยผู้เขียนที่เลอะเทอะด้วย เขียนเรื่องกำแพง เรื่องประตูมาเสียตั้งนาน สิ่งที่ตั้งใจจะพูดจริงๆ วันนี้คือเรื่อง เบี้ย ครับ

 

พวกเราทุกคนย่อมเข้าใจมาแต่เดิมแล้วว่า ก่อนเกิดมีระบบเงินตราขึ้นในประเทศทั้งหลาย เมื่อมนุษย์เริ่มทำการค้าขายกัน วิธีการแลกเปลี่ยนเป็นการตกลงค้าขายที่ง่ายที่สุด อย่างที่สำนวนไทยบอกว่า หมูไปไก่มา ทั้งนี้เพราะต่างคนต่างมีข้าวของคนละอย่าง มีความสามารถในการผลิตหรือการเสาะแสวงหาที่ไม่เหมือนกัน คนหนึ่งปลูกข้าวเก่ง อีกคนหนึ่งล่าสัตว์เก่ง เพื่อให้ทั้งสองคนมีทั้งข้าวและมีทั้งสเต๊กกิน คนสองคนนี้ก็ต้องมาตกลงแลกเปลี่ยนกัน เมื่อแลกเปลี่ยนแล้วก็จะสมประโยชน์ทั้งสองฝ่าย

ฟังดูง่ายดี แต่ชีวิตจริงไม่ง่ายถึงขนาดนั้นนะครับ

การตกลงแลกเปลี่ยนสินค้าแบบนั้น เป็นธรรมดาที่จะมีปัญหาได้หลายแง่มุม เช่น ผมไม่อยากได้หมูทั้งตัว ไม่อยากได้ข้าวทั้งท้องนา เราจะแบ่งสินค้าเป็นหน่วยย่อยได้อย่างไร

ถ้ามีอะไรสักอย่างเป็นมาตรฐานเพื่อให้ทุกคนที่มีสินค้าสามารถเชื่อมโยงเข้ามาหาเกณฑ์กลางได้ก็น่าจะดี

ตรงนี้เองที่ระบบเงินตราได้เกิดขึ้น

ผู้ที่สนใจเรื่องเก่าย่อมเคยได้ยินคำว่า เงินพดด้วง กันมาบ้างแล้ว เงินพดด้วงคือเงินธรรมชาติที่นำมาขอเป็นรูปงอคล้ายก้อนเงินกลม แล้วมีการประทับตราของทางราชการเพื่อเป็นการรับรองว่าเป็นของแท้ ไม่ใช่ของปลอม บางประเทศที่มีทองมาก เขาก็ใช้ทองเป็นเงินตราแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้า

นอกจากเงินตราที่ทำจากเงินและทองหรือโลหะมีค่าอย่างอื่นแล้ว ตลาดยังต้องการเงินปลีกเพื่อประโยชน์ในการซื้อขายรายย่อยด้วย ครั้นจะแบ่งเงินหรือทองออกเป็นชิ้นเล็กจิ๋วเพื่อใช้เป็นเงินปลีกก็ไม่ง่ายเลยแถมจะตกหายได้วันละหลายร้อยรอบด้วย

อย่างน้อยในสมัยอยุธยาของเราจึงเกิดเงินปลีกที่เรียกว่า เบี้ย ขึ้น

 

เบี้ยนั้นเป็นหอยที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่ใจความสำคัญ คือต้องเป็นหอยที่ไม่ได้มีอยู่ในบ้านเราเป็นปกติ เพราะถ้าเป็นหอยบ้านเรา ชาวบ้านที่อยู่ริมทะเลทุกคนจะรวยขึ้นมาอัตโนมัติทีเดียว เพราะเก็บหอยทับทิมหรือหอยเสียบที่มีอยู่ชายหาดหน้าบ้านเอามาใช้เป็นเงินตรากันอุตลุด

ป่านนี้เราคงไม่มีหอยเสียบดองน้ำปลากินเสียแล้ว ฮา!

ดังนั้น เบี้ยจึงต้องเป็นหอยนำเข้า โดยนำมาจากเกาะในมหาสมุทรอินเดียหรือมหาสมุทรแปซิฟิก อาจจะมีทั้งกรณีที่ทางราชการหรือหลวงเป็นคนนำเข้า หรือชาวบ้านที่เป็นเอกชนเป็นผู้นำเข้าเองก็ได้

เป็นการซื้อหอยเหมามาเป็นกระสอบ ท่านผู้รู้เคยอธิบายว่าอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ในราว 6,000 กว่าเบี้ยมีค่าเท่ากับ 1 บาท

ตามความเข้าใจของผม ไทยเราใช้เบี้ยเป็นเงินปลีกมายาวนานหลายร้อยปี เพิ่งมาเลิกไปเมื่อในรัชกาลที่สี่หรือรัชกาลที่ห้านี่เอง

เพราะในเวลานั้นเราสามารถผลิตเหรียญกษาปณ์ได้เป็นจำนวนมากพอสมควรแล้ว

หน่วยย่อยของบาทก็สามารถใช้เหรียญกษาปณ์เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนได้

โดยมีหน่วยย่อยที่สุดเรียกว่าโสฬส สิบหกโสฬสเป็นหนึ่งเฟื้อง สองเฟื้องเป็นหนึ่งสลึง สี่สลึงเป็นหนึ่งบาท

นั่นแปลว่า 128 โสฬสเป็น 1 บาท ปลีกพอสมควรแล้วครับ

 

น่าสนใจที่จะชวนคิดติดตามต่อไปว่า แม้ทุกวันนี้เราไม่ได้ใช้เบี้ยเป็นเงินตราแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้าแล้ว แต่คำว่า เบี้ย ก็ยังวนเวียนอยู่ในชีวิตประจำวันของเราไม่น้อยเลย ยิ่งถ้าเป็นข้าราชการ เบี้ย มากันใหญ่เลยครับ

เช่น เบี้ยกันดาร คือ เงินที่ทางราชการจ่ายตอบแทนให้กับข้าราชการที่แบบประจำการอยู่ในที่ตกระกำลำบาก ท่านจึงแถมเงินให้เพื่อปลอบประโลมหัวใจ แต่ช่วยอะไรได้ไม่มากนัก ฮา!

เบี้ยเลี้ยง คือ เงินที่จ่ายเพิ่มพิเศษให้นอกจากค่าจ้างประจำหรือเงินเดือน สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องมีเพิ่มเติมขึ้นเมื่อไปปฎิบัติหน้าที่พิเศษ เช่น เดินทางไปต่างจังหวัด ทำให้ไม่ได้กินข้าวเย็นที่บ้านตามปกติ

เบี้ยอีกชนิดหนึ่งที่ผมชอบมาก คือ เบี้ยประชุม คือเงินที่จ่ายให้แก่ผู้ที่เป็นกรรมการหรืออนุกรรมการในคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการที่ทางราชการต่างๆ ขึ้น ใครมาประชุมก็ได้เบี้ยประชุม ใครไม่มาประชุมก็อด

ตรงนี้มีความลับที่ขอกระซิบดังๆ ว่า เบี้ยประชุมที่ได้รับจากสวนราชการคือกระทรวงทบวงกรมทั้งหลายนั้น ไม่ต้องนำไปรวมเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีรายได้บุคคลธรรมดาตอนสิ้นปีนะครับ

ขณะที่เงินเดือนที่ได้จากทางราชการก็ดี บำนาญสำหรับข้าราชการที่เกษียณอายุ (อย่างผม) แล้วก็ดี ต้องเสียภาษีเงินได้ทั้งสิ้น

 

ที่ยกมาให้เห็นตัวอย่างสามคำข้างต้น น่าจะทำให้เราเห็นอิทธิพลของคำว่า เบี้ย ที่ฝังรากลึกลงในวัฒนธรรมความเป็นไทยของเราแล้วอย่างแน่นหนา ถึงแม้ทุกวันนี้ไม่ได้จ่ายหอยเป็นการตอบแทนผู้เข้าร่วมประชุมแล้ว แต่ผมก็ยังรับเบี้ยประชุมครับ

นอกจากเรื่องของคำแล้ว เบี้ยยังไปแทรกซึมอยู่ในสำนวนไทยอีกหลายเรื่อง

เช่น เบี้ยหัวแหลกหัวแตก เป็นสำนวนที่ใช้ในความหมายว่าเป็นการจ่ายเงินรายย่อยทีละเล็กทีละน้อยโดยที่ไม่เห็นผลเป็นชิ้นเป็นอัน

อีกสำนวนหนึ่งคือ เบี้ยบ้ายรายทาง

มีคำอธิบายว่าสำนวนนี้ หมายถึงเงินที่จะต้องใช้จ่ายหรือเสียไปเรื่อย ๆ เป็นลำดับ เพื่อจะทำธุระอย่างใดอย่างหนึ่งให้สำเร็จ และในส่วนตัวของผมอยากจะอธิบายเพิ่มเติมด้วยว่า เงินที่ว่าต้องใช้จ่ายนี้ ดูจะแฝงความหมายไปในทางลับๆ ล่อๆ คือไม่ใช่การจ่ายเงินตามกฎกติกาธรรมดา หากแต่เป็นการจ่ายใต้โต๊ะหรือจ่ายสินบนอะไรประมาณนั้น

ตัวอย่างเช่น เมื่อไม่กี่วันมานี้มีผู้เล่าให้ผมฟังว่า หญิงไทยคนหนึ่งต้องการจดทะเบียนสมรสกับชายชาวอเมริกันคนหนึ่ง โดยประสงค์ให้เป็นการจดทะเบียนตามกฎหมายไทย

ทั้งคู่เตรียมเอกสารไปพร้อมแล้วเดินขึ้นไปที่หน่วยราชการแห่งหนึ่งซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในเรื่องนี้ ตามปกติแล้วการจดทะเบียนสมรสก็มีการเสียค่าธรรมเนียมนิดหน่อยตามกฎหมาย

แต่เจ้าบ่าวเจ้าสาวก็ต้องเหวอไป เมื่อได้รับคำอธิบายจากเจ้าหน้าที่ว่า กรณีจดทะเบียนสมรสต่างสัญชาติกันอย่างนี้ หน่วยงานนั้นทำให้ได้เพียงแค่วันละหนึ่งคู่ ซึ่งตอนนี้เต็มโควต้าเสียแล้ว ด้วยเหตุผลอะไรก็ฟังไม่เข้าใจ

คุณผู้หญิงกับคุณผู้ชายคู่นั้นงุนงงอยู่สักครู่ ระหว่างลังเลว่าจะกลับบ้านแล้วมาใหม่ในวันรุ่งขึ้นหรือทำอย่างไรดี สิ่งที่เรียกว่า “นายหน้า” ก็เกิดขึ้น โดยคุณนายหน้าอธิบายว่าถ้าจ่ายเงินเป็นค่าดำเนินการอีก 8,000 บาท การจดทะเบียนสมรสก็จะสำเร็จได้ภายในเที่ยงวันนี้อย่างน่าอัศจรรย์

และเมื่อจ่ายเงินครบ 8,000 บาท หรือ 100 ชั่งดังที่ว่า ทะเบียนสมรสก็จดได้สมจริงเสียด้วย

 

เงินจำนวนนี้นี่เองที่สำนวนไทยเรียกว่า เบี้ยบ้ายรายทาง จ่ายไปแล้วคุณนายหน้าจะเก็บไว้เองทั้งจำนวนหรือไปแบ่งใคร เราก็ไม่รู้เหมือนกัน

ถ้านึกอัตราแลกเปลี่ยนว่า 6,000 เบี้ยเท่ากับหนึ่งบาท

8,000 บาทนี้ก็จะเท่ากับ 48,000,000 เบี้ย อ่านออกเสียงว่าสี่สิบแปดล้านเบี้ย จะเป็นหอยเบี้ยจำนวนกี่กระสอบก็ไม่รู้ได้

จดทะเบียนสมรสแต่ละทีต้องแบกกระสอบหอยเบี้ยกันหลังแอ่นเลยทีเดียว จะเรียกว่าเป็นวิธีทดสอบความแข็งแกร่งของเจ้าบ่าวก็เห็นจะได้

น่าสงสารครับ น่าสงสาร